โรคไข้เลือดออกพบได้ตลอดทั้งปี ถือเป็นภัยเงียบจากยุงลายตัวร้ายที่มาโดยไม่รู้ตัว มิหนำซ้ำคนมีโรคประจำตัวยังเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากไข้เลือดออกอีก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? มาหาคำตอบ พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกกันด่วน!
โรคไข้เลือดออก เกิดจากอะไร
โรคไข้เลือดออกพบได้ตลอดทั้งปี พบมากสุดในช่วงฤดูฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค 2 ชนิดหลัก คือ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน [3]
เมื่อเป็นไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ใดแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่ติดไปตลอด ส่วนสายพันธุ์อื่นจะมีภูมิคุ้มกันในระยะสั้น ๆ จึงมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกซ้ำได้ในอนาคต [6]
แม้ยังไม่มียาต้านไวรัสเดงกีในปัจจุบัน แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกี และลดความรุนแรงของโรคลงได้ [6],[7]
โรคไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร
อาการของโรคไข้เลือดออกมีได้ตั้งแต่อาการน้อย ปานกลาง หรือรุนแรงจนเสียชีวิต ส่วนใหญ่การติดเชื้อครั้งแรกจะไม่ก่ออาการรุนแรง อาการคล้ายไข้หวัด แต่มักไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล หรือเจ็บคอร่วมด้วย [3],[4]
อาการแรกเริ่มของโรคไข้เลือดออกสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ มักเป็นอยู่ราว 2–7 วัน [6],[7]
- ไข้สูงเฉียบพลัน อาจสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง
- อาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกกระจายทั่วผิวหนังช่วงแขน ขา ลำตัว
หลังไข้ลดลงแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจมีระดับเกล็ดเลือดต่ำ และเกิดภาวะพลาสมาในเลือดรั่ว ทำให้เกิดภาวะช็อกจากไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue shock syndrome) จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ จึงต้องได้รับการรักษาด่วนที่สุด อาการสำคัญที่พบได้ คือ [2],[4],[6]
- ภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระปนเลือด ประจำมานอกรอบหรือผิดปกติจากเดิม
- การรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด มีน้ำในเยื่อหุ้มปอดหรือในช่องท้อง ตับโตกดแล้วเจ็บ ความเข้มข้นเลือดเพิ่มมากขึ้น
- ภาวะช็อกจากไข้เลือดออกรุนแรง ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบา ปัสสาวะออกน้อย กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หายใจลำบาก ชัก หมดสติ อวัยวะล้มเหลว และหัวใจหยุดเต้น
หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน หรือมีอาการในข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากไข้เลือดออกได้สูง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ คนที่มีน้ำหนักตัวมาก และคนที่มีโรคประจำตัว [6],[7]
ทำไมมีโรคประจำตัวเสี่ยงเกิดอาการไข้เลือดออกรุนแรง
โรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ หรือโรคไต เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง เสี่ยงเกิดภาวะช็อกหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ สูง อาจส่งผลให้การรักษาทำได้ยากขึ้น [6],[7]
นอกจากนี้ การมีโรคประจำตัว หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว อาจทำให้อาการแสดงต่างไปจากเดิม ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคอาจล่าช้า และผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการรักษาเหมาะสม [1],[2]
รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรคอาจต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเลือดออกในทางเดินอาหาร แต่กลับไม่มีอาการอาเจียน ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ (Concealed bleeding) ซึ่งอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยโรคที่ยากยิ่งขึ้น [2],[6]

มีโรคประจำตัวยิ่งต้องระวัง รู้วิธีป้องกันไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกป้องกันได้โดยเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น ฉีดสเปรย์กันยุง ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง ติดมุ้งลวด รวมถึงจัดการกับยุงลายไม่ให้วางไข่เพาะพันธุ์เพิ่มได้ เช่น เทน้ำที่ขังออก หมั่นเปลี่ยนน้ำบ่อยครั้ง หรือหาฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำ [5],[7]
อีกหนึ่งวิธีคือการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ [6],[8]
วัคซีนไข้เลือดออกชนิด 2 เข็ม
สามารถฉีดได้ในคนอายุ 4 ปีขึ้นไป แต่ละเข็มฉีดห่างกัน 3 เดือน [8],[9]
วัคซีนให้ประสิทธิภาพทั้งในคนที่เคยติดเชื้อและไม่เคยติดเชื้อเดงกีมาก่อน จึงสามารถฉีดได้เลยโดยต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน [8],[9]
วัคซีนไข้เลือดออกชนิด 3 เข็ม
ฉีดได้ในคนอายุ 6–45 ปี แต่ละเข็มห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน [9]
วัคซีนให้ประสิทธิภาพในคนที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน จึงแนะนำให้ฉีดในคนที่เคยเป็นไข้เลือดออก ไม่แนะนำหากไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเลย กรณีไม่แน่ใจว่าเคยติดเชื้อหรือไม่ อาจต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน [9]
เพื่อป้องกันไข้เลือดออกและลดความรุนแรงของโรคในอนาคต โดยเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น ฉีดสเปรย์กันยุง ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง ติดมุ้งลวด รวมถึงจัดการกับยุงลายไม่ให้วางไข่เพาะพันธุ์เพิ่มได้ เช่น เทน้ำที่ขังออก หมั่นเปลี่ยนน้ำบ่อยครั้ง หรือหาฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำ และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนก่อนการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไม่ว่าชนิดใดก็ตาม จะได้เลือกวัคซีนชนิดที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว [7]
ที่มาของข้อมูล:
1. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “แนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566”
2. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข: “แนวทางการวินิจฉัยและการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2563”.
3. กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค: “ไข้เลือดออก (Dengue Fever และ Dengue Hemorrhagic Fever)”.
4. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย: “คำแนะนำแนว ทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัยและการรักษาโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ในเด็กและวัยรุ่น”.
5. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย: “โรคไข้เลือดออก (Dengue)”.
6. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: “โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย”.
7. โรงพยาบาลศิครินทร์: “ไข้เลือดออก อันตราย!”.
8. โรงพยาบาลนครธน: “ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้าย”.
9. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย: “ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2568”
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0759: APR 2025