โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะหน้าฝนที่เป็นช่วงยุงลายแพร่พันธุ์ สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคไข้เลือดออกเกิดได้อย่างไร
โรคไข้เลือดออกหรือไข้เดงกี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยมีพาหะนำโรคเป็นยุงลายตัวเมีย (Aedes aegypti) ที่มักหากินเวลากลางวัน
เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกีในระยะที่มีไข้หรือระยะไวรัสแพร่กระจาย เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในเซลล์ผนังกระเพาะอาหาร ก่อนเพิ่มจำนวนภายใน 8–12 วัน แล้วไปรวมที่ต่อมน้ำลายของยุงลาย (ระยะฟักตัวในยุง)
พอยุงลายที่มีเชื้อไปกัดอีกคน ก็จะแพร่เชื้อไวรัสเดงกีเข้าสู่กระแสเลือดสู่คนที่ถูกกัดใหม่ ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส และเกิดอาการของโรคภายใน 3–15 วัน (ระยะฟักตัวในคน)
ปัจจุบันพบโรคไข้เลือดออกได้ตลอดปี แต่ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีการติดเชื้อไข้เลือดออกสูงสุดทุกปี เพราะฝนตกทำให้เกิดน้ำขังตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุงลาย เมื่อยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่คนจะถูกกัดและติดเชื้อเดงกีก็เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนการกระจายของเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์จะหมุนเวียนกัน แต่ละปีจะมีเชื้อที่พบบ่อยต่างกันไป ทำให้มีการระบาดของโรคมาโดยตลอด เพราะคนยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้น ๆ
โรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ อาการเป็นแบบไหน
โรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าในเด็ก แต่ละคนจะมีอาการต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยสามารถแบ่งการดำเนินโรคได้เป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1: ระยะไข้ (Febrile Phase)
เป็นระยะแรกที่เชื้อกำลังแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2–7 วัน อาการคล้ายไข้หวัด มักไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก เมื่อกินยาลดไข้มักไม่ดีขึ้น และยังมีอาการอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เช่น
- หน้าแดง ปวดหัว
- ปวดเบ้าตา รอบดวงตา
- ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูกและข้อ
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีจ้ำเลือด ผื่นแดง หรือจุดเลือดออกตามแขน ขา ข้อพับ
- อาจปวดท้อง กดเจ็บบริเวณชายโครงขวา
คนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่บางคนจะเข้าสู่ระยะถัดไป ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
ระยะที่ 2: ระยะวิกฤต (Critical Phase)
ระยะวิกฤตเป็นระยะอันตรายที่สุด เพราะอาจเกิดอาการช็อกจากไข้สูง หรือช็อกจากการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic shock) เนื่องจากสารน้ำในหลอดเลือด (พลาสมา) รั่วไหลออกนอกหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ชัก หมดสติ หัวใจหยุดเต้นจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
ระยะนี้จะก่อให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม มักเกิดหลังไข้ลงแล้ว 1–2 วัน เช่น
- ปวดท้องอย่างรุนแรง กดแล้วเจ็บบริเวณชายโครงขวา
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
- หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง
- เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระสีดำ
- ระบบไหลเวียนล้มเหลวหรือภาวะช็อก ไข้มักจะลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ความดันโลหิตลดต่ำหรือไม่สม่ำเสมอ วัดชีพจรไม่ได้
- อาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา
ปกติแล้ว ผู้ป่วยระยะวิกฤตจะฟื้นตัวในช่วง 24–48 ชั่วโมง หากมีไข้เกิน 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ระยะที่ 3: ระยะฟื้นตัว (Recovery phase)
หากผ่านระยะวิกฤติมาได้ ร่างกายจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว อาการจะดีขึ้นตามลำดับ ความอยากอาหารกลับมา อาการปวดท้องดีขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้น อาจมีผื่นแดงเล็ก ๆ สาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกาย มักจะหายไปเองในไม่ช้า
นอกจากนี้ หากแบ่งตามความรุนแรง อาการติดเชื้อไวรัสเดงกีจะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ไข้เดงกี (ระยะไข้) และไข้เลือดออก (ระยะวิกฤต)

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกพบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น เด็กทารกและผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ จากข้อมูลปี 2567 ผู้ใหญ่ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเด็ก 2-3 เท่า
โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้มาก คือ
- โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคไตวาย และโรคตับ
- การไปพบเเพทย์ เเละได้รับการรักษาล่าช้าเกินไป โดยเฉพาะหลังวันที่ 3 นับจากมีไข้หรืออาการป่วย
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ และยากลุ่มแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกระยะแรกอาจทำได้ยาก เพราะอาการคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ชิคุนกุนยา ไข้ซิก้า หรือไข้จากสาเหตุอื่น จำเป็นต้องประเมินอาการ แล้วแยกโรคที่คล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก
เบื้องต้นแพทย์จะดูความเสี่ยง เช่น ประวัติการเดินทางไปยังถิ่นระบาด หรือการโดนยุงลายกัด ร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้น มีการตรวจจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (Tourniquet test) โดยใช้เครื่องวัดความดันหรือสายรัดทางการแพทย์รัดบริเวณแขน แล้วนับจำนวนจุดเลือดออก
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือดทั้งหมด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด
- การตรวจภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อเชื้อไข้เลือดออก (Dengue NS1 Antigen, Dengue IgM, Dengue IgG) เป็นการตรวจสารแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อ โดยแอนติเจนชนิด NS1 จะตรวจหาตัวเชื้อไข้เลือดออกโดยตรง ส่วนแอนติบอดีชนิด IgM กับ IgG จะตรวจหาร่องรอยการติดเชื้อ
- การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสเดงกีระดับโมเลกุล (Polymerase chain reaction: PCR) หรือการตรวจหาเชื้อไวรัส เพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกี ทำให้รู้ว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใด โดยจะตรวจในสัปดาห์แรกที่มีอาการเข้าข่ายของโรค
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีมักจะพบว่ามีจุดเลือดออกตามลำตัว และจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลง แต่หากเกล็ดเลือดลดต่ำมาก เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว จะบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อก จำเป็นต้องรักษาตัวทันที
การรักษาโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออกโดยตรง การรักษาจะเป็นไปตามอาการ เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด และลดความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองภายใน 2–7 วัน
ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียนมาก กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย แพทย์อาจมีการให้น้ำเกลือเพิ่มเติม หรือคนที่เสียเลือดมาก เช่น อาเจียนแล้วมีเลือดปน หรืออุจจาระดำ อาจจำเป็นต้องได้รับเลือดทดแทน
การดูแลอาการเบื้องต้นมีคำแนะนำ ดังนี้
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว
- ควรดื่มน้ำมาก ๆ หรือดื่มน้ำเกลือแร่ ORS ร่วมด้วย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หากมีไข้ให้เช็ดตัวเป็นระยะ อาจกินพาราเซตามอลตามปริมาณแพทย์สั่ง แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินหรือยากลุ่ม NSAIDs เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้น
- กินอาหารอ่อน งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีคล้ายเลือด เพื่อไม่ให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนมาก มีเลือดออกผิดปกติ ไข้ลดลงแต่อาการทรุดลง หากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
โรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ มีโอกาสเป็นซ้ำได้ไหม
เชื้อไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ที่ติดขึ้น และภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นจะมีเพียงในระยะสั้น 3–12 เดือน จึงมีความเสี่ยงจะติดเชื้อเดงกีสายพันธุ์ที่เหลือได้ในครั้งถัด ๆ ไป
กรณีเกิดการติดเชื้อครั้งที่สองหรือมากกว่านั้น แต่เป็นคนละสายพันธุ์ มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรงขึ้นได้ ทางที่ดีควรป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคไข้เลือดออกซ้ำ
การป้องกันโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ มีการฉีดวัคซีนป้องกันรึเปล่า
โรคไข้เลือดออกป้องกันได้ด้วยการเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก เพื่อลดความรุนแรงของโรค
การป้องกันไม่ให้ยุงกัด
ทำได้หลายวิธี เช่น
- ใช้ยากันยุงหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันยุง (Mosquito repellents) ที่มีส่วนผสมของสาร DEET
- สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และสวมถุงเท้า หรือการใส่เสื้อผ้าที่มีการเคลือบสารกันยุง
- ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ติดตั้งมุ้งลวด ป้องกันยุงเข้าภายในบ้าน
การกำจัดหรือลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
โดยเฉพาะบริเวณน้ำนิ่งและน้ำขังที่ยุงลายสามารถวางไข่ได้ ทั้งในและรอบบริเวณบ้าน เช่น
- กำจัดพื้นที่น้ำขังรอบบริเวณบ้าน
- หมั่นเปลี่ยนน้ำภาชนะที่มีน้ำขังอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันศาลพระภูมิ ถาดรองกระถางต้นไม้ กรณีต้นไม้ใหญ่อาจใส่ทรายให้ช่วยดูดซึมน้ำส่วนเกินไว้
- เก็บข้าวของที่อาจรองรับน้ำไว้ หรือคลุมให้มิดชิด ใช้ฝาปิดครอบภาชนะต่าง ๆ หรือถังขยะ
- ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
วัคซีนโรคไข้เลือดออกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ การฉีดวัคซีนมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ต่างๆที่มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ตลอดจนลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และความรุนแรงของโรคได้
วัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม
- เหมาะกับคนอายุ 4 ปีขึ้นไป ฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการรับวัคซีน
- ฉีด 2 เข็ม แต่ละเข็มเว้นระยะฉีดห่างกัน 3 เดือน
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม
- เหมาะกับคนอายุ 6–45 ปี และเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว หากไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนรับวัคซีน
- ฉีด 3 เข็ม แต่ละเข็มเว้นระยะฉีดห่างกัน 6 เดือน
ที่มาของข้อมูล
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: “ไข้เด็งกี่ (Dengue)”.
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: ผู้ใหญ่เป็นไข้เลือดออก เสี่ยงตายมากกว่าเด็ก - ฐานข้อมูลสื่อสารความเสี่ยง
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข: "สรุปสถานการณ์โรคไข้เลือดออกเสียชีวิตปี 2567".
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: “โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย”.
- โรงพยาบาลพีเอ็มจี: “เช็กวิธีป้องกันและรักษา พร้อมอาการไข้เลือดออกในผู้ใหญ่และเด็ก”.
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: “โรคไข้เลือดออก”.
การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม
C-ANPROM/TH/DENV/0754: APR 2025