"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

สิวในเด็กเล็ก...ยังเด็กเป็นสิวได้ด้วยหรือ?

รู้จัก สิว ที่เกิดได้ในช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเป็นวัยรุ่น และแนะนำวิธีดูแลอย่างถูกต้อง ปลอดภัย
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 18 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
สิวในเด็กเล็ก...ยังเด็กเป็นสิวได้ด้วยหรือ?

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมลูกเพิ่งเกิดแต่มีตุ่มคล้ายสิวขึ้นที่ใบหน้า แต่เด็กเล็กขนาดนี้เหตุใดจึงมีสิวได้ หรือว่ารักษาความสะอาดลูกไม่เพียงพอหรือเปล่า สิวในวัยนี้มีอันตรายหรือไม่ จะรักษาได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

เป็นที่รู้กันดีว่า สิวเป็นปัญหาของผู้มีอายุตั้งแต่วัยรุ่นเป็นต้นไป ภาษาทางการแพทย์เรียกโรคสิวดังกล่าวว่า “Acne vulgaris” แต่จริงๆ แล้วสิวยังมีอีกหลายประเภทที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากช่วงอายุดังกล่าว โดยเฉพาะในวัยเด็ก ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษาหลุมสิว ลดรอยสิว วันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 74%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1. สิวในวัยทารกและวัยเด็กเล็ก

สิวในวัยทารก (Neonatal acne) หรือวัยเด็กเล็ก (Infantile acne) มักมีลักษณะเป็นสิวอักเสบ (Inflammatory papules) หรือเป็นตุ่มหนอง (Pustules) หรือบางครั้งอาจเป็นสิวอุดตัน (Comedones) ได้ สิวในวัยทารกนั้นสามารถพบได้ในช่วงแรกเกิดจนถึงช่วงขวบเดือนแรกของชีวิต ตำแหน่งที่มักมีสิว ได้แก่ บริเวณใบหน้า เช่น แก้ม หน้าผาก หรือจมูก โดยส่วนใหญ่จะมีสิวจำนวนไม่มาก สิวในวัยทารกสามารถพบได้ประมาณ 20 % ของทารกแรกเกิด โดยมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 5 เท่า ส่วนสิวในวัยเด็กเล็กนั้นมักเริ่มขึ้นที่อายุประมาณ 3 ถึง 6 ขวบเดือนแรก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อยกว่าสิวในวัยทารก แต่จะมีอาการรุนแรงกว่าและมีการดำเนินของโรคที่ยาวนานกว่า ลักษณะของสิวมีทั้งสิวอักเสบ ตุ่มหนอง และสิวอุดตัน คล้ายสิวในวัยทารก แต่มักอยู่แค่บริเวณหน้าเท่านั้น โดยพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง  

เชื่อว่าสิวในวัยทารกและวัยเด็กเล็กเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ

  1. ปัจจัยการสร้างฮอร์โมนเพศ (Androgen) ซึ่งมีผลต่อต่อมไขมันทำให้เกิดสิว โดยในช่วง 6-12 เดือนแรกของเด็กนั้น ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนเพศในปริมาณที่ใกล้เคียงกับอายุที่เริ่มเข้าวัยรุ่น แต่ในเด็กผู้ชายจะมีการสร้างฮอร์โมนเพศในปริมาณและจำนวนชนิดที่มากกว่า จึงทำให้มีโอกาสเกิดสิวได้มากกว่าในเด็กผู้หญิง
  2. ปัจจัยการตอบสนองที่มากเกินไปของต่อมไขมันต่อฮอร์โมนเพศในระดับปกติ การที่ต่อมไขมันสร้างไขมันมากเกินไป ทำให้เกิดไขมันอุดตันและเกิดการอักเสบตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของสิวในที่สุด

นอกจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังเชื่อว่าภาวะดังกล่าวยังสัมพันธ์กับการมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นสิวรุนแรงและการมีฮอร์โมนเพศในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ

โรคที่มีอาการคล้ายสิวในวัยทารกและวัยเด็กเล็กอาจเกิดจากการติดเชื้อรา (Candidiasis) หรือแม่ได้รับยาที่มีผลต่อการเกิดสิวระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการสิวที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องตรวจหาเนื้องอกในต่อมหมวกไตร่วมด้วย (Congenital adrenal hyperplasia หรือ Adrenal tumor)

โดยทั่วไปแล้ว สิวในวัยทารกและสิวในวัยเด็กเล็กสามารถหายได้เอง แต่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานหลายเดือน ส่วนยาที่ใช้รักษานั้น เป็นยาทาซึ่งมีโอกาสเกิดการระคายเคืองกับผิวหนังรุนแรง จึงใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบรุนแรงเท่านั้น

นอกจากสิวในวัยทารกและวัยเด็กเล็กแล้ว ยังมีผื่นที่มีลักษณะคล้ายสิวที่มักเจอในช่วงขวบเดือนแรก มักขึ้นบริเวณศีรษะ ใบหน้า และลำคอ เรียกว่า “Neonatal cephalic melanosis” ผื่นดังกล่าวมักเป็นตุ่มสีแดงอักเสบ โดยมากเป็นตุ่มหนอง ไม่พบลักษณะของสิวอุดตัน มีความสัมพันธ์กับเชื้อราชนิด Malassezia spp. ที่อยู่บนผิวหนัง ซึ่งมักมีปริมาณมากในช่วงแรกเกิด การย้อมสีพิเศษทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสายเชื้อราช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวสามารถหายเองได้ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา (Antifungal cream) เช่น Kenoconazole cream ทาวันละ 2 เวลา ประมาณ 1-2 สัปดาห์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. สิวในวัยเด็ก

สิวในวัยเด็ก หรือทางการแพยท์เรียกว่า “Childhood acne” มีลักษณะผื่นเหมือนสิวที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น แต่ขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ 1-7 ปี หรืออาจนับรวมสิวในวัยทารกและวัยเด็กเล็กที่เป็นอย่างต่อเนื่องจนเกินอายุ 1 ปี สิวในวัยเด็กเป็นภาวะทางผิวหนังที่ต้องหาสาเหตุของสิว เนื่องจากสิวในอายุนี้เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศที่มากเกินไปจากเนื้องอกต่อมหมวกไต เนื้องอกต่อมเพศ (Gonadal tumor) หรือการเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ (Precocious puberty) ซึ่งมีความจำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ หรือแม้แต่การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (x-ray) เพื่อดูความสัมพันธ์ของอายุกระดูกและอายุจริงของเด็ก การรักษาทางผิวหนังจำเป็นต้องใช้ยาและอยู่ในการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

3. สิวในช่วงก่อนวัยรุ่น

สิวในช่วงก่อนวัยรุ่น หรือ “Preadolescent acne” เป็นสิวที่เกิดในระหว่างช่วงอายุ 7-11 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ร่างกายจะมีการพัฒนาทางกายภาพเข้าสู่วัยรุ่น เช่น การมีหน้าอกหรือประจำเดือนในผู้หญิง การมีเสียงห้าวในผู้ชาย การมีกลิ่นตัว หรือการมีขนบริเวณรักแร้และอวัยวะเพศ โดยส่วนใหญ่สิวในวัยนี้จะเป็นสิวอุดตันจำนวนเล็กน้อย พบได้บ่อยในบริเวณหน้าผากและส่วนกลางของใบหน้า หรือที่เรียกว่าทีโซน (T-zone) สิวในช่วงก่อนวัยรุ่น หากไม่รุนแรง เป็นภาวะที่เจอได้ในเด็กปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome (PCOS)) หรือการมีภาวะฮอร์โมนเพศเกิน (Hyperandrogenism) ซึ่งมักพบร่วมกับการพัฒนาทางกายภาพเข้าสู่วัยรุ่น เช่น การมีกลิ่นตัว เป็นต้น สิวในช่วงก่อนวัยรุ่นสามารถใช้ยารักษาสิวตามมาตรฐานได้เช่นเดียวกับสิวทั่วไป (Acne vulgaris)

4. สิวในช่วงวัยรุ่น

สิวในช่วงวัยรุ่น หรือ “Adolescent acne” เป็นสิวที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากในช่วงวัยรุ่นมีการหลั่งฮอร์โมนเพศ ทำให้เกิดการกระตุ้นต่อมไขมัน เป็นสาเหตุของการเกิดสิว ลักษณะของสิวในช่วงนี้มีได้ทั้งสิวอักเสบ (Inflammatory papules) สิวตุ่มหนอง (Pustules) สิวตุ่มน้ำ (Nodulocystic lesions) และสิวอุดตัน (Comedones) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว โดยตำแหน่งที่พบบ่อยเป็นตำแหน่งที่ผิวหนังมีต่อมไขมันอยู่จำนวนมาก ได้แก่ ใบหน้า โดยเฉพาะหน้าผากและตรงกลางหน้าที่เรียกว่าทีโซน (T-zone) แก้ม ไรผม หน้าอก และหลังส่วนบนเป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากสิว ได้แก่ การติดเชื้อแทรกซ้อน หลุมสิว แผลเป็นที่เกิดจากสิว รวมถึงสภาวะทางจิตใจในด้านลบ เช่น ความอาย หรือความไม่มั่นใจในตนเอง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการเข้าสังคมในที่สุด การรักษาสิวในช่วงวัยรุ่น นอกจากการดูแลผิวที่ดีแล้ว ยังอาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ชนิดทา และชนิดรับประทาน ดังนี้

  • ยาทาสำหรับสิว มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ของยา เช่น Topical benzoyl peroxide, Topical antibiotics (เช่น Topical clindamycin lotion) หรือ Topical retinoids เป็นต้น ยาแต่ละชนิดมีรูปแบบการใช้ ข้อระวัง และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป เช่น ยาบางตัวทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทาไวต่อแสงมาขึ้น บางตัวทำให้เกิดความระคายเคืองในบริเวณที่ทา บางตัวทำให้เกิดเชื้อดื้อยา หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิดคู่กันทำให้ยาต้านฤทธิ์กัน ดังนั้นจึงควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์
  • ยารับประทานสำหรับสิว มีทั้งที่เป็นยาฆ่าเชื้อและยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดี แต่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมากและรุนแรงจึงจำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด

โดยสรุป เด็กก็สามารถเป็นสิวได้ โดยสิวในเด็กนั้นมีได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาการมีตั้งแต่สามารถหายเองได้เร็ว ใช้เวลานาน มีสาเหตุมาจากเชื้อราหรือแม้แต่เป็นสัญญาณของเนื้องอกที่จำเป็นต้องได้รับการหาสาเหตุเพิ่มเติม ดังนั้นหากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีสิว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Que SK, Whitaker-Worth DL, Chang MW. Acne: Kids are not just little people. Clin Dermatol. 2016;34:710-716.
Poole CN, McNair V. Infantile Acne. StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing LLC.; 2019.
Maronas-Jimenez L, Krakowski AC. Pediatric Acne: Clinical Patterns and Pearls. Dermatol Clin. 2016;34:195-202.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป