กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

HPV ไวรัสวายร้าย ใกล้ตัวกว่าที่คิด!

ทำความรู้จักเชื้อไวรัส HPV คืออะไร? ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 22 ต.ค. 2023 อัปเดตล่าสุด 22 ต.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
HPV ไวรัสวายร้าย ใกล้ตัวกว่าที่คิด!

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะและมีมากกว่า 100 สายพันธุ์
  • การป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถทำได้ง่ายๆ หลายวิธี เช่น งดการมีเพศสัมพันธ์ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และการฉีดวัคซีน HPV
  • วัคซีน HPV เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยผู้ที่รับวัคซีนก่อนอายุ 15 ปี จะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม และผู้ที่รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้น ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม
    • ดูรายละเอียดการฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth
ราคาฉีดวัคซีน HPV

ไวรัส HPV คืออะไร?

ไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะและมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยเชื้อไวรัส HPV แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

  • กลุ่มสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 6 และ 11
  • กลุ่มสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 6, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

ไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศชาย และมะเร็งช่องปากและลำคอ

ไวรัส HPV ติดต่อได้อย่างไร? อันตรายไหม?

ไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัส เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสที่รุนแรงบริเวณอวัยวะเพศ โดยผู้ชายและผู้หญิง 4 ใน 5 คน จะเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

สำหรับความอันตรายของไวรัส HPV คือ เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว เชื้อจะซ่อนตัวอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใดๆ นานกว่า 10 ปี แต่จะแสดงอาการออกมาอีกทีเมื่อเป็นระยะลุกลามแล้ว

ส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัส HPV ออกไปได้เองภายใน 2 ปี แต่ถ้าร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้จะทำให้เกิดการพัฒนาไปเป็นมะเร็งในอนาคต

มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายที่มาพร้อมกับไวรัส HPV

ในปี 2021 มีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 13 คนต่อวัน และมีผู้หญิงไทยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่อีก 25 คนต่อวัน

ส่วนใหญ่ ผู้หญิงไทยที่พบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกจะอยู่ในช่วงอายุ 45-64 ปี และผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 95% เกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

ดังนั้นการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายที่มาพร้อมกับไวรัส HPV

ไวรัส HPV ก็ติดในเพศชายได้

นอกจากเชื้อไวรัส HPV จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงแล้ว เชื้อนี้ยังก่อให้เกิดโรคร้ายในผู้ชายได้อีกด้วย เช่น มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศชาย และหูดหงอนไก่

โดยในแต่ละปีจะมีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งทวารหนักประมาณ 16,000 คน และเป็นหูดหงอนไก่อีก 15 ล้านคนต่อปี

ซึ่งในเพศชายจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเชื้อ HPV ได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อซ้ำและเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ

วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV

สำหรับวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้ง่ายๆ หลายวิธี เช่น งดการมีเพศสัมพันธ์ สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และการฉีดวัคซีน HPV

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ด้วยกันทั้งหมด 3 ชนิด คือ

  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันสายพันธุ์ที่ 6 และ 18
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, และ 18
  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

โดยวัคซีน HPV สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป และในแต่ละช่วงอายุจะมีข้อกำหนดในการฉีดวัคซีน ดังนี้

เด็กวัยรุ่นหญิงและชาย อายุ 9-15 ปี

การฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นหญิงและชาย อายุ 9-15 ปี เป็นช่วงวัยที่ได้รับประโยชน์จากวัคซีน HPV สูงสุด เนื่องจากผลงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า ช่วงวัยนี้มีการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าช่วงวัยอื่น

โดยเด็กวัยรุ่นที่มีอายุ 9-15 ปี รับวัคซีน HPV เพียงแค่ 2 เข็มเท่านั้น ซึ่งเข็มที่ 2 จะเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน

ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 15 ปี ขึ้นไป

สำหรับผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 15 ปี จะรับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ให้เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ซึ่งควรได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 ปี

ไขข้อข้องใจกับคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับวัคซีน HPV

1. มีแฟนเพียงคนเดียวมีโอกาสติดเชื้อ HPV หรือไม่?

มีความเสี่ยง เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่าย และ 80% ของคนทั่วไปเคยได้รับเชื้อมาก่อนโดยไม่มีอาการใดๆ จึงอาจเป็นไปได้ที่แฟนของคุณจะเคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อนแล้ว

2. เคยติดเชื้อ HPV แล้ว ฉีดวัคซีนได้ไหม?

เคยติดเชื้อ HPV แล้ว สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้อยู่ โดยวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อ HPV ใหม่ในสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยติดมาก่อน

3. ฉีดวัคซีน HPV ช่วยป้องกันโรคได้นานแค่ไหน?

จากการศึกษาวิจัย พบว่าวัคซีนยังคงให้ผลในการป้องกันที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ

4. จำเป็นต้องตรวจภายในก่อนฉีดวัคซีนไหม?

ไม่จำเป็น หรืออาจรับวัคซีนในวันเดียวกับที่ตรวจภายในได้เลย เนื่องจากยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV แม้ว่าผลตรวจภายในจะผิดปกติหรือตรวจพบเชื้อ HPV แล้วก็ตาม

ไขข้อข้องใจคำถามยอดฮิตวัคซีน HPV

5. ผู้หญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่?

ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอและควบคุมที่ดีในสตรีตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามถ้าได้รับวัคซีนไปแล้วหลังคลอดสามารถรับวัคซีนต่อได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

6. ผู้หญิงให้นมลูกฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่?

ผู้หญิงให้นมลูกสามารถรับวัคซีน HPV ได้

เช็กราคาฉีดวัคซีน HPV แต่ละแบบผ่านเว็บไซต์​ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมิน ทักไลน์ @hdcoth

ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนรับวัคซีน

ที่มาของข้อมูล

  • นพ. ศุภกรณ์ พิทักษ์การกุล หัวหน้ากลุ่มงานมะเร็งนรีเวช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
TH-HPV-00450 10/2023

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)