วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

เจ็บแสบตา เคืองตา น้ำตาไหล 3 อาการนี้เกิดจากอะไร

รวมสาเหตุทำให้เจ็บแสบตา เคืองตา น้ำตาไหล มีสาเหตุมาจากอะไร รักษายังไงดี
เผยแพร่ครั้งแรก 23 มิ.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
เจ็บแสบตา เคืองตา น้ำตาไหล 3 อาการนี้เกิดจากอะไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • บริเวณที่เกิดอาการระคายเคืองตา เจ็บแสบตา น้ำตาไหล แบ่งออกได้ 2 บริเวณคือ ภายในดวงตา เช่น กระจกตา เยื่อบุตา ม่านตา และบริเวณรอบๆ ดวงตา เช่น ผิวเปลือกตา
  • อาการของโรคภูมิแพ้คือ สาเหตุที่สามารถทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับดวงตาทั้ง 3 อาการได้ทั้งหมด 
  • อาการบาดเจ็บดวงตา หรือการใช้ดวงตามากเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บแสบตา ระคายเคืองตา และน้ำตาไหลได้ เช่น กระจกตาถลอก กล้ามเนื้อตาล้า ภาวะตาแห้ง
  • โรค หรือภาวะเกี่ยวกับดวงตาหลายอย่างเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบตา ระคายเคืองตา และน้ำตาไหล เช่น โรคต้อหิน โรคตากุ้งยิง โรคตาแดง การติดเชื้อแบคทีเรียในดวงตา ภาวะขนตาคด ภาวะกระจกตาอักเสบ 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา

อาการระคายเคือง เจ็บแสบตา หรือน้ำตาไหล เป็นอีกอาการแสดงของหลายๆ โรคที่เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งสร้างความรำคาญ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของใครหลายคน

อาการที่เกิดขึ้นนี้ยังมีหลายคนอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่า หากตนเองมีอาการเจ็บแสบ ระคายเคืองตา มีอาการน้ำตาไหลผิดปกตินั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้บ้าง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เรามาดูสาเหตุที่ทำให้เกิด 3 อาการเหล่านี้พร้อมๆ กัน

อาการเจ็บแสบตา (Eye Pain)

อาการเจ็บแสบตาไม่ใช่อาการร้ายแรงที่จะต้องไปพบแพทย์ทันที ยกเว้นแต่จะรู้สึกเจ็บจนทนไม่ไหว

ส่วนประกอบของดวงตาที่ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบตาได้ ได้แก่ กระจกตา ตาขาว เยื่อบุตา ม่านตา พื้นที่รอบลูกตา กล้ามเนื้อลูกตา ระบบประสาทตา ผิวเปลือกตา

อาการเจ็บแสบตาจะแบ่งออกได้ 2 บริเวณ ได้แก่

  • อาการเจ็บแสบบริเวณผิวเปลือกตา มักจะเป็นอาการคัน แสบผิว รู้สึกเหมือนผิวไหม้ ซึ่งอาจมาจากการติดเชื้อ หรืออาจเป็นแผลจากอุบัติเหตุ การรักษาค่อนข้างง่าย อาจเป็นการใช้ยาหยอดตา พักสายตา หรือใช้ยาแต้มแผลจากที่แพทย์แนะนำ
  • อาการเจ็บแสบข้างในดวงตา มักเป็นอาการเจ็บระบมร้าว เหมือนถูกของแหลมแทงเข้าไปในลูกตา เป็นอาการที่มักเกิดจากลูกตา หรือระบบการมองเห็นผิดปกติอย่างรุนแรง และควรไปพบแพทย์โดยด่วน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบตา

  • เศษสิ่งแปลกปลอม อาจเป็นเศษขี้ผง เศษสิ่งสกปรก ขี้ตา หรือเครื่องสำอางที่บังเอิญปลิวเข้าไปในดวงตาจนทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ
  • การใส่คอนแทคเลนส์สกปรก หรือใส่ข้ามคืน โดยไม่ถอดออกอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง จนเกิดการติดเชื้อ และทำให้เจ็บตาได้
  • โรคต้อหิน (Glaucoma) โรคต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาเพิ่มขึ้นสูงจนผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน การมองเห็นแย่ลง เจ็บแสบตา และหากไม่รีบรักษา ก็เสี่ยงตาบอดได้
  • ภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis) เป็นภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลูกตารวมถึงม่านตาจนทำให้เกิดอาการตาแดง เจ็บแสบตา และการมองเห็นแย่ลง
  • อาการโพรงจมูกอักเสบ (Sinusitis) เป็นหนึ่งในอาการของภาวะไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดความดันด้านหลังลูกตามากขึ้นจนทำให้เกิดอาการเจ็บลูกตาด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน
  • โรคตากุ้งยิง (Hordeolum) อาการสำคัญของโรคนี้จะมีตุ่มแดงนูนขึ้นบริเวณเปลือกตา ซึ่งตุ่มแดงนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บที่เปลือกตา ไวต่อการสัมผัสมากขึ้น แม้จะแค่แตะนิ้วเบาๆ ก็รู้สึกได้แล้ว
  • กระจกตาถลอก (Corneal abrasion) กระจกตาจะอยู่ด้านหน้าสุดของเปลือกตา หากมีอาการกระจกตาถลอก จะรู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่ในลูกตารู้สึกเจ็บ และไม่สบายลูกตา

