นพ. ชาคริต หริมพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์
เขียนโดย
นพ. ชาคริต หริมพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์

Myocardial Infarction (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)

เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือภาวะที่ไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและปริมาณเลือดที่สามารถเข้าไปเลี้ยหัวใจได้
  • ส่วนใหญ่มักเกิดจากไขมันอุดตันในเส้นเลือด จนเลือดไม่สามารถไหลผ่านเข้าไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ โดยปัจจัยที่ทำให้ไขมันอุดตันได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ออกกำลังกาย และโรคที่มีการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
  • อาการที่สังเกตได้ชัดก็คือ เหนื่อยง่ายเวลาทำงาน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ดีเหมือนเดิม แน่นหน้าอก หากก้อนไขมันในหลอดเลือดหลุดออกไปอุดตันเส้นเลือดกระทันหัน อาจเป็นเหตุให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
  • การรักษาทำได้หลายวิธี ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวด ใช้ยาละลายลิ่มเลือด การผ่าตัด เป็นต้น
  • ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันด้วยการหมั่นออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และตรวจหัวใจเป็นระยะ (ดูแพ็กเกจตรวจหัวใจได้ที่นี่)

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตถดถอยลงอย่างชัดเจน เสียค่ารักษาพยาบาลสูง แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้และสามารถให้การรักษาจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เช่นกัน

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คืออะไร?

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของความต้องการใช้เลือด (Demand) ของกล้ามเนื้อหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะปกติหรือภาวะที่ต้องทำงานหนัก ไม่สมดุลกับปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ (Supply) ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน หรือค่อยๆ ตีบแคบแบบเรื้อรัง

เมื่อเกิดความไม่สมดุลนี้ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจึงเกิดการขาดเลือด (Myocardial ischemia) หากไม่สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขปัจจัยเสี่ยงแห่งการขาดเลือดได้ กระทั่งเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardial infarction) และทำให้รูปทรงรูปร่างของหัวใจที่เป็นก้อนกล้ามเนื้อเกิดผิดรูปร่าง ทำงานบกพร่อง นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวต่อไปในอนาคต

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดแบ่งออกเป็น 2 ประการหลักๆ ได้แก่

1. เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง

เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่ต้องการเลือดไปเลี้ยงปริมาณมาก และร่างกายมีระบบประสาทและระบบหลอดเลือดที่สำรองเลือด คอยจัดสรรเลือดให้ไปที่กล้ามเนื้อหัวใจก่อนอวัยวะอื่น

ดังนั้น เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจลดลงจะเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง สาเหตุหลักของการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงคือ มีไขมันอุดตันหลอดเลือด (Atherosclerotic plaque)

ปัจจัยที่จะทำให้เกิดคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อายุมาก ขาดการออกกำลังกาย

การปรับลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างล่างนี้จะทำให้อัตราการเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลดลงได้มาก

  • ระดับไขมันในเลือดที่สูง โดยเฉพาะไขมัน LDL (Low density lipoprotein) เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ทางการแพทย์ยังพบว่าการอักเสบและการเปลี่ยนแปลงต่อหลอดเลือดหัวใจจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็เป็นปัจจัยร่วมสำคัญ

    โดยปัจจัยต่างๆ นี้สามารถก่อโรคได้โดยไม่ขึ้นต่อกัน และหากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้พร้อมกัน โอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดจะยิ่งสูงขึ้น และความรุนแรงของโรคมากขึ้นด้วย

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจุบันมีการศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับยีนและสารพันธุกรรมที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมของไขมัน LDL ที่ส่งผลมากในการเกิดโรค

  • โรคอื่นๆ ของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน แต่พบน้อยมาก เช่น หลอดเลือดแดงอักเสบจากภูมิคุ้มกันตัวเอง (Coronary artery vasculitis) โรคหลอดเลือดแดงหดเกร็ง (coronary spasm)

2. กล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น

โดยปกติ ร่างกายจะจัดสรรเลือดไปเลี้ยงหัวใจให้พอเพียงต่อการใช้งานดังกล่าว แต่จะมีความผิดปกติหลายอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานมากและเลือดที่มาเลี้ยงไม่พอได้ เช่น

  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวแบบปฐมภูมิ (Hypertrophic cardiomyopathy)

  • โรคที่มีการหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจจากสารอื่นที่เข้าไปฝังตัว เช่น ธาตุเหล็กจากโรค Hemochromatosis

โดยรวมแล้ว สาเหตุจากข้อสองเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจที่ขยายขนาดนี้ พบน้อยกว่าหลอดเลือดหัวใจตีบแคบ

สาเหตุหลักที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดคือ หลอดเลือดหัวใจตีบจากภาวะอักเสบและไขมันในหลอดเลือดหัวใจ

