สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการคลอดลูก
ในช่วงระยะที่ 1 ของการคลอด การหดรัดตัวของมดลูกจะทำให้ปากมดลูกของคุณค่อยๆ เปิดออก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นระยะของการคลอดที่ยาวนานมากที่สุด อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกนั้นปากมดลูกจะเริ่มนุ่มลงเพื่อที่มันสามารถเปิดออก เราจะเรียกช่วงนี้ว่า Latent Phase และคุณอาจรู้สึกถึงการบีบรัดตัวของมดลูกที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นนานหลายชั่วโมง หรือแม้แต่เป็นวันก่อนที่คุณจะเข้าสู่กระบวนการคลอดลูก ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อปากมดลูกเปิดกว้างขึ้นมากกว่า 3 ซม. และการหดรัดตัวของมดลูกที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทำให้ปากมดลูกเปิด
อย่างไรก็ดี การทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มในระหว่าง Latent Phase นับว่าเป็นความคิดที่ดี เพราะคุณจำเป็นต้องใช้พลังเมื่อถึงเวลาที่ต้องคลอดลูก หากคุณเริ่มสัมผัสได้ว่ากล้ามเนื้อภายในเริ่มบีบตัว ให้คุณพยายามผ่อนคลายและพยายามนอน แต่ถ้าคุณมีอาการดังกล่าวในระหว่างวัน ให้คุณยืดตัวตรงและเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กในท้องเคลื่อนมายังกระดูกเชิงกรานและช่วยให้ปากมดลูกเปิดออก ทั้งนี้การควบคุมลมหายใจ การนวด และการแช่น้ำหรืออาบน้ำอุ่นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดระหว่างช่วงแรกของกระบวนการคลอด
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
เมื่อไรที่ควรจะไปพบแพทย์
คุณควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการดังนี้
- มดลูกบีบตัวเป็นประจำและเกิดขึ้นประมาณ 3 ครั้งในทุกๆ 10 นาที
- น้ำคร่ำแตก
- การบีบตัวรุนแรงมากและคุณรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวด
- เมื่อคุณกังวลไม่ว่ากับเรื่องใดๆ ก็ตาม
เมื่อกระบวนการคลอดลูกเริ่มขึ้น แพทย์หรือพยาบาลก็จะดูความคืบหน้าของอาการและช่วยเหลือคุณ ซึ่งหมายความรวมถึงการให้ยาบรรเทาอาการปวดหากคุณต้องการ อย่างไรก็ดี คุณยังสามารถเดินไปรอบๆ หรือจัดท่าทางการคลอดที่ทำให้คุณรู้สึกสบายตัว
อย่างไรก็ตาม ปากมดลูกของคุณจำเป็นต้องเปิดออกประมาณ 10 ซม.เพื่อให้เด็กผ่านออกมาได้ หรือที่เราเรียกว่า Fully Dilated โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6-12 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มกระบวนการคลอดลูก แต่มักจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้เมื่อคุณตั้งครรภ์ครั้งที่สองหรือสาม อย่างไรก็ดี เมื่อถึงจุดสิ้นสุดของการคลอดลูกระยะแรก คุณอาจรู้สึกต้องการเบ่งคลอด
การเฝ้าติดตามเด็กในท้องในช่วงกระบวนการคลอดลูก
แพทย์หรือพยาบาลจะติดตามอาการของคุณและเด็กในท้องตลอดกระบวนการคลอดลูกเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งคุณและลูกยังปลอดภัย ซึ่งพวกเขาอาจใช้เครื่องมือขนาดเล็กในการฟังเสียงหัวใจของเด็กทุกๆ 15 นาที ในช่วงนี้คุณยังคงเดินไปรอบๆ ได้มากเท่าที่คุณต้องการ
นอกจากนี้แพทย์หรือพยาบาลอาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามอาการหากลูกของคุณมีอาการน่าเป็นห่วงหรือคุณเลือกที่จะใช้วิธีการบล็อกหลัง หรือ Epidural ทั้งนี้อุปกรณ์ที่แพทย์ใช้ติดตามอาการคือแผ่นพลาสติก 2 แผ่น ซึ่งจะถูกนำมาติดที่หน้าท้องของคุณ โดยจะแสดงการเต้นของหัวใจของเด็กและการหดตัวของกล้ามเนื้อของคุณ ในบางครั้งการทำเช่นนี้ก็สามารถจำกัดการเคลื่อนไหวของคุณ
การเร่งคลอด
ในบางครั้งการคลอดลูกก็อาจเริ่มช้ากว่าที่เราคาดไว้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเมื่อการหดรัดตัวของมดลูกไม่เกิดขึ้นบ่อยหรือไม่รุนแรงมากพอ หรือเมื่อเด็กในท้องอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว ในกรณีนี้แพทย์อาจคุยกับคุณเกี่ยวกับวิธีเร่งคลอดซึ่งก็คือ การทำให้ถุงน้ำคร่ำแตก หรือการให้สารออกซิโทซิน
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
วิธีทำให้ถุงน้ำคร่ำแตก
การทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ที่บรรจุของเหลวรอบๆ ตัวทารกสลายตัวมักเพียงพอที่จะทำให้การหดรัดตัวของมดลูกรุนแรงและสม่ำเสมอมากขึ้น หรือที่เราเรียกวิธีนี้ว่า การเจาะถุงน้ำคร่ำ (Artificial Rupture of the Embranes (ARM)) ซึ่งแพทย์สามารถทำเช่นนี้โดยทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดเล็กน้อยในระหว่างที่ตรวจช่องคลอด
การให้สารออกซิโทซิน
หากการทำให้น้ำคร่ำแตกไม่ได้ผล แพทย์ก็อาจแนะนำให้ใช้ยาออกซิโทซิน หรือที่เรียกว่า ซินโทซินอน (Syntocinon) เพื่อให้กล้ามเนื้อบีบตัวรุนแรงมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะให้ยาดังกล่าวผ่านทางเส้นเลือดดำ และมักให้ผ่านทางข้อมือหรือแขน
ทั้งนี้ออกซิโทซินสามารถทำให้การบีบรัดตัวของมดลูกรุนแรงและสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งแพทย์จะหารือกับคุณเกี่ยวกับวิธีบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้แพทย์อาจเฝ้าสังเกตว่าลูกของคุณยังคงสบายดีหรือไม่โดยใช้อุปกรณ์ติดตามอิเล็กทรอนิกส์ และเขาจะตรวจสอบช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบว่ายาที่ให้ผ่านทางเส้นเลือดได้ผล
ระยะที่ 2 ของการคลอดลูก
ระยะที่ 2 ของการคลอดลูกจะเริ่มตั้งแต่เมื่อปากช่องคลอดของคุณเปิดกว้างเต็มที่จนกระทั่งถึงเวลาคลอดลูก
ท่าคลอดลูก
แพทย์จะช่วยหาท่าคลอดลูกที่ทำให้คุณรู้สึกสบายตัว คุณอาจนั่ง นอนตะแคงข้าง ยืน คุกเข่า หรือนั่งยองๆ อย่างไรก็ดี หากคุณรู้สึกปวดหลังมากในระหว่างที่คลอดลูก การคุกเข่าโดยใช้มือทั้งสองข้างยันพื้นก็อาจช่วยได้ การลองจัดท่าทางคลอดลูกก่อนถึงเวลาจริงก็ถือเป็นความคิดที่ดี
การเบ่งคลอด
เมื่อปากมดลูกเปิดออกเต็มที่ เด็กจะเคลื่อนมายังช่องคลอด คุณอาจรู้สึกต้องการเบ่งคลอดซึ่งความรู้สึกจะคล้ายกับเมื่อคุณต้องการเบ่งอุจจาระ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเบ่งคลอดในระหว่างที่กล้ามเนื้อบีบตัว แต่คุณอาจไม่ได้รู้สึกต้องการเบ่งคลอดในทันที หากคุณเลือกใช้วิธีบล็อกหลัง คุณอาจไม่รู้สึกต้องการเบ่งคลอด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หากคุณคลอดลูกเป็นครั้งแรก ระยะการเบ่งคลอดไม่ควรเกิดขึ้นยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง ในกรณีที่คุณเคยมีลูกมาก่อน ระยะดังกล่าวไม่ควรนานกว่า 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ของการคลอดเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่แพทย์หรือพยาบาลจะคอยช่วยเหลือคุณ
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กเกิด
เมื่อศีรษะของเด็กเกือบออกมาด้านนอกร่างกายของคุณ แพทย์หรือพยาบาลก็อาจบอกให้คุณหยุดเบ่ง และให้หายใจสั้นๆ หรือหายใจผ่านทางปากเพื่อให้ส่วนของศีรษะสามารถเคลื่อนออกมาอย่างช้าๆ และนุ่มนวล รวมถึงทำให้ผิวและกล้ามเนื้อบริเวณที่อยู่ระหว่างช่องคลอดและรูทวารยืดตัว
ในบางครั้งแพทย์จะทำสิ่งที่เรียกว่า Episiotomy หรือการตัดเพื่อขยายปากช่องคลอดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ช่องคลอดฉีกขาดหรือเพื่อเร่งการคลอด ซึ่งแพทย์จะทำบริเวณฝีเย็บหรือ Perineum อย่างไรก็ดี แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะจุด และเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว เขาก็จะทำการเย็บแผลตัดหรือรอยฉีกขาดขนาดใหญ่
เมื่อศีรษะของเด็กโผล่ออกมาด้านนอก งานที่ยากที่สุดก็จบลง ส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็จะออกมาในระหว่างการบีบตัวหนึ่งหรือสองครั้ง โดยทั่วไปแล้วคุณจะสามารถอุ้มลูกได้ทันทีและได้ใช้เวลาสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อด้วยกัน อย่างไรก็ตาม คุณสามารถให้ทารกกินนมได้ทันทีหลังคลอด หรือภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด
ระยะที่ 3 ของการคลอดลูก
ระยะที่ 3 ของการคลอดลูกเกิดขึ้นหลังจากที่คุณคลอดลูกแล้ว ซึ่งมดลูกของคุณจะหดตัวและรกจะออกมาจากช่องคลอด ซึ่งมี 2 วิธีที่ใช้สำหรับจัดการระยะการคลอดนี้ ได้แก่
- Active: การเร่งกระบวนการต่างๆ ให้จบเร็วขึ้นโดยใช้ตัวช่วยทางการแพทย์
- Physiological: ไม่ได้ใช้ตัวช่วยทางการแพทย์และระยะนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม แพทย์หรือพยาบาลอาจอธิบายเกี่ยวกับทั้งสองทางเลือกข้างต้นให้คุณฟังในระหว่างที่คุณตั้งครรภ์หรือในระหว่างช่วงแรกของกระบวนการคลอดเพื่อที่คุณจะได้ตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีใด ทั้งนี้การใช้วิธี Physiological อาจไม่เหมาะสำหรับบางสถานการณ์
Active Management คืออะไร?
แพทย์จะฉีดออกซิโทซินที่ต้นขาในขณะที่คุณคลอดลูกหรือหลังจากคลอดลูกทันทีซึ่งมันจะทำให้มดลูกบีบตัว ทั้งนี้มีหลักฐานที่แสดงว่าเราไม่ควรตัดสายสะดือออกทันที ดังนั้นแพทย์จะทำเช่นนี้ในระหว่าง 1-5 นาทีหลังคลอด แต่เขาก็อาจตัดสายสะดือเร็วขึ้นหากมีความกังวลเกี่ยวกับคุณหรือลูก เช่น สายสะดืออาจพันรอบคอของเด็ก
เมื่อรกออกมาจากมดลูก แพทย์จะดึงสายที่ติดกับรก และดึงรกผ่านทางช่องคลอด โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำเช่นนี้ภายใน 30 นาทีที่ทารกเกิด ทั้งนี้ Active Management จะช่วยเร่งให้สายสะดือออกมาเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกมากหลังจากคลอดลูก แต่มันก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้คุณรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงอาจทำให้อาการปวดที่เกิดขึ้นหลังคลอดลูกแย่ลง
Physiological Management คืออะไร?
คุณแม่ไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดออกซิโทซิน และการคลอดในระยะที่ 3 ดำเนินไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งสายสะดือจะยังไม่ถูกตัดจนกว่ามันจะหยุดเต้นเป็นจังหวะ โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-4 นาที เมื่อรกออกมาจากมดลูก คุณจะสัมผัสได้ถึงแรงกดภายในก้นและสัมผัสได้ถึงการบีบรัดตัวของมดลูก และคุณจำเป็นต้องเบ่งให้รกออกมา ซึ่งกว่าที่รกจะออกมานั้นอาจต้องใช้เวลามากถึงหนึ่งชั่วโมง แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น หากรกไม่ออกมาเองตามธรรมชาติ หรือเริ่มมีเลือดไหลออกมามาก แพทย์ก็อาจกลับไปใช้วิธี Active Management
สิ่งที่ Birth Partner สามารถทำได้
Birth Partner สามารถหมายถึงสามีของคุณ เพื่อนสนิท หรือญาติ ซึ่งมีบางสิ่งที่เขาสามารถช่วยเหลือคุณได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่ Birth Partner สามารถทำได้มีดังนี้
- อยู่เป็นเพื่อนและช่วยให้คุณผ่านระยะแรกของการคลอดลูก
- จับมือ เช็ดใบหน้า ป้อนน้ำ
- นวดหลังและหัวไหล่ ช่วยเคลื่อนร่างกายหรือเปลี่ยนท่า
- ช่วยปลอบใจ
- ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ
- ช่วยบอกสิ่งที่เกิดขึ้นกับทารกหากคุณไม่สามารถมองเห็น
- ช่วยตัดสายสะดือ แต่ให้คุณตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลก่อนว่าเขาอนุญาตหรือไม่
การให้กำเนิดลูกแฝด
การเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกการคลอดเป็นเรื่องที่สำคัญหากมีเด็กอยู่ในท้องมากกว่า 1 คน อย่างไรก็ดี แฝดสองและแฝดสามมีแนวโน้มที่จะเกิดเร็วกว่าปกติ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษหลังจากคลอดลูก อย่างไรก็ตาม กระบวนการคลอดลูกยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่ทารกจะต้องถูกเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งแพทย์อาจใช้ Electronic Monitor รัดที่หน้าท้อง
อย่างไรก็ดี แพทย์อาจจำเป็นต้องให้สารกระตุ้นบางชนิดผ่านทางเส้นเลือดในภายหลังเพื่อให้กล้ามเนื้อบีบตัวอีกครั้งหลังจากคุณคลอดลูกคนแรก โดยทั่วไปแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดสามหรือแฝดที่มีจำนวนมากกว่านี้มักคลอดลูกโดยใช้วิธีผ่าคลอด
คุณสามารถคลอดลูกแฝดโดยวิธีธรรมชาติหรือไม่?
มีผู้หญิงหลายคนที่คิดว่าพวกเขาจำเป็นต้องผ่าคลอดหากตั้งครรภ์แฝด ความจริงแล้วมีฝาแฝดมากถึง 40% ที่เกิดผ่านทางช่องคลอด และกระบวนการต่างๆ ก็มีความคล้ายคลึงกับการเกิดของเด็กคนเดียว
หากคุณวางแผนว่าจะคลอดลูกผ่านทางช่องคลอด แพทย์อาจต้องบล็อกหลังแบบ Epidural เพื่อบรรเทาอาการปวด อย่างไรก็ตาม คุณมีแนวโน้มที่จะคลอดลูกผ่านทางช่องคลอดหากฝาแฝดคนแรกอยู่ในท่าที่ศีรษะคว่ำลง แต่ก็อาจมีเหตุผลอื่นๆ ทางการแพทย์ที่ทำให้คุณไม่สามารถคลอดลูกด้วยวิธีนี้ ตัวอย่างเช่น หากคุณเคยคลอดโดยใช้วิธีผ่าคลอด การคลอดลูกแฝดผ่านทางช่องคลอดก็มักเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำ หากคุณคลอดผ่านทางช่องคลอด แพทย์อาจใช้ถ้วยสูญญากาศหรือคีมในการช่วยทำคลอด
เมื่อเด็กคนแรกคลอดออกมาแล้ว แพทย์ก็จะตรวจสอบตำแหน่งของเด็กคนที่สองโดยสัมผัสกับท้องของคุณและทำการตรวจช่องคลอด นอกจากนี้เขาอาจใช้วิธีอัลตราซาวน์เช่นกัน หากเด็กคนที่สองอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เขาก็ควรจะออกมาทันทีหลังจากที่เด็กคนแรกออกมา เพราะปากมดลูกเปิดเต็มที่อยู่แล้ว หากการหดรัดตัวของมดลูกหยุดหลังจากคลอดลูกคนแรก แพทย์อาจต้องให้ฮอร์โมนผ่านทางสายยางเพื่อกระตุ้นการบีบตัวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คุณอาจเลือกผ่าคลอด หรือแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าคลอดเนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์
หากเด็กคนแรกที่ออกมายื่นเท้า หัวเข่า หรือก้นก่อน หรือมีเด็กคนหนึ่งที่นอนตะแคงข้าง คุณอาจจำเป็นต้องเลือกวิธีผ่าคลอด นอกจากนี้มีภาวะอื่นๆ ที่ทำให้คุณมีแนวโน้มว่าจะต้องผ่าคลอด ตัวอย่างเช่น การมีรกเกาะต่ำ หรือแฝดใช้รกร่วมกัน ฯลฯ ในกรณีที่คุณคลอดลูกแบบคนเดียวก่อนหน้านี้อย่างยากลำบาก แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้วิธีผ่าคลอดหากคุณตั้งครรภ์แฝด
นอกจากนี้คุณอาจต้องคลอดลูกคนหนึ่งผ่านทางช่องคลอด และผ่าคลอดเด็กที่เหลือในท้อง แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อย โดยเกิดขึ้นน้อยกว่า 5% ของการคลอดลูกแฝด
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็นแฝดแท้?
หลังจากที่คุณคลอดลูก แพทย์จะสำรวจรกเพื่อตรวจสอบว่ามันอยู่ครบและดูที่เยื่อหุ้ม หากลูกของคุณมีรกเดียวโดยมีเยื่อหุ้มชั้นนอกเพียงชั้นเดียว (Chorion) และมีเยื่อหุ้มชั้นใน 2 ชั้น (Amnion) เด็กก็ควรจะเป็นแฝดแท้ นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กเป็นแฝดแท้หรือไม่โดยใช้วิธีตรวจ DNA
การบรรเทาอาการปวด
การคลอดลูกสามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวด ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ คุณอาจให้แพทย์อธิบายเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ เพื่อที่คุณจะได้สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ คุณอาจเขียนความต้องการลงใน Birth Plan แต่คุณก็ควรเผื่อใจว่ามันอาจไม่ได้เป็นแบบที่คุณคิด ซึ่งคุณอาจพบว่าตัวเองต้องการยาบรรเทาปวดมากกว่าที่วางแผนไว้ หรือแพทย์อาจแนะนำตัวช่วยบรรเทาอาการปวดที่มีประสิทธิผลมากกว่าเพื่อช่วยในการคลอดลูก
การใช้ก๊าซ และอากาศ (เอนโทนอกซ์) สำหรับคลอดลูก
ก๊าซที่ใช้เกิดจากการผสมกันระหว่างก๊าซออกซิเจนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซและอากาศไม่ได้ช่วยให้คุณหายเจ็บอย่างสมบูรณ์ แต่มันสามารถช่วยบรรเทาอาการ และทำให้คุณทนต่อความเจ็บปวดได้ อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงหลายคนที่ชอบก๊าซดังกล่าวเพราะมันใช้งานง่ายและคุณสามารถควบคุมด้วยตัวเอง
การทำงานของยา
- หายใจเอาก๊าซและอากาศผ่านทางหน้ากากหรือ Mouthpiece ซึ่งคุณสามารถถือด้วยตัวเอง
- คุณอาจได้ฝึกใช้หน้ากากหรือ Mouthpiece เมื่อคุณไปเข้าคอรส์สำหรับคุณแม่มือใหม่
- ก๊าซใช้เวลาประมาณ 15-20 วินาทีในการทำงาน ดังนั้นให้คุณหายใจเข้าขณะที่การหดรัดตัวของมดลูกเริ่มขึ้น ซึ่งมันจะทำงานได้ดีที่สุดหากคุณหายใจเข้าออกลึกๆ และทำอย่างช้าๆ
ผลข้างเคียง
การใช้ก๊าซข้างต้นไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อคุณหรือทารก แต่มันสามารถทำให้คุณรู้สึกเวียนศีรษะ นอกจากนี้ผู้หญิงบางคนยังรู้สึกว่าตัวเองคลื่นไส้ ง่วงนอน หรือไม่มีสมาธิ หากคุณมีอาการดังกล่าว คุณสามารถหยุดใช้มันได้ ในกรณีที่ก๊าซหรืออากาศไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอ คุณอาจขอให้แพทย์ฉีดยาแก้ปวด
การฉีดยาเพทิดีนในระหว่างกระบวนการคลอดลูก
การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อต้นขาหรือก้นนับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ยาเพทิดีน หรือไดอะมอร์ฟีน ทั้งนี้การฉีดยาสามารถช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายเช่นกัน ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด
การทำงานของยา
- ยาจะเริ่มทำงานหลังจากที่มีการฉีดประมาณ 20 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ได้นานถึง 2-4 ชั่วโมง
- ผู้หญิงบางคนสามารถรู้สึกหน้ามืด คลื่นไส้ และขี้ลืม
- หากยายังไม่หมดฤทธิ์เมื่อถึงช่วงระยะสุดท้ายของการคลอดลูก มันก็สามารถทำให้คุณเบ่งคลอดได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณอาจขอให้แพทย์ฉีดยาสักครึ่งโดสตอนเริ่มแรกเพื่อดูว่ายาได้ผลสำหรับคุณหรือไม่
- หากมีการให้เพทิดีน หรือไดอะมอร์ฟีนใกล้กับเวลาคลอดลูกมากเกินไป มันก็อาจส่งผลต่อการหายใจของทารก หากเป็นเช่นนี้ แพทย์ก็อาจให้ยาตัวอื่นๆ ที่ช่วยถอนฤทธิ์ของยาที่ให้ก่อนหน้านี้
- ยาสามารถรบกวนการกินนมครั้งแรกของทารก
ผลข้างเคียง
สำหรับผลข้างเคียงที่คุณควรรู้มีดังนี้
Epidural
Epidural เป็นยาชาเฉพาะจุดชนิดพิเศษ ซึ่งมันสามารถทำให้เส้นประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดจากช่องคลอดไปยังสมองมีอาการชา อย่างไรก็ดี ผู้หญิงส่วนมากพบว่าการให้ยาชาแบบ Epidural สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้การให้ยาชายังมีประโยชน์สำหรับผู้หญิงที่ใช้เวลาคลอดนานหรือรู้สึกเจ็บปวดขณะคลอด หรือกำลังรู้สึกไม่มีความสุข
อย่างไรก็ดี วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ที่ให้ยาชาแบบ Epidural ซึ่งมันสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีมาก แต่ก็อาจไม่ได้มีประสิทธิผล 100% เสมอไปหากเป็นการให้ยาชาในระหว่างที่คลอดลูก ทั้งนี้ The Obstetric Anaesthetists Association ได้ประมาณการว่าผู้หญิง 1 ใน 8 ที่ได้รับยาชาในระหว่างที่คลอดลูกจำเป็นต้องใช้วิธีบรรเทาปวดอื่นๆ
มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับการให้ยาชา Epidural บ้าง?
- ยาจะผ่านเข้าไปในเข็ม และเข้าไปยังเส้นเลือดดำที่แขนของคุณ
- ขณะที่คุณนอนตะแคงข้างหรือนั่งขด วิสัญญีจะทำความสะอาดแผ่นหลังด้วยยาฆ่าเชื้อ และใช้ยาชาเฉพาะจุดที่บริเวณเล็กๆ และใช้เข็มแทงไปที่ด้านหลัง
- ท่อที่มีลักษณะบางมากจะถูกสอดผ่านไปยังเข็มที่หลังของคุณซึ่งอยู่ใกล้กับเส้นประสาทที่เป็นตัวส่งสัญญาณความเจ็บปวดจากมดลูก ทั้งนี้ยาจะถูกส่งผ่านทางท่อดังกล่าว ซึ่งมักเป็นยาที่เกิดจากการผสมระหว่างยาเฉพาะที่และโอปิออยด์ อย่างไรก็ดี เวลาที่ใช้สำหรับเตรียม Epidural คือประมาณ 10 นาที และใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีในการออกฤทธิ์ โดยทั่วไปแล้วยาจะไม่ได้ผลอย่างสมบูรณ์และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนยา
ผลข้างเคียง
- คุณอาจรู้สึกว่าขาหนักขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับยาชาเฉพาะจุดที่ใช้
- Epidural ไม่ควรทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้หรือเซื่องซึม
- ความดันโลหิตอาจลดลง แต่ก็พบได้ไม่บ่อยเพราะยาที่ให้ผ่านทางเส้นเลือดช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- Epidural สามารถยืดเวลาระยะที่ 2 ของการคลอด หากคุณไม่รู้สึกถึงการบีบรัดตัวของมดลูก แพทย์ก็จะบอกให้คุณทราบว่าเมื่อไรคุณควรเบ่ง ซึ่งเขาอาจใช้คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศในการช่วยดึงศีรษะของเด็กออกมา อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณใช้ยาชา Epidural แพทย์จะรอจนกว่าศีรษะของเด็กเคลื่อนต่ำลงมาก่อนที่คุณจะเริ่มเบ่ง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่แพทย์จะต้องใช้เครื่องมือในการช่วยทำคลอด ในบางครั้งแพทย์จะให้ยาชาน้อยลงในตอนระยะสุดท้ายของการคลอดเพื่อที่ฤทธิ์ของมันค่อยๆ หมดลง และคุณสามารถเบ่งเด็กออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองขับปัสสาวะได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจาก Epidural หากเป็นเช่นนี้ แพทย์อาจใช้ท่อเล็กๆ ที่เรียกว่า Catheter ใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้คุณสามารถขับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
- มีผู้หญิงประมาณ 1 ใน 100 คนที่มีอาการปวดศีรษะหลังจากได้รับ Epidural ซึ่งเราสามารถรักษาให้หายได้
- คุณอาจรู้สึกเจ็บหลังเล็กน้อยเป็นเวลา 1-2 วัน แต่ Epidural ไม่ได้ทำให้อาการปวดหลังเกิดขึ้นระยะยาว
- มีผู้หญิงประมาณ 1 ใน 2000 คนที่รู้สึกชา หรือปวดเสียวคล้ายกับโดนเข็มแทงที่ขาฝั่งหนึ่งหลังจากคลอดลูก ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นผลจากการคลอดลูกแทนที่จะเกิดจาก Epidural
การคลอดลูกในน้ำ
การคลอดลูกในน้ำสามารถช่วยให้คุณผ่อนคลาย และทำให้การบีบรัดตัวของมดลูกรุนแรงน้อยลง ซึ่งน้ำจะมีอุณหภูมิอยู่ในระดับที่ทำให้คุณรู้สึกสบายแต่ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และจะมีการติดตามอุณหภูมิของน้ำ
เครื่อง TENS
TENS ย่อมาจาก Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation ซึ่งบางโรงพยาบาลมีเครื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า TENS มีประสิทธิผลในระหว่าง Active Phase ของกระบวนการคลอด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การหดรัดตัวของมดลูกเกิดนาน รุนแรง และบ่อยขึ้น ทั้งนี้เครื่อง TENS อาจมีประสิทธิผลมากที่สุดในระหว่างระยะแรกของกระบวนการคลอด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงหลายคนมีอาการปวดหลังส่วนล่าง
การทำงานของเครื่อง TENS
ขั้วไฟฟ้าจะถูกติดอยู่ที่หลังของคุณและถูกเชื่อมต่อเข้ากับสายไฟไปยังเครื่องกระตุ้นขนาดเล็กที่ใช้แบตเตอรี ซึ่งคุณสามารถเคลื่อนไหวในขณะที่ใช้เครื่อง TENS อย่างไรก็ดี คนเชื่อกันว่าเครื่อง TENS ทำงานโดยกระตุ้นร่างกายเพื่อให้เกิดการผลิตยาบรรเทาปวดตามธรรมชาติที่เรียกว่า เอนโดรฟีน อีกทั้งยังช่วยลดสัญญาณความเจ็บปวดที่ถูกส่งไปยังสมองโดยไขสันหลัง
ผลข้างเคียง
ยังไม่มีการค้นพบผลข้างเคียงของการใช้เครื่อง TENS ไม่ว่าจะเป็นผลที่มีต่อคุณหรือเด็ก
วิธีอื่นๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นขณะคลอดลูก
ผู้หญิงบางคนไม่ต้องการใช้วิธีบรรเทาอาการปวดตามที่เรากล่าวไป และหันไปใช้วิธีอื่นๆ แทน เช่น การฝังเข็ม สุคนธบำบัด โฮมิโอพาธีย์ การสะกดจิต การนวด และการนวดกดจุดตามฝ่ามือและฝ่าเท้า อย่างไรก็ตาม เทคนิคเหล่านี้ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิผล
หากคุณต้องการใช้วิธีเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการปวด คุณควรปรึกษาหรือแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนล่วงหน้า ซึ่งโรงพยาบาลส่วนมากไม่ได้ใช้วิธีดังกล่าวในการบรรเทาอาการปวดในระหว่างทำคลอด หากคุณต้องการลองใช้วิธีเหล่านี้ คุณต้องมั่นใจว่าผู้ที่ให้บริการได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมและมีประสบการณ์
คีมและเครื่องดูดสูญญากาศ
มีผู้หญิงประมาณ 1 ใน 8 ที่คลอดลูกโดยใช้อุปกรณ์อื่นๆ ช่วย ตัวอย่างเช่น การใช้คีม หรือเครื่องดูดสูญญากาศในการดึงศีรษะของเด็กออกมา ทั้งนี้แพทย์ต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเนื่องจาก
- มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเต้นหัวใจของเด็ก
- ทารกอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้การคลอดเป็นไปได้ยากขึ้น
- คุณอ่อนเพลียมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ทั้งเครื่องดูดสูญญากาศและคีมล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัย และถูกนำมาใช้สำหรับคุณและเด็กในยามที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ผู้หญิงที่เคยคลอดผ่านทางช่องคลอดตามธรรมชาติมาก่อนหน้านี้มักไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เหล่านี้
หากศีรษะของเด็กอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม แพทย์จำเป็นต้องหมุนเด็กเพื่อให้คุณสามารถคลอดได้ ซึ่งกุมารแพทย์อาจตรวจสอบสภาพร่างกายของเด็กหลังจากที่คุณคลอดลูก หากคุณไม่ได้ใช้วิธีระงับปวดด้วย Epidural แพทย์ก็อาจใช้ยาชาเฉพาะจุดเพื่อให้บริเวณฝีเย็บ หรือผิวระหว่างช่องคลอดและรูทวารมีอาการชา
ในกรณีที่คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศไม่สามารถช่วยให้การทำคลอดง่ายขึ้น แพทย์ก็อาจใช้วิธีผ่าคลอด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้หากจำเป็นต้องหันศีรษะของเด็ก ในบางครั้งแพทย์อาจต้องตัดบริเวณฝีเย็บเพื่อขยายขนาดของช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะเย็บรอยฉีกขาดต่างๆ ในภายหลัง
เครื่องดูดสูญญากาศ
เครื่องดูดสูญญากาศเป็นเครื่องมือที่ช่วยดูดศีรษะของทารก ซึ่งมีทั้งถ้วยแบบนุ่ม แข็ง หรือทำมาจากโลหะ โดยจะเชื่อมต่อกับท่อไปยังเครื่อง ทั้งนี้ถ้วยจะครอบศีรษะของทารกได้อย่างมั่นคง ในระหว่างการหดรัดตัวของมดลูกประกอบกับตอนที่คุณช่วยเบ่งคลอด แพทย์ก็จะค่อยๆ ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวดึงเด็กออกมาอย่างเบามือ
ถ้วยดูดจะทำให้ศีรษะของเด็กบวมเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า Chignon แต่มันก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ถ้วยก็อาจทำให้ศีรษะของเด็กเกิดรอยช้ำ หรือที่เรียกว่า Cephalhaematoma อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจไม่ใช้เครื่องดูดสูญญากาศหากคุณคลอดลูกเมื่อมีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ เพราะว่าศีรษะของเด็กจะมีลักษณะนุ่มมากเกินไป ทั้งนี้การใช้เครื่องดูดสูญญากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้ช่องคลอดฉีกขาดน้อยกว่าการใช้คีม
คีม
คีม หรือ Forceps เป็นเครื่องมือโลหะชนิดเรียบที่ดูเหมือนช้อนหรือแหนบขนาดใหญ่ ซึ่งมันจะมีลักษณะที่โค้งเพื่อให้พอดีกับรอบศีรษะของเด็ก แพทย์จะค่อยๆ ดึงศีรษะของเด็กออกมาในระหว่างที่มีการหดรัดตัวของมดลูกและขณะที่คุณเบ่งคลอด
อย่างไรก็ตาม คีมมีหลายชนิด ซึ่งบางชนิดถูกออกแบบมาเพื่อพลิกทารกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการคลอดโดยเฉพาะ ทั้งนี้การใช้คีมช่วยให้การทำคลอดประสบความสำเร็จได้มากกว่าการใช้เครื่องสูญญากาศ แต่เครื่องดูดสูญญากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้ช่องคลอดฉีกขาดได้น้อยกว่า
ความเสี่ยงของการใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีม?
เครื่องดูดสูญญากาศและคีมเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยทำคลอดที่ปลอดภัย แต่มันก็ยังมีความเสี่ยงดังนี้
- ช่องคลอดฉีกขาด หรือการต้องตัดฝีเย็บ
แพทย์จะเย็บแผลโดยใช้ไหมที่สามารถละลายได้ - ช่องคลอดฉีกขาดระดับ 3-4
ช่องคลอดของคุณมีโอกาสฉีกขาดสูงขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหรือผนังของทวารหนักหรือไส้ตรง โดยรู้จักกันในชื่อของ Third- or Fourth-Degree Tear การฉีกขาดประเภทนี้ส่งผลต่อ:
- ผู้หญิง 1 ใน 100 คนคลอดลูกทางช่องคลอดตามปกติ และมีมากถึง 4 ใน 100 คน ที่ต้องใช้เครื่องดูดสูญญากาศในการช่วยทำคลอด
- ผู้หญิง 8-12 คนใน 100 คน ต้องใช้คีมในการช่วยทำคลอด
- ความเสี่ยงของการมีเลือดแข็งตัวสูงขึ้น
หลังจากการคลอดลูกที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย ความเสี่ยงที่เลือดจะจับตัวในเส้นเลือดดำภายในขาหรือเชิงกรานก็จะสูงขึ้น คุณสามารถป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นโดยเคลื่อนไหวไปรอบๆ ให้มากเท่าที่คุณสามารถทำได้หลังจากคลอดลูก
นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้คุณใส่ถุงน่องแบบพิเศษที่ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวและฉีดยาเฮปารินให้ ซึ่งทำให้เลือดมีโอกาสที่จะแข็งตัวลดลง - ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ถือเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปหลังจากคลอดลูก ซึ่งมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่ามันส่งผลกระทบต่อผู้หญิงประมาณ 30 คนจาก 100 คน ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวพบได้ทั่วไปในคนที่คลอดลูกที่ใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมในการช่วยทำคลอด - ภาวะอุจจาระเล็ด
ภาวะอุจจาระเล็ดสามารถเกิดขึ้นหลังจากที่คุณคลอดลูก โดยเฉพาะหากช่องคลอดฉีกขาดระดับ 3-4 เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ในการช่วยทำคลอดอย่างคีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอดสูงขึ้น ดังนั้นภาวะอุจจาระเล็ดมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังจากการทำคลอดที่มีการใช้เครื่องมือช่วย ทั้งนี้มีการประมาณไว้ว่าภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในผู้หญิง 13%-27%
ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทารก?
- มีรอยบนศีรษะที่เกิดจากเครื่องดูดสูญญากาศ โดยทั่วไปแล้วจะหายไปภายใน 48 ชั่วโมง
- รอยช้ำบนศีรษะของเด็กเกิดขึ้นกับเด็ก 1-12 ใน 100 คน และจะหายเมื่อเวลาผ่านไป โดยสามารถทำให้เกิดอาการดีซ่านใน 2-3 วันแรก แต่แทบจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ
- รอยบนใบหน้าที่เกิดจากคีมมักหายไปภายใน 48 ชั่วโมง
- รอยตัดเล็กๆ บนใบหน้าหรือหนังศีรษะของทารก ซึ่งมีผลต่อเด็ก 1 ใน 10 ที่มีการใช้เครื่องมือช่วยในการทำคลอด และรอยดังกล่าวจะหายไปอย่างรวดเร็ว
ในบางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องใช้สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน 24 ชั่วโมง คุณมีแนวโน้มที่จะต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวหากคุณได้รับยาชาแบบ Epidural เพราะคุณอาจไม่ได้รู้สึกปวดปัสสาวะเต็มที่ และไม่รู้ว่าเมื่อไรที่กระเพาะปัสสาวะเต็ม
การตัดฝีเย็บ
ในบางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องตัดบริเวณที่อยู่ระหว่างช่องคลอดและรูทวารในขณะที่คุณคลอดลูก การทำเช่นนี้เรียกว่า Episiotomy หรือการตัดฝีเย็บ ซึ่งช่วยให้ช่องคลอดขยายขนาดกว้างขึ้น ทำให้เด็กออกมาได้ง่ายกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งฝีเย็บของผู้หญิงอาจฉีกขาดในขณะที่เด็กออกมา ซึ่งการตัดฝีเย็บสามารถช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวและเร่งให้การคลอดสำเร็จเร็วขึ้น มีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการบาดเจ็บที่รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อรูทวารในกรณีที่ฝีเย็บขาดเองตามธรรมชาติพบได้ทั่วไปในผู้หญิงที่คลอดลูกผ่านทางช่องคลอดเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ The National Institute for Health and Care Excellence (NICE) แนะนำว่า แพทย์ควรพิจารณาการตัดฝีเย็บหาก
- ทารกกำลังทุกข์ทรมานและจำเป็นต้องออกมาจากท้องอย่างรวดเร็ว
- จำเป็นต้องใช้คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศในการช่วยทำคลอด หรือมีความเสี่ยงที่รูทวารจะฉีกขาด
- หากแพทย์คิดว่าคุณจำเป็นต้องตัดฝีเย็บในขณะที่คุณกำลังเจ็บท้องคลอด เขาก็จะหารือกับคุณ
- มีคนที่คลอดลูก 1 ใน 7 ที่ถูกตัดฝีเย็บ
- หากช่องคลอดฉีกขาดหรือคุณต้องถูกตัดฝีเย็บ แพทย์ก็จะทำการเย็บให้โดยใช้ไหมที่สามารถละลายได้
ทำไมต้องตัดฝีเย็บ?
การตัดฝีเย็บอาจเป็นวิธีที่แนะนำหากลูกของคุณอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจของทารกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือลดลงก่อนเกิด ทำให้เด็กอาจไม่ได้รับออกซิเจนและจำเป็นต้องคลอดอย่างรวดเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กพิการหรือตายคลอด (stillbirth)
สำหรับสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้แพทย์ต้องผ่าฝีเย็บคือ เมื่อจำเป็นต้องขยายขนาดของช่องคลอดเพื่อให้สามารถสอดเครื่องมือทางการแพทย์เข้าไป เช่น คีม หรือเครื่องดูดสูญญากาศ รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ดังนี้
- ก้นของทารกหันมาทางด้านล่างแทนที่จะเป็นศีรษะ
- คุณพยายามคลอดลูกเป็นเวลาหลายชั่วโมง และคุณกำลังเหนื่อยกับการเบ่ง
- คุณมีปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ และจำเป็นต้องคลอดให้สำเร็จให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ
นอกจากนี้มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าในการคลอดบางครั้งโดยเฉพาะการคลอดโดยใช้คีมช่วย การผ่าฝีเย็บอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการฉีกขาดระดับที่ 3 ซึ่งส่งผลต่อกล้ามเนื้อของรูทวาร
วิธีผ่าฝีเย็บ
โดยทั่วไปแล้วการผ่าฝีเย็บเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งมีการใช้ยาชาเฉพาะจุดเพื่อทำให้บริเวณรอบๆ ช่องคลอดมีอาการชาเพื่อที่คุณจะได้ไม่รู้สึกเจ็บ หากคุณได้รับยาชาแบบ Epidural แล้ว แพทย์ก็อาจให้ปริมาณยาเพิ่มขึ้นก่อนที่จะเริ่มผ่าฝีเย็บ หลังจากนั้นเขาก็จะทำการตัดขวางเป็นรอยเล็กๆ ที่ด้านหลังของช่องคลอดและตัดตรงมาทางด้านล่างและตัดออกไปข้างหนึ่ง ซึ่งแพทย์จะเย็บรอยตัดดังกล่าวโดยใช้ไหมที่ละลายได้หลังจากที่คุณคลอดลูก
การฟื้นตัวหลังจากผ่าฝีเย็บ
รอยผ่าฝีเย็บมักจะได้รับการรักษาภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่คลอดลูก เลือดอาจออกมาจากแผลปริมาณมากในตอนแรก แต่มันควรจะหยุดเมื่อมีการกดและเย็บแผล อย่างไรก็ตาม แผลเย็บควรจะหายภายใน 1 เดือนหลังจากคลอดลูก ทั้งนี้ให้คุณสอบถามแพทย์เกี่ยวกับกิจกรรมที่คุณควรหลีกเลี่ยงในระหว่างที่รักษาตัว
การรับมือกับความเจ็บปวด
- หลังจากที่ผ่าฝีเย็บ การรู้สึกปวดเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ยาบรรเทาอาการปวดอย่างพาราเซตามอลสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดและปลอดภัยสำหรับการใช้ในขณะที่คุณให้นมลูก คุณไม่ควรใช้ไอบูโพรเฟนหากลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำ หรือเจ็บป่วย
- ยาแอสไพรินก็เป็นยาที่เราไม่แนะนำเช่นกัน เพราะมันสามารถถูกส่งผ่านไปยังทารกทางน้ำนม หากคุณไม่แน่ใจว่าสามารถทานยาแก้ปวดชนิดใดได้บ้าง คุณอาจลองปรึกษาแพทย์
- มีงานวิจัยพบว่ามีผู้หญิงประมาณ 1% ที่จะรู้สึกปวดอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถส่งผลต่อกิจกรรมในแต่ละวันและคุณภาพชีวิตหลังจากที่แพทย์ผ่าฝีเย็บ หากเป็นเช่นนี้คุณอาจต้องทานยาที่มีฤทธิ์รุนแรงขึ้นที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ เช่น โคเดอีน
- ยาชนิดที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้นอาจกระทบต่อความสามารถในการให้นมลูก แต่แพทย์สามารถช่วยแนะนำคุณได้
- การใช้ Ice pack หรือก้อนน้ำแข็งห่อในผ้าขนหนูแล้วนำมาประคบอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเช่นกัน แต่ให้คุณหลีกเลี่ยงการนำน้ำแข็งวางที่ผิวโดยตรงเพราะมันสามารถทำให้ผิวเสียหาย
- การใช้หมอนอิงรูปทรงโดนัท หรือการหนีบก้นเข้าหากันในขณะที่นั่งอาจช่วยบรรเทาแรงกดและความเจ็บปวดบริเวณที่มีรอยตัด
- การให้รอยเย็บสัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์สามารถช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
- การถอดชุดชั้นในและนอนบนผ้าขนหนูบนเตียงประมาณ 10 นาที 1 หรือ 2 ครั้งต่อวันก็อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
- หากความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดกินเวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ มันก็ถือเป็นเรื่องผิดปกติ หากอาการปวดยังคงไม่หายไป คุณควรปรึกษาแพทย์
การเข้าห้องน้ำ
- รักษาความสะอาดบริเวณรอยตัดและบริเวณรอบๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลังจากเข้าห้องน้ำ ให้คุณล้างช่องคลอดโดยเทน้ำอุ่นที่บริเวณช่องคลอดเพื่อล้างให้สะอาด
- การเทน้ำอุ่นรดที่ด้านนอกของช่องคลอดขณะขับปัสสาวะอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบาย
- การนั่งยองๆ สามารถช่วยลดความรู้สึกปวดแสบขณะขับปัสสาวะ
- เมื่อคุณถ่ายอุจจาระ การใช้ Pad ที่สะอาดวางที่รอยตัดและกดเบาๆ ขณะที่ถ่ายอุจจาระสามารถช่วยบรรเทาแรงกดที่รอยตัด
- ในขณะที่เช็ดก้น ให้คุณเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังอย่างอ่อนโยน ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียจากทวารหนักทำให้เกิดการอักเสบที่รอยตัดและเนื้อเยื่อรอบๆ
- หากคุณรู้สึกเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ การทานยาระบายก็อาจช่วยได้ ซึ่งยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้รักษาอาการท้องผูกและช่วยให้อุจจาระนุ่มลงและออกจากทวารได้ง่ายขึ้น
ความรู้สึกเจ็บที่เกิดขึ้นหลังมีเซ็กส์
ไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเวลาที่คุณสามารถเริ่มกลับมามีเซ็กส์หลังจากที่คุณคลอดลูก ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ผู้หญิงหลายคนรู้สึกเจ็บและเหนื่อยไม่ว่าจะผ่าฝีเย็บหรือไม่ก็ตาม แต่คุณไม่ควรรีบร้อน เพราะหากคุณรู้สึกเจ็บขณะมีเซ็กส์ มันก็จะทำให้คุณไม่มีความสุข
หากแพทย์ผ่าฝีเย็บหรือช่วงล่างของคุณเกิดการฉีกขาด คุณก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมตัวเองรู้สึกเจ็บขณะมีเซ็กส์ในช่วงเดือนแรกๆ ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่า มีผู้หญิงประมาณ 9 ใน 10 คนที่ผ่าตัดฝีเย็บรายงานว่าตัวเองรู้สึกเจ็บเมื่อกลับมามีเซ็กส์อีกครั้ง แต่ความรู้สึกเจ็บจะบรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป
หากการสอดใส่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวด และคุณยังฝืนต่อไป คุณก็จะมองว่าการมีเซ็กส์เป็นเรื่องที่น่ารำคาญแทนที่จะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุข อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถใกล้ชิดกับคนรักโดยไม่จำเป็นต้องมีเซ็กส์แบบสอดใส่ เช่น การสำเร็จความใคร่ให้กันและกัน
ในบางครั้งภาวะช่องคลอดแห้งก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บ คุณอาจใช้สารหล่อลื่นสูตรที่มีน้ำเป็นส่วนผสมหลักเพื่อให้เซ็กส์ราบรื่นขึ้น แต่ให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมหลัก เช่น วาสลีน หรือโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้น เพราะมันสามารถทำให้ช่องคลอดระคายเคืองและทำให้ถุงยางลาเท็กซ์เสียหาย
อย่างไรก็ดี คุณยังสามารถตั้งครรภ์หลังจากคลอดลูกได้ 3 สัปดาห์แม้ว่าคุณอยู่ในช่วงให้นมลูกและประจำเดือนยังไม่มา ทั้งนี้ให้คุณคุมกำเนิดทุกครั้งที่คุณมีเซ็กส์หลังจากคลอดลูก ซึ่งหมายความรวมถึงการมีเซ็กส์ครั้งแรกเว้นเสียแต่ว่าคุณต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง
การติดเชื้อ
- ระวังสัญญาณที่บอกว่ารอยตัดหรือรอบๆ เนื้อเยื่อเกิดการติดเชื้อ เช่น รอยแดง ผิวบวม มีหนอง หรือของเหลวใสออกมาจากรอยตัด หรือยังคงรู้สึกเจ็บอย่างต่อเนื่อง
- ให้คุณบอกแพทย์ทันทีหากคุณพบสัญญาณของการติดเชื้อ
การออกกำลังกาย
การเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบช่องคลอดและรูทวารโดยบริหารอุ้งเชิงกรานสามารถช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น และจะช่วยลดแรงกดที่รอยตัดและเนื้อเยื่อรอบๆ ทั้งนี้คุณสามารถบริหารอุ้งเชิงกรานโดยขมิบกล้ามเนื้อรอบๆ ช่องคลอดและรูทวารราวกับว่าคุณกำลังกลั้นอุจจาระหรือผายลม
เนื้อเยื่อแผลเป็น (Scar tissue)
ผู้หญิงบางคนมีเนื้อเยื่อแผลเป็นที่นูนและทำให้รู้สึกคันก่อตัวขึ้นรอบๆ บริเวณที่ฉีกขาดหรือบริเวณที่มีการผ่าฝีเย็บ หากเนื้อเยื่อแผลเป็นทำให้เกิดปัญหา ให้คุณปรึกษาแพทย์
การป้องกันไม่ให้ฝีเย็บฉีกขาด (Perineal tear)
แพทย์สามารถช่วยไม่ให้ฝีเย็บฉีกขาดในระหว่างที่คุณคลอดหรือในขณะที่ศีรษะของเด็กโผล่ออกมา ทั้งนี้แพทย์อาจบอกให้คุณหยุดเบ่ง และให้คุณหายใจแบบหอบหรือหายใจสั้นๆ และหายใจผ่านทางปาก เพื่อที่ศีรษะของเด็กสามารถออกมาอย่างช้าๆ และนุ่มนวล ทำให้ผิวและกล้ามเนื้อของฝีเย็บมีเวลายืดตัวโดยไม่เกิดการฉีกขาด
อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้วผิวของฝีเย็บยืดตัวได้ดี แต่มันก็อาจฉีกขาดโดยเฉพาะหากคุณคลอดลูกเป็นครั้งแรก มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการนวดฝีเย็บตอนสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์สามารถช่วยลดโอกาสที่จะต้องผ่าฝีเย็บในระหว่างคลอดลูก ซึ่งมีบทวิจารณ์ของการทดลอง 4 ครั้งแสดงให้เห็นว่า การนวดฝีเย็บตั้งแต่ที่มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์สามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการฉีกขาด ความจำเป็นที่ต้องผ่าฝีเย็บ และความเจ็บปวดในผู้หญิงที่ไม่เคยคลอดผ่านทางช่องคลอดมาก่อน
ในแต่ละการทดลองก็มีชนิดและความถี่ของการนวดแตกต่างกัน แต่ส่วนมากจะใช้วิธีสอดนิ้ว 1 หรือ 2 นิ้วเข้าไปในช่องคลอด และออกแรงกดลงต่ำ หรือออกแรงกวาดไปทางฝีเย็บ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับเด่นชัดในผู้หญิงที่ออกแรงกวาดไปยังฝีเย็บ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
เมื่อทารกอยู่ในท่าก้น (Breech) และท่านอนขวาง (Transverse)
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกมักจะพลิกและหมุนตัว เมื่อถึงช่วงเวลาที่กระบวนการคลอดเริ่มต้น เด็กส่วนมากจะขดตัวอยู่ในท่าที่ศีรษะจ่ออยู่ทางช่องคลอด แต่ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป สำหรับท่าของทารกในครรภ์ที่เป็นไปได้เมื่อถึงเวลาคลอด คือ ท่าปกติ ท่าก้น และท่านอนขวาง
1) ท่าก้น (Breech Position)
หากขาและก้นของเด็กยื่นลง นั่นก็เท่ากับว่าเขาอยู่ในท่า Breech Position ซึ่งทำให้การคลอดเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น แพทย์จะหาวิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดในการทำคลอด
การพลิกตัวเด็กที่อยู่ในท่าก้น
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะใช้วิธีที่เรียกว่า External Cephalic Version (ECV) แพทย์จะพยายามพลิกตัวของเด็กให้ศีรษะคว่ำลงโดยเพิ่มแรงกดที่หน้าท้องของคุณ แม้ว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยแต่คุณก็สามารถรู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม การใช้ ECV ช่วยให้ทารกที่อยู่ในท่าก้นประมาณ 50% สามารถพลิกตัวได้ ซึ่งศีรษะของเด็กส่วนมากคว่ำลง ทำให้คุณสามารถคลอดลูกได้ตามปกติ
การคลอดเด็กที่อยู่ในท่าก้น
หากการใช้วิธี ECV ไม่ได้ผล คุณจำเป็นต้องหารือกับแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกอื่นๆ แม้ว่าคุณสามารถคลอดเด็กที่อยู่ในท่าก้นทางช่องคลอดตามปกติ แต่บางทีแพทย์ก็อาจใช้วิธีผ่าคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการคลอดเด็กที่อยู่ในท่าดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากคุณวางแผนว่าจะใช้วิธีผ่าคลอดและปวดท้องคลอดก่อนที่จะเริ่มผ่าตัด แพทย์จะประเมินว่าจะทำการผ่าคลอดต่อไปหรือไม่ หากเด็กใกล้คลอด การคลอดเด็กที่อยู่ในท่าก้นทางช่องคลอดก็อาจปลอดภัยมากกว่า
The Royal College of Obstetricians and Gynaecologists (RCOG) กล่าวว่าแพทย์อาจไม่ให้คุณคลอดลูกผ่านทางช่องคลอดหาก
- เท้าของเด็กอยู่ต่ำกว่าก้น
- เด็กมีร่างกายขนาดใหญ่ (มากกว่า 3.8 กก. หรือ 8.4 lb)
- เด็กมีร่างกายขนาดเล็ก (น้อยกว่า 2 กก. หรือ 4.4 lb)
- เด็กอยู่ในท่าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น คอเอียงไปด้านหลัง
- คุณเคยผ่าคลอดมาก่อน
- คุณมีกระดูกเชิงกรานที่แคบ
- มีรกเกาะต่ำ
- ครรภ์เป็นพิษ
2) ท่านอนขวาง (Transverse)
หากลูกของคุณนอนขวางแทนที่จะอยู่ในตำแหน่งตั้งตรง เราจะเรียกว่า Transverse Position แม้ว่ามีเด็กหลายคนที่นอนเอียงในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ก็มีเด็กส่วนใหญ่ที่หันตัวกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติหรือศีรษะคว่ำลงในช่วงไตรมาสสุดท้าย
การคลอดเด็กที่อยู่ในท่านอนขวาง
การที่จะตัดสินว่าคุณต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ขณะที่ถูกตรวจพบว่าเด็กนอน ขวาง เพราะมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่สายสะดือย้อยหากน้ำคร่ำแตก ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่สายสะดือออกมาจากมดลูกก่อนเด็ก และคุณแม่ต้องคลอดเด็กอย่างรวดเร็ว
ในบางครั้งการพลิกให้เด็กอยู่ในท่าคว่ำศีรษะด้วยมือก็สามารถเป็นไปได้ แต่มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะคลอดเด็กเหล่านี้โดยธรรมชาติ ดังนั้นหากลูกของคุณยังอยู่ในท่านอนขวางเมื่อถึงกำหนดการคลอด หรือเมื่อกระบวนการคลอดเริ่มต้น แพทย์อาจแนะนำให้คุณผ่าคลอด
สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากคลอดลูก
การให้ความสนใจเกี่ยวกับการคลอดลูกในขณะที่คุณตั้งครรภ์นั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คุณก็ควรรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังคลอดลูกเช่นกัน การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อช่วยสร้างความผูกพันระหว่างคุณและลูกได้อย่างแท้จริง คุณอาจอุ้มลูกทันทีที่เขาเกิดและก่อนที่จะตัดสายสะดือเพื่อที่คุณสามารถใกล้ชิดกันทันที
ทั้งนี้สายสะดือจะถูกหนีบและตัดออก และเด็กจะถูกทำให้ตัวแห้งเพื่อไม่ให้เขารู้สึกหนาว คุณจะสามารถอุ้มและกอดทารก อย่างไรก็ตาม ลูกของคุณอาจสกปรกและมีเลือดหรือไขหุ้มทารกติดผิว คุณอาจให้แพทย์หรือพยาบาลเช็ดตัวให้ลูก และใช้ผ้าห่อตัวก่อนที่คุณจะกอดเขา
แพทย์อาจจำเป็นต้องกำจัดเมือกในจมูกและปากของเด็ก ทารกบางคนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเล็กน้อยในการเริ่มหายใจด้วยตัวเอง ลูกของคุณอาจถูกพาไปอีกห้องเพื่อรับออกซิเจน และจะถูกนำกลับมาให้คุณเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ นอกจากนี้แพทย์จะตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก หรือวัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย
วิตามินเคสำหรับเด็กแรกคลอด
แพทย์อาจเสนอให้ฉีดวิตามินเคแก่ทารก ซึ่งการทำเช่นนี้จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคเลือดในเด็กแรกคลอดที่พบได้ไม่บ่อยอย่าง Haemorrhagic หากคุณไม่ต้องการให้ลูกได้รับวิตามินเคจากการฉีดยา เขาก็สามารถทานวิตามินเคแทนได้ แต่อาจต้องได้รับในปริมาณที่มากขึ้น
การเย็บรอยฉีกขาดหรือรอยตัด
บรรดารอยฉีกขาดหรือรอยถลอกที่มีขนาดเล็กมักจะถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องถูกเย็บ เพราะโดยทั่วไปแล้วรอยฉีกขาดขนาดเล็กจะหายเองได้เร็วกว่าการเย็บ หากมีรอยฉีกขาดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการผ่าฝีเย็บ แพทย์อาจต้องเย็บแผลให้ หากคุณได้รับยาชาแบบ Epidural ไปแล้ว คุณก็จะได้รับยามากขึ้น แต่หากคุณไม่ได้รับยาชาข้างต้น แพทย์ก็อาจให้ยาชาเฉพาะที่
การป้องกันไม่ให้เลือดไหลหลังคลอดลูก
ภาวะตกเลือดหลังคลอด หรือ Postpartum haemorrhage (PPH) เป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งคุณจะมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดเป็นจำนวนมากหลังจากคลอดลูก ซึ่งภาวะ PPH มี 2 ประเภทโดยขึ้นอยู่กับว่าเลือดออกบริเวณใด
- Primary หรือ Immediate: เลือดออกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดลูก
- Secondary หรือ Delayed: เลือดออกหลังจาก 24 ชั่วโมงแรก และกินเวลายาวถึง 6 สัปดาห์หลังจากคลอดลูก
ในบางครั้งภาวะ PPH เกิดขึ้นเพราะมดลูกของคุณไม่ได้หดตัวแรงเพียงพอหลังจากคลอดลูก นอกจากนี้มันยังเกิดจากการที่บางส่วนของรกติดอยู่ภายในมดลูก หรือเกิดการติดเชื้อภายในเยื่อบุของมดลูก
อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ PPH โดยใช้วิธีฉีดออกซิโทซินเมื่อเด็กกำลังจะเกิด การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นการบีบตัวและช่วยดันให้รกออกมา
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณหลังคลอดลูก
ในช่วงวันแรกๆ หลังจากที่คุณคลอดลูกสามารถเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คุณและคนรักมีอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีหลายสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้และทำในฐานะของพ่อแม่มือใหม่ ทั้งนี้คุณจะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ทำความรู้จักกับลูก แต่คุณก็จะรู้สึกเหนื่อยเช่นกัน และร่างกายของคุณจะฟื้นตัวหลังการคลอด
อย่างไรก็ดี ให้คุณอยู่ใกล้ชิดกับลูกให้มากที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้ นอกจากนี้คนรักของคุณอาจใช้เวลาอุ้มและใกล้ชิดกับลูก แต่ในช่วงเวลานี้เขาอาจรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง และอาจต้องการกำลังใจและการมีส่วนร่วม ซึ่งการอุ้มและกอดลูกด้วยกันจะช่วยให้เขากลับมารู้สึกมั่นใจมากขึ้น
ความรู้สึกของคุณหลังจากคลอดลูก
