วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

การทำหมัน ใครควรทำ ทำแล้วไม่ท้องจริงหรือไม่

รวมข้อมูลการทำหมัน ผู้หญิง หรือผู้ชายควรทำ ทำได้กี่วิธี
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
การทำหมัน ใครควรทำ ทำแล้วไม่ท้องจริงหรือไม่

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การทำหมันเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรซึ่งสามารถทำได้ทั้งในผู้หญิง และผู้ชาย
  • การทำหมันชายจะเป็นการตัดท่อนำอสุจิเพื่อไม่ให้เชื้ออสุจิไหลเข้าไปปฏิสนธิในรังไข่ได้ มีระยะเวลาในการทำไม่นาน และมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
  • การทำหมันหญิงจะเป็นการตัดต่อท่อนำไข่ให้อุดตันเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้ การทำหมันหญิงต้องอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม และมีกระบวนการผ่าตัดซับซ้อนกว่า
  • หากต้องเลือกว่า ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ใครควรทำหมัน คำตอบคือ สามารถทำได้ทั้งคู่ แต่หากต้องการความสะดวกสบาย ขั้นตอนการผ่าตัดไม่ซับซ้อนมาก การทำหมันชายน่าจะตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจก่อนแต่ง

การมีลูกอาจไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตคู่เสมอไป สามีภรรยาหลายคู่จึงมักทำหมันเพื่อคุมกำเนิดไม่ให้มีบุตร และยังเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ให้ผลลัพธ์ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดวิธีอื่น

เมื่อพูดถึงการทำหมัน หลายคนจะคิดว่า ต้องเป็นฝ่ายหญิงมากกว่าที่ทำ ซึ่งความจริงแล้วการทำหมันนั้นสามารถทำได้ทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่สามีภรรยา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจก่อนแต่งงานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 549 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้การทำหมันในปัจจุบันยังไม่ได้มีขั้นตอนการผ่าตัดที่ซับซ้อน หรือน่ากลัวอย่างแต่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีหลายเทคนิคการผ่าตัดที่ผู้ทำหมันสามารถปรึกษากับแพทย์ก่อนได้

ความหมายของการทำหมัน

การทำหมัน (Sterilization) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรซึ่งจะมีหัตถการแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง และเพศชาย

การทำหมันชาย

การทำหมันชาย (Vasectomy) คือ การคุมกำเนิดแบบถาวรของเพศชายเพื่อไม่ให้เชื้ออสุจิไหลเข้าไปปฏิสนธิในรังไข่จนเกิดการตั้งครรภ์ได้ เหมาะสำหรับผู้ชายที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือต้องการคุมกำเนิด

การทำหมันชายมีขั้นตอนและกระบวนการไม่ซับซ้อนเท่ากับการทำหมันหญิง ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากถึง 99% อีกทั้งการทำหมันชายนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศแต่อย่างใด ผู้ชายที่ทำหมันแล้วยังสามารถเกิดอารมณ์ทางเพศ และมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนทำหมันชาย

ตัดขนบริเวณอวัยวะเพศให้สั้นที่สุดแต่ไม่จำเป็นต้องโกน จากนั้นอาบน้ำชำระร่างกายโดยเฉพาะบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศให้สะอาด สวมใส่กางเกงที่ใส่สบาย ไม่รัดจนเกินไป แล้วมาโรงพยาบาลพร้อมกับญาติ 1 คนเพื่อช่วยทำเอกสารและรอพากลับบ้าน

วิธีการทำหมันชาย

โดยหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจก่อนแต่งงานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 549 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. การทำหมันแบบทั่วไป (Conventional Vasectomy)
    แพทย์อาจวางยาสลบผู้เข้าผ่าตัด แล้วฉีดยาชาบริเวณถุงอัณฑะที่มีท่ออสุจิ จากนั้นจะใช้มีดกรีดแผลประมาณ 1-2 เซนติเมตร แล้วจะใช้อุปกรณ์จับท่ออสุจิทั้ง 2 ข้างมาผูกไว้แล้วตัดท่อออก จากนั้นเย็บปิดแผลด้วยไหมละลายให้เรียบร้อย

    หลังจากนั้นแพทย์อาจให้ผู้เข้าผ่าตัดรอดูอาการที่โรงพยาบาลอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้

  2. การทำหมันแบบเจาะ (Non-Scalpel Vasectomy)
    แพทย์จะฉีดยาชาให้ผู้เข้าผ่าตัด จากนั้นจะใช้เครื่องมือปลายแหลมเจาะผิวหนังเข้าไปผูกและตัดท่ออสุจิผ่านการใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อขยายภาพถุงอัณฑะให้ชัดเจนขึ้น

    บาดแผลจากการทำหมันวิธีนี้จะมีความยาวเพียง 3 มิลลิเมตร -1 เซนติเมตรเท่านั้น ผู้เข้าผ่าตัดไม่ต้องดมยาสลบ ไม่เย็บแผล และสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังทำหมันเสร็จ

ผู้ที่ทำหมันชายยังต้องดูแลตนเองให้เหมาะสมหลังการทำหมันเสร็จสิ้น เช่น งดออกกำลังกายหนักๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ งดการขี่จักรยาน หรือขี่มอเตอร์ไซค์เพราะจะทำให้แผลถูกกดทับและกระทบกระเทือน รวมทั้งทำความสะอาดแผลให้สะอาดและซับแผลให้แห้งเสมอ

นอกจากนี้ยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทันทีหลังทำหมัน เพราะเชื้ออสุจิบางส่วนอาจยังตกค้างอยู่ในท่อนำอสุจิ และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ แต่ควรรอประมาณ 2 เดือนหลังจากทำหมัน หรือมีการหลั่งประมาณ 10-20 ครั้งแล้ว จากนั้นให้นำตัวอย่างน้ำอสุจิไปให้แพทย์ตรวจว่า ยังมีเชื้ออสุจิหลงเหลืออยู่หรือไม่

ในระหว่างนั้นหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ก็ให้ใช้วิธีสวมถุงยางอนามัยไปก่อน

การทำหมันชายอาจมีกระบวนการไม่ซับซ้อน แต่หากผู้เข้าผ่าตัดดูแลตนเองอย่างไม่เหมาะสม ปล่อยให้แผลสกปรก หรือทำให้แผลกระทบกระเทือนมากๆ ก็สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ลูกอัณฑะบวม แผลติดเชื้อ มีเลือดคั่งในลูกอัณฑะ 

หรืออาจพบผลแทรกซ้อนอื่นได้บ้าง เช่น อาการปวด (post vasectomy pain syndrome) หรือเกิดผลกระทบทางจิตใจชึ่งมักพบในผู้ที่ตัดสินใจทำหมันแต่อายุยังน้อยมากกว่ากลุ่มที่ตัดสินใจทำหมันที่อายุมากแล้ว

ดังนั้นหลังจากทำหมันแล้วต้องสังเกตแผลผ่าตัดว่า มีอาการบวม เลือดออก มีน้ำหนองไหล หรือรู้สึกปวดผิดปกติหรือไม่ หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจก่อนแต่งงานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 549 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การทำหมันหญิง

การทำหมันหญิง (Tubal ligation) คือ การคุมกำเนิดแบบถาวรของเพศหญิงผ่านการผ่าตัดให้ท่อนำไข่อุดตันเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้ออสุจิเข้ามาผสมกับไข่จนเกิดการปฏิสนธิได้

ส่วนการทำหมันหญิงด้วยการตัดมดลูก (hysterectomy) มักใช้เฉพาะกรณีที่มีโรคอื่นร่วมด้วย

การทำหมันหญิงจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมมากกว่าการทำหมันชาย โดยช่วงเวลาที่สามารถทำหมันหญิงได้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่

1.ช่วงเวลาหลังคลอด (Post-partum sterilization) 

เรียกอีกชื่อว่า “การทำหมันเปียก” เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงนิยมทำหมันกันมากที่สุด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 24-48 ชั่วโมงหลังคลอดบุตร เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ผนังหน้าท้องของผู้หญิงกำลังยืดหยุ่น มดลูกอยู่ในตำแหน่งสูงตรงกับระดับสะดือ จึงสามารถผ่าตัดทำหมันบริเวณท่อน้ำไข่ได้ง่าย 

การทำหมันวิธีนี้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากทำหมันเปียกแล้ว 4-6 สัปดาห์

2.
ช่วงเวลาที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (Interval sterilization)
เป็นการทำหมันที่ไม่เกี่ยวข้องกับช่องเวลาของการตั้งครรภ์ หรือเป็นการทำหมันหลังคลอดบุตรไปแล้ว 6 สัปดาห์ เรียกอีกชื่อว่า “การทำหมันแห้ง” ผู้ที่ต้องการทำหมันแห้งจะต้องตรวจสุขภาพอวัยวะสืบพันธุ์ และตรวจโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ให้แน่ใจเสียก่อนว่า มีความพร้อมที่จะทำหมันแล้ว  

นอกจากนี้ยังต้องตรวจให้แน่ใจด้วยว่า "ไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ในขณะนั้น"

แต่หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ทำหมันแห้งแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังทำหมันไปแล้ว 7 วัน หรือหลังจากไม่มีอาการแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัด

การทำหมันหญิงไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% โดยประสิทธิภาพของการทำหมันจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของผู้ทำหมัน ความยาวของท่อนำไข่ วิธีการทำหมัน ซึ่งจะทำให้โอกาสการกลับมาตั้งครรภ์แตกต่างกันไป

นอกจากนี้การทำหมันหญิงยังมีข้อเสียบางอย่างที่ผู้เข้าผ่าตัดควรปรึกษากับแพทย์ และพิจารณาเกี่ยวกับแผนการทำหมันกับครอบครัวให้ดีเสียก่อน เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก โอกาสที่ท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งจะไม่อุดตัน อาการปวดอุ้งเชิงกรานหลังทำหมันเป็นเวลานาน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ทำหมั่นไปแล้ว แต่เกิดความคิดว่า ต้องการจะมีบุตรอีกครั้ง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ก็มักจะเสียใจที่ไม่สามารถมีบุตรได้อีก ดังนั้นก่อนทำหมัน คุณผู้หญิงจึงควรไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน

วิธีทำหมันหญิง

  1. การทำหมันผ่านการผ่าตัดหน้าท้อง (Minilaparotomy) เป็นวิธีทำหมันที่ไม่ซับซ้อน ทำได้ง่าย และนิยมทำหลังคลอด แต่ก็สามารถทำได้กับการทำหมันแบบแห้งเช่นกัน แต่แผลผ่าตัดจะยาวกว่า
  2. การทำหมันผ่านการส่องกล้อง (Laparoscopic approach) มีข้อดีคือ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว แต่ต้องให้ผู้เข้าผ่าตัดดมยาสลบก่อน
  3. การทำหมันทางช่องคลอด (Vaginal approach) เป็นการผ่าตัดที่มีกระบวนการซับซ้อนกว่า ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า แต่มีข้อดีคือ จะไม่มีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง หรือบริเวณสะดือเลย
  4. การทำหมันด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocoagulation) เป็นการทำหมันโดยการจี้ไฟฟ้าเพื่อทำลายท่อนำไข่อย่างน้อย 3 เซนติเมตร
  5. การทำหมันด้วยวิธี Pomeroy Technique เป็นการทำหมันที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยการยกท่อนำไข่ขึ้นมาเป็นวงแล้วผูกด้วยไหมละลาย จากนั้นแพทย์จะตัดท่อนำไข่ที่อยู่เหนือรอยผูกออก
  6. การทำหมันด้วยวิธี Parkland Technique เป็นการทำหมันด้วยการเปิดเอ็นยืดหลอดมดลูก (mesosalpinx) แล้วผูกด้วยไหมละลายทั้งส่วนต้น และส่วนปลายของเอ็น จากนั้นแพทย์จะตัดท่อนำไข่ตำแหน่งตรงกลางระหว่างส่วนต้นกับส่วนปลายเอ็นออก เพื่อให้ปลายท่อนำไข่แยกออกจากกัน
  7. การทำหมันโดยใช้วัสดุเข้าไปอุดกั้นท่อนำไข่ (Mechanical methods) โดยอาจไม่ใช่การทำให้ท่อนำไข่อุดตันเสมอไป แต่อาจเป็นการรัดท่อนำไข่ด้วยซิลิโคน หรือตัวหนีบที่ทำจากไทเทเนียม

โดยปกติหลังจากทำหมันเสร็จแล้ว ผู้หญิงหลายคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อ แต่ก็ยังต้องพักผ่อนให้มาก งดออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้แผลกระทบกระเทือน รวมถึงสังเกตแผลผ่าตัด หรืออาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทำหมัน เช่น

  • ปวดท้อง หรือปวดอุ้งเชิงกราน
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มีปริมาณเลือดมากขึ้น หรือน้อยลง หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

อาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากทำหมัน แต่หากรู้สึกปวดท้องน้อยมากผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดมาก และไม่ใช่เลือดประจำเดือน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากการติดเชื้อในท่อนำไข่ หรือท่อนำไข่ทะลุ

การทำหมันหญิงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศแต่อย่างใด ผู้หญิงที่ต้องการทำหมันจึงไม่ต้องกังวลว่า การทำหมันจะส่งผลให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เพียงแต่ผู้ทำหมันส่วนมากมักจะคิดไปเองว่า สมรรถภาพทางเพศของตนเองลดหย่อนลงไปหลังจากทำหมันแล้วเท่านั้น

ผู้หญิง หรือผู้ชาย ใครควรทำหมัน?

ความจริงแล้ว ประสิทธิภาพในการทำหมันเพื่อคุมกำเนิดของผู้หญิงกับผู้ชายนั้นไม่แตกต่างกัน เพียงแต่อาจอยู่ที่ความประณีตของแพทย์และเทคนิคการผ่าตัดว่า ช่วยคุมกำเนิดได้ดีขนาดไหน

ดังนั้นหากคู่สามีภรรยาที่กำลังปรึกษาว่า ใครควรทำหมันดี ก็ต้องตอบว่า "สามารถทำได้ทั้งคู่ ไม่แตกต่างกัน"

แต่จากข้อมูลการทำหมันชาย และทำหมันหญิงที่กล่าวไปข้างต้น การทำหมันหญิงจะมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่าการทำหมันชายมาก หากคำนึงในแง่ความสะดวกสบาย และรวดเร็ว การทำหมันชายจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

การทำหมันให้มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากที่สุด นอกจากจะต้องอาศัยความประณีต และเทคนิคการทำหมันที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแล้ว ความพร้อมของสภาพร่างกาย และการหมั่นกลับมาตรวจการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำ ก็มีส่วนทำให้คุณสามารถคุมกำเนิดได้อย่างไร้กังวลเช่นกัน

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจก่อนแต่ง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sonfield, Adam, and Rachel Benson Gold, "Methodology for Measuring Public Funding for Contraceptive, Sterilization, and Abortion Services, FY 1980–2001" (https://www.guttmacher.org/sites/default/files/pdfs/pubs/fpfunding/methods.pdf), 22 July 2020.
Park, Jennifer M., Hogan, Dennis P. and Frances K. Goldscheider. 2003. "Child Disability and Mothers' Tubal Sterilization". Perspectives on Sexual and Reproductive Health. 35(3): 138–143.
โรงพยาบาลลำปาง, การทำหมันชาย (http://www.lph.go.th/lpweb/wp-content/uploads/2019/07/urine_15.pdf), 9 กรกฎาคม 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)