เมื่อพูดถึงภาวะน้ำท่วมปอด หลายคนคงจะรู้สึกกลัวเหมือนรู้สึกขาดอากาศหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันสั้น
ที่แท้จริงแล้วภาวะน้ำท่วมปอดคืออะไรกันแน่ มีลักษณะอาการน่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนคิดหรือไม่ เรามาหาคำตอบพร้อมกัน
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 386 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ความหมายของน้ำท่วมปอด
น้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) คือ ภาวะที่ภายในเยื่อหุ้มปอดเต็มไปด้วยของเหลว เช่น เลือด หรือน้ำ จนทำให้ปอดไม่สามารถผลิตออกซิเจนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ และทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออกเกิดขึ้น
ภาวะน้ำท่วมปอดยังเกี่ยวกับโรคหัวใจด้วย โดยภาวะน้ำท่วมปอดเป็นอาการแทรกซ้อนสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดภาวะหัวใจห้องซ้ายทำงานล้มเหลวจนทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ และเลือดได้ไหลไปคั่งอยู่ในปอด
นอกจากสาเหตุของโรคหัวใจแล้ว ภาวะน้ำท่วมปอดยังเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- การผ่าตัดสมอง (Brain surgery)
- เนื้องอกในสมอง (Brain tumor)
- อาการปอดบวม (Pneumonia)
- ภาวะร่างกายตอบสนองต่อพิษของเชื้อโรค (Sepsis) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือพิษที่เข้ามาในร่างกายแทนที่จะต่อต้าน ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น
- ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน (Sudden high blood pressure)
- อาการไตวาย (Kidney failure)
- ติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis of the blood) หรือภาวะเลือดเป็นพิษ (Blood poisoning)
- การใช้ยาเกินขนาด (Drug overdose)
- การได้รับบาดเจ็บ (Trauma) โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก หรือที่ปอด ที่หัวใจ
- ภาวะรอดชีวิตจากการจมน้ำ (Near Drowning) ซึ่งหมายถึง ภาวะหลังจากเพิ่งรอดชีวิตจากการจมน้ำมา แต่อวัยวะภายในผู้รอดชีวิตยังได้รับบาดเจ็บ และทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม ระดับเกลือแร่ในร่างกายเปลี่ยนแปลง
- การอยู่ในที่สูง (High altitude exposure) จนทำให้หลอดเลือดในปอดหดเล็กลง และทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น รวมถึงเลือดไม่สามารถไหลเวียนออกจากปอดได้ตามปกติ และคั่งอยู่ข้างในปอดจนกลายเป็นอาการน้ำท่วมปอดในภายหลัง
อาการเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมปอด
เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมปอด ผู้ป่วยจะเกิดอาการหายใจไม่ออกเฉียบพลัน และต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน นอกจากอาการหายใจไม่ออก ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
- มีไข้สูง
- ผิวซีด
- ไอเรื้อรัง
- มีเสมหะเป็นฟอง
- เหงื่อออกมาก
- อ่อนเพลียอย่างหนัก
- มีอาการสำลัก
- เจ็บหน้าอก
- จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
ผู้ป่วยที่มีอาการน้ำท่วมปอดบ่อยๆ จะมีอาการแทรกซ้อนบางอย่างเกิดขึ้นในระยะยาว เช่น อ่อนเพลียง่าย หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากและถี่ มักจะตื่นนอนกลางดึกเนื่องจากรู้สึกหายใจไม่ออก มีภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ขา และเท้าบวม
หากมีอาการหายใจไม่ออก หายใจลำบากและถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด เจ็บหน้าอกบ่อยๆ อ่อนเพลียง่าย นั่นอาจเป็นอาการแสดงว่า หัวใจกำลังทำงานผิดปกติอยู่ก็ได้ คุณอาจไปเข้ารับการตรวจหัวใจและตรวจปอดเพิ่มเติม เพราะหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจริงจะได้รักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 386 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ดื่มน้ำมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้หรือไม่?
