นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
เขียนโดย
นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป

ขี้หูเปียก อันตรายหรือไม่?

ขี้หูเปียกไม่ใช่อาการผิดปกติ เป็นเพียงสิ่งที่เกิดตามพันธุกรรมของแต่ละคน การพยายามกำจัดขี้หูเปียกผิดวิธีต่างหากที่สร้างอันตรายได้
เผยแพร่ครั้งแรก 4 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 เม.ย. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ขี้หูเปียก อันตรายหรือไม่?

ขี้หู (Earwax, Cerumen) หลายคนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งสกปรกที่ออกมาจากหู แต่รู้หรือไม่ว่าขี้หูเป็นสิ่งปกติที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการผลัดเปลี่ยนเซลล์บริเวณรูหู 

โดยการนำซากเซลล์ที่ตายแล้ว ตลอดจนสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กต่างๆ ออกจากรูหู ป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย และป้องกันการติดเชื้อในบริเวณหูได้ โดยกลไกที่นำขี้หูออกมาจากหูอาศัยการเคลื่อนไหวในบริเวณรูหูขณะพูดหรือเคี้ยวอาหารนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ขี้หูมีหลายสี หลายลักษณะ โดยทั่วไปแล้วขี้หูปกติจะมีสีเหลืองอำพันไปจนถึงสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะขี้หูจะแตกต่างกันได้ตามกรรมพันธุ์ และเชื้อชาติต่างๆ เช่น ชาวเอเชียตะวันออก ชาวจีน ชาวเกาหลี มักจะมีขี้หูแห้งและสีอ่อน ส่วนชาวแอฟริกามักจะมีขี้หูเปียกและสีเข้มกว่า เป็นต้น

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงลักษณะของขี้หูที่เปียกเท่านั้นว่าเกิดจากอะไร อันตรายหรือบ่งบอกปัญหาสุขภาพใดหรือไม่ รวมถึงการรักษาและการทำความสะอาด

"ขี้หูเปียก" มีลักษณะอย่างไร

ขี้หูเปียกในที่นี้หมายถึงลักษณะขี้หูที่เหนียว ไม่จับตัวเป็นก้อน มีสีเหลืองเหมือนขี้หูทั่วไป เหนียวติดอยู่บริเวณรูหู และจะถูกขับออกมาภายนอกรูหูได้ ผ่านกลไกจากการพูดและการเคี้ยวอาหาร ทำให้เห็นเลอะที่บริเวณภายนอกรูหูได้ เป็นปัญหากวนใจใครหลายๆ คนที่มีขี้หูในลักษณะนี้ 

แต่ขี้หูลักษณะดังกล่าวที่จริงแล้วปกติ ไม่เป็นอันตรายอะไร

สาเหตุของขี้หูเปียก

ในรูหูของมนุษย์แต่ละข้างนั้นมีต่อมต่างๆ 2 ชนิดด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. ต่อมขี้หู (Ceruminous gland) มีประมาณ 1,000-2,000 ต่อม มีโครงสร้างคล้ายต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้ ทำหน้าที่ผลิตสารจำพวกโปรตีนต่างๆ
  2. ต่อมไขมัน (Sebaceous gland) ทำหน้าที่ผลิตสารพวกไขมันต่างๆ

ตามปกติเมื่อสารจากทั้งสองต่อม เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กภายในรูหู ทั้งสามอย่างรวมกันเข้า จะเกิดเป็นขี้หูขึ้นมา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สำหรับบางคนที่ขี้หูเปียก เป็นเพราะสารที่หลั่งจากต่อมขี้หูกับต่อมไขมันมีสภาพเป็นของเหลวมาก และไขมันจากต่อมไขมันส่วนใหญ่เป็นไขมันที่ไม่อิ่มตัว (Unsaturated long-chain fatty acids) ในปริมาณมาก ขี้หูจึงมีลักษณะเหลว เนื่องจากไม่แข็งตัวที่อุณหภูมิร่างกาย สังเกตเห็นเป็นขี้หูเปียกนั่นเอง

ขี้หูเปียกอันตรายไหม บ่งบอกปัญหาสุขภาพอะไรหรือเปล่า?

