วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
ทพญ.สิริพัชร ชำนาญเวช
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทพญ.สิริพัชร ชำนาญเวช

ยาสีฟัน สำคัญยังไง เลือกใช้แบบไหนดี?

รวมข้อมูลเกี่ยวกับยาสีฟัน เด็ก ผู้ใหญ่ ควรใช้แบบไหน มีสารอะไรบ้างในยาสีฟัน
เผยแพร่ครั้งแรก 23 มิ.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ยาสีฟัน สำคัญยังไง เลือกใช้แบบไหนดี?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • สารประกอบสำคัญในยาสีฟัน ได้แก่ สารฟลูออไรด์ สารไตรโคลซาน สารฟอกฟันขาว สารลดอาการเสียวฟัน
  • ยาสีฟันมีหลายประเภท เช่น ยาสีฟันสมุนไพรซึ่งมักใช้เพื่อลดอาการเหงือกอักเสบ ยาสีฟันสำหรับลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันสำหรับควบคุมปริมาณหินปูน ยาสีฟันสำหรับเพิ่มความขาวของฟัน
  • ปริมาณของยาสีฟันที่เหมาะสำหรับการแปรงฟันแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับช่วงวัย
  • นอกจากการเลือกยาสีฟัน คุณควรเลือกแปรงสีฟันให้เหมาะสมด้วย โดยควรเลือกแปรงที่มีเนื้อแปรงละเอียด ปลายขนแปรงมน และไม่แข็งเกินไปจนทำให้เหงือกได้รับบาดเจ็บ
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพฟัน

บการแปรงฟัน เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่คุณต้องใส่ใจเพื่อดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด ดังนั้นอุปกรณ์สำหรับแปรงฟันจึงเป็นอีกสิ่งที่ต้องใส่ใจและควรเลือกใช้แบบที่เหมาะสมกับสุขภาพเหงือกและฟันของตนเอง

ยาสีฟัน (Toothpaste) ก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ลองพลิกกล่อง หรือหลอดยาสีฟันที่มีอยู่ขึ้นมาดูว่า มีส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยดูแลสุขภาพฟันได้อย่างครบถ้วนแล้วหรือยัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษารากฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2,940 บาท ลดสูงสุด 84%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ส่วนประกอบสำคัญของยาสีฟัน

ส่วนประกอบหลักๆ ที่มีในยาสีฟันทั่วไป ได้แก่ สารขัดถู สารทำให้เกิดฟอง สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง สารลดแรงตึงผิว สารปรุงแต่งกลิ่น รส และสี

ส่วนสารประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขจัดคราบสกปรก คราบจุลินทรีย์ ลดโอกาสทำให้เกิดฟันผุได้ ได้แก่

1. สารฟลูออไรด์ (Fluoride)

สารฟลูออไรด์ คือ สารป้องกันฟันผุในยาสีฟัน โดยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ควรมีปริมาณฟลูออไรด์ประมาณ 1,000-1,500 ส่วนในล้านส่วน (ppm)

การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ถือเป็นวิธีดูแลรักษาฟันที่องค์การอนามัยโลกใช้เป็นกลวิธีหลักเพื่อป้องกันฟันผุ โดยรูปแบบของฟลูออไรด์ที่ถูกใช้ในยาสีฟัน ได้แก่

  • โซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium fluoride)
  • โซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Sodium monofluorophosphate)
  • แสตนนัสฟลูออไรด์ (Stannous fluoride)

อย่างไรก็ตาม ฟลูออไรด์มีข้อควรระวังสำหรับใช้ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ซึ่งควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟัน

มิฉะนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นฟันตกกระ (Dental fluorosis) ของฟันแท้ ซึ่งเป็นความผิดปกติของผิวฟันที่เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ทางการกินมากเกินไป ในขณะที่ฟันแท้ยังไม่ขึ้นสู่ช่องปาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษารากฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2,940 บาท ลดสูงสุด 84%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

2. สารไตรโคลซาน (Triclosan)

สารไตรโคลซาน คือ สารยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย (Antibacteria) ซึ่งมักเป็นส่วนประกอบอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย เช่น สบู่ ยาสีฟัน

สารไตรโคลซานมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดคราบแบคทีเรีย (plaque) ฟันผุ รวมถึงช่วยป้องกันการเกิดโรคปริทันต์ (Periodontitis) หรือโรคเหงือก (Gum disease)

อย่างไรก็ตาม บางประเทศก็มีกฎห้ามใช้ไตรโคลซาน เนื่องจากมีบางงานวิจัยพบว่า ไตรโคลซานในขนาดสูงอาจส่งผลเสียต่อร่างกายโดยทำให้ปริมาณฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายลดลง ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยถึงข้อมูลเหล่านี้ต่อไป

3. สารฟอกฟันขาว (Whitening)

โดยปกติ สารฟอกฟันขาว หรือสารไวท์เทนนิ่ง จะเป็นส่วนประกอบของสารขัดฟันที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการขจัดคราบสกปรกได้ดีขึ้น ซึ่งหากใช้มากเกินไปก็อาจทำให้ฟันสึกได้ โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกับแปรงแข็ง

สารที่ช่วยขัดฟันอาจเป็นสารแคลเซียมไพโรฟอสเฟท (Calcium pyrophosphate) สารแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) หรืออาจเป็นส่วนผสมของสารซิลิกา (Silica) หรือสารอะลูมิเนียม (Aluminium)

ยาสีฟันบางชนิดอาจใส่สารฟอกฟันขาวที่มีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนสีเนื้อฟันได้เล็กน้อย เช่น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือ คาร์บาไมด์เพอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) มาด้วย แต่หากใช้ในปริมาณมากและต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการเสียวฟันได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษารากฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2,940 บาท ลดสูงสุด 84%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

4. สารลดอาการเสียวฟัน (Sensitivity)

ผู้ใช้ยาสีฟันบางรายอาจเผชิญอาการเสียวฟันระหว่างแปรงฟัน ทำให้มีการใส่สารลดอาการเสียวฟันเข้ามาในยาสีฟันบางยี่ห้อ

อาการเสียวฟันขณะแปรงฟัน มักมีสาเหตุมาจากอาการเหงือกร่น (Gum recession) หรือฟันสึก ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเสียวฟัน ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง หากเป็นการเสียวฟันจากฟันผุ ฟันสึกที่ลึกต้องอุด ฟันแตก ฟันร้าว หรือโรคเหงือก จะได้ทำการรักษาทันท่วงที

สารลดอาการเสียวฟันที่นิยมใช้ในยาสีฟันจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ 1 ได้แก่ สารโพแทสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate) และโพแทสเซียมซิเตรต (Potassium citrate) ซึ่งสาร 2 ตัวนี้จะไปลดการทำงานของเส้นประสาทที่กระตุ้นให้เกิดอาการเสียวฟันขึ้น
  • กลุ่มที่ 2 ได้แก่ สารสตรอนเทียม (Strontium) สารอาร์จินีน (Arginine) และสารแคลเซียมโซเดียมฟอสโฟซิลิเกต (Calcium sodium phosphosilicate) หรือเรียกอีกชื่อว่า “สารโนวามิน (NovaMin)”

สารเหล่านี้จะทำงานโดยไปยับยั้งการกระตุ้นที่บริเวณท่อเนื้อฟัน (Dentinal tubules) 

ประเภทของยาสีฟัน

ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่เหมาะสมกับสุขภาพช่องปาก และถูกวัตถุประสงค์การใช้ สามารถจำแนกประเภทของยาสีฟันได้ต่อไปนี้

1. ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์

เป็นยาสีฟันที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุ โดยสูตรยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ซึ่งเป็นที่นิยมคือ สูตรที่มีสารฟลูออไรด์เข้มข้น 1,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm.)

ความถี่ในการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์คือ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรแปรงนานประมาณ 2-3 นาทีให้ทั่วทั้งปาก ให้สารฟลูออไรด์เข้าไปสัมผัสกับผิวฟันและซอกฟัน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สารฟลูออไรด์มีข้อควรระมัดระวังในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้นกลุ่มผู้ใช้ยาสีฟันชนิดนี้ที่เป็นเด็กเล็ก ควรได้รับการดูแลจากผู้ปกครองในระหว่างใช้ด้วย เพื่อไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟัน รวมทั้งควรเก็บยาสีฟันให้พ้นมือเด็ก

สามารถจำแนกระดับของปริมาณยาสีฟันที่บีบลงไปบนแปรงสีฟันได้ตามอายุของเด็กดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุ 6 เดือน -3 ขวบ ควรบีบยาสีฟันแค่แตะเบาๆ บนแปรงสีฟัน
  • เด็กอายุ 3-6 ขวบ ควรบีบยาสีฟันขนาดเท่ากับความกว้างของแปรงสีฟัน
  • เด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป ควรบีบยาสีฟันยาวเท่ากับความยาวของแปรงสีฟัน

2. ยาสีฟันสมุนไพร

ส่วนมากมักใช้เพื่อลดอาการเหงือกอักเสบ หรือบำรุงสุขภาพเหงือก แต่มักไม่ได้ช่วยป้องกันฟันผุได้มากเท่ายาสีฟันชนิดอื่น

ข้อควรระวังของยาสีฟันประเภทนี้คือ บางยี่ห้อที่ไม่มี อย. อาจมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสารปนเปื้อน เน้นโฆษณาจุดเด่นของสมุนไพรแต่ละชนิด แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและความสะอาดของวัตถุดิบ

ควรเลือกซื้อยาสีฟันที่มีกล่องผลิตภัณฑ์มีตราสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อความปลอดภัยในการใช้

3. ยาสีฟันลดอาการเสียวฟัน

เป็นยาสีฟันรักษาอาการเสียวฟันโดยเฉพาะซึ่งมักเกิดจากอาการเหงือกร่น คอฟันสึก ซึ่งมักเกิดจากการแปรงฟันผิดวิธี หรือใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงแข็งเกินไป

ยาสีฟันประเภทนี้มักประกอบไปด้วยสารบางชนิดที่ช่วยลดอาการเสียวฟันได้โดยเฉพาะ เช่น โซเดียมซิเตรต (Sodium citrate) โพแทสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate)

นอกจากใช้ยาสีฟันลดอาการเสียวฟันแล้วยังควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำด้วย

4. ยาสีฟันสำหรับลดและควบคุมหินปูน

เป็นยาสีฟันสำหรับลดการเกิดหินปูนบนเนื้อฟันผ่านสารประกอบในยาสีฟันบางชนิด เช่น สารไตรโคลซาน ไพโรฟอสเฟต (Pyrophosphates) แต่ข้อควรระวังสำหรับยาสีฟันประเภทนี้คือ อาจเกิดอาการเสียวฟัน หรือแพ้สารในยาสีฟันได้

5. ยาสีฟันสำหรับเพิ่มสีฟันขาว

เป็นอีกยาสีฟันที่ได้รับความนิยม เพราะนอกจากสุขภาพฟันที่ดี เราทุกคนย่อมไม่อยากให้เนื้อฟันเป็นคราบ หรือหมองไม่น่ามอง ยาสีฟันหลายยี่ห้อจึงคิดค้นสูตรยาสีฟันเพื่อช่วยให้เนื้อฟันมีสีขาวมากขึ้น

เพราะในชีวิตประจำวันของเรา มีหลายปัจจัยที่ทำให้สีฟันหมองลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีสีเข้ม หรือการสูบบุหรี่ก็ทำให้สีฟันมีคราบหมองลงได้ ซึ่งยาสีฟันประเภทนี้จะช่วยขจัดคราบเหล่านี้ออกไป

แต่ไม่ควรใช้ยาสีฟันประเภทนี้บ่อย เพราะอาจจะทำให้ผิวฟันสึกกร่อนลง

นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจจ่ายยาสีฟันประเภทนี้แก่ผู้ที่ฟอกสีฟัน เพราะต้องใช้ยาสีฟันพิเศษในการดูแลไม่ให้เนื้อฟันที่เพิ่งฟอกกลับไปหมองคล้ำอีกครั้ง

ปริมาณการบีบยาสีฟันที่เหมาะสมในผู้ใหญ่

นอกจากปริมาณยาสีฟันสำหรับเด็กที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ใหญ่หลายคนอาจสงสัยว่า ควรบีบยาสีฟันในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม

หลายคนอาจเข้าใจว่า ต้องบีบยาสีฟันให้มากๆ มีฟองในปากมากๆ และต้องได้รสชาติยาสีฟันขณะแปรงให้มากที่สุด จึงจะแสดงว่า "ฟันสะอาดแล้ว" ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริง เนื่องจากการบีบยาสีฟันที่เหมาะสมในผู้ใหญ่คือ บีบยาสีฟันให้ความยาวเท่ากับความยาวของขนแปรงสีฟันที่ใช้ก็พอ 

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟันสะอาดได้นั้นไม่ใช่ยาสีฟัน แต่เป็นแปรงสีฟันและการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ทั้งนี้แปรงสีฟันที่เหมาะสมควรมีเนื้อแปรงนุ่ม ขนแปรงมน ไม่แหลมคม หรือแข็งจนทำให้เหงือกบาดเจ็บ 

เพียงเท่านี้ สุขภาพฟันของคุณก็จะแข็งแรงขึ้นและไม่สิ้นเปลืองยาสีฟันจนเกินไปด้วย

อีกสิ่งสำคัญที่คุณต้องสังเกตก่อนเลือกซื้อยาสีฟันคือ ไม่ควรซื้อยาสีฟันที่วัน เดือน ปีที่ผลิตนานเกิน 3 ปี ระมัดระวังไม่ใช้ยาสีฟันที่มีสารทำให้เกิดอาการแพ้

หากมีปัญหาสุขภาพช่องปากด้านใดและต้องการรักษาเป็นพิเศษ ให้ปรึกษาทันตแพทย์ว่า ควรเลือกใช้ยาสีฟันแบบไหนดี หมั่นตรวจฟันเป็นประจำ และอย่าลืมแปรงฟันทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขอนามัยช่องปากสะอาด มีเหงือกและฟันที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่กับคุณไปนานๆ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจขูดหินปูน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชันเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Misha Ketchell, Health Check: how to choose toothpaste (https://theconversation.com/health-check-how-to-choose-toothpaste-64751), 20 June 2020.
Chacko Kalliath, Comparison between the effect of commercially available chemical teeth whitening paste and teeth whitening paste containing ingredients of herbal origin on human enamel (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6369603/?fbclid=IwAR3gyoMvaRyDY8XLRb-FO1voQWR8rRPSPgwc-nBKQlUxxXXq_sbnucVHBxw), 21 July 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)