สิ่งที่พบคือไขมัน LDL จะจับกับเซลล์ต้านการอักเสบในร่างกาย ฝังตัวในผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารีที่ไปเลี้ยงหัวใจ

เมื่อมีการฝังตัวของสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะต่อต้านโดยเกิดการอักเสบและมีเกล็ดเลือดมาเกาะตัว หากไม่ได้รับการแก้ไขปัจจัยเสื่ยงเรื่องไขมันในเลือดสูง การอักเสบหลอดเลือด และการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด การสะสมของไขมันจะมากขึ้น

การสะสมของไขมันที่มากขึ้นนี้ หากค่อยๆ เพิ่มช้าๆ หลอดเลือดจะตีบแคบทีละน้อย ร่างกายมีการปรับตัว อาการที่แสดงออกจึงเรื้อรัง เรียกว่า Chronic stable angina

แต่หากก้อนไขมันก้อนเกล็ดเลือดนี้เกิดปริแตกและหลุดไปอุดตันทันที อาการจะเฉียบพลัน เรียกว่า Acute coronary syndrome เป็นที่มาของทั้งสองอาการที่พบในโรคหัวใจขาดเลือดที่มีการรักษาและการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันออกไป

อาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

อาการของโรคหัวใจแบ่งตามพยาธิกำเนิดและความเฉียบพลันได้สองอย่างคือ อาการเรื้อรัง (Chronic stable angina) และอาการเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome)

มีรายละเอียดอาการดังนี้

อาการหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง

ลักษณะอาการคือ มีการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง เวลารับประทานอาหาร มีอาการครั้งละประมาณ 15-20 นาที เมื่อพักแล้วหายเองได้ หรืออาจเป็นอาการจากผลแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมาอย่างยาวนานและมีบางส่วนตายไป

อาการทั้งหลายด้านล่างนี้เป็นอาการที่บ่งชี้ภาวะหัวใจล้มเหลว อันเป็นผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง

  • เหนื่อยเวลาทำงาน

  • ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีเหมือนเดิม

  • มีอาการขาบวมร่วมกับนอนราบไม่ได้

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจหาภาวะนี้ นอกจากซักประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อตรวจการเคลื่อนไหวผนังหัวใจและการบีบคลายตัวของหัวใจจะช่วยวินิจฉัย

หากมีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ชัดเจน จะมีการตรวจโดยการเดินสายพานเพื่อตรวจอาการขาดเลือดขณะออกแรง ในปัจจุบันมีข้อมูลการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจมาช่วยวินิจฉัยและแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามความเสี่ยงแบบต่างๆ เพื่อรักษาได้แม่นยำและได้รับประโยชน์สูงสุด

หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน

อาการจะเกิดขึ้นทันที เกิดได้ทั้งขณะออกแรงและขณะพัก มีอาการเจ็บแน่นขึ้นมาทันที รุนแรง ร่วมกับอาการเหงื่อออกใจสั่น

  • บางรายจะมีอาการปวดร้าวไปที่แขนไม่ว่าข้างซ้ายหรือข้างขวา หรือมีอาการปวดร้าวไปที่กรามได้ อาการมักจะเป็นนานมากกว่า 15 นาที

  • รายที่อาการรุนแรงมากอาจมีอาการหมดสติ อาจมีหัวใจหยุดเต้น จนถึงเสียชีวิตทันทีจากหัวใจเต้าผิดจังหวะได้

  • ในผู้ที่ที่อายุมากหรือเป็นโรคเบาหวาน อาการเจ้บแน่นหน้าอกจะไม่ชัดเจน อาจจะมีอาการจุกแน่นคล้ายโรคกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน จะต้องคิดถึงโรคนี้เอาไว้เสมอ

การตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

การตรวจเพื่อแยกโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนี้ประกอบด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาร่องรอยการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่มีความไวมากในการวินิจฉัย (High sensitivity troponin) และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ส่วนการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนจะทำเมื่ออาการไม่รีบด่วนและไม่ชัดเจน เมื่อคิดถึงภาวะเฉียบพลันนี้ การตรวจที่ถือเป็นมาตรฐานและใช้ในการรักษาด้วยคือ การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography)

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ปัจจุบัน การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจขาดเลือดพัฒนาไปมาก และครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย

การรักษาจะแบ่งออกเป็นหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน แบบเรื้อรัง และการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคดังนี้

1. การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน

ปัจจุบันถือว่าการรักษาโดยการแก้ไขจุดตีบเป็นการรักษามาตรฐาน โดยการรักษาจะมีประโยชน์สูงสุดหากผู้ป่วยพบแพทย์ได้เร็ว

หากระยะเวลาที่ตีบตันนานเกินไป ความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจจะมากขึ้นและแก้ไขยากมากขึ้น โอกาสเกิดผลแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตจะยิ่งสูงขึ้น

การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน มีดังนี้

  • การใส่สายสวนเพื่อฉีดสี ถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดค้ำยัน (Coronary angiography and percutaneous coronary intervention) เป็นการรักษาที่ดีที่สุด สามารถเห็นรอยโรคและแก้ไขได้ทันที ความเสี่ยงอันตรายจากการรักษาต่ำมาก

  • การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนและบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass graft) แพทย์มักแนะนำให้ทำ หากได้ใส่สายสวนฉีดสีแล้วพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าจะทำหัตถการทางสายสวนต่อไปได้ หรือล้มเหลวจากการทำหัตถการผ่านทางหลอดเลือด

  • การให้ยาสลายลิ่มเลือด การรักษานี้มีข้อบ่งใช้ค่อนข้างจำกัด คือ จะให้ยาเมื่อไม่สามารถไปทำการใส่สายสวนหลอดเลือดได้ทัน เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิด ST Elevation Myocardial Infarction เท่านั้น และระยะเวลาที่เกิดการตีบตันอยู่ภายในเวลา 3-12 ชั่วโมง ระยะเวลาที่นานออกไปจะมีโอกาสประสบความสำเร็จลดลง และโอกาสเลือดออกมากขึ้น ยาที่ใช้คือ Streptokinase, Alteplase, Tenecteplase

2. การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเรื้อรัง

เป็นการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดตีบซ้ำ และการรักษาเพื่อลดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรค ประกอบด้วยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรม มีรายละเอียดดังนี้

  • การใช้ยา เนื่องจากมีการตีบแคบและเสียหายของหลอดเลือดแล้ว การรักษาใช้ยาควบคุมไปตลอดมีหลักฐานว่าเกิดประโยชน์อย่างชัดเจน ผู้ป่วยจะได้รับการปรับยาจนถึงขนาดสูงสุดของการรักษาสำหรับยาแต่ละตัว และมีการเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา เนื่องจากเป็นการใช้ยาหลายชนิดในระยะยาว เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด แอสไพริน ยาลดไขมันเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดตีบตันในอนาคต ยาลดความดันบางชนิด ได้แก่ Beta blocker, Renin-angiotensin-aldosterone blockade เพื่อยับยั้งฮอร์โมนที่มาจะทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่องต่อเนื่องไป

  • การปรับพฤติกรรม ประกอบด้วยการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม การลดอาหารเค็มและเครื่องปรุง ลดไขมันสัตว์และไขมันอิ่มตัว เพิ่มการรับประทานอาหารเส้นใย ถั่ว และผักมากขึ้น ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 150 นาที ด้วยวิธีออกกำลังกายด้วยความแรงปานกลาง เลิกสูบบุหรี่

  • เข้ารับการติดตามเพื่อเฝ้าระวังหลอดเลือดตีบเพิ่มเติม และประเมินการพื้นที่ของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสมไปทำการแก้ไขจุดตีบด้วยวิธีการใส่สายสวนหลอดเลือดหรือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด (วิธีนี้ไม่ได้ทำทุกคน แต่ทำเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูงและยังมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างต่อเนื่อง)

3. การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

หากมีอาการแล้วให้รักษาตามแบบเรื้อรังหรือเฉียบพลันตามอาการที่เกิด ในขณะที่ยังไม่มีหลอดเลือดตีบ แต่มีโอกาสเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีโรคเรื้อรัง ให้ทำการป้องกันก่อนหลอดเลือดตีบ ด้วยวิธีเหล่านี้

  • เลิกสูบบุหรี่

  • ควบคุมโรคเรื้อรังเดิมให้ดี

  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย

  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

การป้องกันและรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความสูญเสียอื่นๆ ได้อีกมาก แต่ต้องใส่ใจและรักษาอย่างสม่ำเสมอ การมีความเข้าใจที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญมาก

ดูแพ็กเกจตรวจหัวใจ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
J Am Coll Cardiol. 2014 Dec, 64 (24) e139-e228.
Ezra A. Amsterdam, Nanette K. Wenger, Ralph G. Brindis, Donald E. Casey, Theodore G. Ganiats, David R. Holmes, Allan S. Jaffe, Hani Jneid, Rosemary F. Kelly, Michael C. Kontos, Glenn N. Levine, Philip R. Liebson, Debabrata Mukherjee, Eric D. Peterson, Marc S. Sabatine, Richard W. Smalling, Susan J. Zieman
AHA/ACC Guideline for the Management of Patients With Non–ST-Elevation Acute Coronary Syndromes, 2014.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)