กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

วิธีการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้ลูก สำหรับเด็กแรกเกิด ทารก และเด็กเล็ก

เผยแพร่ครั้งแรก 14 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 ธ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
วิธีการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้ลูก สำหรับเด็กแรกเกิด ทารก และเด็กเล็ก

เด็กเล็กๆ ส่วนใหญ่มักจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ค่อนข้างน้อย จึงมีโอกาสในการเจ็บป่วยได้บ่อยๆ ทุกช่วงฤดูกาล อีกทั้งโรคก็มีการพัฒนากลายพันธุ์ที่ทำให้รักษายากขึ้น ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายขณะนอนโรงพยาบาลมากขึ้นตามมาอีกด้วย ดังนั้นการซื้อประกันสุขภาพให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นเด็กแรกเกิด ทารก และเด็กเล็ก นับว่าเป็นสิ่งที่สามารถช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในยามที่ลูกน้อยต้องนอนโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

ทำไมควรซื้อประกันสุขภาพให้ลูก?

การซื้อประกันสุขภาพให้ลูกจะครอบคลุมสำหรับกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอกอีกด้วย โดยใช้ใบเสร็จมายื่นขอเงินคืนจากบริษัทประกัน เพื่อรับการชดเชยจากค่าใช้จ่ายที่ชำระออกไปก่อนได้ ซึ่งกรณีนี้จะมีบริการเพียงบางบริษัทเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นขายประกันสุขภาพสำหรับกรณีผู้ป่วยในอย่างเดียว ในยามที่ลูกเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล อันเนื่องมาจากโรคภัยหรือเกิดอุบัติเหตุ

ความคุ้มครองของแบบประกันที่กล่าวมานี้ จะประกอบไปด้วยค่าห้องพัก ค่าอาหาร ค่าตรวจรักษาของแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลแบบฉุกเฉินในกรณีเกิดอุบัติเหตุ โดยมีความคุ้มครองตั้งแต่อายุ 1 เดือน – 20 ปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งตามช่วงอายุ 1เดือน – 5 ปี เพราะช่วงเด็กเล็กนี้จะมีค่าเบี้ยประกันแพงกว่าช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากเด็กเล็กในช่วงนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคภัยมากกว่า และเมื่ออายุ 6 – 20 ปี เบี้ยประกันที่เราซื้อประกันสุขภาพให้ลูกจะค่อยๆ ลดลง เพราะเด็กเริ่มโตก็จะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นตามวัย ทำให้โอกาสในการเจ็บป่วยลดลงนั่นเอง

วิธีการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้ลูก

  1. พิจารณาจากยอดเงินค่ารักษาการเจ็บป่วย ควรหมั่นสังเกตว่าที่ผ่านมานั้น ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งที่ลูกเจ็บป่วยจะอยู่ที่ประมาณเท่าใด ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลปรึกษาตัวแทนประกันว่าควรซื้อเบี้ยประกันเท่าไร เพื่อป้องกันการซื้อประกันสุขภาพที่มีราคาสูงจนเกินจำเป็น
  2. ศึกษารายละเอียดของกรมธรรม์ให้ดี เกี่ยวกับสวัสดิการที่เหมาะสมกับลูก อย่างเช่นการจ่ายเบี้ยชดเชยสูงพอในยามที่เจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่อายุเท่าไร ประหยัดและคุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายไปทุกปีหรือไม่ หรือมีค่ารักษาพยาบาลของการเป็นผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุ และเมื่อต้องรักษาตัวต่อเนื่องจนเป็นผู้ป่วยในจะให้ความคุ้มครองชดเชยได้เท่าไร เป็นต้น
  3. พิจารณาจากค่าห้องพัก หากเลือกราคาห้องที่สูงก็จะทำให้เบี้ยประกันสูงตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อซื้อประกันสุขภาพให้ลูกจึงควรเลือกดูให้เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อที่จะได้ไม่เกินวงเงินจนต้องจ่ายส่วนต่างมากหลังใช้บริการ
  4. ซื้อตามความสามารถของกำลังทรัพย์ เพราะประกันสุขภาพสำหรับเด็กเป็นการส่งเบี้ยระยะยาว เราจะได้มีกำลังส่งจนกว่าจะหมดอายุประกัน ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงในยามที่ลูกเจ็บป่วย หากไม่เกินวงเงินหรือยังอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าอะไรเพิ่มเติมเลย
  5. เลือกซื้อจากตัวแทนประกันที่ดี ให้ข้อมูลที่จริงใจตรงไปตรงมา ตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบสูง และติดต่อง่ายในยามที่ต้องใช้บริการ
  6. ออมเงินไปพร้อมกับการประกันสุขภาพ การซื้อประกันสุขภาพให้ลูกชนิดนี้จะมีเงินคืนเมื่อครบอายุสัญญา โดยเบี้ยจะสูงกว่าประกันสุขภาพชนิดไม่มีเงินคืน หากต้องการเก็บออมเงินเพื่อเก็บไว้เป็นทุนการศึกษา พร้อมกับประกันความเสี่ยงยามลูกเจ็บป่วย การซื้อแบบนี้ย่อมดีและคุ้มค่าเช่นกัน
  7. ทำสัญญาเพิ่มเพื่อค่าชดเชยรายวัน หากมีกำลังทรัพย์มากพอที่สามารถทำสัญญาเพิ่มจากกรมธรรม์หลัก เพื่อเอาค่าชดเชยรายวันกลับมาได้ก็ควรทำ ทั้งนี้ลูกจะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง โดยไม่ต้องนอนค้างคืนก็สามารถเบิกได้ เพราะผู้ปกครองจะต้องสูญเสียรายได้จากการไปดูแล และหากมีการชดเชยทดแทนก็จะทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องของการขาดรายได้ไปมากนัก

ทั้งนี้การซื้อประกันสุขภาพให้ลูกสำหรับเด็กแรกเกิด ทารก และเด็กเล็ก ยังไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ อีกทั้งข้อมูลที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ดังนั้นจึงควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขที่อยู่ในกรมธรรม์ของแต่ละบริษัทให้ดี หรือเปรียบเทียบหลายๆ บริษัทก่อนตัดสินใจซื้อ


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How to Shop for Health Insurance (for Parents). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/parents/buy-health-insurance.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)