กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

เห็บ อันตรายเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

รวมสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเห็บ ทั้งอาการ วิธีป้องกัน วิธีรักษา เพราะเห็บเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ที่อาจทำอันตรายคุณและสัตว์เลี้ยงได้โดยไม่รู้ตัว
เผยแพร่ครั้งแรก 15 พ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เห็บ อันตรายเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เห็บ (Tick) เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับแมงมุม แมงป่อง และไร มีขนาดประมาณปลายปากกาจนถึงปุ่มรีโมต
  • เห็บมักอาศัยอยู่ตามพุ่มหญ้า พุ่มไม้ ในสภาพอากาศร้อนชื้น เมื่อคนหรือสัตว์เดินผ่านพุ่มไม้ที่มีเห็บอาศัยอยู่ เห็บจะเกาะติดตามขา และหาบริเวณที่เหมาะสมเพื่อดูดเลือด
  • คนที่ถูกเห็บกัด มักมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่นคัน รอยจุดแดง หรืออาจปวดแสบปวดร้อน แต่หากมีอาการแพ้ คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ให้รีบพบแพทย์ทันที
  • เมื่อเห็นเห็บเกาะตามร่างกาย ให้ใช้แหนบคีบตรงปากของเห็บและดึงออก จากนั้นใช้ยาปฏิชีวะบริเวณแผล
  • เปรียบเทียบราคาตรวจภูมิแพ้ได้ที่นี่

เห็บ เป็นสัตว์ที่สามารถพบได้ทั่วไปโดยเฉพาะฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้พลิ และอาจทำอันตรายกับทั้งมนุษย์รวมถึงสัตว์เลี้ยง ดังนั้นในบทความนี้จะพามารู้จักกับเห็บ อาการของคนที่ถูกเห็บกัด วิธีรักษา และวิธีหลีกเลี่ยงการถูกเห็บกัด

เห็บคืออะไร?

เห็บ ภาษาอังกฤษคือ Tick เป็นสัตว์จำพวก Arachnida ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับแมงมุม แมงป่อง และไร มีขนาดเล็กประมาณปลายปากกา จนถึงปุ่มบนรีโมตโทรทัศน์

โดยส่วนมากเห็บมักหากินโดยอาศัยการกัดเจาะเลือดในสัตว์ 4 ขา เช่น หนู กวาง สุนัข รวมถึงคนด้วย

วงจรชีวิตของเห็บ

เห็บมีวงจรชีวิตหลักๆ 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 วางไข่ (Egg) รอการฟักตัว
  • ระยะที่ 2 เกิดเป็นตัวอ่อน (Larva)
  • ระยะที่ 3 ออกหากิน (Nymph) ซึ่งเป็นระยะที่มักพบว่าเกาะตามตัวสิ่งมีชิวิตชนิดอื่น
  • ระยะที่ 4 ช่วงโตเต็มวัย (Adult) ระยะนี้เห็บจะดูดเลือดจนตัวใหญ่ สังเกตเห็นได้ง่าย

เห็บมีวิธีหากินที่แตกต่างกับแมลงจำพวกอื่นที่เกาะตามร่างกาย เพราะเห็บจะเจาะติดอยู่นานหลายวัน ไม่เหมือนยุงที่ดูดเลือดแล้วเคลื่อนย้ายไปที่อื่น

หากถูกเห็บกัดแล้วไม่กำจัดออก เห็บจะสามารถเกาะอยู่ได้นานถึง 10 วัน และอาจเป็นพาหะของโรคไลม์ (Lyme disease) ได้อีกด้วย

เห็บมาจากไหน?

เห็บมักอาศัยอยู่ตามป่า พุ่มไม้ ต้นหญ้า ใบไม้ ต้นไม้ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มักแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมากในช่วงฤดูใบไม้พลิ และฤดูร้อน

ปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ต่างๆ มีเห็บชุกคือความชื้นและแหล่งน้ำ แต่เห็บจะแพร่พันธุ์ได้ช้าในสภาพอากาศแห้ง หนาว เนื่องจากวงจรชีวิตของเห็บจะดำเนินไปได้ช้าลง

หากมีสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสถูกพุ่มไม้ที่เห็บเกาะอยู่ เห็บอาจกระโดดเข้าสู่ตัวของสัตว์ชนิดนั้นโดยเฉพาะสุนัข ดังนั้นหากสุนัขเลี้ยงของคนไปรับเห็บมาจากการวิ่งเล่นในสวน แล้วมาสัมผัสกับผิวหนังของคน เห็บอาจกระโดดเข้าสู่ผิวหนังคนและกัดคนได้เช่นกัน

อาการของคนที่ถูกเห็บกัด

โดยปกติ เห็บจะหาตำแหน่งที่อุณหภูมิอุ่นๆ ของร่างกาย ก่อนจะกัดดูดเลือด เช่น รักแร้ ตีนผม ขาหนีบ

แต่เนื่องจากเห็บในระยะออกหากินมักมีขนาดเล็กมาก ดังนั้นเมื่อกัดคนเข้า ระยะแรกผู้ถูกกัดจึงอาจไม่มีอาการใดๆ เลย จนกระทั่งอาการเริ่มพัฒนาไปสักระยะ จึงค่อยมีอาการดังนี้

  • รู้สึกคัน ไม่สบายตัว
  • ปวดแสบปวดร้อน
  • มีจุดแดงขึ้นบริเวณที่กัด
  • อาจมีอาการปวดคล้าบปวดข้อในบางคน

แต่สำหรับคนที่มีอาการแพ้หรือผิวไวต่อสิ่งแปลกปลอม อาจมีอาการดังต่อไปนี้ตั้งแต่แรกๆ