อาการกระจกตาถลอกต้องรักษาโดยจักษุแพทย์เท่านั้น การถอดคอนแทคแลนส์ออก หรือล้างตาด้วยน้ำสะอาดไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บได้

วิธีรักษาอาการเจ็บแสบตา

อาการเจ็บแสบตามักรักษาไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การพักสายตา การใส่แว่นตากันแดดชั่วคราว การใช้ยาหยอดตาสำหรับฆ่าเชื้อ การล้างตาด้วยน้ำสะอาด การประคบร้อน การรับประทานยา เช่น ยาแก้แพ้ การผ่าตัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา (Itchy eyes)

อาการระคายเคืองคันตามักมาพร้อมกับอาการตาแดง รวมถึงน้ำตาไหลด้วย โดยมักมีสาเหตุต่อไปนี้

  • โรคภูมิแพ้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้อาจมาจากอากาศเปลี่ยนแปลง การสัมผัสเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ หรือฝุ่นละออง การใช้สบู่ล้างหน้า เครื่องสำอางที่ทำให้เกิดอาการแพ้
    นอกจากการระคายเคืองภายในตา อาการผื่นขึ้นจากภูมิแพ้ยังทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณผิวรอบดวงตา และเปลือกตาได้ไม่ต่างจากผิวหนังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

  • ภาวะตาแห้ง เมื่อดวงตาขาดน้ำตามาหล่อเลี้ยง ก็จะเกิดอาการระคายเคืองได้ อาการมักเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อากาศหนาวจัด ผู้ใช้ยาแก้แพ้ ยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง
    นอกจากอาการตาแห้งจะสร้างความระคายเคืองแล้ว ยังสามารถทำให้ดวงตาไวต่อแสงผิดปกติ เกิดอาการตาแดง และตาอักเสบได้อีกด้วย

  • ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction: MGD) ภาวะนี้จะส่งผลทำให้ความสมดุลของระดับน้ำตา และสารไขมันที่เคลือบผิวนอกกระจกตาทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำตาระเหยง่าย ไขมันเคลือบผิวกระจกตาเกิดความข้นจนเป็นคราบเกาะเปลือกตา ส่งผลทำให้เกิดอาการระคายเคือง

  • กล้ามเนื้อตาล้า (Eyestrain) ผู้ที่จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน ในช่วงกลางคืน ช่วงกลางวันที่แดดออกจัดโดยไม่ได้พักสายตา สามารถส่งผลให้กล้ามเนื้อตาล้า และระคายเคืองได้

  • การใช้คอนแทคเลนส์ ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ในเวลาที่กำหนดสามารถทำให้ตาอักเสบ เกิดความระคายเคืองจนติดเชื้อ และเป็นตาแดงได้

  • การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดซึ่งนำไปสู่อาการระเคืองตาในภายหลัง เช่น เชื้อไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrheae) เชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) เชื้อแฮโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae)

การรักษาอาการระคายเคืองตา

สามารถบรรเทาอาการระคายเคืองตาได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สารก่อภูมิแพ้ทุกชนิด เพื่อไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองตาจากโรคภูมิแพ้
  • ประคบร้อน หากกล้ามเนื้อตาล้า
  • อยู่ในที่อุณหภูมิอบอุ่น และอากาศถ่ายเท
  • ใช้น้ำตาเทียมระหว่างวัน โดยให้ปรึกษาเภสัชกรก่อนเลือกซื้อ
  • รับประทานยาต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือยาเพิ่มปริมาณน้ำตาที่สั่งจ่ายจากแพทย์เท่านั้น
  • สวมแว่นตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์ เพราะการใส่คอนแทคเลนส์มีโอกาสทำให้ตาแห้งได้มากกว่า
  • ถอดตัวกรองฝุ่นละอองในเครื่องปรับอากาศออกมาล้าง เพื่อให้อากาศรอบตัวสะอาดขึ้น ลดสิ่งสกปรกที่สามารถสร้างความระคายเคืองตาได้

