กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
เขียนโดย
กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด หลังผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง

ทำความเข้าใจเรื่องกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูรวดเร็ว และไม่กลับไปบาดเจ็บซ้ำ
เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด หลังผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง

การผ่าตัดซ่อมแซมความผิดปกติของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นวิธีการรักษาใช้ในผู้ป่วยหลายกลุ่ม เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) กระดูกสันหลังแตกและมีการเคลื่อนที่(Spondylolisthesis) หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (Herniated Disc) กระดูกสันหลังคด (Scoliosis)

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนกระดูกสันหลังและโครงสร้างใกล้เคียงเสียหาย แพทย์อาจจะตัดสินใจเลือกวิธีการผ่าตัดเป็นการรักษาได้ โดยทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดนั้น การกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น และการฟื้นตัวเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ช้วิตประจำวันได้อย่างปกติ ในที่นี้จะขอเน้นไปที่รายละเอียดของการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัดเป็นหลัก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ระยะของการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด หลังการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง

การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัด จะได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับวิธีการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้ และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย แต่โดยรวมแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็นสามระยะใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ระยะแรกหลังการผ่าตัด (Protective Phase) อาจใช้เวลาตั้งแต่ 1-30 หลังการผ่าตัด วัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดในระยะนี้คือ เพื่อลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเองอย่างเร็วที่สุด และเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด การรักษาที่เป็นที่นิยม เช่น
    • การประคบเย็น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 12-15 องศาเซลเซียส ในระยะนี้มักแนะนำให้ผู้ป่วยประคบเย็น 15-20 นาที ทุกๆ ชั่วโมง เนื่องจากจะช่วยลดการอักเสบของปผลผ่าตัดได้
    • การออกกำลังกายด้วยการกระดกข้อเท้า (Pumping exercise) เพื่อป้องกันภาวะเลือดแข็งตัว (thrombosis) ลดอาการบวมของส่วนปลายขา และส่งเสริมให้เกิดการไหลเวียนเลือดที่ปกติ
    • การฝึกหายใจ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของปอด
    • ฝึกการเคลื่อนไหวตัวและการทำกิจวัตรประจำวัน อาจเริ่มจากออกกำลังกายเบาๆ บนเตียง ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้องบนเตียง เริ่มนั่งห้อยขาข้างเตียง ฝึกลุกขึ้นยืน และเดินโดยในช่วงแรกนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น กรอบฝึกเดิน (walker) ไม้เท้า (cane) ซึ่งขึ้นกับอาการและความสามรถของผู้ป่วยเอง
  2. ระยะเริ่มเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างที่ได้รับบาดเจ็บ (Initial Strengthening Phase) อาจใช้เวลา 1-3 เดือนหลังหารผ่าตัด วัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูในระยะนี้ คือ สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติโดยไม่มีอาการเจ็บปวด การรักษาที่นิยมได้ในระนี้ เช่น
    • การออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงต้าน (Body weight exercise)
    • การยืดกล้ามเนื้อหลังเบาๆ (back muscle gentle stretching exercise)
    • การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกาย(Endurance Training exercise) เช่น การเดินบนลู่วิ่ง การปั่นจักรยาน และการออกกำลังกายในน้ำ
    • ท่าออกกำลังกาย และความหนักจะถูกปรับให้เหมาะสมกับอาการและวิธีการผ่าตัดของผู้ป่วยแต่ละราย
  3. ระยะเพิ่มความแข็งแรงให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ (Progression to Advanced Strengthening) ในระยะนี้อาจใช้เวลา 3-6 เดือน หรือมากกว่า 1 ปีในผู้ป่วยบางราย วัตถุประสงค์ของการรักษาในระยะนี้คือ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานและเล่นกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาในระยะนี้ การออกกำลังกายจะยังคงเหมือนกับในระยะที่สอง แต่นักกายภาพบำบัดจะเพิ่มเติมด้วยกายออกกำลังที่ส่งเสริมกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำ เช่น นักกีฬาที่ต้องกระโดดเยอะๆ ผู้ที่ทำงานที่ต้องยกของบ่อยๆ นอกจากนี้การให้ความรู้เรื่องการหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการและกลับมาเป็นซ้ำอีกก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งขึ้นอยู่วิถีชีวิตของผู้ป่วยแต่ละรายไป

การดูแลตนเองหลังเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง

นอกจากเข้ารับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดที่คลีนิคกายภาพบำบัดแล้ว การดูแลตนเองที่บ้านตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้กระบวนการฟื้นฟูร่างกายเป็นไปอย่างสมบูรณ์และใช้เวลาสั้นลง โดยข้อแนะนำทั่วไปมีดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องมีการก้มๆ เงยๆ พร้อมกับการเอี้ยวลำตัว และยกของหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม เพราะเป็นท่าทางที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากที่สุด
  2. เมื่อพ้นระยะอักเสบแล้ว สามารถประคบร้อนเพื่อลดความเจ็บปวดและคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 43.5-45.5 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 15-20 นาที สามารถทำได้วันละ 1-2 รอบ
  3. ออกกำลังกายตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด ให้เหมาะสมกับอาการของตนเอง
  4. ปรับความเหมาะสมของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น ความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ทำงาน นอกจากนี้การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับลักษณะเท้าของตนเองก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยลดแรงกระทำที่จะเกิดขึ้นต่อกระดูกสันหลังได้

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าการกายภาพบำบัดมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกและหมอนรองหระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตาม การรักษาขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ระราย หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องต่อไป


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sukhminder Jit Singh Bajwa and Rudrashish Haldar. Pain management following spinal surgeries: An appraisal of the available options. J Craniovertebr Junction Spine. 2015 Jul-Sep; 6(3): 105–110.
North American Spine society. Evidence-Based Clinical Guidelines for Multidisciplinary Spine Care Diagnosis and Treatment of Lumbar Disc Herniation with Radiculopathy. 2012.
Mark Galland and Kenneth Kirby. Lumbar Laminectomy/ Diskectomy/ Fusion Post-surgical rehabilitation protocol. William Beaumont Army Medical Center.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)