โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) มีสาเหตุสำคัญจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้อาหารย้อนกลับขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารส่วนบน
โรคกรดไหลย้อนพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่รวมทั้งผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ตอนที่ไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ประเภทของโรคกรดไหลย้อน
1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หมายถึง โรคที่กรดไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่แค่ภายในหลอดอาหาร จะไม่ไหลย้อนขึ้นเกินหูรูดหลอดอาหารส่วนบน ส่วนมากจะมีอาการแค่บริเวณหลอดอาหารเท่านั้น
2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง หมายถึง
โรคที่มีอาการทางคอ และกล่องเสียง
จากการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นมาเหนือหูรูดหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ
ทําให้เกิดการระคายเคืองของคอ และกล่องเสียง
สาเหตุของกรดไหลย้อน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน มี 3 สาเหตุหลักด้วยกัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ดังนี้
1. หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารผิดปกติ
ส่วนมากพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากหูรูดเสื่อมสภาพไปตามอายุ จึงทำให้อาหาร และน้ำย่อยในกระเพาะถูกดันกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย เป็นผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน อาการเหล่านี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการรับประทานยาบางชนิด
2. กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
ทำให้อาหาร และน้ำย่อยที่ย่อยแล้วคั่งอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่สามารถบีบตัวให้ลงสู่ลำไส้ได้หมดในทันที เป็นผลให้เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้หูรูดถูกดันเปิดออก และดันเอาอาหารกับน้ำย่อยย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร
3. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร
ทำให้อาหารที่รับประทานลงไป เคลื่อนลงสู่กระเพาะช้า หรือทำให้อาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
4. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
- โรคอ้วน คนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงกว่าคนปกติทั่วไป ส่งผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติ
- การตั้งครรภ์ ครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่ออาการกรดไหลย้อนได้สูง
- การสูบบุหรี่ เป็นผลให้น้ำลายน้อยลง เกิดการยั้บยั้งกรดที่ช่วยย่อยอาหารทำให้อาการไม่ย่อย เกิดการท้องอืดท้องเฟ้อตามมา กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย
นอกจากนี้ สารนิโคตินในบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงเยี่อบุกระเพาะและลำไส้ตีบแคบลง เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารได้ - ความเครียด ส่งผลให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน
- การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ทำให้หูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารคลายตัว เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปปเปอร์มินต์
- การรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหูรูด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีความเป็นกรดสูง น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ พริกไทย
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคลายกังวล ยาปฏิชีวินะบางตัว ยาแอสไพริน ยาลดความดันโลหิตบางตัว ยาขยายหลอดลม ยาเคมีบำบัด
อาการของกรดไหลย้อน
- แสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ (heartburn) อาจมีปวดร้าวไปที่บริเวณคอ
- รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ กลืนลําบาก กลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบคอ
- เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอ หรือปาก
- จุกแน่นหน้าอกเหมือนอาหารไม่ย่อย
- มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือฟันผุร่วมด้วยได้
- ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า อาจมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
- ไอแห้งๆ กระแอมไอบ่อย มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หรือขณะนอน
- รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
- บางคนอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ หรือปวดหูได้
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน
แพทย์จะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนจากการซักประวัติอาการที่กล่าวมาข้างต้น ตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและอาจจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการแก่ผู้ป่วย
หากปฏิบัติตามคำแนะนำและรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งตรวจเพิ่ม ขึ้นกับความเหมาะสมของอาการในแต่ละคนด้วย เช่น
- ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
- ตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร
- เอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
- ตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
- ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
วิธีรักษากรดไหลย้อน
การรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ลดความทุกข์ทรมานที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง การรักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
1. รับประทานยาลดกรด
เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะ ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร สามารถแบ่งประเภทยาลดกรดได้ ดังนี้
- ยาลดกรดที่มีองค์ประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) ยานี้จะลดความเป็นกรดอย่างรวดเร็ว อาการแสบร้อนกลางอกจะดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์สามารถลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดได้
- ยาที่ออกฤทธิ์ลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ออกฤทธิ์ช้า แต่สามารถลดกรดได้นานถึง 12 ชั่วโมง เช่น ไซเมทิดีน (cimetidine) ฟาโมทิดีน (famotidine) นิซาทิดีน (nizatidine)
- ยาที่ป้องกันการผลิตกรดและรักษาหลอดอาหาร ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดได้ยาวนานทำให้เนื้อเยื่อที่เสียหายของหลอดอาหารมีเวลาฟื้นฟูกลับมาปกติได้เหมือนเดิม เช่น แลนโซพราโซล (lansoprazole) โอมีพราโซล (omeprazole)
