วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

ยาชา ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย

รวมข้อมูลการใช้ยาชา ยาชามีกี่แบบ ส่งผลข้างเคียงอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ก.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ยาชา ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาชาเป็นยาสำหรับทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึก ไม่สามารถรับรู้ถึงการสัมผัส รวมถึงอุณหภูมิร้อนเย็นที่เปลี่ยนไป มักใช้ในระหว่างทำหัตถการต่างๆ ปัจจุบันมีทั้งแบบยาฉีด ยาทา และยาพ่น
  • ยาชาที่ได้รับความนิยม มักสามารถออกฤทธิ์ได้เร็วหลังจากรับยาเข้าร่างกาย รวมถึงคงการออกฤทธิ์ได้หลายชั่วโมง ไม่มีผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย โดยตัวอย่างยาชาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ยาลิโดเคน
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาชาอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หูอื้อ ขมปาก กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก หรือหมดสติได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ยาชาจนอาจเสียชีวิตได้ แพทย์ที่ให้ยาชาจึงต้องสังเกตอาการผู้ป่วยหลังใช้ยาชาด้วย
  • การให้ยาชาจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์อย่างมาก เพราะก่อนให้ยาชาจะต้องมีการประเมินแผล ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ปริมาณยาชาที่ใช้ รวมถึงความเร็วในการรับยาชาเข้าร่างกาย เพราะหากให้ยาชาไม่ถูกต้องจะเป็นพิษต่อร่างกายได้
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป

ยาชาจัดเป็นเครื่องมือสำคัญของแพทย์ในการผ่าตัด และเพื่อป้องกันการเกิดความรู้สึกเจ็บปวดต่างๆ ระหว่างรักษาอาการต่างๆ ของผู้ป่วย แต่น้อยคนที่จะรู้จักข้อมูลเชิงลึกของยาชาว่า ออกฤทธิ์อย่างไร มีประโยชน์ในแง่ใดต่อการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

ความหมายของยาชา

ยาชา (Local Anesthetics) คือ ยาสำหรับใช้เพื่อให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึก ความเจ็บปวด ไม่สามารถรับรู้ถึงการสัมผัส หรืออุณหภูมิร้อนเย็นที่เปลี่ยนไปได้ รวมถึงอาจขยับร่างกายไม่ได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ตัวยาจะออกฤทธิ์เข้าไปขัดขวางการส่งกระแสประสาทของร่างกายไปยังเยื่อหุ้มประสาทบริเวณที่ให้ยาชา

แพทย์เกือบทุกแผนกจะต้องใช้ยาชาเป็นส่วนหนึ่งในทำหัตถการต่างๆ กับผู้ป่วย เช่น

  • แผนกศัลยกรรม ใช้ยาชาสำหรับเย็บแผล เจาะอวัยวะ ผ่าก้อนเนื้อส่วนเกินออกจากร่างกาย เช่น ฝี ไฝ หูด
  • แผนกศัลยกรรมตกแต่ง ใช้ยาชาสำหรับผ่าศัลยกรรม เช่น ทำจมูก กรีดตา ดูดไขมัน
  • แผนกทันตกรรม ใช้ยาชาสำหรับถอนฟัน ผ่าฟัน การทำศัลยกรรมตกแต่งเหงือก
  • แผนกสูติกรรม ใช้ยาชาสำหรับทำคลอด เย็บแผลคลอด
  • แผนกอายุรกรรม ใช้ยาชาสำหรับการผ่าตัด การเจาะน้ำไขสันหลัง
  • แผนกตา หู คอ จมูก ใช้ยาชาสำหรับการผ่าตัดทุกชนิด เช่น ผ่าตัดตา ทำเลสิก

หลายคนอาจคิดว่า ยาชาที่แพทย์ใช้กันจนถึงปัจจุบันมีแค่รูปแบบฉีด ความจริงแล้วยาชาได้มีการพัฒนาออกมาหลายรูปแบบมากขึ้นเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของแพทย์แต่ละแผนก เช่น

  • ยาชาแบบหยอด
  • ยาชาแบบพ่นสเปรย์
  • ยาชาแบบทา

ประสิทธิภาพของยาชาแต่ละรูปแบบจะขึ้นอยู่กับบริเวณของร่างกายที่ใช้ โดยยาชาที่ใช้กับภายนอกร่างกายอย่างยาทา ยาหลอด หรือยาพ่น หากใช้บริเวณเนื้อเยื่อของท่อลม (Trachea) ก็สามารถดูดซึมได้เร็วพอๆ กับการฉีดยาชาเข้าหลอดเลือดดำ

ปัจจัยที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาชา

ยาชาจะออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักโมเลกุลของยาชา ยาชาที่มีโมเลกุลเล็กจะสามารถกระจายตัว และซึมผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มประสาทได้ดีกว่ายาชาที่มีโมเลกุลยาขนาดใหญ่
  • การละลายในไขมัน เพราะเยื่อหุ้มประสาทมีส่วนประกอบเป็นไขมัน ยาชาที่สามารถละลายได้ดีในไขมันจึงสามารถออกฤทธิ์ได้แรงกว่ายาที่ละลายในไขมันได้น้อยหลายเท่าตัว
  • การจับตัวกับโปรตีน ยาชาที่จับตัวกับโปรตีนในร่างกายได้ดีจะสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นานขึ้นถึง 2-3 เท่า
  • การแตกตัวเป็นไอออน การออกฤทธิ์เร็ว หรือช้าของยาชาขึ้นอยู่กับค่าความเป็นกรด-เบส (pH) กับค่าการแตกตัว หรือความแรงของกรดอ่อน (pKa) ในตัวยาด้วย ยาชาที่มีค่า pKa ต่ำ และความเป็นเบสสูงมักจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า
  • การขยายตัวของหลอดเลือด นอกจากยาจะทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกแล้ว ยาชายังมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดทำให้สารยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดด้วย และเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ยาชาหมดฤทธิ์เร็ว

    ดังนั้นแพทย์จึงมักจะผสมยาบีบหลอดเลือดเข้าไปในยาชาด้วย เพื่อให้ยามีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง และออกฤทธิ์ได้นานขึ้นกว่าเดิม

ชนิดของยาชาที่นิยมใช้

การแบ่งชนิดของยาชาจะมีความหลากหลายมาก หากแบ่งตามชนิดที่แพทย์นิยมใช้ จะได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ยาโนโวเคน (Novocaine) เป็นยาชาที่นิยมใช้กันบ่อย มีราคาถูก ออกฤทธิ์เร็ว และอยู่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมง
  • ยาลิโดเคน (Lidicaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ไวเช่นกัน โดยจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 2-3 นาทีหลังจากฉีดยา จัดเป็นยาชาที่ได้รับความนิยมที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากค่อนข้างปลอดภัย ทำให้เกิดอาการชาได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย
  • ยาเตตราเคน (Tetracaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ช้า แต่อยู่ได้นาน มักเป็นยาในรูปแบบยาหยอด หรือยาทาผิวหนัง โดยบริเวณที่นิยมใช้ยาชาตัวนี้ ได้แก่ ดวงตา จมูก ปาก คอ

