กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

หลังค่อม (Hyperkyphosis)

เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

หลังค่อม เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพบร่วมกับกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) หรือพบเพียงแค่การค่อมลงเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดหลังค่อมนั้นมีทั้งที่สามารถป้องกันได้ และป้องกันไม่ได้ นอกจากกระทำให้บุคคลิกภาพเสียแล้วยังอาจจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือเคลื่อนไหวร่างกายลำบากได้อีกด้วย การทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่หลังค่อมจึงเป็นประโยนช์อย่างมาก

หลังค่อมคืออะไร?

โดยปกติกระดูกสันหลังของมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกสันหลังขนาดเล็กหลายชิ้นเรียงซ้อนกัน สามารถแบ่งได้เป็นสามส่วนคร่าวๆ คือ กระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกสันหลังส่วนส่วนอก และกระดูกสันหลังส่วนส่วนเอว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อมองจากด้านหลังจะเห็นปุ่มกระดูกที่นูนที่สุด (Spinous process) เรียงกันเป็นแถวตรง ไล่ลงมาตั้งแต่ระดับคอถึงเอว เมื่อมองจากด้านข้างจะมีลักษณะเหมือนตัวเอส (S-shape) สังเกตเห็นรอยเว้า (Kyphosis) ที่ระดับคอและเอว และจะพบรอยโค้งที่กระดูกสันหลังส่วนอก (Kyphosis) เป็นปกติ

หลังค่อม (Hyperkyphosis) คือ ความผิดของกระดูกสังหลังส่วนอก(Thoracic Spine ) ที่งุ้มลงมาข้างหน้ามากกว่าปกติ ร่วมกับมีภาวะไหล่ทั้งสองข้างห่อเข้าหากัน นอกจากนี้มักจะพบว่ากระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) มักจะแอ่นไปข้างหน้ามากกว่าปกติร่วมด้วย ซึ่งอาจจะพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอะไรในระยะแรกเพียงแต่เสียบุคคลิคภาพเท่านั้น มีอาการปวดหลัง หายใจไม่สะดวกเพราะรูปร่างของซี่โครงผิดปกติ หรือมีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวันเช่น การเดิน หรือยืนทรงตัว เป็นต้น 

สาเหตุของหลังค่อม

สาเหตุของหลังค่อมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้

  1. เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลัง (Congenital hyper kyphosis) พบว่าสาเหตุของอาการหลังค่อมชนิดนี้มีการสืบทอดทางพันธุกรรม ทำให้สามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก มักจะพบร่วมกับกระดุสันหลังคด หากมีความรุนแรงมากและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อยับยั้งความพิการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. เกิดจากความเสื่อมตามอายุ (Degeneration induced hyper kyphosis) เมื่ออายุมากขึ้น ตัวกระดูกสันหลังจะมีมวลน้อยลง โดยเฉพาะในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนทำให้กระดูกพรุน ส่งผลให้กระดูกสันหลังค่อยๆ ยุบตัวลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลังค่อมพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  3. เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง เช่น การตกจากที่สูง อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีการกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้กระดูกสันหลังยุบตัวมาด้านหน้า ส่งผลให้เกิดหลังค่อม
  4. เกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานานๆ (Postural hyper kyphosis) ข้อนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด และสามารถแก้ไขได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งก้มหลังนานๆ นั่งไหลลงไปกับเก้าอี้ เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวจดจำท่าทางนั้นๆ แม้จะเลิกทำท่าทางนั้นๆ แล้ว แต่กล้ามเนื้อก็ยังหดเกร็งอยู่ในท่านั้น กล่าวคือกล้ามเนื้อด้านหน้าของข้อไหล่ และกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกจะหดสั้น ในขณะที่กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวด้านหลังจะยืดยาวออก นำไปสู่อาการปวดกล้ามเนื้อเป็นๆ หายๆ และเรื้อรังในที่สุด 

หลังค่อมส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

นอกจากการค่อมของหลังที่สามารถเห็นได้ชัดแล้ว หลังค่อมยังสามารถส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ต่อไปนี้ เช่น

  1. ปวดคอ บ่า หลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อเสียสมดุลในการทำงานไป และอาจจะนำไปสู่กล้ามเนื้อักเสบเรื้อรังได้
  2. มีปัญหาด้านการทรงตัว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีหลังค่อมมาก ทำให้จุดศูนย์กลางรับน้ำหนักของร่างกาย (Center of mass) เปลี่ยนไป ทรงผลให้ทรงตัวลำบาก หรือหกล้ม เป็นต้น
  3. มีปัญหาระบบหายใจ เช่น หายใจไม่สุด เหนื่อยง่าย เป็นต้น เนื่องจากหลังค่อมทำให้รูปร่างของช่องทรวงอกเปลี่ยนไป เนื้อปอดบางส่วนถูกกดทับ ทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ 

สามารถประเมินอาการหลังค่อมเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง?

โดยทั่วไป เมื่อมีอาการหลังค่อมจะทำให้บุคคลใกล้ชิดสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยมักจะรู้ตัวจากคำบอกเล่าของบุคคลใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่ หากเดินทางมาพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด ผู้ป่วยมักจะถูกแนะนำให้ถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray) แพทย์จะทำการวัดองศาของกระดูกสันหลัง และประเมินความรุนแรงของอาการผ่านฟิล์มเอกซเรย์

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถประเมินอาการด้วยตนเองง่ายๆ ที่บ้านได้ด้วยการยืนหันหลังชนกำแพง โดยส้นเท้า สะโพก ไหล่ทั้งสองข้าง และท้ายทอยจะต้องแนบไปกับกำแพง หากไม่สามารถทำได้จะถือว่ามีภาวะหลังค่อม ควรเดินทางไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

วิธีการรักษาและฟื้นฟูหลังค่อมทางกายภาพบำบัด

วิธีการรักษาผู้ที่มีอาการหลังค่อมในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. การรักษาที่ต้องพึ่งพาการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และสภาพร่างกายของผู้ป่วย
  2. การรักษาแบบประคับประคองอาการโดยไม่พึ่งพาการผ่าตัด การรักษาวิธีนี้เน้นไปที่การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายเป็นหลัก หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากก็อาจจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ในรายที่อาการมีความรุนแรงมาก การทำกายภาพบำบัดจะช่วยประคับประคองให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และป้องกันการค่อมมากขึ้น

วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อม สามารถแบ่งออกตามวัตุประสงค์ได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. จัดการกับความเจ็บปวด ผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมมักจะมีอาการปวดหลัง ปวดคอ หรือเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและด้านหน้าของข้อไหล่ เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อทั้งการยืดยาวหรือการหดสั้น จะทำไปสู่กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง วิธีการรักษาอาการปวดที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อที่หดสั้น และออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อที่ยืดยาวออก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือออกกำลังกายเพื่อการรักษาได้ นักกายภาพบำบัดก็จะใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเข้ามาเพื่อลดอาการปวดเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ หรือสามารถออกกำลังกายได้ โดยเครื่องมือที่นำมาใช้ลดปวดในผุ้ป่วยกลุ่มนี้บ่อยๆ ได้แก่ อัลตราซาวนด์ การประคบร้อน และการใช้เลเซอร์กกำลังต่ำ (Low level laser therapy)
  2. การออกกำลังกายเพื่อคงองศาหรือลดการค่อมของหลัง ถึงแม้กระดูกจะทำหน้าที่เป็นโครงร่างที่มั่นคงให้แก่ร่างกาย แต่กล้ามเนื้อก็มีส่วนอย่างมากที่ช่วยทรงท่า และทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เมื่อกล้ามเนื้อหดรั้งหรือยืดยาวออก ระบบโครงร่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อม การออกกำลังกายด้วยการยืดหรือเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อบางส่วนให้กลับมาทำงานเป็นปกติจะสามารถช่วยป้องกันการค่อมที่มากขึ้น หรือช่วยให้หลังหายค่อมได้
  3. การเลือกอุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง ในผู้ป่วยที่มีหลังค่อมมากและมีแนวโน้มจะค่อมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง เพื่อป้องกันการค่อมที่มากขึ้นและช่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวก
  4. การให้ความรู้เกี่ยวกับท่าทางที่ถูกต้องในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พฤติกรรมและท่าทางที่ผิดในชีวิตประจำวันมีผลอย่างมากต่อการเกิดหลังค่อม ดังนั้นนักกายภาพบำบัดจะแนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงท่าทางดังกล่าว ซึ่งจำเป็นต้องสังเกต ซักประวัติ และให้คำแนะนำเป็นรายๆ ไป เช่น การปรับท่านั่ง การไม่สะพายกระเป๋าหนักๆ และการปรับท่าทางที่ใช้ในการยกของหนัก เป็นต้น นอกจากนี้หากผู้ป่วยหลังค่อมมีความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน หรือจำเป็นต้องได้รับการเสริมแคลเซียมหรือฮอร์โมนบางอย่าง นักกายภาพบำบัดอาจจะต้องส่งผู้ป่วยไปปรึกษากับแพทย์หรือนักกำหนดอาหารต่อไป

ท่าออกกำลังกายที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการหลังค่อม

สำหรับผู้ที่ประเมินอาการหลังค่อมด้วยตนเองด้วยการยืนหลังชิดกำแพงแล้วไม่สามารถทำได้ และไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เช่นปวดหลัง ปวดคอ หรือเหนื่อยง่าย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาการไม่รุนแรงมาก อาจจะเริ่มออกกำลังกายง่ายๆ และปรับเปลี่ยนท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันตามคำแนะนำที่แนะนำไว้เบื้องต้นสัก 3 เดือน เพื่อดูว่าอาการหลังค่อมลดลงหรือไม่ หากอาการดีขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด

ท่าออกกำลังกายแก้หลังค่อมที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านมีดังนี้

  1. การยืดกล้ามเนื้อหน้าอกและด้านหน้าของข้อไหล่ มี 2 ท่า ได้แก่
    1. เริ่มจากนั่งบนเก้าอี้ที่มั่นคง ฝ่าเท้าติดพื้น หลังยืดตรง ประสานมือทั้งสองข้างหลังท้ายทอย ก่อนจะค่อยๆ แบะไหล่ออกจนสุด พร้อมกับแอ่นอกไปข้างหน้า ค้างไว้ 30 วินาที ทำซ้ำ 5 เซ็ต วันละ 1-2 รอบ
    2. นอนคว่ำบนพื้น ฝ่ามือวางข้างลำตัวระดับอก ค่อยๆ ดันพื้น เหยียดข้อศอก ดันพื้นจนข้อศอกจนตึง ถ้ามีอาการปวดหรือรู้สึกตึงที่บริเวณหน้าอกหรือด้านหน้าของข้อไหล่มากจนไม่สามารถเหยียดศอกให้สุดได้ ให้ค้างไว้ในท่าที่สามารถทำได้ ค้างไว้ 30 วินาที ทำซ้ำ 5 เซ็ต วันละ 1-2 รอบ
  2. การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังระดับอก ทำได้โดยการนอนคว่ำ ใช้หมอนรองใต้ท้อง 1 ใบ ประสานมือทั้งสองข้างไว้หลังท้ายทอย ค่อยๆ ออกแรงแอ่นยกลำตัวให้พ้นพื้น ค้างไว้ 30 วินาที ทำซ้ำ 5 เซ็ต วันละ 1-2 รอบ
  3. การโหนบาร์ ใช้มือทั้งสองข้างจับบาร์ให้มั่น อาจจะเริ่มจากบาร์ที่ความสูงไม่มาก สามารถยืนเท้าเตะพื้นได้ แล้วเริ่มจากการงอเข่าเฉยๆ โดยที่เท้ายังเตะพื้น จากนั้นอาจจะเพิ่มความยากด้วยการงอเข่าให้เท้าพ้นพื้น การเพิ่มความยากระดับสุดท้ายคือ งอทั้งเข่าและสะโพกขณะโหนตัวบนบาร์ การโหนบาร์จะอาศัยน้ำหนักของร่างกายช่วยยืดกล้ามเนื้อที่หดรั้งให้คลายตัว สามารถลดอาการค่อมของหลังได้

ขณะออกกำลังกายตามคำแนะ ห้ามกลั้นหายใจโดยเด็ดขาด ให้พยามเกร็งกล้ามเนื้อนั้นๆ พร้อมกับหายใจอย่างปกติไปด้วย 


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Age-Related Hyperkyphosis: Its Causes, Consequences, and Management. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2907357/)
Jason C. Eck, DO, MS, Kyphosis (https://www.medicinenet.com/kyphosis/article.htm).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
อายุ14ค่า เป็นคนหลังค่อมมาก เเก้ยังไงดีค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ที่ดัดหลังสำหรับคนหลังค่อมนี่ต้องใส่อายุเท่าไหร่ค่ะ อายุ14 ควรใช้มั้ยค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)