กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ตกขาวเกิดจากอะไร? แบบไหนที่เสี่ยงโรค? ใช้ยาตัวไหนรักษาได้บ้าง?

ตกขาวเกิดจากอะไร? แบบไหนที่เสี่ยงโรค? ใช้ยาตัวไหนรักษาได้บ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 26 เม.ย. 2024 อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2024 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ตกขาวเกิดจากอะไร? แบบไหนที่เสี่ยงโรค? ใช้ยาตัวไหนรักษาได้บ้าง?

ปกติแล้วช่องคลอดของเราจะมีจุลชีพอาศัยอยู่จำนวนมากเพื่อรักษาความเป็นกรดอ่อนๆ และหลั่งมูกใสเหลวออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้น ช่วยในการหล่อลื่น และป้องกันการระคายเคืองให้กับช่องคลอด แต่เมื่อใดก็ตามที่มูกนี้เปลี่ยนแปลงไป เช่น สี กลิ่น ปริมาณ อาจเป็นสัญญาณว่าระบบสืบพันธุ์ของเรากำลังอ่อนแอ ซึ่งถ้าหากไม่รีบรักษาอาจส่งผลเสียกับสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด

ร่วมทำความเข้าใจว่าตกขาวคืออะไร? อาการแบบไหนที่เรียกว่าตกขาวผิดปกติ? สีของตกขาวบอกโรคอะไรได้บ้าง? รวมถึงเราจะรักษาอาการตกขาวได้อย่างไร? ครบ จบ ที่บทความนี้!

ตกขาวคืออะไร?

ตกขาว (Leukorrhea) คือ สารคัดหลั่งที่ถูกขับออกมาจากช่องคลอดเมื่อผู้หญิงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีลักษณะเป็นมูกใสหรือของเหลวคล้ายแป้ง โดยทั่วไปแล้วตกขาวจะมีหน้าที่ในการสร้างความชุ่มชื้นและป้องกันสิ่งสกปรกจากภายนอก รวมถึงช่วยลดโอกาสการติดเชื้อภายในช่องคลอดด้วย

ตกขาวเกิดจากอะไร?

เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือหลังจากที่ผู้หญิงมีประจำเดือนครั้งแรก การมีตกขาวนับเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

โดยตกขาวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในระหว่างรอบเดือน โดยเฉพาะช่วงตกไข่ ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายพร้อมต่อการตั้งครรภ์มากที่สุด ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจนทำให้ตกขาวมีลักษณะเหลวใสและมีปริมาณมากกว่าปกติ

อาการแบบไหนที่เรียกว่าตกขาวผิดปกติ?

ลักษณะของตกขาวที่เปลี่ยนแปลงอาจเป็นสัญญาณเตือนของสุขภาพภายในช่องคลอดได้ ซึ่งหากมีอาการไม่พึงประสงค์ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที โดยอาการตกขาวที่ผิดปกติ มีดังนี้

  • ตกขาวมีสีแตกต่างไปจากเดิม เช่น สีเหลือง สีเขียว สีเทา สีน้ำตาล สีชมพู หรือตกขาวมีฟอง ซึ่งส่วนมากแล้วตกขาวที่มีสีแปลกๆ มักเกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
  • ตกขาวจับตัวเป็นก้อน มีหนองปนมากับตกขาว จนมีลักษณะเป็นก้อนมูกคล้ายชีสหรือโยเกิร์ต ในบางรายอาจมีมูกเลือดปน
  • ตกขาวส่งกลิ่นเหม็น มักจะเป็นกลิ่นคาวที่รุนแรง คล้ายปลาเค็ม เนื้อเน่า หรือปลาเน่า บางรายอาจมีกลิ่นรุนแรงขึ้นในช่วงหลังหมดประจำเดือน หรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น จนจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยในการดูดซับ
  • มีตกขาวนานต่อเนื่อง โดยมีตกขาวต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คัน ระคายเคืองภายในช่องคลอดและอวัยวะเพศ รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อง และมีไข้

สีของตกขาวบอกโรคอะไรได้บ้าง?

การสังเกตลักษณะของตกขาวและอาการผิดปกติอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอาการตกขาว อาจทำให้เราทราบถึงสาเหตุของความผิดปกติของร่างกายเบื้องต้นได้ โดยสีของตกขาวแต่ละสีมักเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ดังนี้

1. ตกขาวสีขาว

ตกขาวสีขาว โดยทั่วไปแล้วมักไม่ใช่สัญญาณเตือนของโรคแต่อย่างใดและยังนับเป็นอาการตกขาวที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ

แต่เมื่อใดก็ตามที่ตกขาวสีขาวเริ่มเหลวเกินไปจนกลายเป็นน้ำ รวมถึงมีฟองและมีอาการคันร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเกิดการอักเสบภายในช่องคลอด

ในทางตรงกันข้าม หากตกขาวมีลักษณะหนืดข้นมากเกินไปจนรวมตัวกันเป็นก้อน มีสีขาวขุ่นไปจนถึงสีขาวปนเหลือง มีกลิ่นเหม็นแต่ไม่คาว และเกิดอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย ตกขาวลักษณะนี้อาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ภูมิต้านทานต่ำ และเกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans)

2. ตกขาวสีเหลือง

ตกขาวสีเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ถึงแม้จะมีสีที่เหมือนกัน แต่อาจมีอาการต่างๆ รวมถึงเป็นผลมาจากการรับเชื้อที่แตกต่างกันออกไป โดยตกขาวสีเหลืองเป็นสัญญาณของการติดเชื้อต่างๆ ดังนี้

  • การติดเชื้อไวรัส นอกจากจะทำให้ตกขาวมีสีเหลืองแล้ว การติดเชื้อไวรัสยังทำให้ตกขาวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการได้รับเชื้อของโรคเริม
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยกลิ่นของตกขาวที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักมีกลิ่นคาวคล้ายปลา และจะมีกลิ่นรุนแรงขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงมีอาการคันร่วมด้วย หากมีสีเหลืองเข้มหรือสีเขียวปนและมีตกขาวมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณว่าเกิดการติดเชื้อโรคหนองใน (Neisseria Gonorrhoeae)
  • การติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด มักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อแบคทีเรียคลามายเดีย (Chlamydia) จนทำให้ช่องคลอดอักเสบและเกิดการติดเชื้อพยาธิตามมา โดยตกขาวที่มาจากสาเหตุนี้มักมีสีเหลืองและเกิดฟอง มีโอกาสเกิดได้มากกว่าการติดเชื้อชนิดๆ อื่นๆ

3. ตกขาวสีเขียว

ตกขาวสีเขียวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อพยาธิทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) ทำให้ตกขาวมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว มีฟอง เกิดอาการแสบคัน และผิวบริเวณอวัยวะเพศแดง นอกจากนี้ในบางรายอาจมีปริมาณตกขาวมากกว่าปกติด้วย โดยตกขาวประเภทนี้มักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม

4. ตกขาวสีเทา

ปกติแล้วบริเวณช่องคลอดของเราจะมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลไล (Latobacilli) ในการรักษาความสมดุลให้กับช่องคลอด โดยแบคทีเรียตัวนี้จะทำให้อวัยวะเพศมีสภาพเป็นกรดอ่อนที่ค่า pH 4.0-4.5 และมีฤทธิ์ในการป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้ามาในร่างกาย

แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีแบคทีเรียนี้ลดลง ก็จะทำให้แบคทีเรียที่มีฤทธิ์ก่อโรคมีจำนวนสูงขึ้น จนทำให้เกิดการอักเสบในช่องคลอด

โดยอาการที่มักเกิดขึ้นร่วมกับการมีตกขาวสีเทา คือ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคล้ายปลาเค็มและมีกลิ่นรุนแรงขึ้นหลังหมดประจำเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การสวนล้างช่องคลอด และการรับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน

5. ตกขาวสีน้ำตาล

หากมีตกขาวสีน้ำตาลในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนนับเป็นเรื่องปกติ เป็นผลจากการที่ประจำเดือนมาช้า มาไม่ตรงรอบ ทำให้มีเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาพร้อมกับตกขาวด้วย

แต่ในผู้ที่มีตกขาวมีสีน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็นรวมถึงมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดหรือปากมดลูก

นอกจากนี้การมีตกขาวสีน้ำตาลยังเป็นสัญญาณเตือนสำคัญของการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย ทำให้เกิดเลือดกะปริบกะปรอยกับตกขาว หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ทันที

6. ตกขาวสีชมพู

ตกขาวสีชมพูเป็นตกขาวที่พบได้มากในผู้ที่เพิ่งคลอดลูก ซึ่งเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนทำให้มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด หรือที่คนไทยมักเรียกมูกนี้ว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” โดยทั่วไปแล้วตกขาวสีชมพูจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย

ตกขาวผิดปกติเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

อาการตกขาวผิดปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการตกขาวมากผิดปกติบ่อยครั้ง อาจทำให้ปีกมดลูกอักเสบ ท่อนำไข่ตัน นำไปสู่ปัญหาภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ผู้ที่เคยมีประวัติตกขาวผิดปกติก็จะมีความเสี่ยงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การตกขาวยังมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฝีและติดเชื้ออุ้งเชิงกรานได้สูง หากพบว่ามีอาการตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอด มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ และวิงเวียน ควรพบแพทย์ทันที เพราะการติดเชื้ออุ้งเชิงกรานเพียงไม่กี่วันอาจทำลายระบบสืบพันธุ์ได้

วิธีรักษาอาการตกขาวผิดปกติ

วิธีรักษาอาการตกขาวผิดปกติจะต้องรักษาที่สาเหตุของโรค ในเบื้องต้นหากมีอาการไม่รุนแรงมากสามารถปรึกษาเภสัชเพื่อรับยาและรักษาอาการตกขาวได้ด้วยตนเอง

โดยการรักษาอาการตกขาวผิดปกติจะเน้นไปที่การรักษาเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสในช่องคลอด ทั้งนี้ในระหว่างช่วงการรักษาควรงดมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อและทำให้อาการที่มีอยู่รุนแรงขึ้น โดยตัวยาที่นำมาใช้ในการรักษาอาการตกขาวผิดปกติมีดังนี้

1. ยารับประทาน

การรับประทานยาเพื่อรักษาอาการตกขาวผิดปกติอาจเป็นวิธีอันดับแรกๆ ที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ โดยปริมาณและจำนวนครั้งในการรับประทานยาจะแตกต่างกันออกไปตามภาวะการติดเชื้อ ในบางรายเภสัชกรอาจแนะนำให้คู่นอนรับประทานยาร่วมด้วย

ยาชนิดรับประทานตัวยา Metronidazole

เป็นยาปฏิชีวนะที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากจะถูกนำมารักษาการติดเชื้อในช่องคลอดแล้ว ตัวยานี้ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารและการติดเชื้อในทางเดินอาหารอีกด้วย

โดยปริมาณการใช้ยาเมโทรนิดาโซลจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของการติดเชื้อ รวมถึงการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • ผู้ที่มีอาการตกขาวจากภาวะช่องคลอดอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • ผู้ที่มีอาการตกขาวจากภาวะติดเชื้อทริโคโมแนสรับประทานยา 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และคู่นอนควรรับประทานยาด้วย
  • ยาเมโทรนิดาโซลสามารถรับประทานช่วงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทานหลังมื้ออาหาร แต่หากเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ในครั้งถัดไปควรทานยาพร้อมกับอาหารหรือของว่าง
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่กำลังใช้ยาและหลังใช้ยาอย่างน้อย 3 วัน

ยาชนิดรับประทานตัวยา Tinidazole

เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านโปรตัวซัว ออกฤทธิ์โดยการทำลายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มักถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการตกขาวที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อพยาธิหรือแบคทีเรียในช่องคลอด นอกจากนี้ตัวยาทินิดาโซลยังสามารถนำไปรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกมากมายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • งดดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่กำลังใช้ยาและหลังการใช้ยาอย่างน้อย 3 วัน
  • ห้ามหยุดรับประทานยาหากยังไม่ครบกำหนดการหยุดยาถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะอาจทำให้การติดเชื้อไม่หาย รวมถึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้
  • เมื่อรับประทานยาอาจรู้สึกถึงรสชาติขมภายในปากหรือรับรสชาติอื่นๆ ได้ลดลง เป็นผลข้างเคียงโดยทั่วไป ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ

2. ยาทาเฉพาะที่ชนิดครีม

ยาทาเฉพาะที่ชนิดครีม เป็นยาที่แพทย์มักสั่งให้ร่วมกับการใช้ยารักษาตกขาวชนิดรับประทานเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส

ยาทาเฉพาะที่ชนิดครีมตัวยา Clotrimazole

เป็นยาต้านเชื้อราที่ออกฤทธิ์ได้ในบริเวณกว้าง มีคุณสมบัติสำคัญในการขัดขวางกระบวนการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้กระบวนการดูดซึมอาหารของเชื้อราไม่ปกติจนเชื้อราไม่เติบโตและหยุดการเติบโตในที่สุด ส่วนมากมักนำมาใช้ในการรักษาอาการตกขาว โรคกลาก และน้ำกัดเท้า

