กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ความหลากหลายทางเพศ กับการป้องกันไวรัส HPV

ไวรัส HPV คืออะไร? กลุ่ม LGBTQ มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 22 ต.ค. 2023 อัปเดตล่าสุด 22 ต.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ความหลากหลายทางเพศ กับการป้องกันไวรัส HPV

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือช่องปาก ก็สามารถติดเชื้อได้หมด
  • เชื้อไวรัส HPV เมื่อติดไปแล้ว เชื้อจะซ่อนตัวอยู่ในร่างกายและไม่แสดงอาการใดๆ กว่า 10 ปี จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเชื้อลุกลามแล้ว
  • การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 94% และช่วยป้องกันโรค มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ในผู้ชายได้
    • ดูรายละเอียดการฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

เชื้อไวรัส HPV หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อที่ติดต่อได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว HPV เป็นเชื้อที่ไม่เลือกเพศและทุกคนสามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือกลุ่ม LGBTQ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส HPV เอาไว้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยง รวมถึงป้องกันการติดเชื้อได้อย่างถูกวิธี

HD.co.th จึงรวบรวมข้อมูลความรู้และวิธีป้องกันไวรัส HPV เอาไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัส HPV มากขึ้น

ราคาฉีดวัคซีน HPV

HPV คืออะไร?

ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดกับเพศใด หรือกับช่องทางใด เช่น ทางทวารหนัก ทางช่องคลอด หรือทางช่องปาก ก็สามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้หมด

เชื้อไวรัส HPV ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบ เพราะเมื่อติดเชื้อไวรัส HPV แล้ว เชื้ออาจซ่อนตัวอยู่ในร่างกายและไม่แสดงอาการใดๆ กว่า 10 ปี จะแสดงอาการอีกทีก็ต่อเมื่อเชื้อลุกลามไปแล้ว ทำให้เราไม่รู้ว่าได้รับเชื้อมาและสามารถแพร่ไปหาผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะกำจัดเชื้อได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ HPV อย่างถาวร และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้มากยิ่งขึ้น

เชื้อ HPV ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการติดเชื้อไวรัส HPV ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ที่ 6, 11,16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

สายพันธุ์เหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องคลอดและปากช่องคลอดได้

ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ติดเชื้อ HPV ได้ไหม?

คนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เหมือนกัน เพราะการติดเชื้อ HPV เกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดระหว่างผิวหนังกับผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ

ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ ติดเชื้อ HPV ได้ไหม?

Oral Sex เสี่ยงติดเชื้อ HPV ไหม?

การมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปาก (Oral Sex) หลายคนคิดว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่ทำให้ท้อง แถมยังช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุขทางเพศ

ความจริงแล้ว การทำ Oral Sex อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด เพราะทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส เริม พยาธิไวรัสตับอักเสบเอ หนองในแท้ หนองในเทียม และเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ

มะเร็งช่องปากและลำคอคืออะไร?

มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเยื่อบุภายในบริเวณช่องปากและลำคอ รวมถึงบริเวณคอหอยส่วนช่องปาก ได้แก่ ทอนซิล โคนลิ้น และเพดานอ่อน

นอกจากนี้ มะเร็งช่องปากและลำคอยังเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและอันตราย หากตรวจพบในระยะลุกลาม จะทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้

โดยปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งช่องปากและลำคอจากเชื้อไวรัส HPV มากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ มาจากการสูบบุหรี่หรือยาสูบ การดื่มแอลกอฮอล์ และเชื้อไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex)

มะเร็งทวารหนักคืออะไร?

มะเร็งทวารหนัก มีลักษณะเป็นติ่งหรือก้อนที่ทวารหนัก บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด เจ็บก้น คันผิดปกติบริเวณทวารหนัก เลือดออกและมีก้อนเนื้อขนาดเล็ก การขับถ่ายผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต รวมถึงทำให้ขาหนีบบวมได้ คล้ายกับโรคริดสีดวง

หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศคืออะไร?

หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ เป็นติ่งเนื้องอกสีชมพูหรือสีเนื้อขรุขระที่ยื่นออกมาจากอวัยวะเพศคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ ทำให้มีอาการเจ็บ แสบคัน และไม่สวยงาม

โดยหูดหงอนไก่สามารถเกิดซ้ำได้ 30-70% ในระยะเวลา 6 เดือนหลังการรักษา ทำให้เกิดการรบกวนต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้ป่วย

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • ใส่ถุงยางอนามัย ขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดและทวารหนัก รวมถึงเมื่อทำออรัลเซ็กส์กับองคชาต
  • ใช้แผ่น Dental Dam เมื่อทำออรัลเซ็กส์กับอวัยวะเพศหญิงและทวารหนัก
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนักสม่ำเสมอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งต่างๆ จากเชื้อ HPV และลดความเสี่ยงเป็นพาหะนำเชื้อ HPV ไปสู่คู่นอนได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV

วัคซีน HPV มีกี่ชนิด?

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ด้วยกัน 3 ชนิด คือ

  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 16 และ 18) ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70%
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 70% และช่วยป้องกันโรคมะเร็งทวารหนัก รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ในผู้ชาย
  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 94% และช่วยป้องกันโรคมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ในผู้ชาย

ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

เชื้อ HPV เป็นไวรัสร้ายที่สามารถติดต่อได้กับทุกเพศ ซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็มีทั้งหมดดังนี้

Trans Men หรือ ผู้ชายข้ามเพศ

Trans Men หรือ ผู้ชายข้ามเพศ บางคนที่ยังมีมดลูกอยู่ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณปากมดลูกที่สามารถเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

ปกติแล้ว คนที่ติดเชื้อ HPV มักพบได้จากการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ แต่บางครั้งการใช้นิ้วหรือเซ็กส์ทอยก็นำพาการถ่ายทอดเชื้อ HPV มาได้เช่นกัน

Trans Women หรือ ผู้หญิงข้ามเพศ

สำหรับ Trans Women หรือ ผู้หญิงข้ามเพศ สามารถติดเชื้อ HPV และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งทวารหนักได้

ผู้ที่เป็น Trans Women และได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศพร้อมกับมีช่องคลอดใหม่มาแล้ว พบว่าการติดเชื้อ HPV สามารถทำให้เกิดมะเร็งที่ช่องคลอดใหม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงควรฉีดวัคซีน HPV และตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนักประจำปีด้วย

MSM หรือ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

กลุ่ม MSM หรือ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบว่ามีการกำจัดเชื้อ HPV บริเวณทวารหนักได้ต่ำกว่าในกลุ่ม MSW หรือ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง

ทำให้กลุ่ม MSM จึงมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งทวารหนักได้สูงกว่ากลุ่ม MSW ถึง 20 เท่า เพราะฉะนั้นจึงควรฉีดวัคซีน HPV และควรตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนักประจำปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

WSW หรือ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง

สำหรับกลุ่ม WSW หรือ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง มีโอกาสติดเชื้อ HPV จากการใช้นิ้วมือหรือเซ็กส์ทอยเข้าทางช่องคลอด รวมถึงทางทวารหนักของอีกฝ่ายหนึ่ง

ถุงยางอนามัยป้องกันเชื้อ HPV ได้ทั้งหมดหรือไม่?

ถุงยางอนามัยช่วยลดการติดเชื้อ HPV ได้ แต่เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสก่อนการสอดใส่ และบางบริเวณที่ถุงยางไม่ครอบคลุม ทำให้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 100%

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก็ควรสวมใส่ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงหรือผู้ชาย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัส HPV และโรคทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ

เช็กราคาฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบผ่านเว็บไซต์​ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนรับวัคซีน

ที่มาของข้อมูล

  • รศ. ดร. นพ. อติวุทธ กมุทมาศ MD, Ph.D., American Board of Sexologists, สูตินรีแพทย์ อนุสาขาเวชศาสตร์ทางเพศ
TH-HPV-00453 10/2023

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)