ไข้เลือดออกเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ยิ่งเด็ก ๆ ที่อาจไม่ได้ระวังตัวหรือป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัดได้ไม่ดีพอ อาจได้รับเชื้อไวรัสเดงกีต้นเหตุโรคไข้เลือดออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งความน่ากลัวของโรคไข้เลือดออกในเด็กอาจก่ออาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทันเวลา
รู้จักโรคไข้เลือดออกในเด็ก สาเหตุมาจากอะไร
โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อแพร่ไปสู่คน มักพบการระบาดของโรคในช่วงหน้าฝนทุกปี เพราะเกิดแหล่งน้ำขังตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยุงลายวางไข่ได้ง่าย จนเกิดการแพร่กระจายของโรค
ไวรัสเดงกีจัดอยู่ในกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flavivirus) มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์จะก่อความรุนแรงของโรคต่างกัน ถ้าเป็นไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ไหนแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์เดิม แต่ยังเป็นไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ที่เหลือแทนได้
ช่วงอายุเด็กที่เป็นโรคไข้เลือดออกได้บ่อย คือ อายุระหว่าง 5–14 ปี และเด็กเล็กกว่า 1 ปี มักจะเสี่ยงเกิดไข้เลือดออกรุนแรง หากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาให้ทันเวลา มีโอกาสเสียชีวิตได้
ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในเด็ก
ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรกจะไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง หากเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจเป็นไข้เลือดออกที่รุนแรงได้จากทุกสายพันธุ์ เมื่อแบ่งตามอาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะไข้สูง (Febrile phase)
เป็นระยะแรกของโรค จะมีไข้สูงเฉียบพลันอยู่นาน 2–7 วัน อาจสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส ใช้ยาลดไข้แล้วมักไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น
- หน้าแดง ตาแดง
- เบื่ออาหาร มีอาการซึม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตัว
- ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา
- มีจ้ำเลือด หรือจุดเลือดสีแดง ๆ ขึ้นตามแขน ขา และลำตัว
ระยะวิกฤต (Critical phase)
จะเกิดประมาณวันที่ 3–6 ถือเป็นระยะอันตรายที่สุด เพราะเด็กมีโอกาสเกิดอาการช็อก หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ แต่เด็กทุกคนอาจไม่ได้เข้าสู่ระยะนี้ โดยอาการที่พบได้ คือ
- ท้องอืด ปวดท้องมาก
- คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
- เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารไม่ได้
- หน้าแดง ฝ่ามือและฝ่าเท้าดูแดง ๆ มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามตัว
- มีภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึมลง
- กรณีรุนแรงมากจะเกิดภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือช็อก สังเกตจากไข้ลดลงกลับมาเป็นปกติ แต่มีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าจะเย็น ปัสสาวะออกน้อย ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทันเวลา
ระยะพักฟื้น (Recovery phase)
หากผ่านระยะไข้สูงโดยไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือพ้นจากระยะวิกฤต 1–2 วัน จะเป็นระยะปลอดภัย ร่างกายกลับมาทำงานตามปกติ อาการเริ่มดีขึ้น ไข้ลดลง เริ่มอยากอาหาร ชีพจรเต้นปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น แต่ยังมีผื่นเป็นวงสีขาวสาก ๆ ขึ้นตามตัว มักหายไปเองในไม่ช้า
สัญญาณโรคไข้เลือดออกรุนแรง ควรพาลูกไปพบแพทย์
หากมีอาการใดต่อไปนี้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ไข้สูงเกิน 2 วัน
- ไข้ลดลง แต่อาการอื่นไม่ดีขึ้น ยังคงเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น หรืออ่อนเพลีย
- ปวดท้องมาก ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
- พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ พูดไม่รู้เรื่อง เด็กเล็กจะร้องกวนมาก
- ซึม ไม่ยอมดื่มน้ำ หรือกระหายน้ำตลอดเวลา
- มีอาการกระสับกระส่าย เอะอะโวยวาย
- ตัวเย็น ตัวลายหรือสีผิวคล้ำลง เหงื่อออก
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะนานเกิน 4–6 ชั่วโมง

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในเด็ก
การตรวจเบื้องต้นจะเป็นการซักประวัติ อาการผิดปกติ การรัดแขนดูจุดเลือดออกตามผิวหนัง (Tourniquet test) และการตรวจเลือดทั่วไป เพื่อดูความข้นของเลือด เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
ถ้าพบจุดเลือดออกตามผิวหนัง แพทย์จะสงสัยว่าเด็กเป็นโรคไข้เลือดออกไว้ก่อน เพราะการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ อาจมีไข้สูงได้เหมือนกับโรคไข้เลือดออกช่วงแรก พอเวลาผ่านไป 2–3 วัน ไข้จะลดลงหากเด็กติดเชื้อไวรัส ส่วนเด็กที่เป็นไข้เลือดออก ไข้ยังคงสูงอยู่ ดูอ่อนเพลีย
การตรวจเลือดส่วนมากจะตรวจหลังวันที่ 3 เป็นต้นไปนับจากเริ่มมีไข้หรือมีอาการป่วย ซึ่งพอจะบอกถึงความผิดปกติได้มากกว่าการตรวจเลือดใน 1–2 วันแรก โดยผู้ป่วยจะมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000/ลบ.มม. มักมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 5,000/ลบ. มม.
การตรวจยืนยันโรคไข้เลือดออกให้แน่ชัดว่าเป็นหรือไม่ ต้องใช้การตรวจเลือด เพื่อหาเชื้อไวรัสหรือดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งกว่าจะเห็นผลชัดเจนมักเป็นช่วงใกล้ระยะวิกฤตหรือพ้นระยะวิกฤตแล้ว
ด้วยเหตุนี้ การวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักประวัติ อาการต้องสงสัย การรัดแขนดูจุดเลือดออก และการตรวจเลือดทั่วไปหลังจากมีไข้มาแล้ว 2–3 วัน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ส่งผลต่อการรักษาโรคไข้เลือดออก
เช่นเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคได้ไว และรับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่านพ้นระยะวิกฤตไปได้โดยไม่มีอาการรุนแรง
การรักษาโรคไข้เลือดออกในเด็ก
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก และไม่มีการรักษาด้วยวิธีเฉพาะ การรักษาจะเป็นไปตามอาการ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้ร่างกายเด็กกลับสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด และป้องกันภาวะช็อก เช่น
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือน้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ให้ดื่มผงเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ
- เช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ
- รับประทานยาพาราเซตามอลช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวด
- ให้เลือดทดแทนสำหรับคนที่เสียเลือดมาก
นอกจากนี้ แพทย์จำเป็นต้องเจาะเลือดเป็นระยะ เพื่อเฝ้าระวังภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวลดต่ำ และเม็ดเลือดแดงเข้มข้น รวมถึงระวังความดันโลหิตลดต่ำลง
เมื่อลูกเป็นไข้เลือดออก ดูแลอย่างไร
เด็กที่อาการไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีคำแนะนำในการดูแลเด็กที่เป็นไข้เลือดออกที่บ้าน ดังนี้
การลดไข้
เมื่อมีไข้ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องเป็นระยะ รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ทุก 4–6 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาบ่อยหรือเกินกว่าปริมาณที่แพทย์แนะนำ เพราะจะกระทบต่อตับ และไม่ได้ช่วยให้ไข้ลด
ห้ามใช้ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือเลือดไม่แข็งตัว เด็กอาจเสี่ยงเกิดอาการชักได้ ถ้าไม่แน่ใจ ให้สอบถามแพทย์ก่อนเสมอ
การรับประทานอาหาร
ควรให้ลูกรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด และดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้ารับประทานได้น้อย ควรให้ดื่มนม ดื่มเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ พยายามเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีดำ สีแดง เพราะเมื่ออาเจียนอาจสับสนว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่
การเฝ้าระวังอาการ
ช่วงหลังไข้ลง หรือประมาณ 3–5 วันนับจากมีไข้ จะเป็นระยะวิกฤตที่เด็กเสี่ยงเกิดอาการช็อก อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด เมื่อมีสัญญาณโรคไข้เลือดออกรุนแรงในข้างต้น ให้พาเด็กไปโรงพยาบาลทันที
การป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก
ไข้เลือดออกป้องกันได้หลายวิธี
- การเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุงหรือผลิตภัณฑ์กันยุง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้มุ้งหรือติดตั้งมุ้งลวดกันยุง
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่งและน้ำขังที่เป็นแหล่งวางไข่ของยุง พ่นยากำจัดยุง หมั่นเปลี่ยนน้ำภาชนะที่มีน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ ใส่ปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์
เมื่อลูกป่วยเป็นไข้ ควรพาลูกไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัย และติดตามอาการ ถ้าได้รับการวินิจฉัยล่าช้าเกินไป เด็กอาจเกิดภาวะช็อกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในเด็กมีกี่แบบ ฉีดกี่เข็ม
ปัจจุุบันการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดดอกในประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิด คือ
วัคซีนไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม
- ฉีดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป สามารถฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
- ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน
วัคซีนไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม
- ฉีดได้ในผู้ทีมีอายุระหว่าง 6–45 ปี และต้องเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน กรณีไม่แน่ใจว่าเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกหรือไม่ แนะนำให้ตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน
- ฉีด 3 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน
ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนมักไม่รุนแรง ส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1–3 วัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ
ที่มาของข้อมูล
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล: “มารู้จัก “ไข้เลือดออก” ภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ตอนที่ 1”.
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล: “มารู้จัก “ไข้เลือดออก” ภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ตอนที่ 2”.
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: “ไข้เลือดออก อันตรายใกล้ตัวที่คุณต้องรู้”.
- สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี: “ไข้เลือดออกในเด็ก…ไม่ควรมองข้ามอันตรายถึงชีวิต”.
- โรงพยาบาลนครธน: “ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้าย”.
- ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2568
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0755: APR 2025