กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ข้อมูลโดยรวมเกี่ยวกับการทำ IVF

สำหรับคนมีบุตรยาก หาคำตอบว่า IVF คืออะไร อัตราความสำเร็จมีแค่ไหน และเข้ามาช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากได้อย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ข้อมูลโดยรวมเกี่ยวกับการทำ IVF

IVF หรือ In Vitro Fertilization คือวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่มีค่าใช้จ่ายสูง และจำเป็นต้องตรวจภายในเพื่อใส่อุปกรณ์ในขั้นตอนการเก็บไข่และการย้ายตัวอ่อน 

การจะกำหนดว่าควรเริ่มทำ IVF เมื่อไหร่ ควรหยุดทำตอนไหน และอัตราความสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ซึ่งควรได้รับการประเมินจากแพทย์เจ้าของไข้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การทำ IVF เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน โดยสรุปแล้ว อาจแบ่งอย่างคร่าวๆ ได้เป็น 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

  1. ผู้หญิงจะได้รับการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นรังไข่ให้เกิดการเจริญเติบโตของถุงไข่อ่อน (Follicle) จำนวนมาก จนได้ไข่ที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตเต็มที่
  2. แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อเก็บไข่
  3. เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจะคัดเลือกเชื้ออสุจิที่แข็งแรงมาปฏิสนธิกับไข่ภายนอกร่างกาย
  4. ไข่ที่ถูกปฏิสนธิแล้วจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จนเจริญกลายเป็นระยะตัวอ่อนหรือเอมบริโอ (Embryo)
  5. แพทย์จะย้ายตัวอ่อนที่แข็งแรงกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์

ในระหว่างขั้นตอนการทำ IVF แพทย์จะมีการประเมินผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อเพิ่มโอกาสการทำ IVF ให้สำเร็จ

ทำไมจึงต้องทำ IVF และใครบ้างที่ควรรักษาด้วยการทำ IVF

การที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติ จะต้องมีไข่ที่มีคุณภาพ มีการตกไข่ และมีเพศสัมพันธ์ช่วงระยะใกล้ไข่ตก รวมถึงคู่รักฝ่ายชายต้องมีน้ำเชื้ออสุจิคุณภาพดีและมีปริมาณมากเพียงพอร่วมด้วย นอกจากนี้ ผู้หญิงยังต้องมีท่อนำไข่ที่เปิดเป็นปกติ เพื่อให้ไข่กับเชื้ออสุจิได้มาเจอกันเพื่อปฏิสนธิ และมีมดลูกที่มีสภาวะเหมาะสมแก่การฝังตัวและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน

ส่วนผู้หญิงที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติ ก็เนื่องจากมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่กล่าวมาผิดปกติ ซึ่งกระบวนการ IVF สามารถช่วยแก้ไขได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
IVF, IUI, ICSI, IMSI ฝากไข่ แช่แข็งไข่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 7760 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติ และสิ่งที่ IVF จะช่วยได้

สาเหตุที่คู่ชาย-หญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติมีหลายอย่าง แต่กระบวนการ IVF สามารถช่วยได้ ดังนี้

  • ไข่ด้อยคุณภาพ หากผู้หญิงมีไข่ที่แข็งแรงอยู่จำนวนน้อย การกระตุ้นรังไข่จะช่วยให้ได้ไข่ที่เจริญแล้วจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยปลาย 30 จนถึง 40 ปีขึ้นไป
  • ภาวะไข่ไม่ตก หากไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในรอบเดือนนั้น การทำ IVF ช่วยแก้ปัญหาได้โดยการให้ยาที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ให้เจริญเติบโตเต็มที่  และสามารถเก็บไข่เพื่อมาปฏิสนธิภายนอกร่างกายได้  โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีถุงน้ำรังไข่จำนวนมาก (Polycystic Ovary Syndrome( PCOS)) หรือมีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล
  •  ปัญหาจากเชื้ออสุจิ หากผู้ชายมีปริมาณน้ำเชื้ออสุจิไม่เพียงพอหรือน้ำเชื้อคุณภาพไม่ดี อสุจิอาจไม่สามารถเคลื่อนที่เพื่อไปปฏิสนธิกับไข่ได้ การทำ IVF จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นการนำไข่มาผสมกับอสุจิในห้องปฏิบัติการ หรืออาจจะใช้เทคนิคฉีดอสุจิคัดเลือกว่าแล้วว่าแข็งแรงที่สุดเพียง1ตัวเข้าไปยังไข่โดยตรงซึ่งเรียกว่าอิคซี่ (ICSI) เกือบครึ่งหนึ่งของคู่ที่มีบุตรยากนั้นเกิดจากปัญหาของเชื้ออสุจิในผู้ชาย ดังนั้น การทำ IVF จึงมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่นๆ
  • ปัญหาที่ท่อนำไข่ หากท่อนำไข่อุดตันจะไม่สามารถเกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้ เนื่องจากไข่และอสุจิจะไม่มีโอกาสมาเจอกันเพื่อปฏิสนธิได้ การทำ IVF เป็นการนำไข่และอสุจิออกมานอกร่างกาย เพื่อทำการปฏิสนธิบนจานเพาะเชื้อ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในผู้หญิงที่มีท่อนำไข่อุดตัน
  • สภาพเยื่อบุมดลูกไม่เหมาะสม ในการตั้งครรภ์ มดลูกของผู้หญิงจะต้องมีสภาวะที่เอื้อต่อการฝังตัวและการเจริญของเอ็มบริโอ การทำ IVF จะมีการให้ยาเพื่อช่วยปรับสภาพของผนังมดลูกให้หนาเพียงพอเยื่อบุผนังมดลูกพร้อมต่อการฝังตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดกับมดลูกจนทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ มักเกิดจากโครงสร้างภายในที่ผิดปกติ (เช่น มีเนื้องอกมดลูก ติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก หรือพังผืดในโพรงมดลูก) และการทำ IVF ไม่สามารถแก้ไขได้ ในบางกรณีจึงอาจต้องผ่าตัด เพื่อรักษาโครงสร้างภายในที่ผิดปกติดังกล่าว

อัตราความสำเร็จของการทำ IVF

แม้ว่า IVF จะเป็นวิธีรักษาภาวะมีบุตรยากที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง แต่การทำ IVF มีอัตราความสำเร็จไม่สูงมาก โดยขึ้นกับสาเหตุและปัจจัยหลายๆ อย่าง ดังนั้น ผู้หญิงที่เลือกทำ IVF มีโอกาสที่ต้องทำซ้ำหลายรอบ

ปัจจัยสำคัญ ที่มีผลต่ออัตราความสำเร็จในการทำ IVF ได้แก่ อายุของแม่ สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก และความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่ให้การรักษา

จากข้อมูลด้านล่างนี้พบว่า อัตราความสำเร็จของการทำ IVF สัมพันธ์กับอายุของแม่ และแม้แต่ในผู้ที่น่าจะมีโอกาสทำสำเร็จสูง (ผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 35 ปี) อัตราการคลอดทารกที่มีชีวิตรอดจากการทำ IVF ก็ยังต่ำกว่าครึ่ง ส่วนในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 42 ปี อัตราการคลอดทารกที่มีชีวิตรอดจากการทำ IVF มีเพียง 5% เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้ารับการรักษาจึงมักต้องทำ IVF ซ้ำหลายรอบกว่าจะตั้งครรภ์และคลอดทารกที่สมบูรณ์ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ในผู้หญิงที่มีอายุเท่ากัน ก็อาจมีอัตราความสำเร็จในการทำ IVF ต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับคลินิกที่รับการรักษา เนื่องจากความแตกต่างด้านปัจจัยต่างๆ เช่น ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ดังนั้น การรักษาในคลินิกที่ดีกว่า ย่อมเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และคลอดทารกที่แข็งแรงได้มากกว่า

เปรียบเทียบ IVF กับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่น

ในบรรดาวิธีรักษาภาวะมีบุตรยาก IVF ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงและกระบวนการที่ยุ่งยากที่สุดเช่นกัน ตามตารางเปรียบเทียบการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 38 ปี จะเห็นว่าการทำ IVF มีอัตราสำเร็จสูงกว่า (3 - 5 เท่า) ในขณะที่ราคานั้นก็สูงกว่า (5 - 40 เท่า)

เปรียบเทียบการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีต่างๆ

กำหนดช่วงเวลามีเพศสัมพันธ์

ให้ยากระตุ้นการตกไข่

IUI (ผสมเทียม)

IVF

อัตราความสำเร็จต่อรอบ

0 - 5%

1 - 10%

5 - 15%

20 - 50%

ราคา (บาท)

ฟรี

3,000 - 60,000

15,000 - 150,000

150,000 - 600,000

ความยุ่งยาก

ไม่มี

ต้องให้ยาโดยการกิน

ต้องให้ยาโดยการกินหรือฉีด และอาจต้องติดตามผล

ต้องให้ยาโดยการฉีด ต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และมีขั้นตอนการผ่าตัดหรือการสอดเครื่องมือ

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากบางคน (เช่น ผู้ชายที่มีปัญหาในระบบสืบพันธุ์อย่างรุนแรง หรือผู้หญิงที่มีการอุดตันของท่อนำไข่) การทำ IVF เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้ตั้งครรภ์และมีบุตรได้ รวมถึงคู่สมรสที่ต้องการตั้งครรภ์และมีบุตรโดยเร็วที่สุด  IVF ก็เป็นวิธีที่ตอบโจทย์ที่สุดและมีโอกาสสำเร็จสูงสุดสำหรับผู้หญิงทุกช่วงอายุ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รวมบทความ เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ IVF, IUI, ICSI, IMSI ตอบครบทุกคำถามโดยแพทย์ | HDmall (https://hdmall.co.th/c/hdinsight-by-ivf-iui-icsi-imsi).
Marc A. Fritz, Leon Speroff., Clinical Gynecologic Endocrinology and Infertility. 8th ed., Assisted Reproductive Technologies.Philadelphia: Lippincott Williams&Wilkins Publishers; 2011

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)