กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ไวรัส HPV คืออะไร? รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง? ตอบคำถามโดยแพทย์

HPV คืออะไร? รวมข้อมูลเรื่องการป้องกันและรักษา โดยแพทย์
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ก.ย. 2023 อัปเดตล่าสุด 14 ก.ย. 2023 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ไวรัส HPV คืออะไร? รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง? ตอบคำถามโดยแพทย์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • HPV เป็น DNA ไวรัสชนิดหนึ่ง มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ สามารถก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง โรคตามอวัยวะเพศ และโรคมะเร็งต่างๆ
  • HPV ติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสูดควันที่มีเชื้อ HPV เข้าไปยังจมูกหรือลำคอ
  • ทุกคนเสี่ยงติดเชื้อ HPV แม้ว่าจะโสดก็เสี่ยง เพราะอาจติดเชื้อไวรัส HPV โดยไม่รู้ตัว หรือแม้กระทั่งเด็กก็เสี่ยง โดยความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขาโตขึ้น การฉีดวัคซีนป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
  • ถ้าติดเชื้อ HPV โดยไม่มีอาการ ไม่ต้องทำการรักษา โดยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่หากมีอาการแสดงก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ และฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเป็นซ้ำ
  • fการฉีดวัคซีน อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HPV ปัจจุบันมีวัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนแบบป้องกัน 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์
    • ดูรายละเอียดการฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

HPV คืออะไร?

HPV หรือ Human Papillomavirus คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยบางสายพันธุ์ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังต่างๆ เช่น หูดตามฝ่าเท้า และมีประมาณ 40 สายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคตามอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรืออวัยวะอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีมีอีก 15 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งปากช่องคลอด โรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งองคชาติ รวมไปถึงโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ

โดยเชื้อไวรัส HPV ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และพบบ่อยที่สุดคือ เชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 16

เชื้อ HPV ติดต่อกันอย่างไร?

เชื้อ HPV ติอต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสูดละอองหรือควันที่มีเชื้อ HPV เข้าไปยังจมูกหรือลำคอ (Surgical Smoke)

ส่วนใหญ่ การติดเชื้อ HPV มักหายได้เองภายใน 12 เดือน แต่หากได้รับเชื้อในสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งแล้วไม่หาย อาจพัฒนาต่อไปเป็นระยะที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ในที่สุด

การติดเชื้อ HPV ถือเป็นภัยเงียบ เพราะหลังจากติดเชื้อบางสายพันธุ์ไปแล้วมักจะไม่แสดงอาการ ทำให้อาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

การติดเชื้อไวรัส HPV มักมีอาการอย่างไร?

การติดเชื้อไวรัส HPV มักไม่มีอาการใดๆ ไม่ได้ทำให้มีไข้ ตกขาว หรือเลือดออกผิดปกติ แต่ในกรณีที่ติดเชื้อแล้วไม่หาย อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่

ลักษณะของหูดหงอนไก่คือ มีก้อนที่บริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด หรือปากมดลูก และอาจมีอาการคันหรือเลือดออกง่าย หากไปแกะหรือเกา

ในกรณีติดเชื้อสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งแล้วไม่หาย อาจพัฒนากลายเป็นรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการตรวจเช็กให้เจอ หรือได้รับการรักษาในระยะแรกเริ่มก็อาจพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งได้

ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ HPV

ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HPV มีหลายกลุ่ม ดังนี้

ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์เสี่ยงติดเชื้อ HPV

ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV ทุกคน แม้เพียงครั้งเดียวหรือมีคู่นอนคนเดียวก็เสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้

มากกว่า 8 ใน 10 คน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่มีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนของเรามีคู่นอนหลายคน

คนโสดก็เสี่ยงติดเชื้อ HPV

คนโสดก็เสี่ยงติดเชื้อ HPV โดยอนาคตอาจติดเชื้อไวรัส HPV จากผู้ที่มีเชื้อโดยไม่รู้ตัว การป้องกันด้วยวัคซีน HPV เพื่อลดความเสี่ยงในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เด็กก็เสี่ยงติดเชื้อ HPV

หลายคนอาจมองว่าเด็ก ไม่มีความเสี่ยงต่อเชื้อ HPV แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น นั่นหมายความว่าพวกเขามีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้ในอนาคต และสามารถนำไปสู่การเป็นมะเร็งจากเชื้อ HPV ได้ในที่สุด

ผู้หญิง กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV

เชื้อ HPV ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งปากช่องคลอด โรคมะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่

พออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ยิ่งทำงานแย่ลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ถาวร และนำไปสู่โรคมะเร็งจากเชื้อ HPV มากขึ้น

ผู้ชาย กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV

เชื้อ HPV ก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ โรคมะเร็งองคชาต และโรคมะเร็งทวารหนักในผู้ชายได้

ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ในผู้ชายจะไม่ลดลงตามช่วงอายุ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมักตอบสนองต่อเชื้อ HPV ได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ HPV ซ้ำ

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทวารหนัก และโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ ทำให้คนส่วนใหญ่มักตรวจพบเมื่อแสดงอาการหรือเป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว

LGBTQ+ กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV

ในกลุ่ม MSM (ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย) พบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า

ในขณะที่กลุ่มผู้ชายข้ามเพศที่ยังมีมดลูกอยู่ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ และเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เพราะเยังสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่แบบเพศหญิงได้ทั่วไป

ในกลุ่มสตรีข้ามเพศที่มีช่องคลอดใหม่แล้ว เชื้อ HPV ก็เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งที่ช่องคลอดใหม่ได้เหมือนกัน

ทุกเพศทุกวัยเสี่ยงติดเชื้อ HPV

ทุกเพศทุกวัยและทุกคนที่มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ เท่ากับมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV

การวินิจฉัยการติดเชื้อ HPV

การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง ยกเว้นขึ้นเป็นก้อนหูด หากอยากรู้ว่าเราติดเชื้อหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV เท่านั้น

ไม่ว่าจะการตรวจโดยแพทย์พร้อมตรวจภายใน หรือถ้าไม่กล้าไปหาหมอ ปัจจุบันมี “Self HPV test” สามารถตรวจด้วยตัวเองซึ่งมีความแม่นยำเช่นกัน

การรักษาการติดเชื้อ HPV

ถ้าติดเชื้อ HPV โดยไม่มีอาการ ไม่ต้องทำการรักษาใดๆ เพราะส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่ควรตรวจติดตามซ้ำ ให้มั่นใจว่าเชื้อ HPV หายได้เอง โดยกลับมาตรวจเช็กตามที่แพทย์นัด

ถ้าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรักษาโดยการจี้ยา ทายา และฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเป็นซ้ำ ถ้ามีระยะก่อนเป็นมะเร็งควรรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าเชื้อ HPV พัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งแล้ว การรักษาก็มีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัดขึ้นกับระยะของโรค

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยวัคซีนในปัจจุบัน มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ฃ

  • วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18
  • วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18
  • วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ในผู้หญิงและผู้ชาย สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ครอบคลุมถึง 94% ในประเทศไทย
ราคาฉีดวัคซีน HPV

ส่วนถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100% เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่ายในบางบริเวณที่ถุงยางไม่ครอบคลุม

อย่างไรก็ตามควรสวมถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่ากับผู้หญิงหรือผู้ชาย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ HPV และโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น โรคเริม โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม และการติดเชื้อเอชไอวี

เช็กราคาฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบผ่านเว็บไซต์​ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

แหล่งที่มาของข้อมูล

  • พญ. กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี
TH-GSL-00359 09/2023

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)