พญ. พิมพกา ชวนะเวสน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
เขียนโดย
พญ. พิมพกา ชวนะเวสน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

สารพัดปัญหาเรื่อง “น้องสาว” มีกลิ่น

"“น้องสาวมีกลิ่น” ปัญหาที่ผู้หญิงหลายคนเป็น แต่ไม่กล้าปรึกษาแพทย์ น้องสาวมีกลิ่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แม้กระทั่งการพยายามทำความสะอาดมากไปเป็นเหตุผลหนึ่งได้ "
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 18 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
สารพัดปัญหาเรื่อง “น้องสาว” มีกลิ่น

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โดยปกติช่องคลอดของผู้หญิงจะมีฤทธิ์เป็นกรดทำให้มีกลิ่นเปรี้ยวอ่อนๆ ได้เล็กน้อย ผสมกับตกขาว สาเหตุของกลิ่นเหม็น ส่วนใหญ่มาจากเชื้อแบคทีเรียที่ผิดปกติในช่องคลอด
  • ถ้าเป็นกลิ่นเหม็นเน่า มีตกขาวสีเหลืองเขียวคล้ายหนอง มีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ร่วมด้วย มักเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน กรณีนี้ควรพบแพทย์ทันที
  • หากน้องสาวมีกลิ่นเหม็นเค็ม เหมือนปลาเค็มหรือกลิ่นคาวปลา มักพบร่วมกับการมีตกขาวสีขาวเนื้อเนียน ปริมาณมาก กรณีนี้จะเกิดจากภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด
  • หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าเกิดจากภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด จะรักษาโดยใช้ยาฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมกลุ่มแบคทีเรียที่หายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนเป็นเวลา 7 วัน
  • ดูแพ็กเกจตรวจภายในได้ที่นี่

โดยปกติ ช่องคลอดของผู้หญิง จะมีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้มีกลิ่นได้เล็กน้อย เป็นกลิ่นเปรี้ยวอ่อนๆ และอาจจะมีตกขาวได้ โดยตกขาวก็คือสารคัดหลั่งที่มาจากช่องคลอดและมูกที่ปากมดลูกออกมาปนกัน

ลักษณะของตกขาวปกติจะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงของรอบประจำเดือน โดยช่วงก่อนไข่ตก (2 สัปดาห์แรก หลังประจำเดือนวันแรก) จะมีลักษณะเป็นมูกยืดใส ส่วนหลังไข่ตก ลักษณะตกขาวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวคล้ายแป้ง ซึ่งไม่ทำให้มีอาการคัน ระคายเคือง และไม่มีกลิ่นเหม็น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของกลิ่นเหม็น ส่วนใหญ่มาจากเชื้อแบคทีเรียที่ผิดปกติในช่องคลอด อาจเป็นการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด ซึ่งมักพบการมีตกขาวที่ผิดปกติร่วมด้วย

ต้นตอของปัญหาน้องสาวมีกลิ่นคืออะไร?

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัญหาน้องสาวมีกลิ่นเหม็นส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยถ้าเป็นกลิ่นเหม็นเน่า รุนแรง มีตกขาวสีเหลืองเขียวคล้ายหนอง มีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ร่วมด้วย มักเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

กรณีนี้ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาจมีการติดเชื้อที่รุนแรงได้

อีกกรณีของปัญหากลิ่นเหม็นของน้องสาวที่พบได้บ่อย คือ น้องสาวมีกลิ่นเหม็นเค็ม เหมือนปลาเค็มหรือกลิ่นคาวปลา มักพบร่วมกับการมีตกขาวสีขาวเนื้อเนียน ปริมาณมาก (Homogeneous white discharge) อาการมักไม่รุนแรง มักจะไม่มีปวดท้องหรือไข้ร่วมด้วย

กรณีนี้จะเกิดจากภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด (Bacterial vaginosis)

ภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด (Bacterial vaginosis) คืออะไร?

ปกติแล้ว ในช่องคลอดของผู้หญิงจะมีแบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดีอาศัยอยู่ คือ แบคทีเรียกลุ่มแลคโตบาซิลัสประจำช่องคลอด ซึ่งทำให้ช่องคลอดอยู่ในสภาวะสมดุล เป็นกรดอ่อนๆ ไม่มีกลิ่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ถ้ามีภาวะอะไรก็ตามที่เป็นอันตรายต่อแลคโตบาซิลัส ทำให้แบคทีเรียที่ดีกลุ่มนี้ลดลง แบคทีเรียอื่นที่เป็นแบคทีเรียที่ไม่ดีก็จะเจริญขึ้นมาแทนที่ ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่หายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ทำให้ช่องคลอดมีอาการผิดปกติ ตกขาวมาก และมีกลิ่นเหม็น เหมือนกลิ่นปลาเค็ม กลิ่นคาวปลา

สาเหตุที่ทำให้แบคทีเรียแลคโตบาซิลัสลดลง เช่น การทำความสะอาดช่องคลอดที่ไม่เหมาะสม การสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาฆ่าเชื้อที่เกินจำเป็น

น้องสาวมีกลิ่น น้ำปลา ปลาเค็ม คาวปลา เน่า เหม็นเค็ม ทำอย่างไรดี?

ถ้ามีอาการตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ตรวจภายใน เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยให้ถูกต้อง

หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าเกิดจากภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอดจริง การรักษาจะทำโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ครอบคลุมกลุ่มแบคทีเรียที่หายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria)

สิ่งที่สำคัญคือต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) รับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ผู้ป่วยควรสังเกตว่าตนเองมีพฤติกรรมอะไรที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อแบคทีเรียที่ดีในช่องคลอด เช่น การรับประทานยาฆ่าเชื้อที่ไม่เหมาะสม การทำความสะอาดบริเวณน้องสาวที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อพบสาเหตุแล้วก็ควรปรับพฤติกรรมเหล่านั้น รักษาความสะอาดของน้องสาวให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะน้องสาวมีกลิ่นเกิดเป็นซ้ำอีก

ดูแพ็กเกจตรวจภายใน เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กิตติรัตน์ เตชะไตรศักดิ์, ประสงค์ ตันมหาสมุทร, มงคล เบญจาภิบาล, อรรถพล ใจชื่น, ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560.
ประภาพร สู่ประเสริฐ, ฉลอง ชีวเกรียงไกร, เฟื่องลดา ทองประเสริฐ, ทวิวัน พันธศรี. สูตินรีเวชเชียงใหม่. เชียงใหม่: ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558.
Berek JS, Berek DL, Hengst TC, Barile G, Novak E. In: Berek & Novak’s gynecology 15th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins, 2012.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป