การฉีดวัคซีนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายที่ดีที่สุด เพราะช่วยป้องกันการติดต่อโรคร้ายแรงต่างๆ หรือบรรเทาความรุนแรงเมื่อเกิดโรคได้
วัคซีน HPV ผลิตจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่อ่อนตัวแล้ว ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ได้ มีผลข้างเคียงน้อย ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
ในบทความนี้ HD.co.th จะพาไปทำความรู้จักกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีน HPV วัคซีนที่ใครหลายคนมองข้ามและไม่ได้ฉีดในช่วงเวลาที่เหมาะสม กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าจำเป็นก็เลยอายุที่สมควรฉีดและไม่ได้รับประโยชน์จากวัคซีนเท่าที่ควร
วัคซีน HPV คืออะไร? ทำไมต้องฉีดตั้งแต่ตอนวัยรุ่น?
วัคซีน HPV คือ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิวโลมา (Human Papillomavirus) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เชื้อ HPV” สาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธ์ุของผู้หญิง เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด หรือปากช่องคลอด
รวมไปถึงมะเร็งบริเวณอื่นๆ เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งอวัยวะเพศชาย และโรคหูดหงอนไก่
เชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการสวมใส่ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ 100% การฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่วัยรุ่นจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้
วัคซีน HPV ฉีดได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยมีรายละเอียดการรับวัคซีนดังนี้
- ผู้ที่ฉีดวัคซีน HPV เข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี จะฉีดวัคซีน HPV เพียง 2 เข็มเท่านั้น โดยเข็มแรกกับเข็มที่ 2 จะฉีดห่างกันประมาณ 6-12 เดือน
- ผู้ที่มีอายุ 15 ปีเป็นต้นไป จะต้องฉีดวัคซีน HPV 3 เข็ม โดยมีระยะห่างเป็น 0, 2 และ 6 เดือน
ทำไมวัยรุ่นถึงควรฉีดวัคซีน HPV?
วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับทุกคนและควรเริ่มฉีดตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
โดยในผู้หญิง การฉีดวัคซีน HPV ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งปากช่องคลอด โรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งช่องปากและลำคอ และโรคหูดหงอนไก่ได้
ส่วนในผู้ชาย การฉีดวัคซีน HPV ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งช่องปากและลำคอ และโรคหูดหงอนไก่ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไมวัคซีนจึงจำเป็นสำหรับทุกคน
สำหรับวัยรุ่นในช่วงอายุ 19-26 ปี ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน HPV ก็สามารถฉีดในตอนวัยรุ่นได้ เพราะเป็นวัยที่ยังมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HPV น้อย ร่างกายสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสได้ดี ทำให้ยังคงได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน HPV อย่างเต็มประสิทธิภาพ
วัยรุ่นควรฉีดวัคซีน HPV กี่สายพันธุ์?
เชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธ์ุ ซึ่งเชื้อไวรัสที่ถูกนำมาผลิตวัคซีน HPV จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
- เชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงคือ สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งช่องปากและลำคอ
- เชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำคือ สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ หรือโรคหูดที่อวัยวะเพศ
การฉีดวัคซีน HPV จึงควรเลือกฉีดวัคซีนที่ป้องกันครอบคลุมทั้งสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ โดยวัคซีน HPV ที่แนะนำในวัยรุ่นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 16, 18 และสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ 6, 11 ได้
- วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เป็นวัคซีน HPV ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 และสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ 6, 11 ได้
วัคซีน HPV มีผลข้างเคียงในวัยรุ่นไหม?
ฉีดวัคซีน HPV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV โดยที่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก
ส่วนใหญ่หลังจากที่ฉีดวัคซีน HPV จะมีอาการแค่เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีดและเป็นไข้ต่ำๆ เท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการบวม คัน ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน แต่สามารถหายได้เอง
วัยรุ่นมีความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัส HPV อย่างไรบ้าง?
สาเหตุหลักของการได้รับเชื้อ HPV มาจากการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด สำหรับวัยรุ่นที่มีคู่รักและเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย แม้ว่าจะใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก็ถือว่ามีความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัส HPV อยู่ดี
การป้องกันตัวเองจากเชื้อ HPV
วิธีช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ดีที่สุดก็คือการฉีดวัคซีน HPV ถ้าหากยังไม่เคยฉีดวัคซีนชนิดนี้มาก่อน ก็ควรที่จะไปฉีดโดยเร็วที่สุด
ส่วนใครที่ฉีดวัคซีน HPV มาแล้ว ก็ไม่ควรชะล่าใจ และใช้ชีวิตสนุกจนเกินไป เพราะวัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ 100%
เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย จึงควรดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
- สำหรับผู้หญิง แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อถึงวัย
สรุปเรื่องการฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มวัยรุ่น
วัคซีน HPV เป็นหนึ่งในวัคซีนที่สำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย หรือผู้หญิง และเป็นวัคซีนที่ควรได้รับตั้งแต่ยังเด็ก เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน เสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส HPV ได้น้อย ทำให้ได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน HPV มากที่สุด
ดังนั้นวัยรุ่นคนไหนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน HPV มาก่อน จึงควรรีบฉีดตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะสายเกินไป
เช็กราคาฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบผ่านเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth
แหล่งที่มาของข้อมูล
- Centers for Disease Control and Prevention (CDC), HPV Vaccination is Safe and Effective (https://www.cdc.gov/hpv/parents/vaccinesafety.html), 29 August 2023.
- Children's Hospital of Philadelphia, A Look at Each Vaccine: Human Papillomavirus (https://www.chop.edu/centers-programs/vaccine-education-center/vaccine-details/human-papillomavirus), 29 August 2023.
- Mayo Clinic, HPV vaccine: Who needs it, how it works (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hpv-infection/in-depth/hpv-vaccine/art-20047292), 29 August 2023.
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, HPV... ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น (https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08312020-1159), 29 สิงหาคม 2566.
- โรงพยายบาลเพชรเวช, ไขทุกปัญหาข้องใจเกี่ยวกับวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/vaccine_HPV), 5 ตุลาคม 2566.
- GARDASIL® [Quadrivalent Human Papillomavirus (Types 6, 11, 16, 18) Recombinant Vaccine] Prescribing Information, THL-V501-I-042019, Approval date: 21 Feb 2020
- GARDASIL®9 [Human Papillomavirus 9-valent Vaccine, Recombinant] Prescribing Information, LPI-V503-I-022021, Approval date: 10 Oct 2022