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ของกรดไหลย้อนและช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม กระเทียม หัวหอม
- ผ่อนคลายความเครียด เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ จะช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี
- ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะในคนอ้วน หรือคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หมั่นออกกำลังกายและควบคุมอาหาร เมื่อน้ำหนักลด ความดันในกระเพาะอาหารก็จะลดลง ทำให้กรดและอาหารในกระเพาะดันหูรูดหลอดอาหารน้อยลง อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามด้วย
- หลีกเลี่ยงการนอนราบ หรือการก้มหยิบของทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรรอให้อาหารย่อยก่อน 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันทีเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
- ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป
3. ผ่าตัด
- เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้ว ไม่สามารถควบคุมอาการ หรือหยุดยาได้
- เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้เป็นเวลานานๆ และได้รับผลข้างเคียงจากยา
4. บรรเทาอาการกรดไหลย้อนด้วยสมุนไพร
- ขมิ้นชัน งานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกในกระเพาะ ช่วยสมานแผล ต้านแบคทีเรีย และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะได้ ขมิ้นชันจึงสามารถช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้
- ขิง มีฤทธิ์ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ทำให้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนลดลงได้ มีหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน เช่น ยาชง ยาผง ยาแคปซูล
- กะเพรา มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ โดยให้นำกะเพรา 1 กำ มาต้มกับน้ำประมาณ 2-3 ลิตร ด้วยไฟปานกลาง 20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มล.) หลังอาหาร 3 มื้อ และควรดื่มหลังรับประทานอาหารแล้ว 10-15 นาที
วิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อน
1. รับประทานให้น้อยลงแต่บ่อยขึ้น กระเพาะอาหารที่แน่นมากเกินไปจะมีแรงดันต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่อาหารบางส่วนจะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
2. หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ผักบางชนิด เช่น มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม เป็นต้น
3. ไม่เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ การนอนหลับไปพร้อมกับกระเพาะที่เต็มแน่นด้วยอาหาร จะทำให้เกิดการกดเบียดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เพิ่มโอกาสที่กรดจะไหลย้อนขึ้นไปได้
4. นอนยกหัวสูง การนอนหัวสูงจะช่วยลดแรงดันจากกระเพาะต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างได้ เช่น วางก้อนอิฐ หิน รองขาเตียงฝั่งหัวนอน หรือใช้หมอนรูปลิ่มหนุนหัวให้สูงขึ้น
5. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ควรพยายามลดน้ำหนักเพราะห่กน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ความดันในช่องท้องก็จะเพิ่มขึ้นทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
6. ไม่สวมเข็มขัด หรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณเอว เสื้อผ้า หรือเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นบริเวณท้องจะกดเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไหลล้นกลับไปในหลอดอาหารได้
7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควรเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ทำให้หูรูดของหลอดอาหารคลายตัวและบุหรี่ยังกระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร
8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากแอลกอฮอล์เพิ่มปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว ส่งผลให้กรดไหลย้อนกำเริบได้
9. ลดความเครียด ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือที่ชอบ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จะช่วยลดการหลั่งกรดที่มากเกินไปได้
10. จดบันทึกอาการกรดไหลย้อน จดบันทึกเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่เกิดอาการ วิธีการรักษาที่ผ่านมา ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวคุณมากขึ้น ช่วยให้คุณและแพทย์วางแผนการรักษาได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้นด้วย
11. รับประทานยาสม่ำเสมอ หากคุณต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการกรดไหลย้อนและมีแนวโน้มจะลืมได้ง่าย แนะนำให้แปะโน้ตไว้เพื่อเตือนตัวคุณเอง
รายการอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน
- กลุ่มผลไม้ เช่น แอปเปิ้ลสด แอปเปิลแห้ง น้ำแอปเปิล กล้วย
- กลุ่มผัก เช่น มันอบ บรอกโคลี กะหล่ำปลี แครอต ถั่วเขียว ถั่ว
- กลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไม่ติดมัน อกไก่ไม่มีหนัง ไก่งวง ไข่ขาว สารทดแทนไข่ ปลาที่ไม่เติมไขมัน
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส feta หรือ goat ครีมชีสชนิดไม่มีไขมัน ซาวครีมชนิดไม่มีไขมัน ชีสถั่วเหลืองไม่มีไขมัน
- กลุ่มธัญพืช เช่น ขนมปังธัญพืช หรือขนมปังขาว ซีเรียล หรือข้าวโอ๊ต ขนมปังข้าวโพด แครกเกอร์ ข้าวกล้อง
- กลุ่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำแร่
- กลุ่มไขมัน หรือน้ำมัน เช่น น้ำสลัดไขมันต่ำ
- กลุ่มขนม รือของหวาน เช่น คุกกี้ไม่มีไขมัน เยลลี่ มันฝรั่งอบ
อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง
- กลุ่มเครื่องดื่ม เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำผลไม้ตระกูลส้ม
- กลุ่มอาหาร เช่น อาหารที่มีไขมัน อาหารทอด อาหารรสเผ็ด กระเทียม หัวหอม มะเขือเทศ มินต์ ช็อกโกแลต ผลไม้ตระกูลส้ม
ถึงแม้โรคกรดไหลย้อนไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เกิดความทรมาน รบกวนการใช้ชีวิตในประจำวัน และทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้
จุดมุ่งหมายสำคัญในการรักษาโรคนี้คือ ลดปริมาณกรดในกระเพาะและป้องการไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นวิธีที่ตรงจุดที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้
ดังนั้นควรดูแลตนเองอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกวิธีก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากกรดไหลย้อนได้อย่างยั่งยืน
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
โรคกรดไหลย้อนทำยังไงถึงจะหายขาด