โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่มีการระบาดสูงขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายแพร่พันธุ์ การรู้จักกับสาเหตุของโรคไข้เลือดออกจะช่วยให้คุณลดความเสี่ยงและรับมือโรคนี้ได้ดีขึ้น [1]
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดจากอะไร
ไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) มีทั้งหมดอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ติดต่อได้โดยยุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค (Aedes mosquitoes) ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) [1]
เมื่อโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัดหรือดูดเลือด เราอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเดงกี จนเกิดการติดเชื้อเป็นไข้เลือดออกตามมาได้ ถึงอย่างนั้น เชื้อไวรัสเดงกีจะไม่ติดต่อจากคนสู่คน [1]

อาการไข้เลือดออกเป็นแบบไหน
อาการของโรคไข้เลือดออกจะต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80–90% อาการไม่รุนแรง บางคนอาจมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการคล้ายไข้หวัด มักไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว [3]
ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งตามการดำเนินโรคได้เป็น 3 ระยะ คือ [2],[4]
1. ระยะไข้ (Febrile phase)
มีไข้สูงแบบเฉียบพลันเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ประมาณ 2–7 วัน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา และมีผื่นแดงคันตามตัว [2],[4]
2. ระยะวิกฤต (Critical phase)
ระยะวิกฤตเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวัง โดยไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อาการอื่นไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ปริมาณเกล็ดเลือดลดต่ำ ทำให้เลือดออกได้ง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และอุจจาระเป็นเลือด [2],[4]
นอกจากนี้ อาจเกิดการรั่วของพลาสมาหรือสารน้ำออกนอกหลอดเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือเกิดภาวะช็อก ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ หายใจหอบเหนื่อย ปลายมือเท้าเย็น ตัวเย็น ชัก หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต [2],[4]
ระยะฟื้นตัว (Recovery phase)
อาการทั่วไปจะดีขึ้น ไข้ลดลง อุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ เริ่มอยากรับประทานอาหาร ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะออกมากขึ้น แต่อาจพบผื่นแดงเป็นวงสีขาวตามร่างกายอยู่บ้าง ระยะนี้เป็นระยะปลอดภัย ร่างกายกำลังหายจากโรค [2],[4]
สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เมื่อไรควรไปพบแพทย์
เมื่อเป็นไข้มานานกว่า 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจเลือดยืนยันผลให้แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ [2],[3]
- ไข้ลงเร็ว แต่อาการอื่นไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระสับกระส่าย หรือซึม
- ปวดท้องรุนแรง
- อาเจียนเกิน 3 ครั้ง/วัน
- เวียนหัว หน้ามืด มือเท้าเย็น
- ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยในช่วง 4–6 ชั่วโมง
- เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีดำ อุจจาระสีดำ ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ
เป็นไข้เลือดออก ดูแลตัวเองที่บ้านได้ไหม
กรณีไม่มีอาการรุนเเรง เเละเป็นการติดเชื้อครั้งเเรก ส่วนใหญ่จะหายได้ภายใน 2–7 วัน โดยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ควรเฝ้าระวังอาการรุนแรงหลังไข้ลง (ระยะวิกฤต) [1],[3]
คนที่เป็นไข้เลือดออกแล้วอาการไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ด้วยวิธีต่อไปนี้ [1],[3],[4]
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและบรรเทาอาการอ่อนเพลีย
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการขาดน้ำ สามารถจิบน้ำเกลือแร่ ORS ร่วมด้วย
- ถ้ามีไข้ ให้เช็ดตัวลดไข้ อาจรับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาลดไข้อื่น ๆ ตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs เด็ดขาด เช่น ยาแอสไพริน หรือยาไอบูโพรเฟน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเลือดออก ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกควรระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัดมากที่สุด เช่น สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด แขนยาวขายาว ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงกัด โดยเลือกที่มีส่วนผสมสารป้องกันยุงหรือสารไล่ยุง (DEET) ติดมุ้งลวดตามประตูหน้าต่างกันยุงเข้า [1],[3],[4]
นอกจากนี้ ควรปรับสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ปลอดยุงลายมากขึ้น โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ รอบบ้าน เช่น กระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า ภาชนะที่ไม่ได้ใช้ รวมถึงใช้สารเคมีกำจัดยุงในพื้นที่ที่มียุงชุกชุม หรือใช้เครื่องดักยุง [1],[3],[4]
อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเดงกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกจะช่วยลดการติดเชื้อไข้เลือดออก ลดโอกาสที่ต้องนอนโรงพยาบาลและลดความรุนแรงของโรค [4],[5]
ใครบ้างควรฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดตลอดปี และเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี และลดความรุนแรงของโรคลง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ [3],[4]
- เด็ก
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไตวาย
ปัจจุบันมีวัคซีนไข้เลือดออก ป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ มีทั้งแบบ 2 เข็ม ฉีดได้ในคนอายุ 4 ปีขึ้นไป และแบบ 3 เข็ม ฉีดได้ในคนอายุ 6–45 ปี และเคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น ก่อนรับวัคซีนสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมถึงชนิดของวัคซีนที่เหมาะสมได้ [5]
ที่มาของข้อมูล:
1. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “ไข้เด็งกี่ (Dengue)”.
2. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข: “แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566”.
3. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: “ไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย”.
4. โรงพยาบาลนครธน: “ไข้เลือดออกในเด็ก ภัยเงียบจากยุงร้าย”.
5. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย: “ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2568”
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0761: APR 2025