  • ผื่นขึ้นบริเวณที่ถูกกัด
  • หายใจหอบถี่
  • บวม
  • ปวดหัว มึนหัว
  • มีไข้
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • กรณีรุนแรง อาจมีอาการอัมพาตบางส่วน

แม้อาการแพ้รุนแรงดังกล่าวจะพบได้ค่อนข้างน้อย แต่อาการจะค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นหากมีอาการแพ้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีดึงเห็บออกจากตัว

หากสังเกตเห็นเห็บอยู่บนร่างกาย ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยง ควรรีบนำออกโดยทันที เพราะเห็บจะใช้เวลา 24 ชั่วโมงในการแพร่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยอาจทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ให้หาแหนบถอนขนขนาดเล็ก หากไม่มีแหนบให้ใช้ถุงมือแทน ไม่ควรจับเห็บด้วยมือเปล่า เนื่องจากอาจถูกกัดซ้ำ

  2. หนีบเห็บบริเวณที่ใกล้ปากของเห็บมากที่สุด เนื่องจากการหนีบที่ลำตัวเห็บ อาจทำให้ของเหลวรวมถึงเชื้อโรคภายในตัวเห็บ ถูกพ่นกลับเข้าไปในผิวหนังของเราได้

  3. ดึงเห็บออกช้าๆ ออกมาตรงๆ ไม่ควรบิดเห็บไปมา เพราะอาจทำให้เขี้ยวหักฝังอยู่ในเนื้อ และอาจเกิดการติดเชื้อตามมาในที่สุด

  4. หากดึงเห็บออกแล้วยังเห็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเห็บฝังอยู่ในเนื้อของคนหรือสัตว์เลี้ยงที่ถูกเห็บกัด ให้ใช้แหนบดึงส่วนใดส่วนหนึ่งนั้นออกด้วยวิธีเดียวกัน

  5. ให้นำเห็บใส่ขวดยาหรือถุงที่มีซิปล็อกปิดสนิท เขียนวันที่ที่พบเห็บและตำแหน่งที่ถูกกัดติดไว้ที่ขวดยาหรือซองที่ใส่เห็บนั้นด้วย จากนั้นนำไปแช่ช่องแช่แข็งในตู้เย็นอย่างน้อย 10 วัน หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ให้ไปพบแพทย์พร้อมกับตัวเห็บด้วย

  6. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด จากนั้นหาเห็บบริเวณอื่นๆ ของร่างกายต่อ เพราะอาจมีการแพร่กระจายของเห็บมากกว่า 1 ตำแหน่ง

  7. หากไม่พบเห็บแล้ว อาจปรึกษาเภสัชกรในการใช้ยาปฏิชีวนะตำแหน่งที่ถูกกัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม เห็บมีกลไกการยึดติดผิวหนังที่แน่นมาก ด้วยเขี้ยวที่มีลักษณะคล้ายเบ็ดตกปลา รวมถึงสารคัดหลั่งที่ทำให้สามารถยึดติดผิวหนังได้

ดังนั้น เห็บบางตัวอาจเล็กเกินกว่าที่จะใช้แหนบดึงออกมาได้ด้วยตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการดึงเห็บออกจากผิวหนังให้

วิธีการป้องกันเห็บ

แม้อันตรายจากการถูกเห็บกัดจะมีค่อนข้างน้อย แต่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการก็คือการป้องกันไม่ให้เห็บกัดตั้งแต่แรก ดังนั้นอาจทำตามวิธีต่อไปนี้ เมื่อมีความเสี่ยงที่จะถูกเห็บกัด

  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีใบไม้ใบหญ้าจำนวนมาก

  • หากมีความจำเป็นต้องเข้าใกล้พื้นที่ที่มีใบไม้ใบหญ้า พยายามเลือกเส้นทางที่มีการถางไว้แล้ว

  • ควรสวมกางเกงขายาวที่สามารถสอดชายกางเกงเข้าไปในรองเท้าบู๊ทได้

  • คอยทำความสะอาด ตัดแต่งสวนในบ้านอยู่เสมอ ไม่ให้สนามหญ้ายาวเกินไปหรือรกเกินไป

  • อาจใช้ยากันยุงทั่วไปที่มีส่วนผสมของสาร N,N-diethyl-meta-toluamide หรือที่นิยมเรียกกันว่า DEET ซึ่งหาได้ทั่วไปตามท้องตลาด

หากใช้สารป้องกัน DEET ควรเลือกตราสินค้าที่น่าเชื่อถือ เพราะสินค้าบางชนิดอาจทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวได้

ข้อควรระวังเกี่ยวกับเห็บ

เห็บสามารถเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียได้ รวมถึงยังมีขนาดเล็กทำให้สังเกตเห็นได้ยาก ดังนั้นทุกครั้งหลังจากสัมผัสพื้นที่เสี่ยงจะถูกเก็บเกาะ เช่น ป่า สวน หรือพุ่มหญ้า ควรรีบอาบน้ำล้างสบู่ให้ทั่วทันที

เนื่องจากในระยะแรก เห็บอาจยังไม่ได้เจาะติดลงไปในผิวหนัง ทำให้ล้างออกได้ง่าย แต่หากสังเกตเห็นเห็บและเริ่มมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนั่นอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Healthline, Tick Bites: Symptoms and Treatments, (https://www.healthline.com/health/tick-bites), 27 May 2017.
MedicineNet, Tick (Tick Bites), (https://www.medicinenet.com/ticks/article.htm).
Medical health news today, How to remove a tick, (https://www.medicalnewstoday.com/articles/301761), 23 july 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)