กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

4 สายพันธุ์ ไข้เลือดออก สายพันธุ์ไหนดุ ควรระวังมากสุด

4 สายพันธุ์ ไข้เลือดออก สายพันธุ์ไหนดุ ควรระวังมากสุด
เผยแพร่ครั้งแรก 7 พ.ค. 2025 อัปเดตล่าสุด 7 พ.ค. 2025 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
4 สายพันธุ์ ไข้เลือดออก สายพันธุ์ไหนดุ ควรระวังมากสุด

ไข้เลือดออก (Dengue virus) มีต้นเหตุจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีพาหะนำโรคเป็นยุงลาย แต่รู้กันไหมว่าเจ้าเชื้อไวรัสนี้มีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนดุ สายพันธุ์ไหนต้องระวัง มีสายพันธุ์ใหม่ไหม ไม่ต้องห่วง เพราะเรารวบคำตอบมาให้แล้ว ไปดูกันเลย!

ไข้เลือดออกมีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนรุนแรง

เชื้อไวรัสเดงกีต้นเหตุไข้เลือดออกนั้นเป็นเชื้อ RNA สายเดี่ยว ในกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่เราคุ้นเคยอย่าง ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสซิกา และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี [6]

เชื้อไวรัสเดงกีจะมีด้วยกัน 4 สายพันธุ์ (Serotypes) คือ สายพันธุ์ 1–4 (DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4) โดยสายพันธุ์ที่พบมากในไทยคือ สายพันธุ์ 1 และ 2 ซึ่งสายพันธุ์ที่ 2 นี้เอง มักก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากที่สุดจากทุกสายพันธุ์ [2],[6]

เชื้อเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์จะมีการระบาดหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี

คนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ใดไปแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด และมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นระยะสั้น ประมาณ 6–12 เดือน ทำให้เป็นไข้เลือดออกได้อีกจากสายพันธุ์อื่น [2],[9]

ไข้เลือดออกมีกี่สายพันธุ์

ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ คือสายพันธุ์ไหน

ความจริงแล้ว ไข้เลือดออกมีเพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้น ไม่ได้มีสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด อาจเกิดจากความเข้าใจว่า เป็นไข้เลือดออกครั้งแรกแล้วอาการไม่รุนแรง พอเป็นครั้งที่ 2 กลับมีอาการหนักขึ้น [3]

อย่างที่อธิบายไปก่อนหน้า ไข้เลือดออกเป็นซ้ำได้ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 คนละสายพันธุ์ มักก่ออาการรุนแรงกว่าครั้งแรก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ร่างกายยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน หรือมีเพียงเล็กน้อยนั่นเอง [3],[8]

สังเกตอาการไข้เลือดออกระยะแรกได้ยังไง

80–90% ของคนที่เป็นโรคไข้เลือดออกมักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง โดยอาการที่พบได้ คือ [1],[7],[9]

  • ไข้สูงลอยหรือไข้สูงเฉียบพลันนาน 2–7 วัน
  • หน้าแดง ตัวแดง
  • ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา
  • ปวดตัว กล้ามเนื้อ หรือกระดูก
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
  • มีจุดแดง ๆ หรือจุดเลือดออกตามผิวหนังบริเวณข้อพับ แขน ขา ลำตัว

อีกจุดสังเกตคือ ผู้ป่วยไข้เลือดออกมักไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ส่วนใหญ่อาการจะชัดเจนต่อการวินิจฉัยโรคเมื่อเข้าสู่วันที่ 34-5 คนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการช็อก ไข้จะลดลง อาการจะเริ่มดีขึ้นจนเป็นปกติใน 2–3 วัน [9]

แต่บางคนอาจเกิดอาการรุนแรงหลังจากไข้ลดลง หรือเรียกระยะวิกฤต อาการเดิมไม่ดีขึ้น เกิดภาวะเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ การไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำลง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ [1],[4]

ฉะนั้น ถ้ามีอาการน่าสงสัยของไข้เลือดออกในข้างต้น มีไข้เกิน 2 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที [3]

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกสายพันธุ์ไหนได้บ้าง

วัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทยสามารถป้องกันได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ มีให้เลือก 2 ชนิด [8],[10]

วัคซีนไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม [5],[8],[10]

  • ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
  • ฉีดได้ในคนอายุ 4 ปีขึ้นไป ทั้งในคนที่เคยติดเชื้อและไม่เคยติดเชื้อเดงกีมาก่อน

วัคซีนไข้เลือดออกชนิด 3 เข็ม [5],[8],[10]

  • ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 6 และ 12
  • ฉีดได้ในคนอายุ 6–45 ปี และเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนแล้ว

การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเป็นการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อีกทาง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวัคซีนชนิดที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายที่สุด ควบคู่กับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากยุงลาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่มีการระบาดสูง [7],[8]


ที่มาของข้อมูล:

1. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข: “แนวทางการวินิจฉัยและการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2563”.

2. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “สถานการณ์ไข้เลือดออกปี 2567 ประจำเดือน พฤศจิกายน สัปดาห์ที่ 47”.

3. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “กรมควบคุมโรค ยืนยันปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว”.

4. กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค: “ไข้เลือดออก (Dengue Fever และ Dengue Hemorrhagic Fever)”.

5. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย: “คำแนะนำแนว ทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัยและการรักษาโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ในเด็กและวัยรุ่น”.

6. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์: “การติดเชื้อไวรัสเดงกี จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ”.

7. โรงพยาบาลศิครินทร์: “ไข้เลือดออก อันตราย!”.

8. โรงพยาบาลพญาไท: “7 FACTS ที่ต้องรู้ เกี่ยวกับไข้เลือดออก”.

9. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: “โรคไข้เลือดออก”.

10. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย: “ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2568”

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นสำหรับประชาชนเป็นการทั่วไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเท่านั้น ข้อมูลนี้ไม่ควรถูกนำไปใช้เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาปัญหาสุขภาพหรือโรคใด ๆ
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0760: APR 2025

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)