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • ผู้ที่มีอาการตกขาวจากภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดควรใช้ยาทาชนิดครีม Clotrimazole ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์, 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์
  • ก่อนทายาลงบนร่างกายควรอาบน้ำและเช็ดบริเวณที่ลับให้แห้งเสียก่อน จากนั้นจึงทายาเฉพาะบริเวณที่มีอาการเท่านั้น
  • ล้างมือให้สะอาดหลังทายาทุกครั้ง รวมถึงควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตา

3. ยาเหน็บช่องคลอด

ยาเหน็บช่องคลอดเป็นหนึ่งในยาชนิดใช้เฉพาะที่ โดยประสิทธิภาพของยาเหน็บนั้นไม่ต่างจากยาชนิดรับประทาน แต่จะสามารถลดอาการเฉพาะที่ได้รวดเร็วกว่ายาชนิดรับประทานและเข้าถึงเฉพาะจุดได้ดีกว่าแบบครีม

ยาเหน็บช่องคลอดตัวยา Clotrimazole

เป็นยาต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์และคุณสมบัติเหมือนกับยาทาชนิดครีมตัวยา Clotrimazole คือ ช่วยยับยั้งเชื้อราในบริเวณกว้าง

โดยยาเหน็บช่องคลอดตัวยา Clotrimazole จะมีด้วยกัน 2 ขนาด คือ 100 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม ซึ่งขนาดของยาที่ต้องใช้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และเภสัชกรผู้ดูแล

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • ยาเหน็บช่องคลอดขนาด 100 มิลลิกรัม ใช้ 1 เม็ด เป็นระยะเวลา 6 วัน
  • ยาเหน็บช่องคลอดขนาด 500 มิลลิกรัม ใช้ 1 เม็ด ครั้งเดียว
  • ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดก่อนใช้ยา รวมถึงควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังใช้ยา
  • ในกรณีที่มีอุปกรณ์ช่วยเหน็บยา ควรใช้อุปกรณ์เพื่อความสะดวกและสุขลักษณะ
  • ขณะใช้ยาอาจนำกระดาษชำระมารองบริเวณกางเกงเพื่อลดการเปรอะเปื้อน
  • กรณีที่ลืมใช้ยาในระยะเวลาที่กำหนด สามารถใช้ยาได้ทันทีโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

วิธีป้องกันอาการตกขาวผิดปกติ

วิธีป้องกันอาการตกขาวจะเน้นไปที่การรักษาความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องโรคติดต่อขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยวิธีการป้องกันอาการตกขาวผิดปกติสามารถทำได้ดังนี้

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดเสียสมดุลจนเกิดแบคทีเรียและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ควรเช็ดทำความสะอาดน้องสาวอย่างเบามือจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากทวารหนัก
  • สวมถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลายครั้งที่การติดเชื้อมักเกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสมาจากคู่นอน ดังนั้นก่อนมีเพศสัมพันธ์ควรสวมใส่ถุงยางทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องแต่งกายที่รัดรูปมากเกินไป เพราะอาจทำให้มีการสะสมของเหงื่อ จนทำให้น้องสาวเกิดการอับชื้นได้
  • หมั่นตรวจภายในเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้เราทราบถึงอาการผิดปกติ และทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรง

ตกขาวผิดปกติ เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาตกขาวซ้ำซากเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในหลายๆ ด้าน รวมถึงการรักษาตกขาวนั้นสามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ดังนั้นอย่ารอให้เชื้อต่างๆ ทำลายระบบสืบพันธุ์ของคุณ รีบรักษา ก่อนสายเกินแก้


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
โรงพยาบาลศิครินทร์, เช็กอาการ “ตกขาว” แบบนี้ผิดปกติไหม?! (https://www.sikarin.com/health/เช็คอาการ-ตกขาว-แบบนี้), 20 มีนาคม 2567.
ระบบเครือข่ายเภสัชสนเทศ, ยาเหน็บช่องคลอด Clotrimazole (http://www.prachanath.su.ac.th/DIS/prachanath/answerq/ansform.php?Q_id=236), 20 มีนาคม 2567.
Webmd, Tinidazole - Uses, Side Effects, and More (https://www.webmd.com/drugs/2/drug-91258/tinidazole-oral/details), 20 มีนาคม 2567.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)