สาเหตุที่ทำให้น้ำตาไหล

นอกจากภาวะอารมณ์ที่ทำให้น้ำตาไหลได้ ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะ ร้องไห้ หรือหาว ก็มีปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ที่สามารถทำให้น้ำตาไหลได้

  • ภาวะตาแห้ง เป็นสาเหตุที่มักทำให้น้ำตาไหลได้มากที่สุด เนื่องจากก่อนหน้านั้น ดวงตาไม่ได้รับน้ำหล่อเลี้ยงมากพอ จึงทำให้ร่างกายผลิตน้ำตาออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ
  • ภาวะเปลือกตาบนม้วนออก (Ectropion) และภาวะเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion) เป็นภาวะที่แผ่นเปลือกตาแบะเปิดออก หรือม้วนเข้าด้านใน ส่งให้เยื่อบุตาแห้ง หนา ระคายเคือง และส่งผลให้น้ำตาไหลออกมามาก
  • ขนตาคุด (Trichiasis) เป็นภาวะที่ขนตาคุดเข้าไปด้านในจนทิ่มกระจกตา และเยื่อบุตา ทำให้เกิดความระคายเคืองจนน้ำตาไหล
  • อาการอักเสบ หรือหรือการติดเชื้อเกี่ยวกับดวงตา เช่น เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) โรคตาแดง (Conjunctivitis) ภาวะกระจกตาอักเสบ (Keratitis) โรคตากุ้งยิง (Hordeolum)
  • โรคภูมิแพ้ นอกจากอาการเจ็บแสบตา และระคายเคืองตาแล้ว ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หลายรายจะมีอาการน้ำตาไหลขณะสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
  • อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอากาศแห้ง หนาว ร้อน หรือมีแดดจัด
  • ดวงตาเกิดบาดแผล หรือมีเศษฝุ่น ของแข็งปลิวเข้าดวงตาทำให้กระจกตา หรือเปลือกตาได้รับบาดเจ็บ
  • การรักษาโรคมะเร็ง เช่น การทำเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา
  • สารเคมี หรือฝุ่นควัน เช่น ควันรถ แสงแดดจ้า นอกจากนี้การหั่นผักบางชนิด เช่น หัวหอมซึ่งมีกลิ่นฉุน ก็สามารถทำให้น้ำตาไหลได้

การรักษาอาการน้ำตาไหล

หลายสาเหตุของอาการน้ำตาไหลไม่จำเป็นต้องรักษาเป็นพิเศษ แค่ซับน้ำตาออกก็พอ แต่หากสาเหตุของการเกิดน้ำตาไหลมาจากภาวะ หรือความผิดปกติของสุขภาพ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

วิธีรักษาอาการน้ำตาไหลส่วนมาก มีดังต่อไปนี้

  • พักสายตา งดการเพ่งหน้าจอ งดการอ่านหนังสือชั่วคราว เพื่อให้สายตาได้พัก
  • ประคบร้อน หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเพื่อซับ หรือประคบดวงตา เพื่อทำความสะอาดรอบดวงตาให้สะอาด และลดการอุดตันของต่อมไขมันภายในดวงตา
  • ใช้ยาหยอดยา
  • อยู่ให้ห่างสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการแพ้จนน้ำตาไหล
  • หากดวงตามีภาวะติดเชื้อ รับประทานยาฆ่าเชื้อตามแพทย์สั่ง
  • การผ่าตัด ในกรณีที่มีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับเปลือกตา หรือท่อน้ำตาอุดตัน

หากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับดวงตา แล้วลองปฐมพยาบาลด้วยตนเอง หรือทำความสะอาดดวงตาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของภาวะ หรือโรคเกี่ยวกับตาที่อาจรุนแรงซึ่งคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Alan Kozarsky, Eye Pain: What Are the Causes? (https://www.webmd.com/eye-health/eye-pain-causes-symptoms-diagnosis-treatment#1), 16 June 2020.
Ann Marie Griff, Why Are the Corners of My Eyes Itchy, and How Can I Relieve the Discomfort? (https://www.healthline.com/health/itchy-eyes-in-corner), 16 มิถุนายน 2563.
Ann Marie Griff, 8 Causes of Itchy Eyes (https://www.healthline.com/health/eye-health/8-causes-of-itchy-eyes), 30 January 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)