หลายคนอาจคิดว่าอาการไข้เลือดออกมีแค่ไข้ธรรมดา จริง ๆ แล้ว อาการไข้เลือดออกมีอยู่หลายระยะ หากไม่ได้สังเกตอาการ และรับการรักษาทันเวลา บางระยะอาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นชีวิตได้เลย
มารู้จักกับโรคไข้เลือดออกให้มากขึ้นกัน ไข้เลือดออกแต่ระยะมีอาการแบบไหน สังเกตอย่างไร เพื่อดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย!
รู้จักกับโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยติดต่อจากการถูกยุงลายกัดเป็นหลัก
โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่มักออกหากินตอนกลางวัน
เชื้อไวรัสเดงกีไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง ต้องอาศัยยุงลายเป็นพาหนะนำเชื้อ เมื่อยุงลายไปกัดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกี แล้วไปกัดคนอื่นต่อก็จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่อีกคน ก่อให้เกิดการติดเชื้อตามมา หลังจากถูกยุงกัดประมาณ 4–10 วัน มักแสดงอาการของโรคขึ้น
การระบาดของไข้เลือดออกมักเกิดมากในช่วงเดือนมิถุนายน–สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝนที่เกิดแหล่งน้ำขังต่าง ๆ จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าช่วงอื่น
3 ระยะไข้เลือดออก แต่ละระยะมีอาการอย่างไร
กว่าร้อยละ 90 ของคนที่ติดเชื้อเดงกีครั้งแรกมักไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัดธรรมดา มักไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนัง
กรณีติดเชื้อครั้งที่ 2 แล้วเป็นคนละสายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจนำไปสู่โรคไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue hemorrhagic fever) สามารถแบ่งการดำเนินโรคได้ 3 ระยะ ดังนี้
ระยะไข้สูง (Febrile phase)
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน อาจสูงได้ถึง 39–41 องศาเซลเซียส ติดต่อกันในช่วง 2–7 วัน มักไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาลดไข้ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ คือ
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา
- ปวดข้อ หรือปวดกระดูก
- ตาแดง ตัวแดง
- มีจ้ำเลือด ผื่นแดงหรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว แขน ขา
- ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
- อาจมีภาวะเลือดออกบริเวณอื่นหรือไม่มีก็ได้ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
คนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ไม่ได้เข้าสู่ระยะถัดไปหรือระยะวิกฤต แล้วเข้าสู่ระยะฟื้นตัวหรือหายดี
ระยะวิกฤต (Critical phase)
ระยะวิกฤตหรือช่วงหลังมีไข้สูงประมาณ 3–7 วัน เป็นช่วงอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะผู้ป่วยอาจเกิดระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือภาวะช็อก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต
ระยะวิกฤตจะมีอาการเหมือนกับระยะไข้สูง ผู้ป่วยยังมีอาการเดิมต่อเนื่อง และมีอาการเฉพาะของโรค คือ
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กดเจ็บชายโครงด้านขวา อ่อนเพลียมากกว่าเดิม
- หน้าแดง มีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง
- มีเลือดออกบริเวณอื่น ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
- ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการกระสับกระส่าย ปัสสาวะน้อยลง ปลายมือปลายเท้าเย็น ความดันโลหิตลดต่ำหรือไม่สม่ำเสมอ วัดชีพจรไม่ได้
ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 24–48 ชั่วโมง หากมีไข้เกิน 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้
ระยะฟื้นตัว (Recovery phase)
คนที่ผ่านระยะไข้สูงแต่ไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือคนที่ผ่านพ้นระยะวิกฤตมาแล้ว 1–2 วัน จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยจะดีขึ้น ไข้ลดลง รู้สึกสบายตัวขึ้น เบื่ออาหารน้อยลง รู้สึกอยากรับประทานอาหาร ปัสสาวะออกมากขึ้น ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มกลับมาเป็นปกติ
ทั้งนี้ อาจมีผื่นแดงขึ้น สาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกาย คันตามร่างกาย ปลายมือและปลายเท้าอยู่สักระยะก่อนแล้วถึงหายไป ระยะนี้เป็นระยะปลอดภัย แสดงว่ากำลังหายขาดจากโรค
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นไข้เลือดออกรุนแรง
กลุ่มคนต่อไปนี้มีโอกาสเกิดโรคไข้เลือดออกรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรค ได้แก่
- เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ เมื่อติดเชื้ออาจเกิดอาการรุนแรง
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคธาลัสซีเมีย โรคหอบหืด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
- คนในช่วงอายุ 15–60 ปี เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันตอบสนองกับเชื้อไวรัสรุนแรง เสี่ยงเกิดโรครุนแรง ภาวะตับอักเสบ หรืออวัยวะภายในอักเสบ
- ผู้สูงอายุ มักมีโรคประจำตัว ทำให้ความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงก็มีมากขึ้นด้วย
- คนที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอาจต่อสู้กับเชื้อได้ไม่มีประสิทธิภาพ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
- คนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันบางส่วน เมื่อติดเชื้อคนละสายพันธุ์ในครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อ ๆ ไป ร่างกายจะตอบสนองต่อการติดเชื้อรุนแรงกว่าปกติ
ป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วย 5 ป. + 1 ข.
เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ควรปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. + 1 ข. ดังนี้
- ป. 1 ปิด ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ เช่น โอ่ง ถังน้ำ
- ป. 2 เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน แก้วรองขาโต๊ะ หรือภาชนะที่มีน้ำขังทุกสัปดาห์
- ป. 3 ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในบ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ไม่สามารถปิดฝาได้ เช่น บ่อเลี้ยงปลา ภาชนะเลี้ยงพืชน้ำ
- ป. 4 ปรับปรุง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้โปร่งโล่ง ลดแหล่งซ่อนตัวของยุง เช่น ตัดหญ้า เก็บขยะ
- ป. 5 ปฏิบัติเป็นประจำทุกสัปดาห์
- ข. ขัดไข่ ขัดไข่ยุงลายที่มักอยู่ตามขอบภาชนะที่มีน้ำขังออก เพื่อตัดวงจรไม่ให้กลายเป็นลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัย

นอกจากนี้ ควรป้องกันตนเองจากยุงกัด โดยทายากันยุงหรือผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง นอนในมุ้ง สวมเสื้อผ้ามิดชิด และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ
วัคซีนไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม
- ฉีดได้กับทั้งคนที่เคยติดเชื้อและไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อน
- อายุที่ฉีดได้อยู่ในช่วง 4 ปีขึ้นไป
- ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน (ช่วง 0 เดือน 3 เดือน)
วัคซีนไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม
- ต้องเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน คนที่ไม่มีประวัติเป็นโรคไข้เลือดออกแนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อน
- อายุที่ฉีดได้อยู่ในช่วง 6–45 ปี
- ฉีด 3 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือนต่อเข็ม (ช่วง 0 เดือน 6 เดือน 12 เดือน)
การฉีดวัคซีนเหล่านี้ช่วยลดความรุนแรงของโรค แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100%
จึงต้องป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดร่วมด้วย กรณีเด็กและคนที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
ที่มาของข้อมูล
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “5 ป 1 ข วิธีกำจัดลูกน้ำยุงลาย”.
- โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน: “ไข้เลือดออก และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในปัจจุบัน”.
- โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์: “โรคไข้เลือดออก”
- โรงพยาบาลวิภาวดี: “โรคไข้เลือดออกระบาด - สาเหตุ อาการ ระวัง ป้องกัน รู้ทันยุงลาย”.
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์: “โรคไข้เลือดออก ภัยจากยุงลาย”
- โรงพยาบาลศิครินทร์: “ไข้เลือดออก อันตราย!”
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0757: APR 2025