พญ. สุดารัตน์ ศุภนิตยานนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
เขียนโดย
พญ. สุดารัตน์ ศุภนิตยานนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม

เราควรให้รางวัลลูก เมื่อลูกเรียนเก่งหรือเป็นเด็กดีหรือไม่?

การให้รางวัลลูกเมื่อเรียนเก่งหรือประพฤติตัวดี อาจช่วยใช้ลูกทำพฤติกรรมดีๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หากให้อย่างไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนติดรางวัล และกลายเป็นผลเสียติดไปถึงตอนโตได้
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 18 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เราควรให้รางวัลลูก เมื่อลูกเรียนเก่งหรือเป็นเด็กดีหรือไม่?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การให้รางวัลเด็กเมื่อเด็กทำดี จะช่วยกระตุ้นให้ลูกทำพฤติกรรมดีๆ ต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ลูกเกิดความภูมิใจมากขึ้น แทนที่จะใช้คำว่า "ไม่" หรือ "หยุด" หรือลงโทษด้วยความรุนแรง ซึ่งทำให้ความภูมิใจลดลง
  • ผลเสียของการให้รางวัลที่ควรระวัง คือการให้รางวัลโดยปราศจากเหตุผลหรือความพึงพอใจ ทำให้ลูกรู้สึกว่าของรางวัลที่ได้ไม่มีคุณค่า ติดรางวัล ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนเสมอๆ
  • การให้รางวัลที่ส่งเสริมคุณค่าทางจิตใจ คือการให้รางวัลด้วยการแสดงความรู้สึกด้วยภาษากาย เช่น การกอด หอมแก้ม โอบไหล่ ไฮไฟว์ รวมถึงคำชม การให้ความสนใจ หรือทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสนุกสนาน
  • ส่วนการให้รางวัลด้วยวัตถุนั้น จะได้ผลดีสุดเมื่อพ่อแม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่พ่อแม่คาดหวังจึงจะได้สิ่งที่ต้องการ อาจทำเป็นตารางลำดับของรางวัลที่ลูกอยากได้และให้ลูกมีส่วนในขั้นตอนการวางแผนที่จัดไว้
  •  ดูแพ็กเกจพาลูกปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่นี่

เมื่อลูกทำสิ่งที่ดีๆ ให้พ่อแม่ภูมิใจ เช่น เชื่อฟังคำสอน ทำการบ้านเสร็จ สอบได้คะแนนดีๆ การที่พ่อแม่ให้รางวัลตอบแทนก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งลูกและพ่อแม่รู้สึกมีความสุข และสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่อง

แต่บางครั้งการให้รางวัลที่เป็นสิ่งของหรือสิ่งมีค่าอย่างสม่ำเสมอก็ส่งผลเสียต่อทั้งพ่อแม่และลูกได้

บทความนี้จะไขคำตอบว่า การให้รางวัลเมื่อลูกเรียนได้เกรดดีหรือเป็นเด็กดี ดีจริงหรือไม่

ข้อดีของการให้รางวัลแก่เด็ก

การให้รางวัลเป็นหนึ่งในแรงเสริมทางบวกที่ส่งผลให้พฤติกรรมเกิดซ้ำๆ ซึ่งพ่อแม่มุ่งหวังให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมตามที่ต้องการ เช่น ให้ลูกเป็นเด็กดี ช่วยเหลืองานบ้าน ตั้งใจเรียน หรือสอบได้เกรดดีๆ

การให้รางวัลมีข้อดีดังนี้

1. การให้รางวัลจะช่วยกระตุ้นให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดี ๆ อย่างต่อเนื่อง

หากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกอย่างถูกต้อง และทำอย่างทันท่วงทีหลังพฤติกรรมนั้นจบลง ลูกจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและทำให้พฤติกรรมที่เราคาดหวังเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

2. การให้รางวัลเป็นเหมือนสิ่งกระตุ้นความภูมิใจในตนเอง

เด็กบางคนไม่เคยหรือไม่ค่อยได้รับรางวัลจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยง เพราะคนส่วนมากมักจะมองเห็นพฤติกรรมที่แย่ๆ มากกว่า

บางครั้งเมื่อลูกทำสิ่งที่ไม่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูก็จะใช่คำพูดว่า “ไม่” “หยุด” “ห้าม” บ่อยๆ หรือบางครั้งมีการลงโทษโดยใช้ความรุนแรง สิ่งเหล่านี้ทำให้ความภาคภูมิใจในตนเองลดลง

ในทางกลับกัน การที่ลูกได้รับรางวัลอาจเป็นตัวแทนของความรู้สึกดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูส่งผ่านให้ลูกได้

3. การให้รางวัลสามารถเพิ่มความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้

การให้รางวัลตอบแทนสามารถทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกมีความสุขทั้งสองฝ่าย เพราะผู้ใหญ่รู้สึกดีที่ลูกทำในสิ่งที่ต้องการ และลูกก็รู้สึกมีความสุขที่ได้สิ่งที่ต้องการเช่นเดียวกัน

การให้รางวัล จะก่อให้เกิดผลเสียอะไรหรือไม่?

แม้การให้รางวัลจะสามารถทำให้พฤติกรรมที่ดีเกิดซ้ำๆ สร้างความภูมิใจในตนเอง และผู้ให้ผู้รับมีความสุขอย่างที่บอกไปแล้วข้างต้น

แต่การให้รางวัลโดยปราศจากเหตุผลหรือให้เพราะความพึงพอใจ โดยไม่ได้สะท้อนหรือตอบความพยายามและความตั้งใจของลูก จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าของรางวัลที่ได้ไม่มีคุณค่า ติดรางวัล ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนเสมอๆ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกทำในสิ่งที่ต้องการ แต่ไม่ได้ให้รางวัลอีก ลูกก็อาจไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเองลดลง และอาจทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่หวังผลประโยชน์ตอบแทนเพียงอย่างเดียว

การให้รางวัล ควรเป็นให้เป็นสิ่งของหรือไม่?

มีการแบ่งประเภทของของรางวัลมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดเจนสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. ของรางวัลที่เป็นวัตถุ

ได้แก่รางวัลจำพวกของเล่น ขนม ลูกอม หรือสิ่งของที่มีราคา

2. ของรางวัลที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ

รางวัลแบบนี้สามารถให้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเงิน และเสริมคุณค่าทางจิตใจได้มากกว่าของรางวัลที่เป็นวัตถุ

ตัวอย่างของรางวัลที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ ได้แก่

  • การแสดงความรู้สึกโดยใช้ภาษากาย เช่น การกอด หอมแก้ม โอบไหล่ ไฮไฟว์
  • การให้คำชมเชย
  • การให้ความสนใจและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของลูก เป็นเหมือนรางวัลชิ้นใหญ่ที่ลูกต้องการเสมอจากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดู เช่น การเล่นของเล่นด้วยกัน การอ่านนิทาน การกินอาหารมื้อค่ำร่วมกัน เป็นต้น

การให้รางวัลกับเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องให้เป็นวัตถุเสมอไป คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถเลือกให้รางวัลได้หลากหลายหลายวิธี

ความเข้าใจและการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ต่อพฤติกรรมที่ดีของลูกจะช่วยส่งเสริมให้ลูกทำสิ่งดีๆ ต่อไป

การให้รางวัล สามารถทำได้อย่างไร?

เด็กบางคนต้องการมากกว่าคำชมเชยเมื่อตัวเองได้ทำสิ่งที่ดีๆ เช่น อยากได้รางวัล แต่การให้รางวัลนั้นๆ จะได้ผลดีที่สุดก็เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่พ่อแม่คาดหวัง ลูกก็จะได้สิ่งที่ต้องการ

มีคำแนะนำเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้

  • ทำแผ่นชาร์ตหรือตารางระบุพฤติกรรมที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้น (อาจเลือกใช้ปฏิทินที่บอกระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) เพื่อให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่กำหนด ควรเลือกพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม เห็นชัดเจน
  • ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า “หนูจะได้รางวัล ถ้าหนูทำคะแนนได้กี่คะแนนหรือสะสมแต้มได้กี่แต้ม” (เด็กเล็กอาจใช้วิธีการสะสมเหรียญรางวัลหรือสติกเกอร์ดาวสะสมในปฏิทิน ส่วนเด็กโตอาจใช้วิธีสะสมแต้มคะแนน) หากเป้าหมายเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ รางวัลควรเป็นสิ่งธรรมดาที่ทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจ แต่หากเป้าหมายต้องใช้เวลานาน และลูกทำสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอาจให้ของรางวัลพิเศษเพื่อตอบแทนการกระทำที่ดีๆ และความพยายามที่ลูกทำลงไปได้
  • ควรมีการสรุปคะแนนเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกมีความพยายาม และเมื่อจบช่วงเวลาที่กำหนด ควรพูดคุยสรุปตารางร่วมกัน
  • วางชาร์ตหรือตารางไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดและสร้างแรงจูงใจให้ลูกได้
  • ทำลำดับความต้องการของรางวัลที่ลูกอยากได้และให้ลูกมีส่วนในขั้นตอนการวางแผนตารางที่จัดไว้
  • หากลูกทำไม่สำเร็จ ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษ ไม่ควรหยุดข้อตกลงที่ทำร่วมกันกับลูก แต่ควรพูดคุย ให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติม และวางแผนจัดการร่วมกันใหม่อีกครั้ง

ถ้าไม่ให้รางวัล ควรทำอย่างไรดี?

การชมเชยลูก เป็นอีกวิธีที่ทำให้ลูกรู้สึกดีและมีความสุข นอกจากนี้ยังทำให้ลูกเรียนรู้ว่าควรทำพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างไร

วิธีการที่ทำให้การชมเชยลูกสร้างประโยชน์ต่อตัวลูกมากที่สุด ได้แก่

  • ชมที่กระบวนการ เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดีๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ชมที่กระบวนการมากกว่าพูดแค่ว่า “ลูกเก่ง” “ลูกดี” เช่น “วันนี้หนูจัดกระเป๋าไปโรงเรียนเอง แม่ดีใจมากๆ จ้ะ” หรือ “หนูไม่โวยวายหรือพูดแทรกตอนที่คุณแม่คุยกับเพื่อนอยู่ ขอบคุณมากนะจ๊ะ”
  • ชมที่ความพยายาม คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเน้นที่ความพยายามมากกว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้น เพราะการชมที่ความพยายามจะช่วยให้เด็กมีทัศนคตีและความคิดที่ยืดหยุ่น และพร้อมจะพัฒนาไปข้างหน้า เช่น “ถึงหนูไม่ได้เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่ง แต่พ่อกับแม่ก็ภูมิใจที่หนูพยายามฝึกว่ายน้ำทุกวัน” หรือเลือกใช้คำพูดที่ส่งเสริมให้ลูกเห็นถึงความพยายามของตนเอง เช่น “หนูคงเหนื่อย” “หนูพยายามมาก” “ยากไหม” เป็นต้น เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูก
  • หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น
  • ชมด้วยความจริงใจ เพราะลูกจะรับรู้ความจริงใจและความเชื่อมั่นในตัวเขาจากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูเสมอ

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถใช้ภาษากายเพื่อเป็นรางวัลตอบแทนเมื่อลูกทำสิ่งดีๆ เช่น การกอด หอมแก้ม โอบไหล่ ไฮไฟว์และทำกิจกรรมร่วมกับกับลูก เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าลูกสร้างความสุขและความภูมิใจให้พ่อแม่ และสิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมาสู่ลูกเช่นเดียวกัน

ดูแพ็กเกจพาลูกปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, The right way to praise you kids, (https://www.webmd.com/parenting/features/the-right-way-to-praise-your-kids#3) 2 December 2012.
Healthy Children, Positive reinforcement through rewards, (https://www.healthychildren.org/English/family-life/family-dynamics/Pages/Positive-Reinforcement-Through-Rewards.aspx), 21 November 2015.
Centers for Disease Controls and Prevention, How to use rewards (https://www.cdc.gov/parents/essentials/consequences/rewards.html), 5 November 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)