การดื่มน้ำมากเกินไป ไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำท่วมปอด และภาวะน้ำท่วมปอดก็ไม่ได้เป็นผลกระทบมาจากการดื่มน้ำมากเกินไปด้วย
ผลกระทบที่ตามมาจากการดื่มน้ำมากเกินไปนั้นอาจเป็นภาวะน้ำเป็นพิษ สมดุลของแร่ธาตุโซเดียมในร่างกายต่ำกว่าปกติ มีอาการปัสสาวะในปริมาณมากกว่าเดิม คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย
สำหรับผลกระทบจากการดื่มน้ำมากเกินไปที่เกี่ยวกับปอดอาจเป็นภาวะปอดบวม ซึ่งเกิดได้จากการอักเสบ การติดเชื้อ การมีสารน้ำปริมาณมากอยู่ในถุงลมของปอด จนร่างกายไม่สามารถผลิตออกซิเจนได้เพียงพอ และอาจเสียชีวิตได้ หากรักษาไม่ทันเวลา
วิธีรักษาภาวะน้ำท่วมปอด
สิ่งสำคัญอย่างแรกที่แพทย์จะต้องทำเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำท่วมปอดคือ เติมออกซิเจนเข้าร่างกายเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีอากาศหายใจ โดยจะให้ใส่หน้ากากออกซิเจน หรือสอดสายท่อเติมออกซิเจนเข้าไปในรูจมูก
หลังจากนั้นวิธีการรักษาภาวะน้ำท่วมปอดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุต้นตอที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น
- ลดการไหลกลับของเลือด เป็นกระบวนการรักษาเพื่อลดความดันของเหลวไปสู่หัวใจและปอด โดยอาจใช้ยาขับปัสสาวะเข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะออกมามากขึ้น
- ลดแรงต้านของกระแสเลือด เป็นกระบวนการรักษาเพื่อขยายหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้แรงดันเลือดที่ส่งไปยังหัวใจลดน้อยลง
- รักษาอาการของโรคหัวใจ ในผู้ที่เกิดภาวะน้ำท่วมปอดจากโรคหัวใจ แพทย์จะรักษาอาการของโรคไปตามความเหมาะสม โดยจุดมุ่งหมายหลักจะอยู่ที่การควบคุมระดับชีพจร ลดความดันโลหิตไม่ให้สูงขึ้น และลดความดันกระแสโลหิตในหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดส่วนอื่นๆ
- ลดอาการวิตกกังวลและการหายใจสั้นถี่ หรือรู้สึกหายใจได้ไม่สุด โดยการให้มอร์ฟีน แต่ส่วนมากแพทย์ไม่นิยมใช้วิธีรักษานี้เพราะมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบจากการใช้สารมอร์ฟีน
การป้องกันภาวะน้ำท่วมปอด
ยังไม่มีแนวทางการป้องกันภาวะน้ำท่วมปอดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ยากจะป้องกันล่วงหน้าไม่ให้เกิดขึ้น แต่แนวทางจะสามารถลดโอกาสทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ ได้แก่
- เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจ หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
- ใช้ยาขับปัสสาวะที่แพทย์สั่งจ่ายให้ หากเคยมีภาวะน้ำท่วมปอดเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอันตรายนี้ซ้ำขึ้นอีก
- รับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ เนื่องจากไขมันและคอเลสเตอรอลที่มากเกินไปสามารถอุดตันในหลอดเลือด และนำไปสู่ความเสี่ยงการเกิดอาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำแล้ว ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมปอดยังควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระดับที่ไม่หักโหมเกินไปด้วย เพื่อให้สุขภาพยังคงแข็งแรงอยู่ - งดสูบบุหรี่ ยาสูบในบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ และปอดได้ แต่ทางที่ดีไม่ว่าคุณจะเป็น หรือไม่เป็นโรคหัวใจ หรือไม่มีความเสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมปอด ก็ควรงดเว้นการสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้เกิดสารพิษภายในร่างกาย
ภาวะน้ำท่วมปอดเป็นภาวะอันตรายที่สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และหลายโรค
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดขึ้น คุณจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และหากตนเองเป็นหนึ่งในผู้เสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมปอด ก็ควรระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มาก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายนี้ขึ้น
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (IPD) จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android