หมัด เป็นปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อย โดยหมัดแต่ละชนิดจะไม่จำเพาะต่อโฮสต์ เช่น หมัดสุนัข (Ctenocephalides canis) ก็สามารถอาศัยอยู่กับแมวได้ และหมัดแมว (Ctenocephalides felis) ก็สามารถอยู่บนตัวสุนัขได้เช่นกัน
หมัดแมว (Ctenocephalides felis) สามารถก่ออันตรายแก่ตัวเจ้าเหมียวได้ เช่น ทำให้เกิดภาวะแพ้ (Flea bite allergy) ติดพยาธิตืดแตงกวา ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Mycoplasma haemofelis
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หมัดแมว มี 4 ระยะ โดยระยะตัวเต็มวัย (Adult) เท่านั้น ที่จะอาศัยอยู่บนตัวสัตว์ หมัด 1 ตัวอาจมีชีวิตอยู่บนตัวโฮสต์ได้นานถึง 2 เดือน หมัดตัวเมียจะวางไข่วันละ 40-50 ฟอง เป็นเวลา 50 วัน ดังนั้นจึงสามารถวางไข่ได้ถึง 2,000 ฟอง/ตัว ไข่หมัดจะร่วงลงสู่พื้นแล้วฟักเป็นตัวอ่อน (Larvae) จึงมีตัวอ่อนจำนวนมากอยู่ในสิ่งแวดล้อมบริเวณที่โฮสต์อาศัย เช่น พรม กองผ้า หรือตามรอยแยกของพื้น (ตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายตัวหนอน) จากตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นดักแด้ (Pupae) แล้วพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยภายในรังดักแด้
การฟักตัวจากดักแด้จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ และสภาพการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้น
อาจกล่าวได้ว่า หมัดตัวเต็มวัยที่อยู่บนตัวน้องเหมียวเป็นเพียง 5% ของประชากรหมัดภายในบ้าน (อีก 95% อยู่ในสิ่งแวดล้อม) หรือหากเราพบหมัดเพียง 1 ตัวอาจหมายความว่ามีอีกอย่างน้อย 9 ตัว อยู่ในบ้าน ดังนั้นการกำจัดหมัดให้ได้ผลจึงต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 8 สัปดาห์ จึงจะตัดวงจรหมัดที่มีอยู่ได้หมด
หมัดตัวเต็มวัยเคลื่อนตัวได้เร็ว จึงอาจไม่พบตัว แต่หากพบมูลหมัด (Flea dirt) ซึ่งเป็นของเสียที่หมัดปล่อยออกมาหลังจากกัดโฮสต์ ก็สามารถอนุมานได้ว่ามีหมัดอาศัยอยู่ โดยจะพบลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลเข้ม-ดำ คล้ายพริกไทย เมื่อถูกน้ำ (ลองเช็ดด้วยทิชชูเปียก หรือสำลีชุบน้ำ) จะกลายเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม
นอกจากนี้หมัดแมวยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนด้วย ได้แก่โรคต่อไปนี้
- พยาธิตืดแตงกวา (พยาธิตืดสุนัข, Dipylidium caninum)
พบการติดพยาธิได้บ่อยในสุนัขและแมว สำหรับคนจัดเป็นโฮสต์โดยบังเอิญ (Accidental host) และมีหมัดเป็นโฮสต์สื่อกลาง (Intermediate host) ไม่ว่าจะเป็นหมัดแมว หมัดสุนัข หมัดคน หรือเหาสุนัข
ไข่พยาธิจะเข้าไปเจริญเป็นระยะติดต่อในตัวอ่อนของหมัด จนกระทั่งหมัดพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย เมื่อโฮสต์ (ได้แก่ สุนัข แมว หรือคน) กินตัวหมัดเข้าไป (โดยบังเอิญ) พยาธิก็จะไปเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ของโฮสต์ภายใน 3-4 สัปดาห์
ความรุนแรงของการก่อโรคในคนขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิและสภาพตัวรับของเสียที่พยาธิปล่อยออกมา ซึ่งจะมีผลต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด (แต่ละคนจะมีสภาพตัวรับนี้แตกต่างกัน) โดยอาจมีอาการทางลำไส้เล็กน้อย เช่น เบื่ออาหาร ย่อยอาหารได้ไม่ดี หรือพบปล้องพยาธิปนออกมากับอุจจาระ - ไข้รากสาดใหญ่จากหนู (Murine Typhus, Shop House Typhus)
