N Health
ชื่อผู้สนับสนุน
N Health

ตรวจสารต้านอนุมูลอิสระ จุดเริ่มต้นการดูแลตัวเองตามหลักเวชศาสตร์ชะลอวัย

รู้จัก "อนุมูลอิสระ" และ "สารต้านอนูมุลอิสระ" พร้อมแนวทางกิน อยู่ ให้ถึงภาวะสุขภาพสมบูรณ์พร้อม
เผยแพร่ครั้งแรก 24 พ.ค. 2021 อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
ตรวจสารต้านอนุมูลอิสระ จุดเริ่มต้นการดูแลตัวเองตามหลักเวชศาสตร์ชะลอวัย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เวชศาสตร์ชะลอวัย มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนอยู่ดีมีสุขทั้งร่างกายและจิตใจ มีภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์พร้อม (Optimal Health)
  • ทางหนึ่งที่ทำได้คือรักษาระดับ "อนุมูลอิสระ" กับ "สารต้านอนุมูลอิสระ" ในร่างกาย ให้สมดุล
  • อนุมูลอิสระมักค่อยๆ ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเสื่อมในหลายระบบอย่างช้าๆ
  • อาหารบางชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เนื้อสัตว์ ปลามันๆ ฯลฯ แต่ละชนิดมีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป
  • เพื่อจะปรับการกินได้เหมาะ ให้มีระดับอนุมูลอิสระ-สารต้านอนุมูลอิสระสมดุลกัน การตรวจสารต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธีตรวจเลือด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ข้อมูลโดย ดร. ภูวดล ธรรมราษฎร์ ผู้จัดการอาวุโสห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชะลอวัย N Health

จากเทรนด์การดูแลสุขภาพให้ดีจากภายในสู่ภายนอก คำว่า “เวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging Medicine)” จึงเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยขึ้น เวชศาสตร์ชะลอวัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนอยู่ดีมีสุขทั้งร่างกายและจิตใจ มีภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์พร้อม (Optimal Health) ซึ่งการที่จะเข้าสู่ภาวะสุขภาพสมบูรณ์พร้อมได้ ต้องมาจากการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ตั้งแต่พักผ่อนให้เพียงพอ นอนเต็มอิ่ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตลอดจนรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหมาะกับภาวะสุขภาพของแต่ละคน

ถ้าพูดถึงการเลือกรับประทานอาหาร บรรดาผู้ใส่ใจสุขภาพน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า “สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)” ซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายชนิด สารนี้จำเป็นหรือไม่ อย่างไร ร่างกายของแต่ละคนจะต้องการสารที่ว่าในปริมาณมากน้อยแค่ไหน บทความนี้มีคำตอบ

อนุมูลอิสระ - สารต้านอนุมูลอิสระ คืออะไร?

อนุมูลอิสระ (Free Radicals) คือ อะตอมหรือโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนเดี่ยว (Unpaired Electron) อย่างน้อย 1 ตัวโคจรอยู่ระดับพลังงานวงนอกสุด อนุมูลอิสระจะไม่เสถียรและมีความว่องไวในการทำปฏิกิริยากับโมเลกุลต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง สามารถอธิบายอย่างง่ายได้ว่า อนุมูลอิสระเป็นสารที่ไม่ดีหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายเรา ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์หรือเนื้อเยื่อ รวมถึงระบบต่างๆ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคบางชนิด ตามปกติแล้วอนุมูลอิสระบางส่วนจะถูกสร้างขึ้นมาจากภายในร่างกายของเราเอง แต่เราก็จะมีกลไกในการกำจัดโดยใช้สารที่เรียกว่า สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ซึ่งจะเข้าไปทำปฏิกิริยาเพื่อกำจัดอนุมูลอิสระให้ลดลง

อย่างไรก็ตาม หากอนุมูลอิสระมีมากเกินกว่าที่สารต้านอนุมูลอิสระจะกำจัดได้หมด จะทำให้เกิดภาวะเครียดทางออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งภาวะนี้เองที่ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบสมอง เช่น ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน หรือโรคอัลไซเมอร์ โดยความเสื่อมนี้มักจะเกิดอย่างช้าๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้สังเกต

อนุมูลอิสระ (Free Radicals) มาจากไหน?

อนุมูลอิสระในร่างกายเรามาจากปัจจัยภายในร่างกายของเราเองและปัจจัยภายนอกร่างกายหรือสิ่งแวดล้อม โดยปัจจัยภายในร่างกาย ได้แก่ กระบวนการสันดาปหรือการเผาผลาญอาหารเพื่อสร้างพลังงาน และปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่างๆ ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายเราจะมีกลไกการกำจัดออกไปได้อย่างสมดุล

สำหรับปัจจัยภายนอกร่างกายที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ได้แก่ รังสียูวีจากแสงแดด การฉายรังสี ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ สาร PAHs โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารพิษจากเชื้อรา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม อาหารที่ทอดด้วยน้ำมันใช้ซ้ำ อาหารรมควัน อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เป็นต้น

ปัจจัยภายนอกนี้เองทำให้อนุมูลอิสระในร่างกายเรามีมากเกินกลไกปกติจะกำจัดได้หมด จึงจำเป็นต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากภายนอกเข้ามาช่วยให้เกิดความสมดุล

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) กลุ่มวิตามินและแร่ธาตุ

สารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุหาได้ไม่ยากนัก มักพบอยู่ในอาหารทั่วๆ ไปที่เรารับประทานกันในแต่ละวัน สำหรับแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระแต่ละชนิด และประโยชน์หลักๆ มีดังนี้

  • วิตามิน C (Ascorbic acid) พบในผลไม้ตระกูลส้ม ตระกูลเบอร์รี่ ฝรั่ง มะขามป้อม พริกหวาน ประโยชน์ที่สำคัญคือช่วยสร้างคอลลาเจนและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • วิตามิน E (alpha-Tocopherol และ gamma-Tocopherol) พบมากในเมล็ดถั่วต่างๆ อะโวคาโด ผักใบเขียว และน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่น และช่วยในกระบวนการรักษาผิว เช่น รอยแผลเป็น รอยสิว ริ้วรอยเหี่ยวย่น ลดรอยจุดด่างดำ
  • วิตามิน A (Retinol) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพดวงตา กระดูกและฟัน ตัววิตามิน A เองมักพบในอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ ส่วนสารตั้งต้นของวิตามิน A อย่างแอลฟาแคโรทีน (alpha-Carotene) และเบต้าแคโรทีน (beta-Carotene) นั้น มักพบในผักผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก รวมถึงบร็อคโคลี่
  • ลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) พบมากในไข่แดง ผักสีเหลือง และผักใบเขียวต่างๆ มีความจำเป็นต่อการมองเห็น ป้องกันต้อกระจก
  • เบต้าคริปโตแซนทิน (beta-Cryptoxanthin) เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน A จำเป็นต่อสุขภาพดวงตา กระดูก และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน พบได้ในผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง เช่น ส้ม มะละกอ ฟักทอง พริกแดง
  • ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารที่มักกระจายอยู่ตามผิวหนังของเรา ช่วยป้องกันแสงแดดได้ดี ทำให้ผิวดูเรียบเนียน ป้องกันแดดเผาไหม้ และป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก พบมากในมะเขือเทศ ซึ่งมะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะให้ไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศสด 3-5 เท่า นอกจากนี้ยังพบในแตงโม และฟักข้าว
  • โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) พบในเนื้อสัตว์ ปลาหรือน้ำมันปลา เมล็ดถั่วที่ให้น้ำมัน มีส่วนสำคัญในการสร้างพลังงานของเซลล์ จำเป็นต่อสุขภาพหัวใจ ป้องกันโรคหัวใจได้ และช่วยให้ผิวเรียบเนียน
  • วิตามิน B12 พบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไม่พบในพืช จำเป็นต่อการสร้างกรดอะมิโนและกรดไขมัน ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • วิตามินบี 9 หรือโฟเลต (Folate) จำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ถ้าขาดวิตามินชนิดนี้จะทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้
  • เฟอร์ริติน (Ferritin) เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่สะสมธาตุเหล็ก ป้องกันโรคโลหิตจาง พบมากในเนื้อส่วนที่เป็นสีแดง ทั้งในเนื้อหมูและเนื้อวัว นอกจากนี้ยังพบในธัญพืชและเมล็ดถั่วต่างๆ
  • ทองแดง (Copper) เป็นแร่ธาตุที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหลักของร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ พบในหอยนางรม เครื่องในสัตว์ และธัญพืชต่างๆ
  • ซีลีเนียม (Selenium) เป็นแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และสำคัญต่อสุขภาพผม ช่วยให้ผมดูเงางาม ไม่หลุดร่วงง่าย พบในเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
  • สังกะสี (Zinc) ช่วยในการสังเคราะห์ DNA และสร้างโปรตีน มีส่วนช่วยในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหาร พบในเนื้อสัตว์ หอยนางรม เมล็ดถั่ว และธัญพืชต่างๆ
  • โครเมียม (Chromium) เป็นแร่ธาตุที่ส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด พบในเนื้อสัตว์ ชีส และธัญพืชต่างๆ
  • แมกนีเซียม (Magnesium) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับระบบประสาท เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ พบในผักใบเขียว เมล็ดถั่ว และธัญพืชต่างๆ
  • วิตามิน D2/D3 มีบทบาทสำคัญในการดูดซึมแคลเซี่ยม ป้องกันโรคกระดูกอ่อนหรือภาวะกระดูกพรุน และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย วิตามิน D3 พบมากในปลาหรือน้ำมันปลา ส่วนวิตามิน D2 พบมากในเห็ดต่างๆ

เลือกกินสารต้านอนุมูลอิสระอย่างไรให้พอดี?

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หัวใจของเวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging Medicine) ที่เป็นมากกว่าเรื่องการดูแลผิวพรรณ ความงาม หรือความอ่อนเยาว์ภายนอก คือการดูแลจากภายใน รักษาและปรับสมดุลของร่างกาย ด้านการเลือกรับประทานอาหารเพื่อเสริมสารต้านอนุมูลอิสระก็เช่นกัน หลักการคือสังเกตตัวเองว่าได้รับอนุมูลอิสระมากน้อยเพียงใด แล้วจึงเติมสารต้านอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้เกิดกลไกการกำจัดอย่างพอดี

อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ของอนุมูลอิสระต่อร่างกายมักไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนทันที แต่จะค่อยๆ สะสมจนเกิดผลเสียอย่างช้าๆ ในทางเดียวกัน อาหารที่เรารับประทานเพื่อหวังให้เกิดกลไกการต้านอนุมูลอิสระก็ไม่ได้ส่งผลเชิงบวกอย่างชัดเจนทันทีเช่นกัน ดังนั้นอาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวัดค่าที่แน่นอนของสารชนิดต่างๆ ในร่างกาย และปรึกษาแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยเพื่อให้คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวและดูแลสุขภาพ

ตรวจสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิธีการอย่างไร?

ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่คุณสามารถเข้ารับคำปรึกษาและตรวจสารต้านอนุมูลอิสระได้ ขั้นตอนมีดังนี้

  1. พบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจประเมินเบื้องต้น
  2. เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเลือด
  3. ตัวอย่างเลือดถูกส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
  4. แพทย์รายงานผลพร้อมแนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติให้ทราบ

หรือหากเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านโภชนาการและสารอาหารอยู่แล้ว อาจเลือกเข้าตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่มีบริการเจาะเลือด ตรวจวิเคราะห์ และรายงานสรุปผลตรวจโดยตรง เช่น N Health ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยที่มีความพร้อมสูงและได้มาตรฐานระดับสากล วิธีรับบริการจะต่างจากขั้นตอนด้านบนคือตัดข้อ 1 ออกไป และข้อ 4 ที่เป็นแพทย์รายงานผลก็จะเปลี่ยนเป็นรับรายงานผลตรวจที่แสดงในรูปแบบกราฟิก อ่านง่าย มีสเกลบอกว่าระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของเราตัวไหนมีมากหรือมีน้อยเท่าไหร่ พร้อมบอกถึงความสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระตัวนั้นๆ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจการแปลผลมากขึ้น

ระยะเวลารอผลไม่เกิน 1 สัปดาห์ นับจากวันเจาะเลือด

แพ็กเกจตรวจสารต้านอนุมูลอิสระของ N Health มี 2 แพ็กเกจหลัก ได้แก่

Antioxidation Profile มีรายการตรวจ 10 รายการ ได้แก่ Vitamin A (Retinol), Vitamin E (gamma-Tocopherol), Vitamin E (alpha-Tocopherol), Vitamin C (Ascorbic acid), Coenzyme Q10, Lutein + Zeaxanthin, beta-Cryptoxanthin, Lycopene, alpha-Carotene และ beta-Carotene แพ็กเกจนี้เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นดูแลตัวเองตามหลักเวชศาสตร์ชะลอวัย

Micronutrient Profile + Vitamin D2/D3 มีรายการตรวจ 19 รายการ โดยมี 10 รายการแรกเหมือน Antioxidation Profile แต่มีการเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญเข้ามาอีก ได้แก่ Chromium (Cr), Copper (Cu), Selenium (Se), Zinc (Zn), Magnesium (Mg), Vitamin B12, Folate, Ferritin และ 25-OH Vitamin D2/D3 25 แพ็กเกจนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจหลายพารามิเตอร์มากขึ้น ทำให้สามารถแปลผลได้อย่างละเอียดและครอบคลุม

ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชะลอวัยของ N Health ใช้วิธีมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ที่เรียกว่า Chromatography & Mass Spectrometry ซึ่งให้ผลที่ถูกต้องและมีความจำเพาะสูงต่ออะตอมหรือโมเลกุลของสารที่ตรวจ ทำให้ผลตรวจวิเคราะห์ที่ได้มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมั่นใจ

ควรตรวจสารต้านอนุมูลอิสระ บ่อยแค่ไหน?

ความถี่ของการตรวจขึ้นอยู่กับว่า หลังจากตรวจแล้วเรามีการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร เช่น ถ้าตรวจในสถานพยาบาลแล้วแพทย์แนะนำให้รับประทานวิตามินเสริมในระยะ 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว อาจตรวจดูอีกครั้งว่าร่างกายมีระดับวิตามินชนิดนั้นๆ เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ แต่โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ตรวจทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการตรวจติดตามระดับสารต้านอนุมูลอิสระและสามารถวางแผนหรือดำเนินการปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม

รู้ผลตรวจแล้ว ทำอะไรต่อ?

ตามหลักเวชศาสตร์ชะลอวัยควรจะปรับระดับสารต้านอนุมูลอิสระให้มีมากกว่าอนุมูลอิสระ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมบูรณ์พร้อม (Optimal Health) ซึ่งผลตรวจที่แน่ชัดจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหรือหาวิตามินและแร่ธาตุมาเสริมให้ถูกตัว ในปริมาณที่พอเหมาะ ทั้งนี้หากมีโรคประจำตัวหรือภาวะผิดปกติบางอย่างอยู่ก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพ

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารให้สมดุลแล้ว อย่าลืมว่ายังมีข้อควรปฏิบัติด้านอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมภาวะสุขภาพของเราให้อยู่ดีมีสุขและชะลอวัย ได้แก่ การนอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพ การออกกำลังกายเป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการพักผ่อนหย่อนใจเพื่อลดความเครียดทางอารมณ์


บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)