กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

ไข้อีดําอีแดง ข้อมูล สาเหตุ อาการ การติดต่อ รักษา และป้องกัน

รู้จักโรคชื่อไทยๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ ทำให้มีผื่นแดง สาก หนาขึ้นตามลำตัวและใบหน้า
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ธ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ไข้อีดําอีแดง ข้อมูล สาเหตุ อาการ การติดต่อ รักษา และป้องกัน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) ที่คอหอย หรือต่อมทอนซิล พบได้ในเด็กทุกช่วงอายุ โดยจะพบมากในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี
  • ไข้อีดำอีแดงติดต่อได้ด้วยการหายใจรดกัน การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย
  • อาการของไข้อีดำอีแดงมักเริ่มด้วยการมีไข้และเจ็บคอ ตามด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีผื่นแดงหนาและสากเหมือนกระดาษทรายขึ้นตามลำตัว แขนขา และลิ้นบวมแดงเหมือนผลสตรอเบอรี่
  • หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีไข้อยู่ประมาณ 5-7 วัน จึงลดลง แต่หากได้รับยาปฏิชีวนะ อาการไข้และผื่นแดงจะลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน
  • วิธีป้องกันไข้อีดำอีแดงคือ การรักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารสดใหม่ สะอาด หมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหาร หรือเมื่อไปสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ "ไข้อีดำอีแดง" นี้มาก่อน พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนอายุ 5-12 ปี ติดต่อได้ง่ายเพียงการหายใจรดกัน หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งเช่น น้ำลาย 

ลักษณะเด่นของโรคคือ มีผื่นแดงและมีความสากคล้ายกระดาษทรายขึ้นตามลำตัว แขนขา และมักมีลิ้นบวมแดง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

รู้จักไข้อีดำอีแดง

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) ที่คอหอย หรือต่อมทอนซิล ทำให้เกิดหนอง หรือมีจุดเลือดออกได้ ไม่เพียงเท่านั้นเชื้อนี้ยังสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดผื่นอันเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ได้

อาการของโรคไข้อีดำอีแดง

  • มีไข้สูง (ไข้อาจขึ้นสูงได้ถึง 103-104 องศาฟาเรนไฮต์) หากไม่ได้รับการรักษา ไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 5-7 วัน แต่โดยส่วนมากจะลดลงได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน หากได้รับยาปฏิชีวนะ
  • เจ็บคอ แต่มักไม่พบอาการไอจากการติดเชื้อนี้
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน 
  • หนาวสั่น 
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดท้อง

ในช่วง 12-48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการดังกล่าวจะเกิดผื่นแดง สากเหมือนกระดาษทรายขึ้น ผื่นนี้เกิดจากพิษที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง 

ผื่นจากไข้อีดำอีแดง

ผื่นแดงที่เกิดจากไข้อีดำอีแดงมักประกอบด้วยตุ่มเล็กๆ สีแดงขึ้นหนาแน่น มีความสากเหมือนกระดาษทราย ผื่นแดงจะเริ่มจากลำตัว แขนขา และขาหนีบ หลังจากนั้นจะกระจายไปทั่วตัว 

ผื่นนี้จะคงอยู่ประมาณ 5-6 วัน จากนั้นผื่นจะลอกออกเป็นขุย หรือแผ่นบริเวณผิวหนังไล่จากใบหน้า ลำคอ ลำตัว ไปยังปลายมือ และปลายเท้า 

วิธีแยกผื่นและอาการจากไข้อีดำอีแดงจากโรคอื่นๆ 

บางครั้งผื่นจากไข้อีดำอีแดงจากผื่นชนิดอื่นๆ ก็มีความใกล้เคียงกันทั้งลักษณะผื่นและอาการอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้นึกถึงโรคอีดำอีแดงมากกว่าโรคอื่น ได้แก่

  • ผื่นมีลักษณะเหมือนกระดาษทราย (Sand paper like rash) เนื่องจากมีตุ่มเล็กนูนจำนวนมาก เมื่อลองลูบบริเวณที่มีผื่นจะรู้สึกสากเหมือนสัมผัสกระดาษทราย ส่วนมากจะพบที่บริเวณแขนและหน้าอกมากกว่าบริเวณใบหน้า
  • รอบปากซีด  เป็นคำที่เรียกกันเล่น ๆ ในทางการแพทย์ หมายถึงมักจะพบว่า บริเวณรอบปากซีดลงเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณหน้าผากและแก้มที่แดงมากขึ้น
  • กดแล้วจาง ผื่นแดงๆ นี้จะกดจาง (เมื่อกดที่ตุ่มแดง ผิวบริเวณนั้นจะขาวขึ้น) ต่างกับผื่นจากโรคอื่น (จุดเลือดออก) ที่กดแล้วไม่จาง
  • เส้น Pastia  เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบได้บ่อยในไข้อีดำอีแดง โดยจะพบเป็นเส้นสีเข้มที่เกิดขึ้นบนผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขนทั้งสองข้างซึ่งอาจดูเหมือนบริเวณที่โดนแดดเผา
  • ลิ้นสตรอเบอร์รี่ (Strawberry tongue) เป็นอีกสิ่งที่พบได้บ่อย โดยจะพบว่า ลิ้นแดงและบวมมากขึ้น ช่วงแรกจะพบว่า ลิ้นจะมีปื้นสีขาวคลุม เมื่อเปรียบเทียบกับต่อมรับรสที่บวมและแดงมากขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆ จะทำให้มีลักษณะเหมือนผลสตรอเบอร์รี่

