กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

รู้ครบเรื่องไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ เข้าใจโรคก่อนเสี่ยง

รู้ครบเรื่องไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ เข้าใจโรคก่อนเสี่ยง
เผยแพร่ครั้งแรก 23 เม.ย. 2025 อัปเดตล่าสุด 23 เม.ย. 2025 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
รู้ครบเรื่องไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ เข้าใจโรคก่อนเสี่ยง

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคแพร่ระบาดในพื้นที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น รวมถึงประเทศไทยเราด้วย การติดเชื้อไข้เลือดออกอาจดูไม่รุนแรงกับคนส่วนใหญ่ แต่อาจเป็นอันตรายกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ทำให้เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากไข้เลือดออกได้ [2],[3]

ทำความรู้จักกับโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) จากการถูกยุงลายเพศเมียที่มีเชื้อนี้กัด ซึ่งเชื้อไวรัสมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV–1, DENV–2, DENV–3 และ DENV–4 ทุกสายพันธุ์ล้วนก่อโรคไข้เลือดออกได้เหมือนกันหมด [1]

โรคไข้เลือดออกพบได้ตลอดปี แต่มักระบาดในช่วงฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่มีน้ำขัง เหมาะแก่การวางไข่ของยุงลาย ซึ่งยุงลายพาหะหลักของโรคไข้เลือดออกคือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) ที่มักออกหากินตอนกลางวัน [1]

เมื่อยุงลายไปกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อ แล้วรับเอาเชื้อไวรัสเข้ามาฟักตัวในตัวยุง ประมาณ 8–12 วัน หลังจากนั้นยุงลายที่มีเชื้อจะไปกัดคนถัด ๆ ไป ทำให้คนที่ถูกกัดได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะใช้เวลาฟักในคน ประมาณ 3–5 วัน ถึงเริ่มแสดงอาการของโรคออกมา [3]

อาการไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมักมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อน้อยลง เมื่อเกิดการติดเชื้อ อาการมักไม่ชัดเจนเหมือนกับผู้ใหญ่อายุน้อย ส่วนมากจะพบอาการไข้เพียงอย่างเดียว และมากกว่าครึ่งจะมีไข้นานมากกว่า 7 วัน [2]

นอกจากนี้ บางอาการจะพบต่างจากผู้ใหญ่อายุน้อย เช่น อาการปวดกระดูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ และผื่นจะพบน้อยกว่า แต่จะมีอาการอาเจียน และภาวะเลือดตามอวัยวะบ่อยกว่า ระดับเอ็นไซม์ตับสูงขึ้นมากกว่า ทำให้ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่อายุน้อย [2]

การดำเนินโรคไข้เลือดออกทั่วไป แบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้ [3]

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยเฉียบพลันนาน 2–7 วัน ไข้อาจสูงถึง 40–41 องศาเซลเซียส ใช้ยาลดไข้แล้ว ไข้มักไม่ลง ไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดเมื่อยตัว อาจมีจุดเลือดออกตามแขน ขา ลำตัว [3],[5]

ระยะที่ 2 ระยะช็อกหรือระยะวิกฤต

ไข้เริ่มลดลง อาการทรงตัว ยังคงมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะแย่ลง จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยด่วน เช่น [3]

  • เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่าย เช่น มีรอยจ้ำหรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ [3],[5]
  • มีการรั่วของพลาสมาในหลอดเลือดออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้ความดันเลือดตกลง หรือเกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ตัวเย็น มือและเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันเลือดต่ำ [3],[5]
  • การทำงานของอวัยวะสำคัญเสียไป เช่น ตับวาย ไตวาย สมองบวม หรือเกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน [5],[8]

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว

อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วง 3–5 วัน ซึมน้อยลง เริ่มรับประทานอาหารได้ ชีพจรและความดันเลือดกลับมาเป็นปกติ มีปัสสาวะออกมากขึ้น แต่อาจมีผื่นตามแขน ขา และตัว ลักษณะเป็นวงสีขาวบนพื้นผิวหนังสีแดง มักมีอาการคัน ซึ่งจะหายได้เองหลังจากนั้น [3],[8],[10]

ถ้าผู้สูงอายุมีไข้สูงเกิน 2 วัน หรือสงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด ถ้าต้องการใช้ยาลดไข้ ให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน และยาไอบูโพรเฟน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก [3]

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยเบื้องต้นจะมีการซักประวัติ สอบถามสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย และอาการ โดยเฉพาะหากมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว มักจะถูกสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน รวมถึงยังมีการตรวจเลือดอีกหลายรายการ เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อ เช่น [6]

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC)

มักตรวจตั้งแต่วันที่ 3 ของอาการป่วยเป็นต้นไป เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดกว่าวันแรก ๆ โดยจะพบเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดลดลง ถ้ามีการรั่วของพลาสมาด้วย ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น [3],[8],[10]

การตรวจเลือดหาแอนติเจน, แอนติบอดี (Dengue NS1Ag, IgG, IgM)

เป็นการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสเดงกีจากส่วนประกอบของเชื้อไวรัส และภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยแอนติเจนชนิด NS1 เป็นโปรตีนที่ไวรัสสร้างขึ้น จะปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากหลังการติดเชื้อ [8],[10]

ขณะเดียวกัน ถ้ามีการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีชนิด IgG และ IgM ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองต่อเชื้อที่เป็นสิ่งแปลกปลอม [8],[10]

แนวทางรักษาโรคไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ

โรคไข้เลือดออกยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะ การรักษาจะเน้นการดูแลตามอาการ เช่น ให้สารน้ำป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้ยาลดไข้ถ้ามีไข้สูง หรือการรักษาอื่น ๆ ตามอาการที่พบ [3]

ผู้สูงอายุที่อาการไม่รุนแรงมักจะให้กลับมาพักดูอาการที่บ้าน และค่อยกลับไปตรวจตามนัด โดยมีคำแนะนำในการดูแลอาการ ดังนี้ [3],[5],[8],[10]

  • เช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติบิดหมาด ๆ เช็ดตามใบหน้า ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ
  • รับประทานยาลดไข้ ต้องเป็นยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนเด็ดขาด และรับประทานตามปริมาณแพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันยาอาจเป็นพิษต่อตับ
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว
  • ดื่มน้ำมาก ๆ หรือจิบน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายเสียไปจากการอาเจียนหรือมีไข้สูง
  • รับประทานอาหารอ่อน งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีคล้ายเลือด เพื่อไม่ให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน
  • ถ้ามีอาการรุนแรง พบแพทย์ทันที เช่น อาเจียนมาก ปวดท้องตรงชายโครงขวามาก กดแล้วเจ็บ ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย ซึมลง หายใจเหนื่อย มีเลือดออก หรือไม่รู้สึกตัว

กรณีที่มีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะระยะวิกฤตที่เสี่ยงเกิดอาการช็อกได้มาก [5]

ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ

โรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง เมื่อเป็นไข้เลือดออกแล้ว อาการจะรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งไปรับการรักษาล่าช้า ยิ่งอันตรายมากขึ้น [2]

อีกทั้งผู้สูงอายุส่วนมากมักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคไตวาย และโรคตับชนิดเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อแล้ว อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง หรืออาการรุนแรงขึ้น [2],[9]

ไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ

โรคไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ กับการติดเชื้อซ้ำ

การติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการไม่รุนแรง บางคนอาจไม่มีอาการ พอหายแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด และสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นในระยะสั้น ๆ ทำให้ผู้สูงอายุป่วยเป็นไข้เลือดออกซ้ำได้หลายครั้ง [4]

กรณีติดเชื้อเป็นครั้งที่สองหรือครั้งถัด ๆ ไปแล้วเป็นคนละสายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันเดิมจะไม่ได้มีผลกับสายพันธุ์ใหม่ที่ติด จึงกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรง อาการจะรุนแรงขึ้นกว่าการติดเชื้อครั้งแรก [3],[4]

การป้องกันโรคไข้เลือดออกในผู้สูงอายุ

การป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ดีคือ การป้องกันหรือเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดมากที่สุด โดยใช้ยาทากันยุง ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด ใช้มุ้งกันยุง หรือติดมุ้งลวดป้องกันยุงลายเข้าภายในบ้าน [3],[8]

รวมถึงควรทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในและนอกบ้าน เช่น ​​ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ภาชนะใส่น้ำควรมีฝาปิดให้มิดชิด ถ้าปิดฝาภาชนะไม่ได้สามารถใส่ทรายอะเบท ป้องกันลูกน้ำยุงลาย [8]

นอกจากเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดแล้ว ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่แนะนำให้ฉีดโดยแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ การฉีดวัคซีนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกป้องกันไข้เลือดออกและช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ ในประเทศไทยมีวัคซีนไข้เลือดออกอยู่ 2 ชนิด คือ

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม [11] 

  • เหมาะกับคนอายุ 4 ปีขึ้นไป ฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการรับวัคซีน
  • ฉีด 2 เข็ม แต่ละเข็มเว้นระยะฉีดห่างกัน 3 เดือน

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม [11]

  • เหมาะกับคนอายุ 6–45 ปี และเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว หากไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนรับวัคซีน
  • ฉีด 3 เข็ม แต่ละเข็มเว้นระยะฉีดห่างกัน 6 เดือน

ที่มาของข้อมูล

1. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “ไข้เด็งกี่ ระบาดวิทยา โรคไข้เลือดออกเดงกี”

2. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข: “แนวทางการวินิจฉัยและการดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ พ.ศ. 2563 (บทที่ 8 การติดเชื้อเดงกีในผู้สูงอายุ)”

3. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: “โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย”.

4. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี: “ไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนจากยุงลาย”.

5. คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล: “ไข้เลือดออก ป้องกันได้….แต่ถ้าเป็นแล้วล่ะ!”

6. โรงพยาบาลพญาไท: “เจาะลึก 2 ชนิดวัคซีนไข้เลือดออกในไทย แบบไหนที่เหมาะกับคุณ ?”.

7. โรงพยาบาลมหาชัย 2: “Uptrend โรคไข้เลือดออก”.

8. โรงพยาบาลรามคำแหง: "โรคไข้เลือดออก โรคระบาดที่เกิดได้จากมุมอับของตัวบ้าน".

9. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: “โรคไข้เลือดออก”.

10. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์: “คำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับโรคไข้เลือดออก”.

11. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2568

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นสำหรับประชาชนเป็นการทั่วไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเท่านั้น ข้อมูลนี้ไม่ควรถูกนำไปใช้เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาปัญหาสุขภาพหรือโรคใด ๆ
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0756: APR 2025

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)