ชนิดของยาชาเมื่อแบ่งตามสูตรทางเคมี

สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ

1. ยาชากลุ่ม Aminoamides

เป็นกลุ่มยาชาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่

  • ยาลิโดเคน เป็นยาชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะออกฤทธิ์ไว ปลอดภัย มีหลายรูปแบบ อีกทั้งสามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ป่วยทารก และผู้ใหญ่
  • ยาไดบูเคน (Dibucaine) เป็นยาชาที่ใช้ในกรณีเกิดบาดแผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ ถูกแดดเผา ถูกของมีคมบาด รวมถึงอาการเจ็บปวดจากโรคริดสีดวงทวาร
  • ยาไพรโลเคน (Prilocaine) เป็นยาชาที่มีพิษต่อร่างกายน้อย แต่อาจต้องรอประมาณ 2-4 นาที ยาจึงจะออกฤทธิ์
  • ยาเมพิวาเคน (Mepivacaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดน้อย จึงทำให้ฤทธิ์ยาอยู่ได้นาน สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการข้างเคียงจากยาบีบหลอดเลือดง่ายด้วย
  • ยาบิวพิวาเคน (Bupivacaine) เป็นยาชาที่มีฤทธิ์แรงกว่ายาลิโดเคนถึง 4 เท่า รวมถึงมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่นาน ทั้งยังช่วยลดอาการปวดหลังการผ่าตัดได้อีกด้วย
  • ยาอีทิโดเคน (Etidocaine) เป็นยาชาอีกชนิดที่มีฤทธิ์แรงกว่ายาลิโดเคน 4 เท่า และยังออกฤทธิ์ได้นาน จึงนิยมใช้ในการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน
  • ยาโรพิวาเคน (Ropivacaine) เป็นยาชาที่เป็นพิษต่อหัวใจน้อย ออกฤทธิ์ได้นาน มักถูกใช้สำหรับลดอาการเจ็บปวดขณะเจ็บคลอด และภาวะเจ็บปวดเรื้อรังอื่นๆ ด้วย

2. ยาชากลุ่ม Aminoesters

เป็นยาชากลุ่มที่ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้เกิดอาการแพ้ยาชาได้ง่าย เช่น

  • ยาโคเคน (Cocaine) เป็นยาชาที่มีฤทธิ์เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง แต่ก็ยังสามารถใช้ทำให้หลอดเลือดหดตัวสำหรับการผ่าตัดทางหู คอ จมูกได้
  • ยาโปรเคน (Procaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ได้สั้น อีกทั้งไม่สามารถเก็บยาไว้ได้นาน ถึงแม้จะเป็นพิษต่อร่างกายน้อยมากก็ตาม จึงทำให้แพทย์ไม่ค่อยนิยมใช้ยาตัวนี้มากนักในปัจจุบัน
  • ยาคลอโรโพเคน (Chloroprocaine) เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว เป็นพิษต่อร่างกายน้อย แต่มีข้อเสีย คือ ต้องใส่สารที่ทำให้ยาคงตัวอยู่ได้นานเพิ่มเติม ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อหลังของผู้ป่วยแข็งเกร็งได้
  • ยาเตตราเคน มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ออกฤทธิ์ช้า แต่อยู่ได้นาน อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้มีพิษต่อร่างกายมาก จึงทำให้ความนิยมในการใช้ยานี้เริ่มลดลง
  • ยาเบนโซเคน (Benzocaine) เป็นยาชาที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ไม่ดี จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความระคายเคืองหลังจากฉีดได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาชา

ยาชาจัดเป็นยาที่ต้องใช้ผ่านแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย เพราะยังมีโอกาสที่ผู้ป่วยบางรายจะเกิดอาการแพ้ยาชาได้ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ตาลอย
  • หูอื้อ
  • รู้สึกขมปาก
  • ริมฝีปาก และลิ้นชา
  • กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • หน้ามืดคล้ายจะหมดสติ
  • ใจสั่น
  • กล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเป็นผลข้างเคียงที่เกิดเฉพาะที่ มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยทีเกิดผลข้างเคียงทั้งระบบ ซึ่งหากอาการแพ้ยาชารุนแรงมาก ผู้ป่วยก็อาจไม่รู้สึกตัวเลย หัวใจเต้นช้าลง หรือหัวใจล้มเหลว เลือดเป็นกรดสูง และเสียชีวิตได้

แพทย์ผู้จ่ายยาชาจะต้องสังเกตอาการผู้ป่วยในระหว่างใช้ยาชาให้ดีว่า มีอาการผิดปกติใดเกิดขึ้นระหว่างใช้ยาชาหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถพูดคุยโต้ตอบกับคนรอบข้างได้หรือเปล่า 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หรือหากสามารถพูดตอบได้ ผู้ป่วยมีอาการปากเบี้ยว หรือปากกระตุกหรือไม่

แต่โดยปกติ ก่อนให้ยาชาผู้ป่วย แพทย์จะสอบถามประวัติการแพ้ยา ประเมินบาดแผล และโรคประจำตัวของผู้ป่วย รวมถึงพิจารณาขนาดเข็มฉีดยา ปริมาณยาชาที่จะใช้ 

ความเร็วในการฉีดยาเข้าร่างกาย ตำแหน่งของร่างกายที่จะฉีดยาชาให้ก่อนอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง

เนื่องจากยาชาสามารถเปลี่ยนเป็นยาพิษต่อร่างกายได้หากฉีดเกินขนาด หรือหากแพทย์ฉีดเข้าเส้นเลือดได้ไม่แม่นยำมากพอ จนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น

  • ผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการมึนงง ตาลอย เห็นภาพซ้อน มีเสียงดังในหู ง่วงนอน มีอาการสั่น หรือกระตุกตามมา และอาจกลายเป็นอาการชักทั้งตัวได้ ผู้ป่วยบางรายอาจหยุดหายใจ และหมดสติลง ซึ่งต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
  • ผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติได้ หรืออาจส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจนไม่สามารถรับยาชาได้อีก

หากมีความกังวลใจเกี่ยวกับการใช้ยาอาจปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเริ่มทำหัตถการทุกครั้ง หรือหากไม่มีเวลาไปพบแพทย์ ปัจจุบันหลายแห่งก็มีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (วีดีโอคอล) เช่นกัน 

หรือจะโทรศัพท์ขอคำปรึกษาเบื้องต้นจากแพทย์ก่อนก็ได้ 

กลุ่มผู้ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ยาชา 

คือ กลุ่มผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต หรือกำลังใช้ยาห้ามการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant therapy) เพราะยาชาสามารถส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดหยุดยาก หรือมีอาการข้างเคียงบางอย่างตามมาหลังรับยาชาได้ เช่น

  • ผู้ป่วยโรคตับ
  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิต
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemopholia)
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid)
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ยากลุ่ม Tricyclic antidepressants หรือยากลุ่ม MAOIs (Monoamine oxidase inhibitors)

ผลกระทบที่อาจตามมาซึ่งไม่เกี่ยวกับฤทธิ์ของยาชา

ผู้ป่วยมีอาการกลัวเข็มฉีดยาจนดิ้นขณะแพทย์ฉีดยาชาให้ เพราะยาชาส่วนมากมักยังอยู่ในรูปของการฉีดมากกว่ารูปแบบอื่น จึงทำให้ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสมอง ผู้ป่วยที่วิตกกังวลเกี่ยวกับเข็มฉีดยา จึงอาจเกิดอาการบาดเจ็บจากเข็มฉีดยาหักได้

กรณีเช่นนี้แพทย์อาจพิจารณาวางยาสลบให้ผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ก่อนฉีดยาชาให้

การใช้ยาชาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บต่างๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะต้องมีการพิจารณาหลายๆ ปัจจัยในการใช้ยาชนิดนี้เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย

หากเกิดอาการบาดเจ็บ หรือรู้สึกปวดแสบร่างกายจนอยากได้ยาชามาบรรเทาอาการเจ็บปวด ไม่ควรหาซื้อยาชามาฉีดเอง เพราะสามารถส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อไป

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
P., Chitre, A. (2016). Manual of local anaesthesia in dentistry. [Place of publication not identified]: Jaypee Brothers Medical P. ISBN 978-9352501984. OCLC 930829770.
Cerner Multum, Dibucaine topical (https://www.drugs.com/mtm/dibucaine-topical.html), 2 October 2020.
Bodenham AR, Howell SJ (December 2009). "General anaesthesia vs local anaesthesia: an ongoing story". British Journal of Anaesthesia. 103 (6): 785–9. doi:10.1093/bja/aep310. PMID 19918020

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)