พิชญา สิทธิโชควงกมล
เขียนโดย
พิชญา สิทธิโชควงกมล

คันซ้ำๆ จากเชื้อรา ยิ่งเกายิ่งคัน ปล่อยไว้ยิ่งลาม รักษาอย่างไร ใช้ยาอะไรถึงหาย?

คันซ้ำๆ จากเชื้อรา ยิ่งเกายิ่งคัน ปล่อยไว้ยิ่งลาม รักษาอย่างไร ใช้ยาอะไรถึงหาย?
เผยแพร่ครั้งแรก 25 พ.ย. 2021 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
คันซ้ำๆ จากเชื้อรา ยิ่งเกายิ่งคัน ปล่อยไว้ยิ่งลาม รักษาอย่างไร ใช้ยาอะไรถึงหาย?

คันซ้ำ ๆ บริเวณผิวหนัง เป็นผื่นแดง ระคายเคือง หรือมีตุ่มเล็ก ๆ ยิ่งเกายิ่งคัน ปล่อยไว้ยิ่งลาม! รู้ไหม? อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังจากเชื้อรา ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาไม่ถูกวิธี อาจลุกลามจนรักษาได้ยาก บางครั้งกว่าจะหายขาดอาจต้องใช้เวลานานนับเดือน! โรคผิวหนังจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากอะไร ควรรักษาอย่างไร เลือกยาแบบไหนถึงแก้ปัญหาได้ตรงจุด ต้องใช้ครีม โลชั่น หรือยารับประทาน วันนี้ HD.co.th จะอธิบายรายละเอียด และเปรียบเทียบคุณสมบัติของยาแต่ละชนิดให้ทราบกัน

โรคผิวหนังจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากอะไร?

โรคผิวหนังจากเชื้อราเป็นโรคที่เกิดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง พบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะพบได้บ่อยในบริเวณอับชื้น เช่น ข้อพับ ซอกนิ้วมือ นิ้วเท้า ขาหนีบ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผ่นหลัง หรืออวัยวะเพศ

ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับเชื้อราโดยตรง หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเชื้อราอยู่ โดยเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้น ยิ่งผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หรือสวมใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังจากเชื้อรามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้โรคผิวหนังจากเชื้อราอาจติดต่อได้จากการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค จึงควรระมัดระวังในการสัมผัสกับสัตว์ที่มีอาการ เช่น ขนร่วง มีอาการคัน เกาบ่อย ผิวหนังถลอก เป็นต้น

โรคที่พบได้บ่อย เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า สังคัง เชื้อราที่เท้า ซึ่งแต่ละโรคจะมีอาการเฉพาะที่แตกต่างกันไป แต่อาการร่วมที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือ

  • มีอาการคันซ้ำๆ ที่ผิวหนัง
  • ผิวหนังเป็นผื่น มีตุ่มเล็กๆ หรือบวม แดง
  • มีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง

ทั้งนี้ยาที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรามีหลายรูปแบบ ทั้งแบบครีม โลชั่น ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดนี้ ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป

ยาทาฆ่าเชื้อราชนิดครีม ต่างกับ โลชั่น อย่างไร?

ยาทาชนิดครีม

เป็นยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะใช้สะดวก รักษาได้หลากหลายอาการ โดยยาทาชนิดครีมแบ่งออกเป็นหลายแบบ ตามตัวยาที่ออกฤทธิ์ เช่น

ยาทาชนิดครีม ตัวยาโคลไทรมาโซล (Clotrimazole)

เป็นยาใช้ภายนอกในกลุ่มยาต้านเชื้อรา มีฤทธิ์กำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบริเวณผิวหนังโดยตรง สามารถใช้รักษาได้หลากหลายโรค เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต โรคผิวหนังจากการติดเชื้อแคนดิดา โรคผิวหนังชนิดเป็นแผ่นหนาที่ขาหนีบ รักแร้ เป็นต้น

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • ใช้ทาได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย รวมทั้งจุดที่บอบบาง เช่น ใบหน้า ขาหนีบ หรือบริเวณที่เป็นเชื้อรา
  • แนะนำให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการ เพื่อให้ฆ่าเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ก่อนทายา ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการแล้วเช็ดให้แห้งก่อน จากนั้นจึงทายา โดยแนะนำให้ทาเลยบริเวณขอบประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อป้องกันเชื้อราลุกลาม โดยทาเบาๆ ให้ตัวยาซึมสู่ผิวหนังจนหมด และล้างมือให้สะอาดหลังทายาเสร็จ

ยาทาชนิดครีม ตัวยาไบโฟนาโซล (Bifonazole)

เป็นยาใช้ภายนอกมีฤทธิ์ต้านเชื้อราเช่นกัน แต่แตกต่างที่ตัวยาไบโฟนาโซลนั้น นอกจากลดอาการคัน และฆ่าเชื้อราแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบ สำหรับเชื้อราที่อาการเริ่มรุนแรง เช่น มีอาการบวม แดง ร่วมด้วย และยังรักษาโรคเชื้อราได้หลายประเภท ทั้งจากเชื้อเดอร์มาโตไฟต์ ยีสต์และเชื้อราอื่นๆ เช่น น้ำกัดเท้า กลาก เกลื้อน เชื้อราที่ขาหนีบ กลากจากเชื้อราแมวและโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแคนดิดา

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • ทาบริเวณที่เป็นเชื้อรา ตามร่างกาย
  • ทาเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น หลังอาบน้ำหรือก่อนนอน เหมาะกับผู้ที่ไม่สะดวกทายาบ่อยๆ ช่วยลดปัญหาทายาไม่ครบและกลับมาเป็นซ้ำ โดยทาต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการ แต่หากผิวหนังมีอาการอักเสบ บวมแดงมาก ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานยาร่วมด้วย
  • ก่อนทายา ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการแล้วเช็ดให้แห้งก่อน จากนั้นจึงทายาบางๆ บริเวณผิวหนังที่เป็น โดยทาเบาๆ ให้ตัวยาซึมจนหมด แนะนำให้ทาเลยบริเวณขอบประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร เพื่อป้องกันเชื้อราลุกลาม และล้างมือให้สะอาดหลังทายาเสร็จ

ข้อควรระวังในการใช้ยาทาฆ่าเชื้อราชนิดครีม

  • หากทายาแล้วมีอาการแสบ คัน ระคายเคือง บวม แดงบริเวณที่ใช้ยา หรือมีความผิดปกติอื่นๆ แนะนำให้หยุดใช้ยาทันทีแล้วไปพบแพทย์ เพราะอาจแพ้ตัวยาดังกล่าวได้
  • ควรใช้ต่อเนื่องตามระยะเวลาที่แนะนำบนฉลาก แม้อาการจะหายดีแล้ว

ยาทาชนิดโลชั่น

เป็นยารักษาโรคผิวหนังที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ยาทาชนิดนี้มักมีฤทธิ์เป็นกรด ออกฤทธิ์ลอกเซลล์ผิวหนังกำพร้าบริเวณที่ติดเชื้อรา ใช้รักษาได้หลายอาการ เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราในร่มผ้า และโรคน้ำกัดเท้า

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • เหมาะกับผิวหนังที่หนาและไม่มีแผลเปิด แต่ไม่เหมาะกับบริเวณที่เป็นเนื้อเยื้ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ รอบดวงตา เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผล ซึ่งจะทำให้เชื้อรายิ่งลามเข้าสู่ผิวหนังส่วนลึกได้
  • ก่อนทายาต้องทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีอาการแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นใช้สำลีชุบยา แล้วทาบางๆ ปล่อยให้แห้ง ห้ามถู ห้ามขยี้ เพราะอาจระคายเคืองผิวหนังได้
  • ทาวันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าอาการจะหาย

ข้อควรระวังในการใช้ยาทาฆ่าเชื้อราชนิดโลชั่น

  • เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ที่ลอกผิวเซลล์ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ ทั้งในแง่ปริมาณยา ระยะเวลาและตำแหน่งที่ใช้
  • หากใช้ผิดวิธี ยาอาจกัดผิวหนังส่วนลึกจนอักเสบ ระคายเคือง แสบร้อน มีการหลุดลอกของเซลล์ผิว หากเป็นรุนแรงผิวหนังอาจไหม้ เกิดเป็นแผลติดเชื้อตามมาได้
  • ห้ามใช้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

สรุปคุณสมบัติของยาทารักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา

นอกจากตัวยาที่กล่าวมาแล้ว ยังมียาทาฆ่าเชื้อราที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ที่รู้จักกันทั่วไปนั้นเป็นยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) ใช้ลดการอักเสบ ลดอาการแพ้ และกดภูมิคุ้มกันในโรคต่างๆ สามารถลดอาการคัน รอยแดงได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่ยาชนิดนี้มักใช้ในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรง ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง เป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น

เพราะสเตียรอยด์มีฤทธิ์กดภูมิต้านทานของร่างกาย หากใช้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีขึ้นหรือมีเชื้อชนิดอื่นเกิดแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ติดต่อกันนานเกิน 14 วัน หากการอักเสบทุเลาลงแล้ว ควรหยุดใช้ แล้วใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

อาการคันซ้ำๆ จากเชื้อรา เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย และเกิดได้ในทุกๆ ตำแหน่งของร่างกาย วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อรา ด้วยการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ

แต่หากมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบรักษาและเลือกใช้ยาให้เหมาะสม ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเลือกยาชนิดใด ก็ควรใช้ยาให้ครบตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนดบนฉลาก หรือตามที่เภสัชกรหรือแพทย์แนะนำ โดยทั่วไปหากหายแล้วก็ควรทายาต่อประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเชื้อราให้หมด เพราะถ้าเชื้อรายังหลงเหลืออยู่ อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งจะทำให้รักษายากและใช้เวลานานยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อราอาจดื้อยาแล้ว

แต่หากกังวลว่าจะไม่สามารถทายาได้วันละ 2-3 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง สามารถเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อราตัวยาไบโฟนาโซล ที่ทาเพียงวันละ 1 ครั้ง ก็จะช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ จากการลืมทายาได้

โรคผิวหนังจากเชื้อรา หากรักษาถูกวิธีก็สามารถหายขาดได้ในเวลาไม่นาน แต่การใช้ยาทุกครั้งไม่ว่าจะเลือกแบบใด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา: ยารักษากลากและเกลื้อน, (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/549/ยารักษากลากและเกลื้อน/) 3 NOV 2021.
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, โรคผิวหนังจากเชื้อราที่พบบ่อย, (https://www.pat.or.th/attachment/academic-article/article_002.pdf) 17 OCT 2021.
Science direct, Antifungal azoles and other antifungal drugs for topical use (https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/bifonazole) 17 OCT 2021.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)