กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

“เดือยฟัน” เครื่องป้องกันซี่ฟันของคุณ

รู้จัก เดือยฟัน อุปกรณ์ที่ช่วยพยุงฟันแท้ของคุณให้คงอยู่ พร้อมวิธีการทำเดือยฟันรวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากหลังทำเดือยฟัน
เผยแพร่ครั้งแรก 9 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 2 ธ.ค. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 22 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
“เดือยฟัน” เครื่องป้องกันซี่ฟันของคุณ

หากคุณมีปัญหาช่องปาก ฟันผุ อักเสบ หรือเจ็บลึกถึงรากฟัน จนคุณเริ่มเป็นกังวลว่าจะต้องถอนฟันออก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักกลัวกัน วันนี้เราขอแนะนำหนึ่งในทางเลือกที่จะทำให้คุณไม่ต้องถอนฟัน อีกทั้งยังสามารถเก็บฟันแท้ของคุณไว้ได้ตลอดไป นั่นก็คืออุปกรณ์ที่เรียกว่า “เดือยฟัน”

เดือยฟัน คืออะไร?

เดือยฟันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลังจากการรักษารากฟัน ลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กที่ปักลงในรากฟันบริเวณที่ทำการรักษา ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนสันหลังของฟัน ช่วยให้ฟันแข็งแรง เนื่องจากหลังรักษารากฟันบางซี่อาจเหลือเนื้อฟันอยู่น้อยเพราะฟันผุลึกกินเนื้อฟันไปเยอะ แต่กรณีที่มีเนื้อฟันเยอะ ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้อุดฟันก็เพียงพอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ทำเดือยฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2,425 บาท ลดสูงสุด 29%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

จะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้เดือยฟัน? 

เมื่อซี่ฟันได้รับความเสียหาย แต่ยังสามารถบูรณะแก้ไขเพื่อรักษารากฟันเอาไว้ได้โดยไม่ต้องถอน ซึ่งมีหลายเหตุดังนี้

  • ฟันตาย คือ ฟันที่เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วน “โพรงประสาทฟัน” ส่งผลให้เซลล์ต่างๆ ภายในซี่ฟันตาย โดยอาจสังเกตได้จากอาการเจ็บปลายรากฟัน เหงือกบวม มีหนอง สีฟันคล้ำขึ้น หรือเสียวฟัน เป็นต้น ฟันตายมีสาเหตุจากหลายประการอาทิ ฟันผุ ฟันสึก ฟันหักหรือแตก ซึ่งการรักษาอาจมีทั้งรักษารากฟันโดยใช้เดือยฟัน หรือถอนฟันในกรณีที่ไม่สามารถรักษาบูรณะฟันได้
  • อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับฟัน จนฟันแตก หัก หรือรับประทานอาหารที่แข็งเกินไป เคี้ยวถูกก้อนกรวดในอาหาร เป็นต้น

เดือยฟันต่างกับรากเทียมอย่างไร?

หลายคนอาจสับสนระหว่างเดือยฟันกับรากฟันเทียม เนื่องจากเข้าใจว่ามีหน้าที่ช่วยพยุงซี่ฟันไว้เหมือนกัน แท้จริงแล้วสองอย่างมีความแตกต่างกันดังนี้

  • เดือยฟัน ใช้เพิ่มความแข็งแรงให้กับรากฟัน โดยที่ผู้รับการรักษายังเก็บฟันนั้นเอาไว้ได้
  • รากฟันเทียม คือแท่งโลหะหรือโครง ใส่เข้าไปในกระดูกขากรรไกรใต้เหงือก เพื่อใช้แทนฟันจริงที่ถอนออกไป 

ใส่เดือยฟัน มีประโยชน์อย่างไร? 

การใส่เดือยฟันจะช่วยอุดเนื้อฟันที่เหลืออยู่น้อย ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่รากฟัน และช่วยให้ “ครอบฟัน” (การครอบฟันเพื่อปกป้องส่วนที่แตกหักและผุของฟัน) สามารถยึดติดได้ดีขึ้น 

เดือยฟัน มีกี่ประเภท? 

เดือยฟันมี 2 ประเภท ดังนี้

  1. เดือยสำเร็จรูป ส่วนมากทำจากไฟเบอร์ (Fiber) มีความยืดหยุ่นเข้ากับฟันได้ดี เกิดการแตกของฟันได้ยาก และยังมีสีคล้ายฟัน ทำให้ดูไม่ผิดแปลกจากฟันซี่อื่น โดยปกติทันตแพทย์สามารถใส่เดือยฟันสำเร็จรูปได้ในวันเดียวกันกับที่รักษารากฟันเลย 
  2. เดือยโลหะ เป็นเดือยที่ทนทานกว่าเดือยสำเร็จรูป ราคาถูกกว่า แต่สีสันจะนั้นดูผิดแปลกจากฟันซี่อื่น อาจเป็นที่สังเกตได้ง่าย และไม่สามารถใส่เดือยได้ทันทีในวันรักษารากฟัน ต้องกลับมาใส่เดือยโลหะอีกภายหลังเนื่องจากทันตแพทย์ต้องพิมพ์ฟัน เพื่อทำเดือยโลหะที่เหมาะสมกับสภาพฟันมากที่สุด

ขั้นตอนการทำเดือยฟัน

การทำเดือยฟันมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. เมื่อเริ่มการรักษา ทันตแพทย์จะให้ยาชาและแผ่นกั้นน้ำลาย 
  2. กรอฟัน เพื่อเปิดทางให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเข้าสู่โพรงประสาทฟัน เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับใส่เดือยฟัน
  3. ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์แบบภายในฟัน เพื่อไปทำเดือยฟัน โดยหมออาจใส่เดือยฟันหรือครอบฟันชั่วคราวเพื่อนัดมาใส่เดือยฟันตัวจริงใหม่อีกครั้ง
  4. เมื่อถึงวันนัด ทันตแพทย์จะใส่เดือยฟันตัวจริง พร้อมพิมพ์ฟันอีกครั้งที่ทำครอบฟัน
  5. ใส่ครอบฟันของจริง 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปรักษาฟันและทำเดือยฟัน

สิ่งที่คุณควรเตรียมให้พร้อมก่อนไปรักษาฟันหรือทำเดือยฟัน ได้แก่

  • เตรียมฟันปลอม (ถ้ามี) หากผู้เข้ารับการรักษาใส่ฟันปลอม ให้นำฟันปลอมนั้นติดตัวมาด้วย เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจสอบไปพร้อมกันเลยทั้งสภาพเหงือก และฟันปลอม รวมถึงหากมีการผิดปกติของอุปกรณ์ เช่น ฟันกระดก ทันตแพทย์จะได้แจ้งให้ทราบได้ทันที
  • แปรงฟันก่อนไปทำฟัน ทำความสะอาดฟันและช่องปากมาก่อนการรักษาฟัน แปรงฟันให้เรียบร้อย เนื่องจากทันตแพทย์จะได้สังเกตจุดที่แปรงฟันไม่สะอาด และแนะนำผู้รับการรักษาได้ต่อไป
  • ไม่ทาลิปสติก การทาลิปสติกสีเข้มอาจทำให้สีของลิปสติกเปื้อนฟันและช่องปาก รวมถึงอุปกรณ์ของทันตแพทย์ ซึ่งเพิ่มความลำบากให้กับทันตแพทย์ 
  • แต่งกายด้วยชุดรัดกุม เพื่อการเคลื่อนไหวและจัดท่าทางบนเตียงทำทันตกรรมที่ต้องมีการปรับเอนศีรษะลงต่ำได้สะดวก

ข้อควรปฏิบัติหลังจากรักษาฟันหรือใส่เดือยฟัน

ข้อควรปฏิบัติหลังรักษาฟันหรือใส่เดือยฟัน เพื่อให้ฟันมีสุขภาพดียาวนาน ได้แก่

  • หมั่นดูแลสุขภาพปากและฟันให้ดี แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ควบคู่กับการใช้น้ำยาบ้วนปากและไหมขัดฟัน เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะหลังจากบูรณะฟันด้วยเดือยฟันหรือครอบฟันแล้ว ยังมีโอกาสที่จะกลับมาฟันพุได้อีก หากรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ   
  • งดการดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดมีน้ำตาลอยู่มาก ซึ่งเป็นสาเหตุการทำให้ฟันผุ ที่สำคัญคือหลังจากทำเดือยฟัน หรือครอบฟันเรียบร้อยแล้ว หากดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ที่มีสีเข้มๆ เช่น ไวน์แดง ก็อาจทำให้เดือยฟันเปื้อนสีได้ 
  • งดสูบบุหรี่ นอกจากจะทำให้ฟันเปลี่ยนสีหลังจากทำการใส่เดือยฟันและครอบฟันมาแล้ว การเผาไหม้จากบุหรี่มีสารเคมีที่ทำร้ายช่องปากและฟัน โดยจะจับตัวสะสมกัน ส่งผลให้กระบวนการชะล้างสิ่งสกปรกในช่องปากเกิดความผิดปกติ จนนำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น เหงือกร่น เหงือกอักเสบ ฟันผุ กระทั่งสุดท้ายอาจต้องถอนฟัน เป็นต้น 
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ทำร้ายฟัน เช่น อาหารรสเปรี้ยวจัดซึ่งมีความเป็นกรดสูง หรืออาหารแข็ง เพราะเสี่ยงต่อฟันแตก ฟันบิ่น รวมถึงควรลดการบริโภคของที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน 

10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ครอบฟัน คืออะไร มีกี่แบบ เจ็บไหม? รวมเรื่องควรรู้ก่อนทำครอบฟัน, (https://hdmall.co.th/c/dental-crown).
Lamichhane, Aashwini & Xu, Chun & Zhang, Fu-Qiang. (2014). Dental fiber-post resin base material: A review. The journal of advanced prosthodontics. 6. 60-65. 10.4047/jap.2014.6.1.60.
Nankali A, Post and core classification (http://www.nankali.co.uk/masticatoryforce.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี

อาหารที่สามารส่งเสริมสุขภาพของช่องปากได้อย่างน่ามหัศจรรย์

อ่านเพิ่ม