คุณอาจรู้สึกเหนื่อยในช่วงวันแรกๆ ดังนั้นคุณควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้การเดินและการเคลื่อนไหวอาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคุณ แต่คุณสามารถรับมือกับรอยแผล ริดสีดวงและการมีเลือดออกโดยใช้วิธีที่เราจะกล่าวหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลายคนพบว่าความตื่นเต้นและความยินดีที่ได้เจอลูกสามารถช่วยทำให้ปัญหาใดๆ ก็ตามดูเป็นเรื่องเล็ก แต่คุณสามารถเริ่มรู้สึกไม่ดีหรือแม้แต่มีอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะหากคุณรู้สึกเหนื่อยมากหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถดูแลลูกในแบบที่คุณต้องการ
การคลอดลูกเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เกิดหลากหลายอารมณ์และทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย และฮอร์โมนของคุณก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงวันแรกๆ ผู้หญิงบางคนมีอาการ Baby Blues หรืออาการซึมเศร้าหลังคลอด และรู้สึกอยากร้องไห้ประมาณ 3-5 วันหลังจากคลอดลูก ทั้งนี้อาการอยากร้องไห้สามารถแย่ลงหากการคลอดลูกเป็นไปได้ยากลำบาก คุณรู้สึกเหนื่อยมาก หรือคุณมีเรื่องวิตกกังวลอื่นๆ
เมื่ออยู่ในโรงพยาบาลกับลูก
หากคุณคลอดลูกได้แบบไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่คลอดลูก คุณมีแนวโน้มที่จะต้องนอนโรงพยาบาลสั้นลง การหารือกับแพทย์เกี่ยวกับการดูแลลูกหลังคลอดในระหว่างที่คุณตั้งครรภ์ก็อาจช่วยให้รู้ว่าคุณจะต้องทำสิ่งใดบ้าง คุณอาจต้องขอความช่วยเหลือและคำแนะนำมากเป็นพิเศษหากคุณมีลูกคนแรก ดังนั้นคุณไม่ควรลังเลที่จะขอความช่วยเหลือหากจำเป็น
ร่างกายของคุณในช่วงวันแรกๆ
ร่างกายของคุณจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในช่วง 2-3 วันหลังคลอด
เต้านม
เต้านมของคุณจะผลิตของเหลวสีเหลืองที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เรียกว่า นมน้ำเหลือง หรือ Colostrum คุณอาจรู้สึกตึงและเจ็บคัดที่เต้านมในวันที่ 3 หรือ 4 เพราะเต้านมเริ่มผลิตน้ำนม แต่การใส่บราที่ออกแบบมาเพื่อใส่ในช่วงที่ให้นมลูกก็อาจช่วยได้ หากคุณรู้สึกไม่สบายที่เต้านมมาก ให้คุณลองปรึกษาแพทย์
ท้อง
ท้องของคุณอาจมีลักษณะโป่งเหมือนถุงหลังจากที่คลอดลูก ถึงแม้ว่าคุณจะคลอดลูกและรกออกมาแล้ว ท้องของคุณก็จะใหญ่กว่าตอนก่อนตั้งครรภ์ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ากล้ามเนื้อของคุณยืดตัว หากคุณทานอาหารอย่างสมดุลและออกกำลังกาย รูปร่างของคุณควรจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การให้ลูกกินนมแม่สามารถช่วยได้เช่นกันเพราะมันทำให้มดลูกหดตัว ด้วยเหตุนี้คุณอาจรู้สึกปวดท้องเกร็งเหมือนตอนที่มีประจำเดือนในขณะที่ให้ลูกกินนม
กระเพาะปัสสาวะ
การมีอาการปัสสาวะเล็ดโดยไม่ได้ตั้งใจในขณะที่หัวเราะ ไอ หรือเคลื่อนไหวอย่างกระทันหันถือเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ทั่วไปหลังจากคลอดลูก ทั้งนี้การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานสามารถช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ แต่หากคุณยังไม่หายนานเกินกว่า 3 เดือน คุณควรไปพบแพทย์
รอยเย็บ ริดสีดวง และน้ำคาวปลา
หากแพทย์เย็บรอยฉีกขาดหรือทำการผ่าฝีเย็บ การใช้น้ำอุ่นและสะอาดล้างบริเวณดังกล่าวอาจช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น หลังจากอาบน้ำแล้ว ให้คุณเช็ดตัวอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันแรกๆ ให้คุณนั่งเบาๆ และนอนตะแคงข้างแทนที่จะนอนหงาย หากคุณรู้สึกเจ็บและรู้สึกไม่สบายบริเวณรอยเย็บ ให้คุณปรึกษาแพทย์เพราะเขาอาจแนะนำวิธีรักษา
หากคุณอยู่ในช่วงให้นมลูก ให้คุณปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะซื้อยาแก้ปวดอย่างไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอล โดยทั่วไปแล้วรอยเย็บจะละลายเมื่อรอยตัดหรือรอยฉีกขาดหายดีแล้ว แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องนำไหมออกมา
การเข้าห้องน้ำ
การขับปัสสาวะในช่วงแรกสามารถเป็นเรื่องที่ดูน่ากลัวเพราะมันอาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บ และคุณไม่สามารถรู้สึกถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ ทั้งนี้การดื่มน้ำปริมาณมากจะทำให้ปัสสาวะเจือจาง แต่ให้คุณแจ้งแพทย์หากคุณรู้สึกว่าการขับปัสสาวะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับคุณ
คุณอาจไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระหลังจากคลอดลูกไม่กี่วัน แต่คุณก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองมีอาการท้องผูก ทั้งนี้ให้คุณทานผักและผลไม้สด สลัด ซีเรียลโฮลเกรน ขนมปังโฮลเกรน และดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม โอกาสที่รอยเย็บจะฉีกขาดหรือเปิดออกนั้นก็เป็นไปได้น้อยมาก การวางกระดาษชำระที่สะอาดบนรอยเย็บในขณะที่ถ่ายอุจจาระและการไม่เบ่งอุจจาระแรงเกินไปก็อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น
ริดสีดวงทวาร
การเป็นริดสีดวงทวารหลังจากคลอดลูกเป็นเรื่องที่ปกติมาก แต่โดยทั่วไปแล้วมันจะหายไปภายในไม่กี่วัน ทั้งนี้ให้คุณทานผักหรือผลไม้สด สลัด ธัญพืชเต็มเมล็ด และดื่มน้ำให้เพียงพอ ซึ่งการทานอาหารดังกล่าวสามารถช่วยให้คุณถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้นและรู้สึกเจ็บน้อยลง อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป เพราะมันจะทำให้ปัญหาแย่ลง หากคุณรู้สึกไม่สบายตัวมาก ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ ซึ่งเขาสามารถจ่ายออยท์เมนท์ที่ช่วยรักษาริดสีดวง
การมีน้ำคาวปลาออกหลังคลอด
คุณจะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาจากช่องคลอดหลังจากคลอดลูก ซึ่งจะมีปริมาณค่อนข้างมากในตอนแรก และคุณอาจจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยที่ซึมซับได้มากเป็นพิเศษ รวมถึงเปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นประจำ และล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้ อย่างไรก็ตาม คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจนกว่าคุณจะได้ตรวจร่างกายหลังคลอดในสัปดาห์ที่ 6 เพราะมันสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อ
ในขณะที่ให้นมลูก คุณอาจสังเกตว่าเลือดมีสีแดงมากขึ้นและมีปริมาณมากขึ้น คุณอาจรู้สึกปวดท้องเกร็งเหมือนกับตอนมีประจำเดือน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะว่าการให้นมลูกทำให้มดลูกบีบตัว อย่างไรก็ดี สีของเลือดจะค่อยๆ กลายเป็นสีน้ำตาล และอาจมีเลือดไหลต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งปริมาณจะน้อยลงจนมันหายไปเอง แต่หากคุณพบว่ามีก้อนเลือดออกมาเป็นจำนวนมาก คุณอาจถ่ายรูปหรือเก็บไว้เพื่อใช้อ้างอิงเมื่อไปพบแพทย์ ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา
การป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตันหลังคลอดลูก
ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันหลังคลอดลูกเป็นภาวะที่ร้ายแรงซึ่งลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดดำส่วนลึกของขา ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากลิ่มเลือดเคลื่อนจากขาไปยังปอด อย่างไรก็ดี ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะหลอดเลือดดำอุดตันมากขึ้น
นอกจากนี้การเดินทางโดยเครื่องบินที่ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งคุณต้องใช้เวลานั่งเป็นเวลานานอาจทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากคุณต้องเดินทางโดยใช้เครื่องบิน การขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเดินทางก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเขาสามารถแนะนำวิธีออกกำลังกายในขณะที่นั่งเพื่อให้ระบบหมุนเวียนโลหิตยังคงทำงานได้ตามปกติ หากคุณขาบวม ปวดขา หรือหายใจลำบากหลังจากไปท่องเที่ยว ให้คุณไปพบแพทย์
การฟื้นตัวจากการผ่าคลอด
การคลอดโดยวิธีผ่าคลอดจะใช้เวลาพักฟื้นร่างกายนานกว่าการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ หลังจากที่ผ่าคลอด คุณจะรู้สึกไม่สบายตัว และแพทย์ก็อาจให้คุณทานยาแก้ปวด โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการสวนสายปัสสาวะให้คุณนานถึง 24 ชั่วโมง นอกจากนี้คุณอาจต้องโดนฉีดยาทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด คุณสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 2-4 วันโดยขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือที่คุณจะได้รับเมื่ออยู่บ้าน
คุณจะได้รับการส่งเสริมให้เคลื่อนไหวร่างกายโดยการลุกออกจากเตียงและเดินไปรอบๆ ทันทีที่สามารถทำได้ และแพทย์ก็จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายหลังคลอดที่จะช่วยให้คุณฟื้นตัว
คุณสามารถขับรถได้ทันทีที่คุณสามารถขยับได้โดยไม่รู้สึกเจ็บและตราบเท่าที่คุณสามารถหยุดรถแบบฉุกเฉิน ซึ่งสามารถใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์
การตรวจร่างกายและการฉีดวัคซีนหลังคลอด
หลังจากที่คุณคลอดลูก คุณก็จะได้รับการเสนอให้ตรวจร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกันหลังคลอด
โรคหัดเยอรมัน
หากคุณยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันเมื่อทดสอบในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้วแพทย์ก็จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมันให้ก่อนที่คุณจะออกจากแผนกสูติกรรมหรือหลังจากนั้นไม่นาน
หากคุณยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ คุณไม่ควรพยายามตั้งครรภ์อีกครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากฉีดยา แต่คุณยังสามารถให้นมลูกได้อย่างปลอดภัย
หากคุณมีกรุ๊ปเลือดเป็น Rh ลบ
หากกรุ๊ปเลือดของคุณเป็น Rh ลบ แพทย์ก็จะเก็บตัวอย่างเลือดจากสายสะดือหลังจากที่คุณคลอดลูกเพื่อดูว่าลูกของคุณมีเลือดกรุ๊ป Rh บวกหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ คุณก็จะถูกฉีดยาเพื่อปกป้องลูกคนถัดไปจากโรคที่เรียกว่า Rhesus Disease ซึ่งการฉีดยาควรทำขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่ทารกเกิด
การทำความรู้จักกับเด็กแรกคลอด
- คุณอาจต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงไม่กี่วันแรกหลังคลอดไปกับการดูแลลูก
- หากคุณสังเกตบางสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกกังวล แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ คุณก็อย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์
- ภายใน 24 ชั่วโมงแรก แพทย์จะฉีดวิตามินเคให้แก่ทารกเพื่อป้องกันโรคเลือดที่มีความรุนแรง
- ทารกจะได้รับการตรวจร่างกายจนทั่วในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยเฉพาะการตรวจดวงตา หัวใจ สะโพก และอัณฑะ
- ในช่วงสัปดาห์แรกๆ แพทย์อาจเจาะเลือดที่ฝ่าเท้า และทดสอบการได้ยินของทารก
การดูแลสายสะดือ
หลังจากที่คุณคลอดลูก แพทย์จะหนีบสายสะดือชิดกับสะดือของทารกด้วย Plastic Clip หลังจากนั้นเขาก็จะตัดสายสะดือ แต่ก็อาจมีสายสะดือบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ กว่าที่สายสะดือจะแห้งและหลุดออกอาจต้องใช้เวลาเกือบสัปดาห์ ทั้งนี้ให้คุณรักษาความสะอาดและทำให้สะดือของทารกแห้งจนกว่าจะเกิดสิ่งที่เรากล่าวไป หากคุณสังเกตว่ามีเลือดหรือของเหลวออกมาจากสะดือ ให้คุณแจ้งแพทย์
กระหม่อม (Fontanelle)
ด้านบนศีรษะของเด็กที่อยู่ใกล้กับด้านหน้าคือ Diamond-Shaped Patch ซึ่งกะโหลกของศีรษะยังไม่ได้เชื่อมต่อกัน นอกจากนี้ยังมีจุดที่นุ่มและมีขนาดเล็กที่ด้านหลังศีรษะของทารก ซึ่งเราเรียกว่า Fontanelles โดยอาจใช้เวลา 1 ปีหรือมากกว่านี้ก่อนที่กระดูกจะปิด อย่างไรก็ตาม คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการจับหรือล้าง Fontanelles เพราะมันถูกปกคลุมไปด้วยเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีความทนทาน
ตุ่มและรอยช้ำ
การมีอาการบวมและรอยช้ำบนศีรษะของเด็กแรกเกิดถือเป็นเรื่องปกติ และบางทีคุณก็อาจพบว่าเด็กตาแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวและแรงดันในระหว่างที่คลอดลูก และจะหายไปเองในเวลาไม่นาน หากคุณรู้สึกกังวล ให้คุณลองปรึกษาแพทย์
ปาน
เมื่อคุณเริ่มสังเกตที่ตัวของทารกอย่างใกล้ชิด คุณอาจพบปานและจุด ซึ่งโดยมากแล้วจะปรากฏที่ศีรษะและใบหน้าของเด็ก ในบางครั้งปานหรือรอยตำหนิมีขนาดใหญ่ แต่ปานส่วนมากจะหายไปในที่สุด ซึ่งรอยตำหนิที่พบบ่อยที่สุดคือ รอยสีชมพูหรือรอยแดงเล็กๆ ที่บางคนเรียกว่า Stork Marks รอยดังกล่าวมีรูปทรงเป็นตัว V ที่หน้าผากและด้านบนของเปลือกตา ซึ่งจะค่อยๆ จางลง แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนที่รอยจะจางหายไปอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้รอยบนด้านหลังคอสามารถติดอยู่นานขึ้น แต่มันก็จะถูกปกคลุมด้วยเส้นขน นอกจากนี้เรายังพบ Strawberry Marks ได้ทั่วไป ซึ่งมีสีแดงเข้มและนูนขึ้นเล็กน้อย ในบางครั้งมันจะปรากฏขึ้นภายในไม่กี่วันหลังคลอดและจะค่อยๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาสักพักที่รอยจะหายไป
จุดที่พบได้ในเด็กแรกเกิด
เราสามารถพบจุดและผื่นได้ทั่วไปในเด็กแรกคลอด โดยอาจเกิดขึ้นและหายไปเอง แต่หากคุณสังเกตว่าพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น เด็กไม่กินนมตามปกติ ง่วงนอนมาก หรือหงุดหงิดมาก ให้คุณแจ้งแพทย์ทันที
ผิวของทารก
ผิวด้านบนของทารกตอนเกิดมีลักษณะบางมากและเสียหายได้อย่างง่ายดาย ในตลอดช่วงเดือนแรกผิวของทารกจะเติบโตและมีการสร้างเกราะป้องกันผิวตามธรรมชาติ
ไขหุ้มทารก (Vernix)
ไขหุ้มทารก หรือ Vernix เป็นสารสีขาวที่มีลักษณะเหนียว ซึ่งจะปกคลุมผิวของทารกในมดลูก ทั้งนี้ไขหุ้มทารกจะถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้มันดูดซึมเองตามธรรมชาติ ไขชนิดนี้เป็นมอยส์เจอไรเซอร์ตามธรรมชาติและช่วยปกป้องเด็กไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่วงวันแรกๆ
อย่างไรก็ดี การอาบน้ำให้ทารกโดยใช้น้ำเปล่าอย่างน้อยในช่วง 1 เดือนแรกเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่คุณก็สามารถใช้สบู่ที่มีฤทธิ์อ่อนและปลอดน้ำหอม และให้หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น Medicated Wipes หรือการใส่คลีนเซอร์ในน้ำที่อาบให้ทารก
หากลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด เขาจะมีผิวที่บอบบางมากเป็นพิเศษ ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะช่วยแนะนำวิธีดูแลผิว ในกรณีที่ลูกของคุณคลอดหลังจากกำหนดการคลอด ผิวของเขาอาจแห้งและแตก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าไขหุ้มทารกถูกดูดซึมภายในมดลูก ทั้งนี้คุณไม่ควรใช้ครีมหรือโลชั่นเพราะมันอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ผิวชั้นบนของทารกจะลอกออกภายใน 2-3 วันถัดไป
ดวงตาของเด็กแรกคลอด
ด็กจะได้รับการตรวจดวงตาทันทีหลังคลอดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกาย ทั้งนี้เด็กแรกคลอดสามารถมองเห็น แต่เขาอาจไม่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจน การมองเห็นของเขาจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงเดือนแรกๆ เมื่อลูกของคุณมีอายุ 2 สัปดาห์ คุณอาจสังเกตเห็นว่าดวงตาของเขามองตามใบหน้าหรือวัตถุที่มีสีสันสดใสที่ห้อยอยู่ไกลออกไป 20 ซม.หากเขาไม่ได้ทำเช่นนี้ คุณก็อย่าลืมที่จะกล่าวถึงปัญหาดังกล่าวเมื่อไปพบแพทย์
ดวงตาของเด็กแรกเกิดอาจมีลักษณะที่เรียกว่า Squint หรือตาเหล่ และมันค่อนข้างเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็กแรกเกิด แต่อาการดังกล่าวควรหายไปใน 3 เดือน หากไม่เป็นเช่นนี้ ให้คุณลองปรึกษาแพทย์
หน้าอกและอวัยวะเพศของเด็กแรกเกิด
หน้าอกของเด็กแรกเกิดมักบวมเล็กน้อยและมีน้ำนมไหลออกมาไม่ว่าเด็กจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย นอกจากนี้อวัยวะเพศของทั้งผู้หญิงและผู้ชายมักบวมเช่นกัน แต่จะดูเป็นสัดส่วนเดียวกับลำตัวภายใน 2-3 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี ทารกเพศหญิงอาจมีเลือดหรือของเหลวสีขาวขุ่นเล็กน้อยไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่ถูกส่งต่อมาจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งคุณไม่ต้องวิตกกังวล ในขณะที่ลูกอัณฑะของเด็กผู้ชายจะพัฒนาขึ้นภายในท้อง และในบางครั้งจะใช้เวลาสักพักในการเคลื่อนลงไปในถุงอัณฑะ
อาการตัวเหลืองในทารกแรกคลอด
เมื่อทารกมีอายุประมาณ 3 วัน เด็กบางคนอาจตัวเหลืองเล็กน้อย ซึ่งผิวและตาขาวของเขาจะดูเป็นสีเหลืองเล็กน้อย โดยเกิดจากเม็ดสีที่ถูกปล่อยออกมาในระหว่างที่มีการสลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่า ทั้งนี้อาการดังกล่าวมักหายไปภายใน 10 วันหรือใช้เวลามากกว่านี้ แต่หากมีอาการตัวเหลืองระดับร้ายแรง ทารกอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา หากลูกของคุณมีอาการตัวเหลืองในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด แพทย์ควรจะตรวจร่างกายให้เขาทันที
สิ่งที่ทารกแรกเกิดสามารถทำได้
ทารกเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการดูด ในช่วงวันแรกๆ เขาเรียนรู้ที่จะดูดพร้อมกับหายใจในระหว่างที่กินนม นอกจากนี้เขาจะหันไปทางหัวนมโดยอัตโนมัติหากหัวนมถูที่แก้มของเขา และเขาจะอ้าปากหากโดนถูริมฝีปากบน เด็กแรกคลอดสามารถคว้านิ้วของคุณโดยใช้มือและนิ้วเท้า และเขายังสามารถก้าวไปข้างหน้าหากถูกอุ้มในท่าที่ตั้งตรงบนพื้นที่ราบ
ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์เหล่านี้ยกเว้นการดูดจะหายไปภายในไม่กี่เดือน ทารกแรกเกิดสามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด เขาจะมองคนและวัตถุโดยเฉพาะหากเขาอยู่ใกล้และมักมองใบหน้าคน นอกจากนี้คุณอาจสังเกตว่าทารกพยายามเลียนแบบสีหน้าของคุณ เขาจะเพลิดเพลินกับการสัมผัสเบาๆ และเสียงที่ชวนให้ผ่อนคลาย อีกทั้งยังตอบสนองต่อแสงสว่างและเสียงรบกวน ยิ่งไปกว่านั้น ทารกยังสามารถจดจำกลิ่นและเสียงของพ่อแม่หลังจากที่เกิดในไม่ช้า