March 13, 2017 20:31
ตอบโดย
ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล (หมอเปี๊ยก) (นพ.)
อาการไอดังกล่าว เป็นมานานเท่าไรแล้วครับ เป็นจากหลัง หายเป็นหวัดหรือไม่
เป็นธรรมชาติของโรคหวัด แม้หวัดธรรมดา ที่ไม่มีการติดเชื้อซ้ำซ้อน ที่ว่า บางครั้ง อาการไอ จะหายช้าที่สุด กว่าอาการอื่น ๆ
บางคนแม้อาการอื่น ๆ หายไปแล้ว ก็ยังคงไอเรื้อรังต่อไปอีก เป็นเดือน
แนะนำ ซื้อ ยาแก้ไอน้ำดำ ของ องค์การเภสัชกรรม มาจิบเวลามีอาการไอ แล้วตามด้วยน้ำอุ่น ครับ
ลองมาดูสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ จากอาการไอเรื้อรัง
สาเหตุของอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์
รูป
1. วัณโรคปอด
มักพบในคนวัยกลางคนขึ้นไป หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ (เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์ เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ขาดอาหาร พิษสุราเรื้อรัง ผู้ติดยาเสพติด คนชรา ผู้ที่ตรากตรำงานหนัก เป็นต้น) หรือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคปอดเป็นระยะยาวนาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง (อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้) ร่วมกับไข้เรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นแรมเดือน และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด เจ็บหน้าอกหรือหอบเหนื่อย
รูป
2. มะเร็งปอด
มักพบในคนวัยกลางคนขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง (อาจไอมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้) อาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่ก็ได้
รูป
3. ถุงลมปอดโป่งพอง
มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปและมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ
รูป
4. หืด
พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก มักมีอาการไอร่วมกับหายใจหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงดังวี้ด เมื่อสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้น เช่น ไรฝุ่นบ้าน (พบตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นที่ทำด้วยนุ่นหรือเป็นขน ๆ) เชื้อรา (พบสปอร์ตามความเย็น (เช่น อากาศเย็น แอร์เย็น) การออกกำลังกาย
สำหรับสาเหตุข้อ 1-4 ดังกล่าว หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ส่วนสาเหตุข้อ 5-8 ต่อไปนี้ ผู้ป่วยมักมีสุขภาพโดยทั่วไปดี กินได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่หอบเหนื่อย
รูป
5. หลอดลมอักเสบ
มักพบหลังเป็นไข้หวัด ช่วงแรกมักไอมีเสมหะ (อาจเป็นสีขาว สีเขียวหรือสีเหลือง) บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย เมื่ออาการไข้ทุเลาและเสมหะลดน้อยลงและเปลี่ยนเป็นสีขาว (ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมาแล้ว) ผู้ป่วยจะมีอาการไอแบบระคายคอ อาจมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาวหรือใส ๆ หรืออาจไอแบบไม่มีเสมหะ มักจะไอมากเวลาถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่นละออง ลมที่พัดใส่ อากาศเย็น เป็นต้น อาการจะค่อย ๆ ทุเลา กว่าจะหายขาด อาจใช้เวลา 1-3 เดือน
รูป
6. โรคภูมิแพ้
มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใส ๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่นละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น อาการจะทุเลาเมื่อกินยาแก้แพ้ และกำเริบอีกเมื่อหยุดยา
รูป
7. โรคกรดไหลย้อน
มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (แต่ก็อาจพบในวัยหนุ่มสาวได้) มักมีอาการไอแห้ง ๆ หลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังกินอาหารเกือบทุกมื้อ ไอเรื้อรังทุกวันนานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือแรมเดือน โดยที่สุขภาพแข็งแรงดี บางรายอาจมีอาการแสบคอ หรือเสียงแหบช่วงหลังตื่นนอน พอสาย ๆ ทุเลาไปเอง บางรายอาจมีอาการแสบอก จุกอก หรือแสบจุกคอ
รูป
8. ผลข้างเคียงจากยาลดความดันกลุ่มต้านเอช (ACE inhibitors) เช่น อีนาลาพริล (enalapril)
มักมีอาการไอแห้ง ๆ บ่อย ๆ ทุกวันเรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ หรือแรมเดือน โรคที่สุขภาพแข็งแรงดี บางรายอาจไอจนปัสสาวะเล็ด ภาวะนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยหญิง แทบทุกคนเคยพบว่าหลังจากเป็นไข้หวัด ในบางครั้งจะมีอาการไอโครก ๆ นานเป็นแรมเดือน น่ารำคาญ ทำอย่างไรก็ไม่ยอมหายดังใจอยาก ในที่สุดก็ค่อย ๆ ทุเลาไปเอง บางครั้งอาจไอนานถึง 3 เดือน (จนมีการเรียกขานว่า "ไอ 3 เดือน")
บางคนกังวลใจ ขอให้หมอตรวจนั่นตรวจนี่มากมาย กรณีนี้เกิดจากมีหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน ทำให้เยื่อบุหลอดลม อ่อนแอลงและระคายเคืองง่ายเมื่อสัมผัสสิ่งระคายเคือง (เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่นละออง ลมที่พัดใส่ อากาศเย็น เป็นต้น) เยื่อบุหลอดลมกว่าจะฟื้นตัวแข็งแรงได้สนิทใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นกับสุขภาพของแต่ละคน ระหว่างที่ยังไม่พื้นหายดี ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง และถ้าไอมาก หมอก็จะให้กินยาแก้ไอบรรเทาจนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวดี
อาการดังกล่าวแตกต่างจากโรคภูมิแพ้ โดยที่โรคหลอดลมอักเสบจะมีอาการกำเริบนาน ๆ สักครั้ง ซึ่งมักจะมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน และจะไอแบบระคายคอ ไม่มีอาการจาม คันคอ คันจมูก ส่วนโรคภูมิแพ้จะมีอาการกำเริบอยู่เรื่อย ๆ เวลาสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ หรือเป็นตรงฤดูกาล (เช่น หน้าหนาว หน้าเกี่ยวข้าว) ทุกปี มักมีอาการจาม คันคอ คันจมูกมีน้ำมูกใส ๆ ไหลร่วมด้วย และมักทุเลาเมื่อกินยาแก้แพ้ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการห่างหายไปได้เมื่อสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
ส่วนผู้ที่ไม่มีลักษณะอาการดังกล่าวข้างต้น หากไอมากตอนหลังตื่นนอน หรือหลังกินอาหารแทบทุกมื้อทุกวันติดต่อกันเป็นแรมเดือน โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี อาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดตรงปลายหลอดอากรหย่อนสมรรถภาพ ไม่สามารถอุดกั้นน้ำย่อย (มีฤทธิ์เป็นกรด) ในกระเพาะอาหารได้ จึงปล่อยให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารและทางเดินหายใจส่วนต้น กระตุ้นให้เกิดอาการต่าง ๆ รวมทั้งอาการไอเรื้อรัง
หากสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริงและได้รับการรักษาด้วยยาลดการสร้างกรด อาการไอก็จะดีขึ้น
ในวัยกลางคนและวัยสูงอายุที่เป็นโรคความดันเลือดสูง หากได้รับยาลดความดันกลุ่มต้านเอช (เช่น อีนาลาพริล) ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ประหลาดกว่ายากลุ่มอื่น คือ ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังทุกวัน นานเป็นแรมเดือนพบได้ประมาณร้อยละ 25 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีเพศ บางรายหมอไม่ได้บอกเตือนล่วงหน้า ผู้ป่วยและญาติก็ไม่ได้เอะใจว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เห็นไอผิดปกติ กลัวว่าจะเป็นโรคปอด จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ทราบประวัติการรักษาของผู้ป่วย และหมอก็ไม่ได้สอบถามการใช้ยาชนิดนี้ หมอจึงตรวจนั่นตรวจนี่มากมายเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติคลายกังวลสิ้นเปลืองเงินไปหลายสตางค์ ในที่สุดก็พบว่าเกิดจากยานี้
ดังนั้น ผู้ป่วยวัยกลางคนหรือสูงอายุที่เป็นโรคความดันเลือดสูง หากจู่ ๆ มีอาการไอเรื้อรัง อย่าลืมคิดถึงสาเหตุข้อนี้ และควรกลับไปปรึกษาแพทย์คนเติมที่ให้การรักษาอยู่ก่อน อย่าเปลี่ยนแพทย์ให้เกิดความยุ่งยาก เมื่อแพทย์พบว่าเกิดจากสาเหตุนี้จริง ก็จะได้ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม
ไอเรื้อรังอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา
แม้ว่าผู้ที่มีอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง แต่บางรายก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอดถุงลมปอดโป่งพอง โรคหืด เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เป็นต้น
และแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าว แต่ให้การดูแลรักษาขั้นแรกมา 1-2 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา ก็อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่ธรรมดา (เช่น วัณโรคปอด มะเร็งปอดระยะแรก) ก็ได้ (ดูกรณีตัวอย่าง "ครอบครัวโรคปอด")
รูป
บทสรุป
ผู้ที่มีอาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์ควรรีบปรึกษาแพทย์ ถ้าพบอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
รูป
1. มีไข้เกิน 7 วัน
รูป
2. น้ำหนักลด
รูป
3. ไอเป็นเลือด
รูป
4. หอบเหนื่อย
รูป
5. อ่อนเพลีย
รูป
6. เบื่ออาหาร
รูป
7. เจ็บหน้าอก
รูป
8. มีความวิตกกังวล
รูป
9. ให้การดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ทุเลา
ข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ชอบไอตอนกลางคืนกลางวันไม่ไอค่ะ
บางคืนนอนทรมานต้องลุกมาบ้วนน้ำลายตลอด
มีอาการคันคอและบางครั้งมีเลือดบ่นมาด้วย
เป็นมาสองอาทิตย์แล้วอาการแบบนี้บ่งบอกว่าเสี่ยงเป็นโรคอะไรค่ะ
มีอาการไอมากเวลานอนทำให้นอนไม่หลับ แต่กลางวันไม่เป็น ทำไงดีคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)