พบเชื้อในหนูและแมว โดยมีหมัดแมว และหมัดหนูเขตร้อน (Xenopsylla cheopsis) เป็นตัวนำโรค ในคนจัดเป็นโฮสต์โดยบังเอิญ ในชุมชนสามารถพบการติดเชื้อจากคนสู่คนได้จากการถูกเหากัด โดยทั่วไปจะติดเชื้อจากการถูกหมัดที่มีเชื้อกัด หรือมูลหมัด (ที่หมัดขับถ่ายออกมาขณะกัด) เข้าสู่บาดแผลโดยการเกา
อาการในคนจะคล้ายกับโรคติดเชื้อเฉียบพลันทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถพบภาวะหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ตับหรือม้ามโต ตัวเหลือง อาจพบผื่นที่ต้นแขน ต้นขา ร่วมด้วย - อาการแพ้ที่ผิวหนัง
อาจพบอาการแพ้บริเวณผิวหนังจากการสัมผัสน้ำลายหมัด หรือมูลหมัด โดยเฉพาะบริเวณข้อมือที่สัมผัสกับสัตว์ มักพบอาการคัน ตุ่มแดง โดยอาจเกิดขึ้นทันทีหรือ 2-4 วันหลังจากถูกกัด แต่ยังไม่เคยมีรายงานการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต - โรคแมวข่วน (Cat Scratch Fever, Cat Scratch Disease)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bartonella henselae ซึ่งติดสู่คนเมื่อถูกแมวกัดหรือข่วน ส่วนแมวที่ติดเชื้อจากหมัดมักไม่แสดงอาการ แต่เป็นตัวแพร่เชื้อสู่คน คาดว่าประมาณ 40% ของเจ้าเหมียวเคยติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มาแล้วในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โรคนี้ไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน แต่หมัดแมวเป็นพาหะนำเชื้อจากแมวตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่งได้
คนที่ติดเชื้อมักแสดงอาการหลังถูกแมวที่มีเชื้อกัด ข่วน หรือเลีย ภายใน 3-10 วัน โดยพบลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มหนอง แผลหลุม ต่อมน้ำเหลืองโต อาจหายได้ใน 4-8 สัปดาห์ แต่รายที่ร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด มีไข้ เกิดการติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท พบตุ่มนูนที่ผิวหนัง อาจพบการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ตับ และหัวใจ ได้ 5-16% ของคนที่ติดเชื้อ ดังนั้นหากถูกข่วน หรือกัด ให้รีบล้างบาดแผลโดยการฟอกสบู่ทันที หรือหากมีแผลอย่าให้แมวเลีย
วิธีกำจัดหมัดแมว
หมัด มีทั้งระยะที่อยู่บนตัวแมวและอยู่ในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากจะกำจัดให้ได้ผล จะต้องทำการกำจัดอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ทั้งบนตัวเจ้าเหมียวและในบริเวณที่น้องเหมียวอยู่ และยังต้องป้องกันไม่ให้ไปรับหมัดเข้ามาใหม่ด้วย
การกำจัดในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำความสะอาดสิ่งปูรอง เอาที่นอนน้องเหมียวไปซักด้วยน้ำร้อนจัด ใช้เครื่องดูดฝุ่น (หลังจากดูดฝุ่นเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมทิ้งถุงขยะในเครื่องดูดฝุ่นด้วย)
ส่วนการกำจัดหมัดบนตัวน้องเหมียว แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มยาหยดหลัง (Spot-on) เพราะสามารถทำได้ง่าย มีฤทธิ์ทำลายไข่หมัดและตัวเต็มวัย อย่างต่อเนื่อง 1 เดือน หรือ 3 เดือน แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ สำหรับการอาบน้ำแม้จะช่วยกำจัดหมัดบนตัวได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น อีกทั้งยังทำได้ยาก เพราะน้องแมวส่วนมากไม่ชอบอาบน้ำ (ยกเว้นเจ้าเหมียวที่ถูกฝึกให้อาบน้ำแต่เด็ก)