การเอกซเรย์ (X-ray) คือการใช้รังสีเอกซ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในการถ่ายภาพอวัยวะภายในสำหรับวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ โดยมักทำกับทรวงอก ช่องท้อง และกระดูกทั่วร่างกาย สำหรับการ เอกซเรย์กระดูก (Bone X-ray) จะใช้ตรวจดูสภาพหรือความผิดปกติของกระดูกส่วนต่างๆ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกแขน ขา มือ กะโหลกศีรษะ และฟัน
ทำไมต้องเอกซเรย์กระดูก
การเอกซเรย์กระดูก จะทำเมื่อพบอาการหรือความผิดปกติที่น่าจะเกี่ยวกับกระดูก เช่น มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดตามข้อ เกิดอุบัติเหตุที่อาจทำให้กระดูกส่วนต่างๆ แตกหัก เป็นต้น โดยการเอกซเรย์กระดูก จะช่วยในการวินิจฉัยภาวะต่อไปนี้ได้
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- กระดูกแตกหักหรือกระดูกติดเชื้อ เช่น แขนหัก ขาหัก ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนทางภาพถ่ายเอกซเรย์
- ข้อต่ออักเสบ โดยการเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นร่องรอยของข้อต่อ ว่ามีการบวม ผิดรูป หรือเสียดสีกันหรือไม่
- โรคกระดูกพรุน การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นความหนาแน่นของมวลกระดูกเบื้องต้นได้
- โรคมะเร็งกระดูก โดยเนื้องอกที่กระดูกจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการเอกซเรย์
- ใช้เพื่อการทันตกรรม โดยทันตแพทย์จะเอกซเรย์ฟันเพื่อดูความผิดปกติ และใช้วางแผนการรักษา เช่น การถอนฟัน ผ่าฟันคุด รักษารากฟัน เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนเอกซเรย์กระดูก
ก่อนการเอกซเรย์กระดูก แพทย์จะต้องบ่งชี้ตำแหน่งกระดูกที่น่าจะเกิดความผิดปกติให้แน่ชัด เพื่อทำการถ่ายภาพด้วยรังสีเฉพาะจุด การเตรียมตัวก่อนเอกซเรย์กระดูกนั้นเหมือนกับการเอกซเรย์ส่วนอื่นๆ คือไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร และสามารถทานยาที่ทานต่อเนื่องได้ตามปกติ วันที่มาเอกซเรย์ให้สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่น และหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับหรือพกสิ่งของที่เป็นโลหะ เพราะอาจรบกวนการถ่ายภาพเอกซเรย์ได้ สำหรับผู้ที่เคยผ่าตัดและฝังอุปกรณ์โลหะไว้ในร่างกาย ต้องแจ้งแพทย์ก่อนเอกซเรย์ทุกครั้ง
ขั้นตอนการเอกซเรย์กระดูก
ผู้ทำการเอกซเรย์จะเป็นนักรังสีเทคนิค หรือผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา โดยระหว่างการเอกซเรย์ เจ้าหน้าที่จะจัดท่าทางผู้รับการตรวจให้เหมาะสม เพื่อให้ถ่ายภาพออกมาได้คมชัด ซึ่งอาจเป็นท่ายืน ท่านั่ง หรือท่านอน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งกระดูกที่จะเอกซเรย์ จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์เอกซเรย์ถ่ายภาพส่วนที่ต้องการ โดยการตรวจใช้เวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้น เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อย แพทย์อาจให้รอฟังผลหรือให้กลับบ้านได้เลย ปริมาณรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์อยู่ในระดับต่ำมาก จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับการตรวจ และไม่ต้องพักฟื้นหลังการตรวจ
ข้อห้ามในการเอกซเรย์กระดูก
การเอกซเรย์กระดูก รวมถึงเอกซเรย์ส่วนอื่นๆ นั้นห้ามทำในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากเซลล์ตัวอ่อนนั้นมีความไวต่อรังสีเอกซ์ การเอกซเรย์จึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หากอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ ต้องแจ้งแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อเลี่ยงไปตรวจด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยกว่า
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการเอกซเรย์กระดูก
การเอกซเรย์กระดูกนั้นแทบไม่มีผลข้างเคียง และไม่จำเป็นต้องพักฟื้นหลังการตรวจ แต่อย่างไรก็ตาม อาจพบผลข้างเคียงที่เกิดจากรังสีเอกซเรย์ได้บ้าง เช่น
- ผิวหนังบริเวณที่ถูกรังสีแห้งหรือไหม้
- ปากแห้ง กลืนอาหารลำบาก
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ปริมาณเม็ดเลือดต่ำลง
- การรับรังสีเอกซเรย์บ่อยๆ อาจทำให้กระดูกบางลงได้
เราสามารถรับการตรวจเอกซเรย์กระดูกได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป ทั้งรัฐและเอกชน โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) รวมถึงการเอกซเรย์กระดูก 3 มิติ ซึ่งให้ภาพถ่ายที่ชัดเจนแม่นยำกว่า แต่มีราคาสูงกว่าเช่นกัน ซึ่งการสั่งตรวจนั้นแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม