"ยา" ทำงานอย่างไรเมื่อเข้าสู่ร่างกายเรา

วิธีการที่ยาแต่ละแบบจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำการรักษาความเจ็บป่วย จนกระทั่งถูกขับออกจากร่างกาย
เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
"ยา" ทำงานอย่างไรเมื่อเข้าสู่ร่างกายเรา

หลายคนอาจเคยสงสัยว่า เมื่อรับประทานยาที่แพทย์สั่ง หรือแม้แต่วิตามินหรืออาหารเสริมทั้งหลายเข้าไป ในรูปแบบยาที่มีลักษณะต่างๆ กัน เช่น แคปซูล ผงแป้งอัดเม็ด ของเหลว ยาฉีด หรือครีมทาผิว สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปทำอะไรกับร่างกายของคุณและออกฤทธิ์รักษาอย่างไรกันแน่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดกระบวนการทั้งหมด 4 กระบวนการ เรียกย่อๆ ว่า ADME ประกอบด้วย

กระบวนการที่ 1 การดูดซึมยา (Absorption: A)

เริ่มหลังจากเราบริหารยาเข้าสู่ร่างกายจนถึงจุดที่มันจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุในร่างกาย เช่น ลำไส้ ยาแต่ละชนิดจะมีปริมาณการดูดซึมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชีวประสิทธิผล (bioavialability) ของยาแต่ละชนิด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รูปแบบของยาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ยาเม็ดในรูปแบบแคปซูลหรือผงแป้งอัด ยาทาผิวหนังภายนอก ยาฉีด ยาน้ำ ยาพ่นทางปากหรือจมูก และยาเหน็บช่องคลอดหรือทวารหนัก จะมีการปลดปล่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแตกต่างกัน ดังนี้

  1. ยาเม็ดในรูปแบบแคปซูลหรือผงแป้งอัด
    เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ยาเม็ดจะต้องแตกตัวและละลายเข้ากับสารเหลวต่างๆ ที่อยู่ในระบบ โดยการแตกตัวและละลายจะต้องอาศัยน้ำที่เราดื่มเข้าไปพร้อมกับเม็ดยา หรือโดยใช้น้ำย่อยที่อยู่ในกระเพาะอาหาร เมื่อแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ แล้ว ก็จะถูกดูดซึมผ่านผนังของอวัยวะในระบบทางเดินทางอาหาร เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้

    โดยทั่วไปยาส่วนใหญ่จะดูดซึมได้ดีบริเวณลำไส้เล็ก อย่างไรก็ตาม บางชนิดที่ต้องการให้ออกฤทธิ์เร็วเพื่อใช้ในการช่วยชีวิต เช่น ยาโรคหัวใจ จะถูกออกแบบมาเป็นเม็ดขนาดเล็กใช้อมไว้ใต้ลิ้น เนื่องจากใต้ลิ้นมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสามารถดูดซึมได้รวดเร็วกว่า หลังจากแตกตัวและดูดซึมผ่านอวัยวะต่างๆ แล้วจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป เพื่อออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย
  2. ยาทาผิวหนังภายนอก การรักษาอาการหรือโรคผิวหนัง นิยมใช้รูปแบบยาทาหรือแปะผิวหนังเฉพาะที่ เช่น ครีม โลชัน ขี้ผึ้ง เจล สเปรย์ แผ่นแปะ เนื่องจากเป็นการรักษารอยโรคที่เป็นโดยตรง ออกฤทธิ์ได้จำเพาะกับโรคทางผิวหนัง โดยเมื่อเราทายาหรือแปะแผ่นแปะที่มีตัวยาผสมอยู่ ยาจะค่อยๆ แพร่และถูกดูดซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนัง ยาชนิดใดจะแพร่ผ่านชั้นผิวหนังได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวยาสำคัญว่าละลายในไขมันได้ดีแค่ไหน หลังจากถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง ก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดต่อไป แต่รูปแบบยาทาผิวหนังอาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยมาก หรือไม่ถูกดูดซึมเลยก็ได้ เพราะต้องการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ในชั้นผิวหนังมากกว่าการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
  3. ยาฉีด ยารูปแบบนี้จะใช้ต่อเมื่อต้องการให้ออกฤทธิ์ในร่างกายอย่างรวดเร็วที่สุด สามารถบริหารได้ในหลายระดับความลึก จากตื้นที่สุดไปลึกที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal injection) เข้าชั้นใต้หนัง (hypodermic injection) เข้าสู่เส้นเลือด (intravascular injection) และเข้าชั้นกล้ามเนื้อ (intramuscular injection) หลังจากการฉีด ยาจะถูกดูดซึมหรือกระจายเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงในทันที

    เนื่องจากยาอยู่ในรูปสารละลายจึงไม่ต้องมีการแตกตัวอีก อย่างไรก็ตาม การฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ อาจหวังฤทธิ์ให้ยาค่อยๆ ปลดปล่อยและกระจายตัวในชั้นกล้ามเนื้อก่อนจึงค่อยถูกดูดซึม ยาจึงออกฤทธิ์ช้าแต่อยู่ในร่างกายได้นานกว่าการฉีดที่ช่องทางอื่น
  4. ยาน้ำ ยาน้ำมีข้อดีเมื่อเทียบกับยาเม็ด ตรงที่ไม่จำเป็นต้องแตกตัว จึงออกฤทธิ์ได้รวดเร็วกว่า แต่ต้องใช้เวลาเคลื่อนที่เข้าสู่ลำไส้ เนื่องจากจะถูกดูดซึมได้ดีบริเวณลำไส้เล็ก โดยระหว่างการเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหาร อาจมีการถูกดูดซึมได้บ้างเพียงเล็กน้อย เทียบกันแล้วถูกดูดซึมช้ากว่ายาฉีด
  5. ยาพ่นทางปากหรือจมูก ยาพ่นสามารถออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างรวดเร็ว แต่เนื่องจากจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุโพรงจมูกซึ่งมีขนาดพื้นที่ผิวในการดูดซึมไม่มาก ยาจึงจะออกฤทธิ์ได้ช้ากว่าการใช้ยาฉีดเล็กน้อย
  6. ยาเหน็บช่องคลอดหรือทวารหนัก หลังจากสอดยาเหน็บ ยาเหน็บต้องอาศัยความร้อนภายในร่างกายในการค่อยๆ ละลายแท่งยาเหน็บซึ่งมีตัวยาบรรจุอยู่ จากนั้นจึงถูกดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดที่อยู่บริเวณช่องคลอดหรือทวารหนักต่อไป

กระบวนการที่ 2 การกระจายยา (Distribution: D)

เมื่อยถูกดูซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว กระแสเลือดจะเป็นตัวกลางเพื่อนำยาไปกระจายสู่เนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกาย จากนั้นจะออกฤทธิ์เพื่อรักษาร่างกายส่วนต่างๆ ที่มีความเจ็บป่วย เพื่อให้ร่างกายกลับมาใกล้เคียงกับสภาพปกติ โดยปริมาณยาในแต่ละอวัยวะจะไม่เท่ากัน มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้น ขนาดโมเลกุลของยา และความเป็นขั้วของยา

กระบวนการที่ 3 การเปลี่ยนแปลงหรือการทำลายยา (Metabolism: M)

เมื่อยากระจายไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะส่วนต่างๆ แล้ว ยาในกระแสเลือดบางส่วนจะถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ที่ตับ เช่น ไซโตโครมพี 450 (cytochrome P450) และอวัยวะอื่นๆ เป็นสารตัวใหม่ที่เรียกว่า เมตาบอไลต์ (metabolite) ซึ่งอาจมีฤทธิ์มากหรือน้อยกว่าเดิมก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีฤทธิ์น้อยกว่ายาตั้งต้น เพื่อพร้อมที่จะถูกขับออกในร่างกายต่อไป

กระบวนการที่ 4 การขับถ่าย (Excretion: E)

ตามกลไกธรรมชาติ คนเราจะมีการขับยาหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายเมื่อมีการทำลายยาแล้ว โดยช่องทางในการขับออกจะมี 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. ขับทางปัสสาวะ (ผ่านการกำจัดทางไต) ถือว่าเป็นช่องทางหลักในการขับยาออกจากร่างกาย โดยยาหรือเมตาบอไลต์ที่ละลายน้ำได้ดีจะถูกขับออกทางปัสสาวะ
  2. ขับทางอุจจาระ ยาหรือเมตาบอไลต์ที่ชอบไขมันจะถูกทำลายโดยตับและน้ำดีจากตับ จากนั้นจึงเดินทางผ่านลำไส้ใหญ่และถูกขับออกทางอุจจาระต่อไป
  3. ขับทางลมหายใจ ยาหรือเมตาบอไลต์บางชนิดอาจถูกขับออกทางลมหายใจผ่านปอดได้ เช่น สารระเหยหรือยาดมสลบ

กระบวนการทั้งหมด 4 ขั้นตอนนี้ จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งยาหมดไปจากร่างกาย ซึ่งอาจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของยาแต่ละชนิดว่าออกฤทธิ์ได้เร็ว-ช้า ออกฤทธิ์ได้สั้น-นาน หรือมีการสะสมหรือตกค้างอยู่ในร่างกายมากน้อยเพียงใด รวมถึงสภาพร่างกาย และอายุของผู้ใช้อีกด้วย เช่น ผู้สูงอายุ และเด็ก โดยทั่วไปจะมีปริมาณยาสะสมในร่างกายมากและนานกว่าคนปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะตับและไตผิดปกติควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมันจะถูกขับออกทางตับหรือไตและอาจทำให้โรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่กำเริบและเป็นหนักขึ้นได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป