กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน HPV ตัวช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก เท่านั้นหรือ?

รวมข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน HPV ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกอย่างเดียวรึเปล่า?
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ก.ย. 2023 อัปเดตล่าสุด 9 ต.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน HPV ตัวช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก เท่านั้นหรือ?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เชื้อ HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสและการเสียดสีบริเวณที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางอวัยวะเพศ ช่องปาก และการใช้อุปกรณ์
  • วัคซีน HPV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันสำหรับคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็สามารถฉีดวัคซีน HPV และได้รับประโยชน์จากวัคซีนด้วยเช่นกัน
  • วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่อายุ 9 ปีเป็นต้นไป
    • ดูรายละเอียดการฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

เชื้อ HPV เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่รวมถึงโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน HPV เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทยได้

เชื้อ HPV คืออะไร?

เชื้อเอชพีวี (HPV) หรือไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papillomavirus) เป็นเชื้อที่ติดต่อผ่านการสัมผัสและการเสียดสีบริเวณที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางอวัยวะเพศ ช่องปาก และการใช้อุปกรณ์

เชื้อ HPV มีหลายสายพันธุ์ โดยมี 14 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในผู้หญิงได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งปากช่องคลอด และโรคมะเร็งทวารหนัก

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งเต้านม (ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2563) โดยมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นปีละกว่า 9,000 คน และเสียชีวิตปีละ 4,700 คน คิดเป็นทุกๆ 2 ชั่วโมงต้องมีคนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก

สำหรับผู้ชาย มักพบโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ และโรคมะเร็งทวารหนัก โดยโรคมะเร็งช่องปากและลำคอมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปีจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

นอกจากโรคมะเร็ง การติดเชื้อ HPV ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหูดหงิดไก่บริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และต้องเข้ารับการรักษาอยู่เป็นประจำด้วยวิธีการให้ยา จี้เย็น จี้ไฟฟ้า หรือผ่าตัดหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ

โดยโรคมะเร็งถือเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยจนทำให้เสียความมั่นใจ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเพศ และอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

ทำไมวัคซีน HPV ถึงสำคัญ?

คนส่วนใหญ่ติดเชื้อ HPV ได้หลายครั้งในชีวิต โดยการติดเชื้อ HPV ในแต่ละครั้งอาจเป็นเชื้อ HPV สายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์ใหม่ก็ได้

ร่างกายของคนเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถกำจัดเชื้อ HPV ออกไปได้เอง แต่ก็มีเชื้อบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้หมด ทำให้มีเชื้อ HPV ซ่อนตัวอยู่ได้นานหลายปีจนพัฒนาเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง และพัฒนาเป็นโรคมะเร็งได้ในที่สุด

ผู้ที่ติดเชื้อ HPV ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ จนทำให้อาจเผลอแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

การฉีดวัคซีน HPV จึงเป็นสิ่งสำคัญ​ เพราะวัคซีน HPV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันในกลุ่มคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

แต่สำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์และเคยได้รับเชื้อ HPV มาแล้วก็ยังสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ เพราะวัคซีนยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่เคยติด และยังป้องกันการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์เดิมได้ด้วย

เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงควรฉีดวัคซีน HPV และแนะนำให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจหาเชื้อ HPV เป็นประจำ

วัคซีน HPV มีกี่ชนิด?

ปัจจุบันวัคซีน HPV มี 3 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16 และ 18) สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70%
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% ป้องกันโรคมะเร็งทวารหนัก และป้องกันโรคหูดหงอนไก่ในเด็กผู้ชาย
  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% ป้องกันโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก และป้องกันโรคหูดหงอนไก่ในเด็กผู้ชาย

วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่อายุ 9 ปีเป็นต้นไป โดยแต่ละช่วงวัยจะมีหลักการฉีดวัคซีน HPV ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • อายุ 9-15 ปี ฉีดวัคซีน HPV 2 เข็ม เข็มที่ 2 นับจากเข็มแรก 6-12 เดือน
  • อายุมากกว่า 15 ปี ฉีดวัคซีน HPV 3 เข็ม เข็มที่ 2 นับจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มที่ 3 นับจากเข็มแรก 6 เดือน
ราคาฉีดวัคซีน HPV

หลังจากฉีดวัคซีน HPV ครบ 3 เข็ม วัคซีนจะทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ HPV ภายใน 1 เดือน โดยผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะได้รับประโยชน์สูงสุด และอาจจะลดลงในผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว

โดยหลังจากฉีดวัคซีน HPV อาจพบอาการข้างเคียงได้แก่ อาการปวด บวม แดง หรือคันบริเวณที่ฉีดวัคซีน และอาจมีไข้อ่อนๆ ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่พบได้ทั่วไป

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีน HPV

1. ถ้าเคยฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ครบ 3 เข็มแล้ว สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่?

สามารถฉีดได้ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 90% และการฉีดควรเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 3 ของวัคซีนชนิดก่อนหน้าอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงเริ่มฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ให้ครบ 3 เข็ม

2. วัคซีน HPV ต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่?

จากการติดตามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ไม่พบว่ามีรอยโรคผิดปกติที่ปากมดลูกเพิ่มขึ้นเลย ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ (Booster)

3. ผู้หญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่?

วัคซีน HPV ถือว่ามีความปลอดภัยสูงสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ยังไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีน HPV เนื่องจากยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับวัคซีน HPV ในช่วงตั้งครรภ์อย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์

4. หากความเสี่ยงน้อยมาก เช่น มีแฟนคนเดียว save sex จำเป็นต้องฉีดวัคซีน HPV หรือไม่?

จำเป็นต้องฉีดวัคซีน HPV เพราะถือว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าคู่นอนของเราจะเคยได้รับเชื้อไวรัส HPV มาก่อนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการใช้ถุงยางก็ไม่สามารถครอบคลุมบริเวญอวัยวะเพศได้ทั้งหมดทำให้ยังมีโอกาสติดเชื้อได้

นอกจากนี้การหันไปทำ Oral Sex เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ก็ให้เพียงแค่ความปลอดภัยจากการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

เช็กราคาฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบผ่าน​ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

แหล่งที่มาของข้อมูล

  • ICO/IARC HPV Informaiton Center : Human Papillomavirus and Related Disease Report THAILAND. Available at : www. hpvcentre.net. Accessed : October 27, 2019.
  • Castle PE et al. J Infect Dis. 2005;191:1808–1816.
  • RTCOG, RTCOG Clinical Practice Guideline, Primary Prevention of Cervical Cancer, 2020.
  • Giuliano AR et al. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2008;17:2036–2043.
  • Brotherton JML. et al. Papillomavirus Res. 2016;2:106-111.
  • Nyitray AG et al. J Infect Dis. 2014; 209: 1007-1015.
  • Serrano B, Alemany L, Tous S, Bruni L, Clifford GM, Weiss T, Bosch FX, de Sanjos e S. Potential impact of a nine-valent vaccine in human papillomavirus related cervical disease. Infect Agent Cancer 2012; 7 (1 ):38; PMID:23273245; https: / /doi .org /10 .1186 /1750-9378-7-38
  • Gardasil 9 package insert
TH-GSL-00360 09/2023

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)