ไข้และผื่นนี้มักจะพบร่วมกับการมีคอแดงและอักเสบและมีต่อมทอนซิลที่บวมแดง มีหนองคลุมได้ นอกจากนั้นยังทำให้ความอยากอาหารลดลง อ่อนเพลีย และไม่มีแรงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หากไม่แน่ใจว่า อาการที่ลูกของคุณเป็นอยู่นั้นเข้าข่ายโรคไข้อีดำอีแดง หรือไม่ หรือว่าหากเข้าข่ายแล้วควรปฏิบัติอย่างไร ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์เด็กออนไลน์ให้บริการแล้ว สามารถเลือกได้ทั้งโทรคุยแบบไม่เห็นหน้า หรือจะเปิดวิดีโอคอลก็ได้

เป็นบริการที่สะดวกสบาย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ใช้บริการนี้ได้ไม่ยากเลย 

การวินิจฉัยไข้อีดำอีแดง

เมื่อลูกของคุณมีอาการที่อาจเป็นโรคอีดำอีแดง แพทย์มักจะป้ายเชื้อจากคอไปตรวจว่า เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อโรคไข้อีดำอีแดงหรือไม่ บางครั้งการตรวจนี้อาจได้ผลเป็นลบ แต่ผลเพาะเชื้อภายหลังอาจระบุว่า ติดเชื้อชนิดนี้

การติดต่อของไข้อีดำอีแดง

ไข้อีดำอีแดง หรือโรคที่เกิดจากคออักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูก น้ำลายของผู้ที่กำลังมีอาการติดเชื้อ หรือสัมผัสโดยตรงจากแผลที่ติดเชื้อโดยตรง 

นอกจากนี้สารคัดหลั่งยังสามารถสัมผัสผ่านทางอาหาร อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีการใช้เครื่องใช้ หรือของเล่นร่วมกัน พบได้ในการระบาดของโรคทางอาหารในบริเวณโรงเรียน หรือสถานที่เลี้ยงเด็ก

การรักษาไข้อีดำอีแดง

การติดเชื้อนี้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน (Penicillin) เช่น อะม็อกซิลลิน (Amoxicillin) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) เป็นเวลา 10 วัน โดยทั่วไปเมื่อรับประทานยาแล้ว ภายใน 24 ชั่วโมงแรก อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไข้ลดลง ผื่นยุบ ลอก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้อาการจะดีขึ้น แต่ต้องดูแลบุตรหลานให้รับประทานยาจนครบทั้ง 10 วัน โดยแบคทีเรียชนิดนี้ยังสามารถก่อโรคไข้รูห์มาติก (Rheumatic fever) เกิดหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจรั่ว และไตอักเสบได้ แต่พบได้น้อย

ดังนั้นแม้ว่าอาการของโรคจะดีขึ้นแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามกำหนดมีความสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้รูห์มาติกได้ โรครูห์มาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอง แต่เกิดจากผลของการกำจัดเชื้อแบคทีเรียของร่างกาย

นอกจากนั้นควรแยกลูกของคุณให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้าน ไม่ควรไปโรงเรียน หรือพบเพื่อน อย่างน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงหลังได้รับยาปฏิชีวนะ หลังจากนั้นไข้อีดำอีแดงจะมีการแพร่กระจายเชื้อลดลง

ไข้อีดำอีแดงและการติดเชื้อที่ผิวหนัง

แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่สามารถพบการเกิดโรคไข้อีดำอีแดงภายหลังการมีการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ โดยแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนี้ เป็นชนิดเดียวกับการเกิดการติดเชื้อพุพองที่ใบหน้า (Impetigo

อาการจะคล้ายกับการเกิดไข้อีดำอีแดงตามปกติดังที่กล่าวมาแล้ว แต่แทนที่จะเกิดตามหลังอาการเจ็บคอของการติดเชื้อคออักเสบจะพบว่า มีการติดเชื้อที่ผิวหนังโดยเฉพาะรอบ ๆ แผลที่มีอยู่เดิม

การป้องกันและการลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในเด็ก

  • หากลูกของคุณเป็นโรคไข้อีดำอีแดงจำเป็นต้องให้เด็กอยู่ในบ้านอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หลังจากเริ่มให้ยาปฏิชีวนะจนกว่าจะไม่มีไข้รวมถึงอาการดีขึ้น นอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กคนอื่นติดเชื้อแล้วยังช่วยให้ร่างกายของเด็กได้พักผ่อน 
  • การล้างมือที่ถูกต้องเป็นวิธีสำคัญในการป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะหลังไอ จาม หรือ ก่อนจับอาหาร ถึงแม้คำแนะนำนี้จะดูง่าย แต่การล้างมือให้ถูกต้องนั้นกลับไม่ได้ปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร 
  • ควรปิดปากขณะไอ จาม ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ก็เป็นการป้องกันที่ดี รวมทั้งการแยกภาชนะของผู้ป่วย การแยกซักล้างเครื่องใช้ส่วนตัวก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

โรคไข้อีดำอีแดงไม่ใช่โรคร้ายแรงสามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ผู้ปกครองควรรู้จักสังเกตว่า ผื่นแดงร่วมกับอาการไข้ที่เกิดขึ้นกับบุตรหลาน ไม่ใช่ผื่นจากอาการแพ้แต่เป็นผื่นจากโรคมากกว่า เพื่อจะได้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bahman Sotoodian, MD, Scarlet Fever (https://emedicine.medscape.com/article/1053253-overview), 27 August 2020.
รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (https://www.si.mahidol.ac.th/th/tvdetail.asp?tv_id=508), 27 สิงหาคม 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
จะสื่อสารกับผู้ให้การดูแลเด็กอย่างไร?
จะสื่อสารกับผู้ให้การดูแลเด็กอย่างไร?

การสนทนาแบบเปิดจะช่วยให้พ่อแม่ได้รับข้อมูลล่าสุดอยู่เสมอ

อ่านเพิ่ม