ไตอักเสบ เป็นโรคที่สามารถรักษาเพื่อควบคุมอาการได้ หากผู้ป่วยสังเกตพบความผิดปกติของอาการไตอักเสบได้เร็วและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ร่วมกับดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง จะช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคและลดความเสี่ยงสู่การเป็นไตวายเรื้อรัง
ไตอักเสบเกิดจากอะไร?
ในไตมีหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก หลอดเลือดฝอยที่อยู่เป็นกระจุกในไตแต่ละข้าง เรียกว่า หลอดเลือดฝอยโกลเมอรูลัส (Glomerulus) ทำหน้าที่คล้ายผ้ากรอง กรองผ่านของเสียและน้ำส่วนเกินของร่างกายออกทางปัสสาวะ เมื่อหลอดเลือดฝอยขนาดเล็กเหล่านี้เกิดการอักเสบขึ้น ทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคไตอักเสบ” หรือ Glomerular Disease และพบว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวนถึง 40 % มีสาเหตุของโรคมาจากโรคไตอักเสบ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
โรคไตอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามพยาธิสภาพการเกิดโรค ได้แก่
- ไตอักเสบที่มีพยาธิสภาพหลักที่กระจุกหลอดเลือดฝอยโกลเมอรูลัส
- ไตอักเสบที่พยาธิสภาพเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคไตอักเสบลูปัส โรคไตอักเสบจากเบาหวาน และโรคไตอักเสบจากเส้นเลือดอักเสบ เป็นต้น
โรคไตอักเสบ มีอาการแสดงทางคลินิกหลากหลาย ผู้ป่วยบางรายตรวจพบความผิดปกติของปัสสาวะโดยบังเอิญ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมตามร่างกาย บางรายปัสสาวะเป็นฟอง บางรายปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการผิดปกติด้วยตนเองได้จากลักษณะปัสสาวะว่ามีฟองมากขึ้นหรือไม่ หากปัสสาวะมีความผิดปกติสัมพันธ์กับมีอาการบวมเพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณของอาการโปรตีนรั่วได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะปัสสาวะสีเข้มเสมอไป
เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคไตอักเสบ ในเบื้องต้นจะวินิจฉัยจากอาการและความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการที่ตรวจพบ และจะพิจารณาส่งผู้ป่วยไปเจาะชิ้นเนื้อไต (renal biopsy) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
โรคไตอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นมีผลในการทำลายหลอดเลือดฝอยในไต เช่น การติดเชื้อ การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อไต หรือการป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านเนื้อเยื่อตนเอง เช่น โรคเอส เอล อี เป็นต้น
การรักษาโรคไตอักเสบ
การรักษาโรคไตอักเสบ มีเป้าหมายเพื่อควบคุมอาการแสดงของโรคไตอักเสบ ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตอักเสบ และชะลอการเสื่อมของไต การรักษาโรคไตอักเสบ ประกอบด้วยการรักษาสาเหตุการเกิดโรคไตอักเสบและการควบคุมอาการของโรคไตอักเสบ ดังนี้
- การรักษาสาเหตุการเกิดโรคไตอักเสบ เช่น
- การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในรายที่มีสาเหตุโรคไตอักเสบจากการติดเชื้อ
- การรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในรายที่มีสาเหตุโรคไตอักเสบจากเบาหวาน
- การรักษาด้วยการให้ยาควบคุมความดันโลหิตในรายที่มีสาเหตุโรคไตอักเสบจากภาวะความดันโลหิตสูง
- การรักษาด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกันในรายที่มีการอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ไตจากพยาธิสภาพของโรคเอส เอล อี เป็นต้น
- การควบคุมอาการของโรค ผู้ป่วยโรคไตอักเสบมักตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และมีอาการบวม ดังนั้น แพทย์จะให้ยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้อาการบวมของผู้ป่วยลดลง และควบคุมการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ โดยการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) การให้ยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย และการให้ยากลุ่ม ACE inhibitors หรือ ARBs โดยปกติยากลุ่มนี้เป็นยาลดความดันโลหิต แต่สำหรับผู้ป่วยที่พบโปรตีนใน ปัสสาวะ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยากลุ่มนี้โดยที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงก็ได้ เนื่องจากการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่มีโปรตีนในปัสสาวะมีวัตถุประสงค์เพื่อลดแรงดันในหลอดเลือดฝอยในไต ลดการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบภายในเซลของไต และ เป็นต้น
การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตอักเสบ
ถ้าผู้ป่วยดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องหลังทราบว่าป่วยเป็นโรคไตอักเสบ จะส่งผลดีต่อการควบคุมโรคเป็นอย่างยิ่ง โดยการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตอักเสบที่สำคัญ มีดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมน้อย คำว่า “อาหารโซเดียมต่ำ” “อาหารลดเค็ม” และ “อาหารเกลือน้อย” เป็นลักษณะอาหารที่มีความเหมือนกันในเรื่องปริมาณโซเดียมที่ต่ำ ซึ่งโดยปกติโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่และการกระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ควบคุมสมดุลกรด-ด่าง ควบคุมการเต้นของหัวใจและชีพจร และมีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ร่างกายของคนเราจะได้รับโซเดียมจากอาหาร ซึ่งมักอยู่ในรูปเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่มีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ โซเดียมยังมีในอาหารในรูปแบบอื่นที่ไม่มีรสเค็มได้ เช่น ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น หากรับประทานเกลือโซเดียมมากเกินความจำเป็นของร่างกาย จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำ หากไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือที่คั่งออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมตามร่างกาย และเกิดภาวะน้ำท่วมปอดตามมาได้ การรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ นอกจากหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม และการลดปริมาณเกลือในการปรุงอาหารแล้ว ยังมีวิธีการอื่น ที่ช่วยลดการรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารแปรรูป หรืออาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เช่น อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น
- จำกัดการใช้ซอสปรุงรสต่างๆ ในการปรุงอาหาร หรือการเติมซอสในอาหาร เช่น ซีอิ้วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ และซุปก้อนต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
- จำกัดการใช้ผงชูรส ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณ 15 % ของส่วนประกอบทั้งหมด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมกรุบกรอบ และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น โจ๊ก บะหมี่ ซุปต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะปรุงรสด้วยผงปรุงรสที่มีส่วนประกอบของโซเดียม
- จำกัดการบริโภคขนมต่างๆ ที่มีผงฟู (Baking powder หรือ Baking Soda) เป็นส่วนผสม เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง เนื่องจากผงฟูมีโซเดียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ
- หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ ซึ่งมักมีส่วนประกอบของโซเดียม เพื่อชดเชยการเสียเหงื่อสำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก
- หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ซึ่งมีการเติมสารกันบูดที่มีโซเดียมเบนโซเอต
- รับประทานอาหารไขมันน้อย เนื่องจากในช่วงที่มีอาการของโรคไตอักเสบ มักพบว่าผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดสูง และเมื่อสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้ว ไขมันในเลือดจะกลับสู่ปกติได้
- จำกัดปริมาณน้ำดื่ม เนื่องจากในช่วงที่มีอาการของโรคไตอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการบวม ดังนั้น จึงควรจำกัดปริมาณน้ำดื่มต่อวัน โดยประมาณจากปริมาณปัสสาวะที่ขับออกมาใน 24 ชั่วโมง รวมกับปริมาณน้ำที่สูญเสียไปทางเหงื่อและลมหายใจ เท่ากับ 500 มิลลิลิตร/วัน เช่น หากปัสสาวะ 600 มิลลิลิตร/วัน ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันไม่ควรเกิน 1,100 มิลลิลิตร/วัน เป็นต้น
- เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง โดยเฉพาะไข่ขาว เพื่อชดเชยโปรตีนไข่ขาว หรือ อัลบูมิน (Albumin) ที่สูญเสียไปกับปัสสาวะ และโปรตีน โดยปกติอัลบูมิน มีหน้าที่รักษาแรงดันออสโมติกของเลือด โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่าความดันออนโคติก (Oncotic pressure) ซึ่งเป็นแรงดันที่ทำหน้าที่ดึงดูดน้ำเอาไว้ภายในหลอดเลือด เมื่อปริมาณอัลบูมินในเลือดลดลง ค่าแรงดันออนโคติกจะลดลงด้วย ส่งผลให้น้ำเคลื่อนตัวออกนอกหลอดเลือด เกิดภาวะบวมน้ำในที่สุด