วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์

ปวดฟันคุด กินยาอะไรดี?

รวมยาแก้ปวดยอดนิยมสำหรับอาการปวดฟันคุด พร้อมวิธีบรรเทาอื่นๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 4 ม.ค. 2021 อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ปวดฟันคุด กินยาอะไรดี?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ฟันคุด เป็นฟันที่ขึ้นจากใต้เหงือกในลักษณะผิดปกติทำให้ไปเบียดฟันข้างเคียง หรือไปฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรจนส่งผลให้เกิดอาการปวดเจ็บเหงือกมากในผู้ที่มีฟันคุดขึ้นบางราย
  • ยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันคุดได้คือ ยาไอบูโพรเฟน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอสไพริน ซึ่งเป็นยาลดอาการอักเสบ และยาอะเซตามีโนเฟน ซึ่งช่วยลดการอักเสบ และลดอาการปวดได้ ยี่ห้อยากลุ่มนี้ที่ได้รับความนิยมคือ ยาไทลินอล
  • นอกจากการรับประทานยา คุณควรงดการดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด เย็นจัด งดรับประทานอาหารร้อนจัด เย็นชัด มีรสหวานมาก เพื่อลดอาการเสียวฟัน หรืออาจใช้วิธีประคบเย็นบริเวณที่ปวดฟันคุดเพื่อให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้อาการปวดทุเลาลง
  • ในระหว่างที่ปวดฟันคุดและยังไม่ได้ผ่าออก ควรหมั่นแปรงฟันและบ้วนน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือก และซอกฟันมีแบคทีเรียซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคเหงือกอักเสบได้ และจะทำให้อาการปวดฟันคุดรุนแรงขึ้น
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจถอนหรือผ่าฟันคุด

เมื่อเกิดฟันคุดขึ้นในช่องปาก หลายคนมักเผชิญกับอาการปวด หรือเจ็บเหงือกอย่างรุนแรง เนื่องจากฟันคุดเป็นฟันที่ไม่ได้ขึ้นตามแถวฟันปกติ แต่ไปเบียดฟันซี่ข้างเคียง หรือฟันคุดบางซี่อาจไปฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ทำให้ยิ่งมีอาการเจ็บปวดเหงือกมากกว่าเดิม บางครั้งถึงขั้นปวดจนนอนไม่หลับ

วิธีบรรเทาอาการปวดฟันคุดแบ่งออกได้หลายวิธี โดยวิธีแรกที่หลายคนมักเลือกปฏิบัติเมื่อมีอาการปวดฟันคุดก็คือ การรับประทานยาแก้ปวด

เรามาดูกันว่า ยาแก้ปวดฟันคุดที่สามารถรับประทานได้ มีอะไรบ้าง

ยาแก้ปวดฟันคุด

ยาแก้ปวดฟันคุดที่นิยมรับประทานกันเมื่อเกิดอาการ จะได้แก่

1. ยาไอบูโฟรเฟน

ยาไอบูโฟรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์ หรือยา NSAIDs ซึ่งจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบ และลดอาการปวด โดยสองอาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้ที่มีฟันคุดขึ้น

2. ยาแอสไพริน

ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นอีกชนิดของยาลดอาการอักเสบ รวมถึงอาการปวด บวม แดง ลดไข้ได้ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ป่วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่มีอาการแพ้ยาแอสไพริน ผู้ที่ใช้ยานี้จึงควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรรับประทานหลังอาหาร เพราะยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

3. ยาอะเซตามีโนเฟน

โดยยี่ห้อยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรืออีกชื่อว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาที่ได้รับความนิยมในรับประทานคือ ยาไทลินอล® (Tylenol) โดยมีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบ ลดอาการปวดได้

วิธีอื่นๆ สำหรับแก้ปวดฟันคุด

นอกจากรับประทานยาแก้ปวด ยังมีวิธีบรรเทาอาการปวดฟันคุดอื่นๆ อีกที่สามารถทำได้ไม่ยาก เช่น

  • งดดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด หรือเย็นจัด 
  • งดรับประทานอาหารร้อนจัด หรือเย็นจัด รวมถึงอาการที่มีรสหวานมาก เพราะจะทำให้เสียวฟันได้
  • งดใช้ไหมขัดฟันบริเวณฟันคุดชั่วคราว และแปรงฟันเบาๆ เพื่อลดการกระทบกระเทือน และสัมผัสฟันกับเหงือกบริเวณดังกล่าว จนเกิดอาการปวด หรือเจ็บกว่าเดิม
  • กลั้วปาก หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อาจนำไปสู่อาการเหงือกอักเสบ ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการปวดฟันคุดรุนแรงมากขึ้น
  • ประคบเย็นบริเวณที่ปวดฟันคุด เพื่อให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้อาการปวดให้ทุเลาลง โดยควรประคบอย่างน้อย 15 นาที
  • นอนหมอนสูงเพื่อลดการกดทับและแรงดันของฟันคุดที่กำลังดันเหงือกอยู่
  • ทาเจลลดอาการปวด (Numbing gel) หรือเจลเบนโซเคน (Benzocaine Gel) ซึ่งเป็นเจลสำหรับรักษาอาการปวดฟันโดยเฉพาะ แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์ว่า สามารถทาลงไปที่บริเวณเหงือกใกล้ฟันคุดโดยตรงได้หรือไม่
  • ทาเจลว่านหางจระเข้ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และลดการเสียดสีของเหงือก และฟันบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้เจลว่านหางจระเข้บางยี่ห้อยังมีสารเพิ่มความเย็น ทำให้รู้สึกปวดเหงือกน้อยลงด้วย
  • ทาน้ำมันกานพลู (Clove oil) บริเวณเหงือกที่ปวดฟันคุด เพราะน้ำมันกานพลูมีส่วนผสมของสารยูเจนอล (Eugenol) ซึ่งเป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย และกานพลูยังเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เป็นยาชาได้ ทำให้บรรเทาอาการปวดได้
  • ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ภายในช่องปากชุ่มชื้น มีน้ำหล่อลื่น ลดอาการเหงือกแห้งจนทำให้เสียดสีกันจนเกิดอาการเจ็บมากกว่าเดิม

หากลองทำตามคำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้นแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีเวลาไปพบทันตแพทย์ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาทันตแพทย์ผ่านทางออนไลน์แล้ว ทันตแพทย์จะสามารถให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเบื้องต้นแก้คุณได้ 

หากไปพบทันตแพทย์โดยมากแล้วแพทย์มักแนะนำให้ผ่า หรือถอนฟันคุดออก เพื่อแก้ปัญหาปวดฟันคุดอย่างยั่งยืน และป้องกันไม่ให้ฟันข้างเคียง ขากรรไกร และเหงือกบริเวณดังกล่าวเสียหายหนักกว่าเดิม

ฟันคุดเป็นฟันที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และมักจะซ่อนตัวอยู่ใต้เหงือกโดยที่คุณไม่รู้ตัวว่า มันกำลังเบียดรากฟัน หรือกำลังดันเหงือกขึ้นมาในลักษณะที่ผิดปกติ เราทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจฟัน ทุกๆ 6 เดือน เพื่อที่หากรู้ว่า มีฟันคุดขึ้น จะได้ปรึกษากับทันตแพทย์เพื่อจัดการกับฟันคุดต่อไป

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจถอน หรือผ่าฟันคุด จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Shawn Watson, Over-the-Counter Pain Relief Medication for Dental Use (https://www.verywellhealth.com/otc-dental-pain-relief-1059309#other-pain-relief-methods), 09 December 2020.
Amanda Napitu & Dr. Robert Berry, How to Relieve Wisdom Tooth Pain from Teeth Growing or Extractions (https://www.dentaly.org/en/wisdom-teeth/wisdom-tooth-pain/), 09 December 2020.
Bobbie Sue Whitworth, 15 Remedies for Wisdom Teeth Pain Relief (https://www.healthline.com/health/wisdom-teeth-pain-relief), 09 December 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)