ขี้หูเปียกเป็นสิ่งที่ปกติ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคน และไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าสังเกตเห็นว่าขี้หูมีความผิดปกติ เช่น มีลักษณะของเหลวใส ของเหลวปนเลือด หรือของเหลวสีขุ่นไหลออกจากรูหู นั่นถือว่าเป็นอันตราย และไม่ใช่ลักษณะของขี้หูเปียกปกติ

อาการต่างๆ ดังกล่าวอาจจะเกิดจากการที่เยื่อแก้วหูได้รับความเสียหายจนทะลุ อาจมีการอักเสบติดเชื้อภายในหูชั้นกลาง รวมถึงอาจมีเนื้องอกที่ผลิตของเหลวต่างๆ เหล่านี้ภายในหู เมื่อสังเกตพบความผิดปกติจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการซักประวัติ และตรวจภายในหูเพิ่มเติมด้วยอุปกรณ์ส่องหู (Otoscope) จะได้ทราบสาเหตุและแนวทางการรักษาต่อไป

ขี้หูเปียกจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ อย่างไร?

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าลักษณะขี้หูเปียกไม่ใช่ความผิดปกติ จึงไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา 

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่เข้าใจการดูแลรักษาภายในรูหูผิด เช่น ใช้ไม้พันสำลีแคะและเช็ดภายในรูหูเพื่อทำความสะอาดขี้หูที่เปียกนั้น อาจจะเป็นการดันขี้หูไปสะสมบริเวณด้านในรูหู เมื่อขี้หูสะสมมีปริมาณมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen) ขึ้นได้ 

ส่งผลให้ได้ยินเสียงลดลงกว่าปกติ เมื่อสงสัยว่ามีภาวะดังกล่าวควรไปพบแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) เพื่อทำการตรวจ และนำขี้หูที่อุดตันนั้นออกมาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ควรพยายามแคะออกเอง เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหู อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้

วิธีทำความสะอาดขี้หูเปียกที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร?

ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้สิ่งแปลกปลอมต่างๆ พยายามเข้าไปทำความสะอาดภายในรูหู ไม่ว่าจะเป็นขี้หูชนิดใดก็ตาม เนื่องจากขี้หูเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย และป้องกันการติดเชื้อในบริเวณหูได้ ส่วนการทำความสะอาดขี้หูเปียกที่ร่างกายขับออกมา แนะนำให้ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดเฉพาะบริเวณภายนอกรูหูเท่านั้น ไม่ควรดึงปลายสำลีเพื่อที่จะสอดเข้าไปในรูหู เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขี้หูอุดตันอย่างที่อธิบายแล้วข้างต้น

สำหรับผู้ที่มีของเหลวเข้าไปในหูภายหลังจากกิจกรรมต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ อาบน้ำ เป็นต้น แล้วต้องการนำของเหลวนั้นออกมา แนะนำให้ใช้สำลีแห้งใส่เอาไว้บริเวณภายนอกรูหู แล้วตะแคงหูนอนเอาหูข้างที่มีของเหลวเข้าไปนั้นลง รอให้ของเหลวค่อยๆ ไหลออกมาเอง ไม่ควรพยายามเข้าไปเช็ดภายในรูหูเช่นกัน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Jaime R. Herndon, What Does Your Earwax Color Mean? (https://www.healthline.com/health/earwax-color), 21 March 2018.
W. Steven Pray, Earwax: Should It Be Removed? (https://www.medscape.com/viewarticle/504788_1)
Jon Johnson, Earwax color chart: What to know (https://www.medicalnewstoday.com/articles/326093.php), 19 August 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)