วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์

อยากจัดฟันต้องเตรียมตัวยังไง งบจัดฟันควรเตรียมไว้เท่าไรดี

รวมข้อควรรู้ก่อนการจัดฟัน จัดฟันมีกี่แบบ งบประมาณเท่าไร
เผยแพร่ครั้งแรก 7 ส.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
อยากจัดฟันต้องเตรียมตัวยังไง งบจัดฟันควรเตรียมไว้เท่าไรดี

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การจัดฟันเป็นการทำทันตกรรมยอดนิยมในผู้ที่มีปัญหาการจัดเรียงของฟัน หรือรูปร่างฟันส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ใบหน้า
  • การจัดฟันแบ่งได้หลักๆ 5 แบบ ได้แก่ จัดฟันแบบโลหะ จัดฟันแบบด้านใน จัดฟันแบบดามอน จัดฟันแบบเซรามิก และจัดฟันใส
  • ผู้ที่ไม่ต้องการให้คนรอบตัวเห็นอุปกรณ์จัดฟันชัดควรจัดฟันแบบเซรามิก หรือจัดฟันแบบใส เพราะอุปกรณ์จัดฟันทั้ง 2 แบบนี้จะมีสีกลมกลืนไปกับเนื้อฟัน แต่ราคาการจัดฟันก็จะสูงมากด้วยเช่นกัน
  • การจัดฟันมักต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี ในการปรับเปลี่ยนการเรียงตัวของฟันให้สวยงามขึ้น อีกทั้งผู้จัดฟันบางรายอาจต้องถอนฟันก่อนจัดฟัน หากการเรียงตัวของฟันมีปัญหามาก 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจจัดฟันใส

การจัดฟันเป็นการทำทันตกรรมยอดนิยมที่หลายคนต้องการ เพราะอาจมีส่วนช่วยปรับรูปใบหน้า เสริมความมั่นใจเวลายิ้ม ทำให้ฟันเรียงสวยยิ่งขึ้น ง่ายต่อการดูแลสุขภาพเหงือกและฟัน

นอกจากนี้การจัดฟันยังอาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหารูปปากที่ยื่นอูมให้เข้ากับโครงใบหน้า ทำให้หลายคนมั่นใจในการถ่ายรูปด้านข้างมากขึ้นด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
จัดฟันใสกับ Like Dental Clinic ตอนนี้ ราคาดีที่สุดในเว็บ!

ประเมินฟรี มีของแถม / หมอผ่านการจัดฟันมาแล้วกว่า 150 เคส / ผ่อนได้ 0%

ผู้ที่เหมาะกับการจัดฟัน

ผู้ที่มีปัญหาช่องปากและการเรียงตัวของฟัน ได้แก่

  • ผู้ที่มีปัญหาฟันแถวบนกับแถวล่างไม่สบกัน
  • ผู้ที่มีปัญหาฟันยื่น
  • ผู้ที่มีปัญหาฟันเก ล้มเอียง
  • ผู้ที่มีปัญหาฟันเรียงซ้อนกัน
  • ผู้ที่มีปัญหาฟันห่าง
  • ผู้ที่มีปัญหาฟันยื่นสัมผัสลิ้น หรือเผลอกัดลิ้นบ่อยๆ ขณะพูดจนพูดไม่ชัด
  • ผู้ที่มีปัญหาเหงือกยื่นคลุมฟันมาก หรือมีปัญหากล้ามเนื้อปากยกสูง ทำให้ยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป

ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือก และฟันนั้นไม่จำเป็นต้องเข้ารับการจัดฟันทุกคน หากลักษณะฟันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการรักษาสุขภาพช่องปาก

โดยทันตแพทย์อาจเป็นผู้แนะนำหากผู้เข้ารับบริการตรวจฟันมีลักษณะเหงือกและฟันที่สมควรจัดฟัน 

การจัดฟันแต่ละแบบ และงบประมาณที่ควรเตรียมไว้

การจัดฟันแบ่งออกหลักๆ ได้ 5 แบบ ได้แก่

1. การจัดฟันแบบโลหะ

การจัดฟันแบบโลหะ (Metal braces) เป็นการจัดฟันพื้นฐาน และดั้งเดิม โดยทันตแพทย์จะใช้อุปกรณ์ทำจากโลหะติดบนเนื้อฟันแต่ละซี่และยึดโลหะแต่ละชิ้น ใช้ลวดใส่ยาง เพื่อจัดฟันให้เคลื่อนจนเรียงเป็นแถวสวยงามขึ้น

ราคาการจัดฟันแบบโลหะจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-60,000 บาท และผู้จัดฟันสามารถเลือกสียางรัดฟันในแต่ละรอบที่มาเปลี่ยนลวดได้ด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
จัดฟันใสกับ Like Dental Clinic ตอนนี้ ราคาดีที่สุดในเว็บ!

ประเมินฟรี มีของแถม / หมอผ่านการจัดฟันมาแล้วกว่า 150 เคส / ผ่อนได้ 0%

แต่ปัจจุบันการจัดฟันแบบโลหะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าแต่ก่อนแล้ว เนื่องจากมีการจัดฟันแบบอื่นที่สะดวกสบายกว่า ใช้ระยะเวลาในการจัดฟันสั้นกว่า 

อีกทั้งวิธีนี้ผู้จัดฟันแบบโลหะยังต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนยางและลวดทุกเดือนด้วย ซึ่งทำให้ขั้นตอนการจัดฟันแบบนี้ต้องเสียเวลามาพบทันตแพทย์บ่อยๆ

หลังจากถอดอุปกรณ์จัดฟันออก ผู้จัดฟันก็ยังต้องใส่รีเทนเนอร์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีเพื่อคงลักษณะการเรียงตัวของฟันไว้ก่อนด้วย โดยระยะเวลาการใส่จะขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของคนไข้แต่ละราย โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ

ด้วยลักษณะอุปกรณ์จัดฟันซึ่งเป็นโลหะกับยางจึงยากต่อการทำความสะอาด และทำให้เศษอาหารเข้าไปติดในอุปกรณ์จัดฟันได้ง่าย จึงอาจส่งผลให้ผู้จัดฟันมีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ และฟันผุได้หากแปรงฟันไม่สะอาด

2. การจัดฟันแบบด้านใน

การจัดฟันแบบด้านใน (Lingual braces) มีจุดเด่นตรงที่อุปกรณ์จัดฟันจะถูกติดตั้งที่ผิวฟันด้านใน ทำให้ไม่เห็นอุปกรณ์จัดฟันภายนอก เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่า ตนเองกำลังจัดฟัน

นอกจากนี้การจัดฟันด้านในยังช่วยให้เนื้อฟันด้านนอกไม่มีรอยสีฟันที่แตกต่างกันจากอุปกรณ์จัดฟันด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
จัดฟันใสกับ Like Dental Clinic ตอนนี้ ราคาดีที่สุดในเว็บ!

ประเมินฟรี มีของแถม / หมอผ่านการจัดฟันมาแล้วกว่า 150 เคส / ผ่อนได้ 0%

อย่างไรก็ตาม การจัดฟันด้านในก็ยังต้องมีการมาตรวจกับทันตแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เข้ากับการเคลื่อนตัวของฟัน 

ในระหว่างจัดฟันแบบนี้ ผู้จัดฟันควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็ง ยากต่อการเคี้ยว เพราะจะทำให้อุปกรณ์จัดฟัน หลุด หรือเสียหายได้ง่ายและต้องแปรงฟันให้สะอาด

งบประมาณการจัดฟันแบบด้านในจะค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 60,000-100,000 บาท อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจัดฟันแต่มีงบประมาณจำกัด

3. การจัดฟันแบบดามอน

การจัดฟันแบบดามอน (Damon braces) เป็นการจัดฟันที่ใกล้เคียงกับการจัดฟันแบบโลหะ แต่อุปกรณ์จัดฟันจะมีความแข็งแรงกว่า ให้แรงกระทำคงที่ โดยแบร็คเก็ตถูกออกแบบและทำจากโลหะชนิดพิเศษที่ช่วยให้การเคลื่อนตัวของฟันรวดเร็วมากขึ้น ไม่ต้องใช้ยาง

อีกทั้งไม่ต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อยๆ ด้วย

ด้วยจุดเด่นด้านการประหยัดเวลาในการจัดฟันแบบนี้ จึงทำให้การจัดฟันแบบดามอนมีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยอยู่ที่ประมาณ 55,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภท 

4. การจัดฟันแบบเซรามิก

การจัดฟันแบบเซรามิก (Ceramic braces) เป็นการจัดฟันที่อุปกรณ์จัดฟันคล้ายกับการจัดฟันแบบโลหะ แต่แบร็คเก็ตจะเป็นเซรามิกใส ทำให้กลมกลืนไปกับเนื้อฟัน มีแค่ส่วนของลวดจัดฟันที่ยังเห็นเป็นสีโลหะอยู่

การจัดฟันแบบเซรามิกมีข้อดีที่อุปกรณ์จัดฟันจะมีสีใส ทำให้ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่มีจุดด้อยตรงอุปกรณ์จัดฟันอาจไม่แข็งแรงมาก แตกง่าย

ราคาการจัดฟันแบบเซรามิกจะอยู่ที่ประมาณ 60,000-90,000 บาท

5. การจัดฟันแบบใส

การจัดฟันแบบใส (Clear Aligner) เป็นการจัดฟันที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทำให้ผู้อื่นสังเกตเห็นอุปกรณ์จัดฟันได้ มีการจำลองผลลัพธ์การจัดฟันด้วยคอมพิวเตอร์ให้ผู้จัดเห็นได้ก่อนเริ่มจัดฟัน

นอกจากนี้อุปกรณ์จัดฟันใส ไม่สร้างความอึดอัดในช่องปากมากนัก แต่อาจรู้สึกไม่ชินในช่วงแรกๆ ของการจัดฟัน และไม่ต้องมาพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อยๆ ด้วย

การจัดฟันแบบใสมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการผลิต และมีข้อดีหลายอย่าง ไม่เป็นอุปสรรคต่ออาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ด้วย เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ดารานักแสดง โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 69,000-200,000 บาท

จะเห็นได้ว่า ราคาการจัดฟันแต่ละแบบล้วนมีราคาค่อนข้างสูง แต่ส่วนมากเกือบทุกโรงพยาบาลและคลินิกจะมีโปรโมชั่น และการผ่อนชำระรายเดือนเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ารับการจัดฟันได้ตามที่ต้องการ

การเตรียมพร้อม และสิ่งที่ควรรู้ก่อนการจัดฟัน

ก่อนจะเริ่มจัดฟัน ผู้จัดฟันต้องมีการเตรียมตัวดังต่อไปนี้

  • ตรวจสุขภาพช่องปาก ไม่ว่าจะต้องการจัดฟันแบบใดก็ตาม ผู้จัดฟันต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากก่อน และตรวจดูลักษณะฟันว่า สมควรจัดอย่างไร มีระยะเวลาการจัดเท่าไร การจัดแบบไหนที่เหมาะกับลักษณะฟันมากที่สุด

    นอกจากนี้ทันตแพทย์จะขูดหินปูน อุดฟัน ทำความสะอาดเหงือก และช่องปากให้สะอาดก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการจัดฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรืออักเสบในช่องปากในภายหลัง

  • เตรียมงบประมาณ ตามข้อมูลการจัดฟันแบบต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น

  • เตรียมพร้อมเรื่องเวลา หากคุณต้องการจัดฟันเพื่อประโยชน์บางอย่าง เช่น เพื่อไปสมัครงาน ให้กะระยะเวลาในการจัดฟันให้ดี ทางที่ดีให้รีบปรึกษาทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ หากมีความคิดจะจัดฟัน เพื่อที่จะได้มีเวลาจัดฟันให้เคลื่อนตัวสวยขึ้นทันเวลา

  • การถอนฟัน หลายคนอาจไม่รู้ว่า ก่อนจัดฟัน หากคุณมีปัญหาการเรียงตัวของฟันมาก ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องถอนฟันบางซี่ออกเพื่อให้สามารถจัดฟันได้

  • รูปใบหน้า และลักษณะฟันที่เปลี่ยนไป จะแตกต่างไปตามลักษณะฟันเดิมของแต่ละบุคคล หลายคนคาดหวังว่า ฟันจะเรียงสวยสมบูรณ์แบบเหมือนดารานักร้อง แต่ความจริงแล้ว ลักษณะฟันหลังจัดของแต่ละบุคคลจะมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงความคาดหวังตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดฟัน

    อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดฟันแล้วคุณจะมีการเรียงตัวของฟันที่สวย และดูดีขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่อาจไม่ได้มากเท่ากับความคาดหวังของผู้จัดฟันบางราย

  • อาการเจ็บปวด การจัดฟันต้องมีการเคลื่อนของฟันผ่านกระดูก ผู้จัดฟันจึงต้องเผชิญกับความรู้สึกเจ็บ หรืออึดอัดในช่องปากอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในวันแรกๆ หลังการปรับลวด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป อาการเหล่านี้ก็จะลดลง 

การจัดฟันเป็นการทำทันตกรรมที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า มีการปรึกษากับทันตแพทย์อย่างละเอียด เพื่อให้การเรียงตัวของฟันมีการเปลี่ยนแปลงที่สวยงาม และช่วยสร้างความมั่นใจในรอยยิ้มของผู้จัดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การจัดฟันยังเป็นการทำทันตกรรมที่ต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณสูง อีกทั้งปัจจุบันยังมีการลักลอบจัดฟันเถื่อน และใช้อุปกรณ์จัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขอนามัย สามารถส่งผลให้สุขภาพช่องปากผู้จัดฟันมีปัญหาร้ายแรงในภายหลังได้

คุณจึงควรจัดฟันกับโรงพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรมที่ได้มาตรฐาน มีทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินลักษณะของฟันได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การจัดฟันออกมาได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ไม่ทำให้การรอคอยระหว่างจัดฟันของคุณสูญเปล่า และคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจจัดฟันใส จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Yolanda Smith, B.Pharm. Types of Dental Braces (https://www.news-medical.net/health/Types-of-Dental-Braces.aspx), 11 August 2020.
Simon Manara, Types of Braces (https://www.londonorthodontics.com/orthodontics/types-of-braces/), 11 August 2020.
Christine Frank, Who Needs Braces? (https://www.healthline.com/health/do-i-need-braces), 4 August 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)