กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

การผ่าตัดลำไส้ออก

เผยแพร่ครั้งแรก 24 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 17 นาที
การผ่าตัดลำไส้ออก

การผ่าตัดลำไส้ออก หรือโคลอสโตมี เป็นกระบวนการผ่าตัดเพื่อนำส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ออกมาด้วยการเปิดผนังช่องท้องส่วนปลายของลำไส้ที่เรียกว่าสโตมา ซึ่งจะมีการใช้ถุงรองของเสียที่จะถูกขับออกมาจากลำไส้ดังกล่าวแทนที่จะออกไปทางทวารหนัก

โคลอสโตมี มีทั้งแบบถาวรและแบบชั่วคราว คาดกันว่าหัตการผ่าตัดลำไส้ออกแบบถาวรเกิดขึ้นประมาณ 6,400 ครั้งในแต่ละปี (ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ)

เหตุใดกระบวนการผ่าตัดลำไส้ออกจึงจำเป็น?

การผ่าตัดโคลอสโตมีถูกใช้เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาที่ระบบลำไส้ใหญ่ โดยกระบวนการนี้มีเพียงเบี่ยงระบบขับถ่ายของเสียออกจากบริเวณที่เกิดปัญหาขึ้นเพื่อทำให้พื้นที่ดังกล่าวรักษาตัวเอง

ในบางกรณี โคลอสโตมีจะเกิดขึ้นหลังจากที่แพทย์ผ่าตัดนำระบบลำไส้ออกมาจนทำให้ระบบขับถ่ายไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติ ซึ่งอาจเป็นเพียงเวลาชั่วคราวเท่านั้นหรือจนกว่าแพทย์จะทำรักษาผ่าตัดต่อไป หรือบางกรณีก็อาจเป็นเช่นนี้ถาวรเลยก็ได้

โคลอสโตมีถูกใช้เพื่อรักษาภาวะโรคเหล่านี้:

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • โรคโครห์น
  • โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • มะเร็งทวารหนัก: บางกรณี (หายาก) เพื่อการรักษามะเร็งทวารหนักแล้ว ต้องมีการผ่าตัดโคลอสโตมีเกิดขึ้น หากการรักษารูปแบบอื่นอย่างการบำบัดเคมีหรือการบำบัดด้วยรังสีไม่ได้ผล
  • มะเร็งช่องคลอด: .บางกรณีจะมีการผ่าตัดใหญ่ที่เรียกว่าการผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งชนิดที่กินเข้าไปในเชิงกราน  การผ่าตัดโคลอสโตมีแบบถาวรจะเป็นส่วนหนึ่งของการผ่าตัดรักษามะเร็งชนิดนี้
  • ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้: การผ่าตัดลำไส้ออกเป็นวิธีสุดท้ายหากการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดก่อน ๆ ไม่ได้ผล
  • การบาดเจ็บ: หากส่วนใดส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ถูกตัดออกจากการบาดเจ็บอย่างการถูกแทงหรือถูกยิง อาจต้องมีการผ่าตัดลำไส้ออกเกิดขึ้นชั่วคราวหรือแบบถาวรตามกรณี
  • โรคลำไส้โป่งพอง: เป็นโรคที่หายาก ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้ไม่อาจทำงานได้เหมือนปรกติเนื่องจากขาดเซลล์ประสาทที่จำเป็นไป บางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้อุดตันขึ้น ซึ่งระหว่างหัตถการอาจต้องมีการถอนส่วนของลำไส้ดังกล่าวออก โดยจะมีการทำทางเบี่ยงหรือโคลอสโตมีเพื่อขจัดของเสียออกจากร่างกายแทน รูปแบบของโคลอสโตมีที่ทำขึ้นอยู่กับขนาดของลำไส้ที่นำออกไป

ประเภทของโคลอสโตมี

การผ่าตัดโคลอสโตมีมีอยู่สองวิธีคือ:

  • ลูปโคลอสโตมี: ที่ซึ่งส่วนของลำไส้จะถูกดึงออกผ่านรูบนหน้าท้องก่อนที่จะถูกเปิดทิ้งไว้และถูกเย็บติดเข้ากับผิวหนัง
  • โคลอสโตมีส่วนปลาย: เป็นการดึงส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ออกมาผ่านรูบนหน้าท้อง และถูกเย็บติดเข้ากับผิวหนัง

ลูปโคลอสโตมีมักจะเป็นโคลอสโตมีแบบชั่วคราว ซึ่งทำเพื่อรอการผ่าตัดแก้ไขในภายภาคหน้า สำหรับการโคลอสโตมีส่วนปลายนั้นก็สามารถนำกลับเข้าไปได้เช่นกัน แต่จะไม่ค่อยพบเห็นกันเท่าไรนัก คุณอาจต้องค้างอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3-10 วันหลังจากการทำโคลอสโตมีหรือหลังจากการทำโคลอสโตมีแบบกลับ

มีกระบวนการที่คล้ายกันนี้ที่ชื่อไอลีออสโตมีซึ่งสามารถใช้แทนกระบวนการโคลอสโตมีได้ โดยกรรมวิธีดังกล่าวเป็นการต่อช่องสโตมาออกจากลำไส้เล็กแทนลำไส้ใหญ่

การใช้ชีวิตกับโคลอสโตมี

ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับหัตถการโคลอสโตมีมักจะกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันและสายตาคนรอบข้าง (คุณต้องพกถุงโคลอสโตมีไปมาตลอดเวลา)

อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของอุปกรณ์และเทคนิคโคลอสโตมีในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาดังกล่าวมีความรัดกุมและรอบคอบกว่าเดิมจนแทบไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อกิจกรรมอื่น ๆ เลย

การปรับชีวิตให้เข้ากับการรักษาโคลอสโตมีอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ผู้คนส่วนมากจะคุ้นชินไปเองตามกาลเวลา

โคลอสโตมีดำเนินการอย่างไร?

โคลอสโตมีสามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยเทคนิคที่ใช้กับตัวคุณจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณเอง

เทคนิคผ่าตัดหลัก ๆ มีอยู่ 2 ประการ คือ:

  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง: ที่ซึ่งศัลยแพทย์จะกรีดเปิดช่องท้องของคุณให้ลึกไปถึงสำไส้ใหญ่
  • การผ่าตัดส่องกล้องในอุ้งเชิงกราน: ที่ซึ่งศัลยแพทย์จะกรีดช่องขนาดเล็กกว่าแบบแรกหลาย ๆ ช่อง และใช้กล้องวิดีโอขนาดจิ๋วกับอุปกรณ์ผ่าตัดชนิดพิเศษสอดลงไปยังลำไส้ใหญ่

การผ่าตัดส่องกล้องเป็นที่นิยมดำเนินการกันมากกว่าเนื่องมาจากผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วกว่าและมีภาวะข้างเคียงน้อยกว่าแบบแรก

อย่างไรก็ตาม หากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ระบบขับถ่าย การผ่าตัดแบบส่องกล้องเชิงกรานอาจไม่สามารถทำได้เนื่องจากขาดความพร้อมของบุคคลากรและอุปกรณ์ จึงต้องมีการผ่าตัดเปิดช่องท้องแทนในกรณีเช่นนั้น

กระบวนการโคลอสโตมีทุกรูปแบบต้องดำเนินการด้วยการใช้ยาสลบกับคนไข้

ประเภทของโคลอสโตมี

การผ่าตัดโคลอสโตมีมีอยู่สองวิธีคือ:

  • ลูปโคลอสโตมี
  • โคลอสโตมีส่วนปลาย

ลูปโคลอสโตมี

จะมีการดึงส่วนของลำไส้ใหญ่ออกจากรอยกรีดที่หน้าท้องของคุณ โดยส่วนของลำไส้ที่ดึงออกมาจะถูกเย็บติดกับผิวเพื่อเปิดช่องที่เรียกว่าสโตมา โดยช่องสโตมาจะมีอยู่สองทางซึ่งจะอยู่ติดกันจนไม่สามารถมองเห็นได้สองช่องพร้อมกัน

ช่องเปิดหนึ่งจะเชื่อมกับระบบขับถ่ายส่วนปฏิบัติการณ์ที่ซึ่งของเสียจะไหลออกจากร่างกายของคุณหลังจากการผ่าตัด ช่องเปิดอีกช่องจะเชื่อมไปยังส่วนลำไส้ที่ไม่เคลื่อนไหวที่นำไปสู่ไส้ตรงหรือเรกตัม ซึ่งช่องดังกล่าวจะปล่อยมูกปริมาณน้อยนิดออกมาเท่านั้น

ตำแหน่งของสโตมาจะขึ้นอยู่กับส่วนของลำไส้ที่ดึงออกมา โดยส่วนมากมักจะเป็นส่วนทางซ้ายมือของหน้าท้องใต้สายเข็มขัดของคุณ  หากการผ่าตัดถูกวางแผนไว้ก่อนหน้า คุณจะได้เข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสโตมาก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรับทราบตำแหน่งที่จะทำการสร้างสโตมาบนหน้าท้องของคุณ ซึ่งหากเป็นกรณีที่ต้องผ่าตัดลำไส้ฉุกเฉิน คุณจะไม่สามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ก่อน

สโตมาจะมีขนาดใหญ่ในตอนแรกเนื่องจากอาการบวมหลังการผ่าตัด ซึ่งมักจะค่อย ๆ หดลงภายในไม่กี่สัปดาห์หลังการผ่าตัด และจนหดจนถึงขนาดสุดท้ายประมาณ 8 สัปดาห์ สโตมาจะมีสีแดง ดูชุ่มชื้น และไม่มีเส้นประสาทใด ๆ ทำให้คุณไม่รู้สึกเจ็บหากสัมผัสโดนลำไส้ แต่กระนั้น การสัมผัสมันมากเกินก็อาจทำให้เลือดออกบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นภาวะปรกติที่ไม่จำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด

ในบางกรณี อาจมีการใช้อุปกรณ์รองรับส่วนของลำไส้ให้อยู่กับที่ในขณะที่อยู่ในช่วงรักษาตัว ซึ่งมักจะนำอุปกรณ์ดังกล่าวออกหลังจากนั้นไม่กี่วัน

ลูปโคลอสโตมีมักจะดำเนินการแบบชั่วคราวเสียส่วนมาก ซึ่งใช้เพื่อการรักษาโรคโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคโครห์น และมะเร็งลำไส้ใหญ่

โคลอสโตมีปลาย

ส่วนปลายของลำไส้ใหญ่จะถูกดึงผ่านช่องกรีดบนหน้าท้องของคุณและถูกเย็บติดเข้ากับผิวหนังเพื่อสร้างช่องสโตมาขึ้นมา

เช่นเดียวกับกระบวนการลูปโคลอสโตมี ตำแหน่งของสโตมาจะขึ้นอยู่กับส่วนของลำไส้ใหญ่ที่นำออกมา ซึ่งมักจะเป็นส่วนทางซ้ายมือของหน้าท้องใต้เข็มขัดของคุณ

หากการผ่าตัดถูกวางแผนไว้ก่อนหน้า คุณจะได้เข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสโตมาก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรับทราบตำแหน่งที่จะทำการสร้างสโตมาบนหน้าท้องของคุณ ซึ่งหากเป็นกรณีที่ต้องผ่าตัดลำไส้ฉุกเฉิน คุณจะไม่สามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ก่อน

สโตมาจะมีช่องเปิดเพียงจุดเดียวซึ่งมีไว้เพื่อขับของเสียออกมา ส่วนท้ายของลำไส้ใหญ่ที่เชื่อมไปยังไส้ตรงจะถูกปิดทิ้งเอาไว้ในช่องท้องของคุณ

การผ่าตัดโคลอสโตมีส่วนปลายนี้มักเป็นกระบวนการถาวร แต่ก็สามารถปรับให้เป็นแบบชั่วคราวเพื่อการรักษาภาวะลำไส้อุดตัน เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่ลำไส้ใหญ่ หรือเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ได้

หัตถการอื่น ๆ นอกจากโคลอสโตมี

ในบางกรณี แพทย์อาจสามารถใช้วิธีการที่คล้ายกันนี้ที่เรียกว่าไอลีโอโอสโตมี ซึ่งเป็นการสร้างทางเบี่ยงที่ลำไส้เล็กแทนลำไส้ใหญ่

 ไอลีโอโอสโตมีอาจนิยมดำเนินการมากกว่าโคลอสโตมีเนื่องจากกระบวนการนี้สามารถใส่ถุงเก็บของเสียไว้ภายในได้ ซึ่งถุงดังกล่าวเชื่อมต่อกับทวารหนักของคุณทำให้คุณสามารถควบคุมกิจกรรมขับถ่ายได้คล้ายกับสภาวะปกติ

การพักฟื้น

หลังการทำโคลอสโตมี คุณต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลาไม่กี่วัน

เมื่อคุณตื่นขึ้นหลังการผ่าตัด คุณจะถูกติดเข้ากับอุปกรณ์มากมายเช่น:

  • ตัวหยดยาเข้าเส้นเลือด
  • ท่อสวนกระเพาะปัสสาวะเพื่อดูดปัสสาวะออก
  • หน้ากากออกซิเจน หรือท่อยางคู่เข้าจมูก เพื่อช่วยการหายใจของคุณ

อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกถอดออกเมื่อร่างกายของคุณฟื้นตัวจากการผ่าตัดแล้วเท่านั้น

แพทย์จะใช้ถุงโคลอสโตมีใสกับช่องสโตมาที่ติดอยู่บนหน้าท้องของคุณ เพื่อให้ง่ายต่อการสอดส่องและเปลี่ยน โดยถุงแรกที่ใช้จะมีขนาดใหญ่กว่าถุงโคลอสโตมีที่ใช้ตามปรกติ ซึ่งแพทย์จะเปลี่ยนเป็นถุงขนาดเล็กลงเมื่อคุณพร้อมกลับบ้านแล้ว

พยาบาลสโตมา

ระหว่างที่คุณพักฟื้นที่โรงพยาบาล พยาบาลสโตมาจะสอนวิธีดูแลสโตมาและการเปลี่ยนถุงของเสียแก่คุณ อีกทั้งคุณจะได้เรียนรู้วิธีทำความสะอาดสโตมาและผิวหนังโดยรอบเพื่อป้องกันการระคายเคือง และคำแนะนำต่าง ๆ ที่ช่วยในกรณีที่เกิดการติดเชื้อขึ้น พยาบาลจะเป็นผู้อธิบายอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ ที่คุณต้องใช้และวิธีหาอุปกรณ์เหล่านั้น

การกลับบ้าน

ผู้คนส่วนมากที่เข้ารับการรักษาโคลอสโตมีมักจะสามารถกลับบ้านได้ภายใน 3-10 วันหลังการผ่าตัด

ควรพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากที่บ้าน อย่างการยกของหนัก เพื่อไม่ให้ช่วงท้องของคุณต้องรับภาระหนักเกินไป หากมีข้อสงสัย ทางพยาบาลสโตมาก็สามารถให้คำแนะนำเรื่องการทำกิจกรรมของคุณได้

ในช่วงเวลาสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด คุณอาจมีอาการท้องอืดและไม่สามารถควบคุมการขับของเสียออกจากสโตมาได้ ซึ่งควรจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามการฟื้นตัวของลำไส้ใหญ่ของคุณ

ภาวะข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ควรทำความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่คุณอาจประสบหลังจากรับการผ่าตัดโคลอสโตมีดังนี้:

ของเสียจากทวาร

  • ผู้ที่เข้ารับการรักษาโคลอสโตมีแต่มีไส้ตรงและทวารหนักที่ยังปกติดีอยู่มักจะมีของเสียเป็นมูกออกจากทวารหนักบ่อยครั้ง มูกดังกล่าวเกิดจากเยื่อบุลำไส้ที่ช่วยในเรื่องการไหลตัวของอุจจาระ
  • ผนังลำไส้ใหญ่จะยังคงผลิตมูกดังกล่าวออกมาแม้จะไม่มีเหตุต้องใช้อีกแล้วก็ตาม และยิ่งส่วนลำไส้ที่เหลือในช่องท้องของคุณมียาวเท่าไร ก็ยิ่งมีมูกขับออกมาบ่อยเท่านั้น
  • มูกที่ขับออกมาจะลักษณะแตกต่างกันออกไป บางครั้งอาจจะมีสีใสคล้ายไข่ขาว หรือมีความเหนียวหนืดคล้ายกาว แต่หากมีเลือดหรือหนองขับออกมาพร้อมกับมูก คุณต้องติดต่อไปยังแพทย์ผู้ดูแลทันทีเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณการติดเชื้อหรือการเสียหายที่เนื้อเยื่อก็เป็นได้

การจัดการกับของเสีย

มูกที่ไหลออกมาจากไส้ตรงและทวารหนักอาจสร้างความรำคาญและทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้

ลักษณะของมูกดังกล่าวจะแตกต่างกันไปตามบุคคล บางคนอาจมีของเสียไหลออกมาหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ แต่สำหรับอีกหลายคนอาจมีอาการดังกล่าวหลายครั้งต่อวัน

วิธีที่คนส่วนใหญ่สามารถจัดการกับของเสียจากไส้ตรงคือการนั่งบนชักโครกและทำการถ่ายให้เหมือนกำลังถ่ายอุจจาระอยู่ การเบ่งนี้จะช่วยผลักมูกที่ตกค้างภายในไส้ตรงออกมา

บางคนอาจไม่สามารถทำกิจดังกล่าวได้เนื่องจากการผ่าตัดได้ไปลดความรู้สึกที่ลำไส้ตรงไป หากเป็นเช่นนี้ ให้คุณติดต่อแพทย์ผู้ดูแลเพื่อทำการรักษาเพิ่มเติม

การใช้ยาเหน็บทวารกลีเซอรีนที่ใช้สอดเข้าไปในทวารหนักก็สามารถช่วยปัญหานี้ได้ เพราะเมื่อแคปซูลตัวยาละลาย จะทำให้มูกมีความเหลวขึ้นทำให้ง่ายต่อการไหลออกมา

ในบางกรณี มูกที่ออกมาจะไปทำให้ผิวหนังรอบทวารหนักระคายเคือง ซึ่งการใช้ครีมทาป้องกันผิวก็สามารถช่วยได้ โดยคุณสามารถเลือกใช้ประเภทยาจากคำแนะนำของเภสัชกรหรือลองผิดลองถูกดูหลาย ๆ ตัวก็ได้

บางคนพบว่าการทานอาหารบางประเภทจะส่งผลทำให้มูกออกมามากขึ้น แม้จะไม่มีหลักฐานที่ยืนยันรายงานฉบับนี้ แต่คุณก็สามารถลองทำดูก็ได้ โดยต้องลองรับประทานอาหารดังกล่าวเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะเห็นผล

ไส้เลื่อนพาราสโตมาล

ไส้เลื่อนเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะภายในของร่างกายถูกดันออกไปสู่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อโดยรอบที่ไม่แข็งแรง

ในกรณีของไส้เลื่อนพาราสโตมาลนั้น ลำไส้จะดันตัวออกไปยังกล้ามเนื้อรอบสโตมาจนทำให้ผิวหนังเกิดการเป่งออกมาอย่างเห็นได้ชัด ผู้ที่ผ่านการรักษาโคลอสโตมีมาจะมีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อนประเภทนี้เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่ช่วงท้องอ่อนแอลงจากการผ่าตัด

วิธีป้องกันการเกิดไส้เลื่อนพาราสโตมาล มีดังนี้:

  • สวมใส่เข็มขัดรองรับหรือกางเกงใน
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกินไป
  • พยายามคงน้ำหนักร่างกายไว้ เนื่องจากน้ำหนักกายที่มากเกินจะทำให้กล้ามเนื้อช่วงท้องต้องแบกรับภาวะเยอะกว่าเดิม

อาการของไส้เลื่อนประเภทนี้มักไม่สร้างความเจ็บปวด แต่อาจทำให้อุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกับการรักษาโคลอสโตมีติดอยู่กับตัวยากขึ้น

ไส้เลื่อนส่วนมากมากรักษาได้โดยไม่ใช้วิธีผ่าตัด กระนั้น ไส้เลื่อนบางกรณีก็อาจต้องแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น และหลังจากผ่าตัดไป ก็ยังมีโอกาสที่ไส้เลื่อนจะกลับมาได้อยู่อีก

สโตมาอุดตัน

สโตมาบางคนอาจเกิดการอุดตันจากของเสียหรืออาหารได้ โดยสัญญาณของการอุดตันมีดังนี้:

  • มีการถ่ายเหลวหรือถ่ายออกมาไม่มาก
  • ช่วงท้องเกิดการป่องออก
  • ปวดท้อง
  • สโตมาบวม
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • หากคุณคาดว่าสโตมาของคุณเกิดการอุดตัน คุณควรจะ:
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็งระยะเวลาหนึ่ง
  • ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ
  • นวดหน้าท้องและบริเวณรอบ ๆ สโตมาของคุณ
  • นอนหงาย กอดเข่าขึ้นมาที่หน้าอก และกลิ้งไปมาด้านข้างเป็นเวลาไม่กี่นาที
  • แช่ร้อนเป็นเวลา 15 ถึง 20 นาที (เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าท้องของคุณ)

หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ติดต่อแพทย์ผู้ดูแลในทันทีเนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่ลำไส้ใหญ่ของคุณเกิดการฉีกขาดขึ้น

คุณสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดสโตมาอุดตันได้ด้วยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ และไม่รับประทานอาหารคำโตจนเกินไป

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการอุดตันขึ้น อย่างเช่นข้าวโพด เซลารี ป๊อปคอร์น ถั่ว โคลสลอว์ หน่อไม้ ลูกเกด ผลไม้อบแห้ง ผิวมันฝรั่ง ผิวแอปเปิล และอื่น ๆ

ภาวะข้างเคียงอื่น ๆ

หลังการผ่าตัดลำไส้ออก จะมีโอกาสที่คุณจะประสบกับผลข้างเคียงต่าง ๆ ดังนี้:

  • ปัญหาที่ผิวหนัง: ผิวรอบสโตมาเกิดอาการระคายเคืองและปวดเมื่อย โดยทีมผู้รักษาคุณจะเป็นผู้ชี้แจงแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้แก่คุณเอง
  • ฝีสโตมอล: การใช้ถุงและการดูแลผิวหนังอย่างถูกวิธีจะช่วยรักษาอาการนี้ได้
  • สโตมาร่น: ภาวะที่สโตมาเกิดจมลงไปอยู่ใต้ระดับพื้นผิวหนังหลังจากที่การบวมก่อนหน้าเริ่มยุบตัว ซึ่งภาวะนี้จะทำให้เกิดการรั่วซึมของของเสียได้ เนื่องจากจะทำให้ติดถุงโคลอสโตมีได้ยาก วิธีแก้ไขคือการใช้ถุงรองและอุปกรณ์อีกประเภท และในบางครั้งก็อาจจะการผ่าตัดแก้ไขเกิดขึ้น
  • สโตมายื่น: ภาวะที่สโตมายื่นออกมามากกว่าระดับพื้นผิวหนัง การใช้ถุงโคลอสโตมีจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้บ้างในกรณีที่สโตมายื่นออกมาไม่มากเกินไป แต่บางกรณีก็อาจต้องมีการผ่าตัดแก้ไขขึ้นมา
  • สโตมาตีบ: ที่ซึ่งช่องสโตมาเกิดการตีบจนเสี่ยงต่อการอุดตัน ต้องมีการผ่าตัดแก้ไขในกรณีนี้
  • การรั่วไหล: ที่ซึ่งของเสียจากระบบย่อยอาหารไหลออกจากลำไส้ใหญ่ไปเลอะผิวหนังโดยรอบหรือภายในช่องท้อง ส่วนมากจะเป็นการรั่วไหลภายนอกซึ่งแก้ไขได้ด้วยการใช้ถุงโคลอสโตมีและอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกประเภทแทน แต่หากเป็นการรั่วไหลภายในต้องมีการแก้ไขด้วยการผ่าตัด
  • สโตมาขาดเลือด: ที่ซึ่งมีเลือดไปเลี้ยงสโตมาน้อยลงหลังการผ่าตัด อาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้

การใช้ชีวิตร่วมกับการรักษาโคลอสโตมี

การปรับตัวให้คุ้นชินกับโคลอสโตมีเป็นเรื่องยากในช่วงแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคุณไปตลอด

ข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ผ่านการทำโคลอสโตมีหรือกำลังจะเข้ารับการรักษาโคลอสโตมีในอนาคตอย่างมาก

อุปกรณ์โคลอสโตมี

หลังการผ่าตัดโคลอสโตมี ช่องเปิดบนหน้าท้องของคุณ (ที่เรียกว่าสโตมา) จะคอยขับของเสียออกมาในรูปแบบของอุจจาระ ซึ่งลักษณะของอุจจาระที่ออกมาจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่แพทย์เบี่ยงลำไส้ใหญ่ออกมากอปรกับอาหารที่คุณรับประทานเข้าไป

ต้องมีการใช้ถุงโคลอสโตมีที่ใช้รองเก็บอุจจาระ ซึ่งต้องทำการเปลี่ยนถุงดังกล่าวทุกครั้งที่เต็ม (โดยทั่วไปจะใช้เวลา 1 ถึง 3 ครั้งต่อวัน) หากการขับถ่ายของคุณเป็นของเหลวเสียส่วนใหญ่ควรทำการเปลี่ยนถุงทุก ๆ 1 หรือ 2 วันแทน

อุปกรณ์ที่ใช้ในโคลอสโตมีมีอยู่หลากหลายชิ้นดังนี้:

  • ถุงรองแบบชิ้นเดียว: เป็นถุงที่สามารถติดกับผิวหนังของคุณได้ คุณต้องทำการเปลี่ยนและทิ้งถุงที่เต็มแล้วไป
  • ถุงแบบสองชิ้น: เป็นถุงรองที่ตัวถุงกับตัวติดแยกกัน ซึ่งสามารถนำมาต่อเข้าด้วยกันได้ ตัวติดสามารถติดคาไว้ที่ผิวหนังของคุณได้เป็นเวลาหลายวัน ส่วนตัวถุงก็สามารถนำออกมาทิ้งได้หลายครั้งในหนึ่งวัน

หากคุณมีการอุจจาระเป็นเวลาและสามารถคาดเดาลักษณะของอุจจาระได้ คุณอาจไม่จำเป็นต้องติดถุงรองไว้กับตัวตลอดเวลา อย่างไรก็ตามมันก็ยังคงมีการรั่วซึมออกมาได้บ้างบางครั้ง จึงควรทำการสวมหมวกสโตมาปิดเอาไว้จะดีที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญหรือพยาบาลสโตมาที่คอยติดตามคุณทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดลำไส้ จะเป็นผู้แนะนำอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับกรณีของคุณให้

เพื่อลดความระคายเคืองที่ผิวหนังลง อุปกรณ์โคลอสโตมีทุกประเภทจะถูกผลิตมาจากวัสดุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้น้อย อีกทั้งตัวถุงยังมีที่กรองเพื่อป้องกันกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกมาอีกด้วย

ต่อไปนี้คือรายการอุปกรณ์เสริมที่จะช่วยทำให้การใช้ชีวิตอยู่กับโคลอสโตมีง่ายดายขึ้น:

  • เข็มขัดรองรับและผ้ารัดเอว
  • ยาดับกลิ่นที่สามารถใส่เข้าไปในอุปกรณ์ได้
  • ผ้าเช็ดที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง
  • สเปรย์กำจัดกาวบนผิวหนัง
  • กางเกงในหรือชุดว่ายน้ำที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยโคลอสโตมี

โดยทีมรักษาจะสามารถให้คำแนะนำแก่คุณถึงอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับตัวคุณได้

การจัดหาอุปกรณ์โคลอสโตมี

คุณจะได้รับอุปกรณ์ที่จำเป็นทุกอย่างภายหลังการผ่าตัดโคลอสโตมีเสร็จสิ้น พร้อมกับข้อมูลใบสั่งยาและอุปกรณ์ คุณควรให้แพทย์ทั่วไปทราบข้อมูลยาดังกล่าวเพื่อที่จะให้พวกเขาบันทึกประวัติการใช้ยาของคุณและสามารถทำการจ่ายยาตัวเดิมแก่คุณได้อย่างถูกต้องในอนาคต

ยาที่คุณได้รับจะเป็นทั้งแบบใบสั่งยาที่ให้กับนักเคมีหรือถูกส่งไปยังผู้จัดหาอุปกรณ์เฉพาะทางที่จะทำการส่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้มาให้ คุณควรทำการสำรองอุปกรณ์ทุกชิ้นเอาไว้มากกว่าที่จำเป็นจริง ๆ เผื่อเหตุสุดวิสัยที่อาจจะ (หรืออาจจะไม่) เกิดขึ้น

การชะล้าง

การชะล้างเป็นอีกกรรมวิธีในการสวมใส่อุปกรณ์โคลอสโตมี ซึ่งเป็นการล้างข้างในลำไส้ใหญ่ของคุณด้วยน้ำทุกวัน หรือทุก ๆ สองวัน

จะมีการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถค่อย ๆ สอดเข้าสโตมาของคุณและสามารถติดเข้ากับถุงที่เต็มไปด้วยน้ำล้างกับถุงรองน้ำล้างซึ่งคล้ายกับถุงโคลอสโตมีเอง

น้ำจะค่อย ๆ ไหลเข้าไปสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อชะล้างอุจจาระตกข้างภายในเข้าไปยังถุงรองน้ำล้าง ซึ่งหลังกระบวนการนี้ ต้องทำการกำจัดอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ โดยการชะล้างแต่ละครั้งจะมีปลอกหมวกเพื่อปิดช่องสโตมาระหว่างการชะล้างแต่ละครั้ง

ประโยชน์ของการชะล้างคือ:

  • คุณสามารถเลือกดำเนินการนี้เมื่อไรก็ได้
  • คุณไม่จำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์โคลอสโตมี (ยกเว้นการสวมปลอกจุกสโตมา)
  • คุณไม่ต้องกังวลกับการรับประทานอาหาร
  • คุณจะประสบกับอาการท้องอืดจากแก๊สน้อยกว่า

ข้อเสียของการชะล้างคือ:

  • เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานมาก หรือประมาณ 40 ถึง 60 นาทีกว่าจะเสร็จ และต้องทำเกือบทุกวัน
  • เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ต้องทำการชะล้างต่อเนื่องในวันเดียวกันทุกวัน ซึ่งหากคุณกำลังทำงานหรือไม่อยู่บ้านจะเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างมาก
  • บางคนอาจรู้สึกไม่ถูกใจกับกระบวนการนี้จนกลับไปใช้การดูแลรูปแบบเดิมแทน
  • การชะล้างอาจไม่สามารถใช้กับผู้ที่มีภาวะโรคบางอย่างได้ ยกตัวอย่างเช่นผู้ป่วยโรคโครห์น หรือผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ เนื่องจากการชะล้างจะไปสร้างความเสียหายแก่ลำไส้ของผู้ป่วยได้ อีกทั้งการชะล้างยังไม่เหมาะกับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงรับการบำบัดเคมีหรือการบำบัดรังสีอีกด้วย
  • การชะล้างเป็นกระบวนการที่ไม่เหมาะสมกับเด็กเนื่องจากแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานมาก

การรับประทานอาหาร

ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดโคลอสโตมี คุณจะต้องรับประทานแต่อาหารกากใยต่ำ เนื่องมาจากอาหารที่มีกากใยสูงจะทำให้อุจจาระของคุณมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะไปทำให้ลำไส้เกิดการอุดตันขึ้น ควรรอหลังจากนั้นประมาณ 8 สัปดาห์ก่อนที่คุณจะสามารถกลับไปรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวได้

ในช่วงพักฟื้น คุณก็สามารถเริ่มกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการได้ อย่างการรับประทานผลไม้และผักเยอะ ๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับข้อจำกัดใด ๆ อีก

กลิ่นและการผายลม

หลายคนกังวลว่าการทำโคลอสโตมีจะทำให้ตัวพวกเขาส่งกลิ่นไปยังคนรอบข้าง แต่ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีตัวกรองกลิ่นที่มีถ่านเป็นส่วนประกอบทำให้อุปกรณ์โคลอสโตมีสามารถกักเก็บกลิ่นได้ แม้ว่าตัวคุณจะได้กลิ่นโคลอสโตมีของตัวเอง แต่มั่นใจได่ว่าคนรอบข้างคุณจะไม่ได้กลิ่นจากสโตมาแม้แต่น้อย

หลังจากที่ผ่านการผ่าตัดมาแล้ว โคลอสโตมีของคุณอาจจะส่งเสียงและผายลมออกมาปริมาณมาก ซึ่งปัญหานี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อลำไส้เริ่มฟื้นฟูตัวเอง

พยาบาลสโตมาจะแนะนำการรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้แก่คุณ อีกทั้งยังแนะนำหลักโภชนาการเพื่อลดลมในลำไส้ให้แก่คุณอีกด้วย

การใช้ยา

ยาหลายตัวถูกออกแบบมาให้ละลายอย่างช้า ๆ ในระบบย่อยอาหาร ซึ่งการทำโคลอสโตมีจะไม่ส่งผลต่อการใช้ยาใด ๆ แต่หากคุณสังเกตเห็นเม็ดยาหรือแคปซูลในถุงรองโคลอสโตมี ให้แจ้งเภสัชกรหรือแพทย์ในทันทีโดยพวกเขาจะทำการเปลี่ยนยาตัวใหม่ที่เข้ากับกระเพาะของคุณให้เอง

การออกกำลังกาย

ภายหลังการผ่าตัดไม่กี่สัปดาห์ คุณจะถูกแนะนำให้ทำการออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งความเร็วในการฟื้นตัวของคุณจะเป็นตัวกำหนดขีดจำกัดที่คุณสามารถออกกำลังกายได้ หากคุณรู้สึกเจ็บปวด ให้หยุดกิจกรรมนั้น ๆ ในทันที อีกทั้งถุงโคลอสโตมีทุกประเภทสามารถกันน้ำได้ จึงสามารถนำมันลงไปว่ายน้ำด้วยได้

การทำงาน

เมื่อลำไส้ของคุณฟื้นตัวเองสมบูรณ์แล้ว คุณก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ หากงานที่คุณทำต้องใช้แรงหนัก ๆ หรือมีการแบกของหนักเกินไป คุณควรสวมเข็มขัดรองหรือสายรัดเอวไว้

โดยทั่วไปคุณต้องใช้เวลาหลายเดือนก่อนที่จะสามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเร็วในการฟื้นร่างกายของคุณกับประเภทของงานที่ทำเอง คุณควรทำการชี้แจงผู้ว่าจ้างของคุณก่อนเข้ารับการผ่าตัดโคลอสโตมีถึงทางเลือกต่าง ๆ ไว้ก่อน

ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่มักจะเข้าใจและจัดหางานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณให้ หรืออาจปรับเวลาทำงานของคุณให้อย่างเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านหรือบางเวลาแทนจนกว่าร่างกายของคุณจะฟื้นสภาพทั้งหมด

คุณไม่จำเป็นต้องบอกเรื่องโคลอสโตมีกับเพื่อนร่วมงานของคุณ (นอกเสียจากว่าคุณสมัครใจ) แต่หากคุณต้องการแรงสนับสนุนเสริม การบอกต่อเรื่องราวของคุณก็เป็นความคิดที่ดีเช่นกัน

การเดินทาง

การเข้ารับการรักษาโคลอสโตมีไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เป็นอิสระอีกต่อไป คุณเพียงแค่ต้องการเวลาวางแผนการเดินทางมากกว่าปรกติเท่านั้น

พยาบาลที่ดูแลคุณจะคอยให้คำแนะนำในเรื่องการเดินทางกับสโตมาแก่คุณ โดยแนะว่าคุณควรจะมีประกันสุขภาพเผื่อเอาไว้ด้วย

เมื่อคุณเดินทางไปต่างประเทศ ควรพกอุปกรณ์โคลอสโตมีติดตัวไปด้วยเยอะ ๆ เนื่องจากบางประเทศ การหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก

เพศสัมพันธ์

มีประเด็นสำคัญมากมายที่โคลอสโตมีส่งผลกระทบมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือชีวิตเซ็กส์และความสัมพันธ์ของคุณ

ผู้หญิง

ผู้หญิงที่ต้องทำการนำไส้ตรงออกจะสังเกตว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบ “มิชชันนารี” จะสร้างความเจ็บปวด เนื่องมาจากช่องคลอดไม่ได้มีไส้ตรงมาหนุนรองอีกต่อไปทำให้การเล่นกระบวนท่าดังกล่าวอาจไม่สนุกอีกแล้ว ควรเปลี่ยนเป็นกระบวนท่าอื่นแทน

หลังการผ่าตัด ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกว่าช่องคลอดของตนเองจะแห้งกว่าแต่ก่อน จนทำให้การมีเพศสัมพันธ์ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งการใช้เจลหล่อลื่นก่อนมีเพศสัมพันธ์จะช่วยได้มาก

การที่โดนกดทับบนสโตมาระหว่างการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ ดังนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งท่าทางที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้น หรือจะใช้หมอนหรือเบาะมารองปิดสโตมาไว้ก็ได้

ผู้ชาย

หลังการทำโคลอสโตมี ผู้ชายบางคนจะมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศน้อยลงเนื่องจากความเสียหายที่ประสาทกับหลอดเลือด ซึ่งทำให้การแข็งตัวขององคชาติเป็นไปได้ยากหรือคงสภาพไม่ได้นาน

มีหลายวิธีการในการแก้ไขภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนี้ อย่างเช่นการรับประทานยาซิลเดนาฟิลที่มีฤทธิ์ช่วยให้มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้น

ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

นอกจากประเด็นดังกล่าว คุณอาจรู้สึกกังวลกับรูปร่างภายนอกของคุณ รวมทั้งกลุ้มใจว่าการทำโคลอสโตมีอาจส่งผลต่อความมั่นใจและปฏิกิริยาของคู่รักของคุณ ซึ่งย่อมส่งผลต่อความสนุกบนเตียงของคุณตามมา

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าผู้ที่เข้ารับการทำโคลอสโตมีหลายคนได้มีความสุขกับชีวิตเซ็กส์ที่ดีแม้จะเคยประสบกับช่วงเวลาที่ต้องฟื้นฟูความมั่นใจไปพร้อมกับร่างกายหลายเดือน

หากคุณเป็นคนที่มีคู่ชีวิตอยู่แล้ว คุณควรเปิดเผยทั้งบาดแผลและอุปกรณ์โคลอสโตมีกับพวกเขา ส่วนใหญ่แล้วคนรักของคุณจะอยากเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของคุณอยู่แล้ว แม้บางคนจะมองว่าโคลอสโตมีน่ากลัวหรือไม่น่าดูอย่างไร ความคิดเหล่านั้นมักจะเป็นมุมมองในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น คุณเองต้องพึงเข้าใจว่าปฏิกิริยาที่แต่ละคนมีต่อโคลอสโตมีนั้นไม่มีถูกหรือผิด พยายามอย่าเอาเรื่องนี้เข้ามาเป็นประเด็นหลักระหว่างพวกคุณ

หากหน้าตาสโตมาหรืออุปกรณ์โคลอสโตมีทำให้คู่นอนของคุณหมดอารมณ์ร่วม คุณก็สามารถปกปิดสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยชุดนอนหรือกางเกงบ็อกเซอร์ เป็นต้น

คำแนะนำในการพัฒนาชีวิตเซ็กส์ของคุณมีดังนี้:

  • เปลี่ยนอุปกรณ์โคลอสโตมีที่อยู่บนตัวคุณก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • เปลี่ยนอุปกรณ์โคลอสโตมีเป็นจุกปลอกสโตมาขนาดเล็กแทน
  • ปิดอุปกรณ์โคลอสโตมีด้วยผ้าหากอุปกรณ์สร้างความรำคาญกับผิวหนังคุณระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • พยายามอย่าทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องตลกเพราะอาจสร้างความอับอายแก่คู่นอนของคุณหรือกับตัวคุณเอง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก (หากไม่ได้ทำการผ่าตัดไส้ตรงออก) เนื่องจากอาจทำให้เกิดการฉีกขาดจนมีเลือดออกได้ และอย่าใช้สโตมาเป็นอุปกรณ์ทางเพศโดยเด็ดขาด

โคลอสโตมีแบบกลับคืน

หากการทำโคลอสโตมีของคุณมีไว้เพื่อการรักษาชั่วคราว แพทย์จะทำการผ่าตัดกลับคืนลำไส้ในวันหลัง

การผ่าตัดกลับคืนจะดำเนินการก็ต่อเมื่อสุขภาพร่างกายของคุณดีพร้อม และหายขาดจากผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดโคลอสโตมีแล้ว ซึ่งมักจะเป็นช่วง (อย่างน้อย) 12 สัปดาห์หรือมากกว่าหลังจากการผ่าตัดครั้งแรก

การผ่าตัดกลับคืนอาจถูกดันออกไปให้ล่าช้ากว่าเดิมได้หากคุณต้องทำการรักษาอื่น ๆ อย่างการบำบัดเคมี หรือยังฟื้นตัวจากการผ่าตัดแรกไม่สมบูรณ์ หลายคนที่ต้องทำการผ่าตัดคืนสภาพลำไส้อาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับสโตมานานหลายปีก็เป็นได้ และตัวสโตมาเองก็ไม่ได้มีเวลาจำกัดในการใช้งานแต่อย่างใด

ในบางกรณีอาจไม่แนะนำให้มีการผ่าตัดกลับคืน ยกตัวอย่างเช่นหากกล้ามเนื้อที่ควบคุมหูรูดเสียหายจากการผ่าตัด การผ่าตัดกลับคืนจะไม่สามารถซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้และจะทำให้คุณมีภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่

การผ่าตัดกลับคือลูปโคลอสโตมีเป็นหัตถการที่ตรงไปตรงมา โดยมีการกรีดรอบสโตมาเพื่อให้ศัลยแพทย์เข้าไปถึงชั้นภายในช่วงท้องของคุณ เพื่อทำการต่อลำไส้ใหญ่ส่วนบนกับส่วนอื่น ๆ ที่เหลือ

สามารถทำการผ่าตัดกลับคือกับโคลอสโตมีตอนปลายได้ แต่ทางศัลยแพทย์ต้องทำการกรีดช่องท้องกว้างกว่า และต้องทำการต่อติดลำไส้ใหญ่ถึงสองส่วนด้วยกัน ทำให้การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดแบบนี้จะใช้ระยะเวลานานกว่า และมีโอกาสเกิดภาวะข้างเคียงรุนแรงมากกว่า

การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดโคลอสโตมีกลับคืน

ผู้คนส่วนมากจะฟื้นตัวและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังจากการผ่าตัดกลับคืนลำไส้ใหญ่ประมาณ 3-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของกระบวนการโคลอสโตมีที่คุณเคยทำ

แต่การจะให้ร่างกายกลับไปมีระบบขับถ่ายเหมือนปรกตินั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา บางคนอาจมีอาการท้องผูกหรือท้องร่วงบ้าง ซึ่งจะดีขึ้นเองตามกาลเวลา

บางคนอาจมีอาการปวดทวารหนักหลังการผ่าตัดกลับคืน ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อร่างกายชินกับการที่อุจจาระต้องไหลออกจากทวารไปเอง คุณสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการล้างผิวหนังบริเวณรอบทวารหนักด้วยน้ำอุ่นหลังการเคลื่อนตัวของลำไส้ทุกครั้ง หลังจากนั้นก็ซับให้แห้งด้วยผ้าขนนุ่มก่อนทาครีมป้องกันผิวหนัง พยายามเลี่ยงการใช้แป้งหรือกระดาษเย็นที่ใส่กลิ่นเนื่องจากอาจทำให้การระคายเคืองรุนแรงมากขึ้น

อีกปัญหาที่มักประสบกันคือคุณจะอยากเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น มีอาการท้องอืดบ่อย ๆ และมีภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้บ้าง

เนื่องจากระบบย่อยอาหารของคุณมีความอ่อนไหวมากขึ้นหลังการผ่าตัดกลับคืน คุณอาจถูกแนะนำให้งดการรับประทานอาหารกลางดึก เลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่และกินขนาดคำเล็ก ๆ แทน และอาจต้องทำการงดอาหารที่ไปกัดกระเพาะไปด้วย เช่น:

  • ผลไม้ตระกูลส้ม: อย่างเช่นส้ม หรือเกรปฟรุต
  • อาหารรสเผ็ด: อย่างเช่นแกงกะหรี่
  • อาหารที่มีไขมันสูง
  • ผักที่ทำให้เกิดการท้องอืด: อย่างเช่นกะหล่ำปลี และหัวหอม
  • เครื่องดื่มอัดแก๊สและแอลกอฮอล์ เป็นต้น

หัตถกรรมกลับคืนมักเป็นกระบวนการผ่าตัดขนาดเล็ก ซึ่งเล็กกว่าการผ่าตัดโคลอสโตมีครั้งแรก แต่ก็ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานหลายสัปดาห์ก่อนที่ร่างกายจะสามารถกลับไปเผชิญกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปรกติอยู่ดี


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Large Bowel Resection: Purpose, Procedure, and Risks. Healthline. (https://www.healthline.com/health/large-bowel-resection)
Bowel cancer - Treatment. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/bowel-cancer/treatment/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 4

อ่านเพิ่ม
9 สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
9 สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเกิดจากพฤติกรรมแลอาหารการกินที่สะสมมานานโดยที่เราไม่รู้ตัว อ่านสาเหตุใกล้ตั้ง 9 ข้อได้ที่นี่

อ่านเพิ่ม
ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีอะไรบ้าง
ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีอะไรบ้าง

มะเร็งลำไส้ใหญ่มี 5 ระยะซึ่งแต่ละระยะจะมีการรักษาแตกต่างกันออกไป

อ่านเพิ่ม