พูดถึงหมู่เลือด เรามักจะคุ้นเคยกับการเรียก เลือดกรุ๊ปเอ บี โอ และเอบี ซึ่งเรียกว่า "หมู่เลือดระบบ ABO" อย่างไรก็ดี ยังมี "หมู่เลือดระบบอาร์เอชด้วย (Rh system)" โดยแบ่งเป็น Rh+ (Rh positive) และ Rh- (Rh negative) คนเอเชียประมาณ 98.3% จะมีหมู่เลือดแบบ Rh+ ส่วนที่เหลือ 1.7% จะมีหมู่เลือดแบบ Rh- สำหรับคนไทยประมาณ 99.7% จะมี Rh+ เหลือเพียง 0.3 เท่านั้นที่มีหมู่เลือด Rh-
Rh+ กับ Rh- สำคัญอย่างไร
มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในการให้เลือด เพราะหากได้รับหมู่เลือดไม่ตรงกับหมู่เลือดของตนเอง ร่างกายจะตอบสนองต่อหมู่เลือดที่ได้รับเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายผู้ได้รับเลือด โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด ความไม่เข้ากันของหมู่เลือดในระบบ Rh ของแม่และลูกอาจทำให้เม็ดเลือดแดงของทารกแตกเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การตั้งครรภ์กับความสำคัญของหมู่เลือด Rh+ และ Rh-
สามีภรรยาหลายคู่ที่อยากมีลูกแต่ไม่ทราบว่า ตนเองกับคู่มีหมู่เลือด Rh+ และ Rh- ไม่ตรงกัน หรือเพราะไม่ได้ศึกษาและเตรียมวางแผนก่อนที่จะมีบุตรอย่างละเอียด อาจจะเจอปัญหาเมื่อภรรยาตั้งครรภ์แล้วทารกเสียชีวิตได้ หากวางแผนก่อนการตั้งครรภ์แพทย์จะเจาะเลือดในช่วงฝากครรภ์ช่วงแรก ซึ่งรวมไปถึงการตรวจหมู่เลือด Rh+ และ Rh-
โดยปกติหากสามีและภรรยามีหมู่เลือด Rh ตรงกัน เมื่อภรรยาเริ่มตั้งครรภ์ เด็กทารกก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่สมมติว่า หากภรรยามีหมู่เลือดแบบ Rh- สามีมีหมู่เลือดแบบ Rh+ และหากลูกที่เกิดมามีหมู่เลือดแบบ Rh+ ในครรภ์แรกเลือดของทารกที่ปนเปื้อนสู่เลือดของมารดาจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของมารดาสร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจน RhD ซึ่งในครั้งแรกจะสร้างแอนติบอดีอายุสั้น IgM ซึ่งไม่สามารถผ่านรกได้จึงยังไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์นั้น
แต่หลังจากนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำแอนติเจนดังกล่าวไว้ หากมีการกระตุ้นในครั้งต่อไป หรือหากในครรภ์ที่สองของมารดาที่มีหมู่เลือดแบบ Rh- มีลูกที่มีหมู่เลือดแบบRh+ อีก จะทำให้ร่างกายของมารดาสร้างแอนติบอดีระยะยาว IgG ปริมาณมาก โดยแอนติบอดี IgG นี้สามารถผ่านรกได้และอยู่ในร่างกายได้นาน ดังนั้นจึงส่งผลต่อทารกทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงทารกแตกและเกิดภาวะซีดตามมา ได้ หากรุนแรงมากอาจเกิดภาวะทารกบวมน้ำและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี หากในครรภ์ที่สองของมารดาที่มีหมู่เลือดแบบ Rh- แต่มีลูกที่มีหมู่เลือดแบบRh- เช่นเดียวกันก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
การรักษา
ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ แพทย์สามารถวินิจฉัยและช่วยเหลือให้ทารกปลอดภัยได้แล้ว ในกรณีที่แม่ไม่เคยมีสารต่อต้านในร้างกายมาก่อน โดยแพทย์จะให้สารยับยั้งการทำงานของสารต่อต้าน Rh+ เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ และอายุครรภ์ 40 สัปดาห์หากยังไม่คลอด และให้อีกครั้งหลังจากคลอด 72 ชั่วโมง
นอกจากนั้นในระหว่างช่วงตั้งครรภ์ แพทย์จะเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจเลือดของทารก หากเป็น Rh+ ก็จะมีการตรวจสอบปฏิกิริยาต่อต้านของเลือดของแม่เป็นระยะๆ เพื่อสังเกตทารกในครรภ์และดูแลอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่แม่เคยมีสารต่อต้านในร้างกายมาก่อน สารยับยั้งจะไม่ช่วยแม่ โดยแพทย์จะไม่ให้สารยับยั้งแต่จะใช้วิธีการตรวจเลือดแทนเพื่อรักษารูปแบบอื่นต่อไป
วิธีป้องกัน
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด แนะนำให้สามีและภรรยาที่วางแผนจะมีบุตร ทั้งคู่ควรจะเข้ารับการตรวจเลือดอย่างละเอียดเสียก่อนโดยเฉพาะ หมู่เลือดระบบอาร์เอชด้วย (Rh system) เพื่อเตรียมวางแผนรับมือ ยับยั้งโรคที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อความปลอดภัยของทารกและมารดานั่นเอง