“ภาวะโลหิตจาง (Anemia)” หรือเลือดจาง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ภาวะซีด" หรือ "เลือดน้อย" คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดีเท่าที่ควร
การที่ร่างกายมีภาวะโลหิตจางจะทำให้เกิดอาการซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น และบางคนอาจเป็นลมหมดสติได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เราอาจได้ยินคำว่า เลือดจาง หรือโลหิตจางกันอยู่บ่อยๆ และคิดว่าเกิดจากร่างกายขาดสารอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่า ภาวะโลหิตจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด และเพิ่งเป็นภายหลัง ซึ่งแต่ละสาเหตุนั้นก็มีความรุนแรงต่างกันไป
อาการของภาวะโลหิตจาง
การที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติทำให้ร่างกายขาด “ฮีโมโกลบิน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ และเนื้อเยื่อต่างๆ โดยระดับค่าฮีโมโกลบิน และความเข้นของเม็ดเลือดแดงแตกต่างกันในแต่ละเพศสภาพ ดังนี้
- ผู้หญิง: ค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 12 กรัม/เดซิลิตร และมีค่าเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 36 เปอร์เซ็นต์
- ผู้ชาย: ค่าฮีโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตร และมีค่าเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 39 เปอร์เซ็นต์
อาการผิดปกติที่มาพร้อมกับภาวะโลหิตจาง
- อ่อนเพลีย ใจสั่น และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- เหลือง ซีด มือเท้าเย็น ผิวหนังไม่มีเลือดฝาด
- วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มึนงง และหน้ามืดบ่อย
- หายใจลำบาก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นบางครั้ง
- ไม่สดชื่น
ทั้งนี้ความรุนแรง และความถี่ในการเกิดอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากภาวะโลหิตจางเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงมาก ก็อาจอันตรายถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิต
หากมีอาการเข้าข่ายภาวะโลหิตจาง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) โดยหากตรวจพบว่า ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงน้อยจะได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะโลหิตจาง
สาเหตุของภาวะโลหิตจาง
การที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยลงจนนำไปสู่ภาวะเลือดจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. ร่างกายสูญเสียเลือดมาก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจางที่พบได้บ่อย โดยการเสียเลือดอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หรือเกิดแบบเรื้อรังก็ได้
ตัวอย่างปัจจัยที่ทำให้เสียเลือดมาก ได้แก่
- การเกิดอุบัติเหตุ
- การตกเลือดจากการคลอด หรือแท้งบุตร
- การติดเชื้อพยาธิปากขอ
- เสียเลือดจากการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- เลือดออกจากทางเดินอาหาร
- อุจาระมีเลือดปน
2. มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อย
ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ มีทั้งโรคที่เป็นมาแต่กำเนิด และโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง
ตัวอย่างปัจจัยที่ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อย ได้แก่
- มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ ติดเชื้อในไขกระดูก มะเร็งไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกเป็นอวัยวะที่สร้างเม็ดเลือดแดงในผู้ใหญ่
- มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากไต และกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดฮอร์โมนดังกล่าวอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
- โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ และข้ออักเสบ
3. ขาดสารอาหาร
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก สารอาหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดสารอาหารเหล่านี้จะทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร และผู้มีรายได้น้อย
4. การตั้งครรภ์
ว่าที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนแรก อาจมีภาวะขาดโฟเลต และธาตุเหล็ก ทำให้มีโอกาสเกิดโลหิตจางได้บ่อยๆ การรับประทานโฟเลต และธาตุเหล็กเสริมขณะตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโลหิตจางได้
5. มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
ปัจจัยที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากกว่าปกตินั้นมีมากมาย ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่เป็นแต่กำเนิดและปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น
- โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เกิดอาการผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของธาลัสซีเมีย
- โรค Sickle cell anemia ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ไม่สามารถขนส่งออกซิเจนได้สมบูรณ์ และถูกทำลายได้ง่าย
- มีม้ามโต ซึ่งม้ามเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- โรคไขกระดูกเสื่อม
6. ปัจจัยอื่นๆ
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เช่น เกิดการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ร่างกายขาดเอนไซม์บางตัว หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโลหิตจาง
อันตรายจากภาวะโลหิตจางโดยทั่วไปมักมาจากอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้ตามปกติ หรืออาจหน้ามืด เป็นลม หมดสติ จนเกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโลหิตจาง “หัวใจ” จะต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือด ทำให้อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวายได้เช่นกัน
ส่วนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเหล็กเกินซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
การรักษาภาวะโลหิตจาง
การรักษาภาวะโลหิตจางจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น
1. การรับสารอาหารเสริม
ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจำนวนมาก มักขาดสารอาหารสำคัญทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้รับประทานธาตุเหล็ก วิตามิน บี12 และโฟเลตเสริม รวมถึงรับประทานอาหารที่มีสารอาหารดังกล่าวสูงด้วย เช่น เครื่องในสัตว์ นม ไข่ และผักใบเขียว
2. การรับฮอร์โมนเสริม
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน โดยแพทย์จะฉีดฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ผู้ที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยทอง อาจต้องรับฮอร์โมนบางอย่างเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
3. การรับเลือดทดแทน
ใช้รักษาในผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดมาก และผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีโลหิตจางอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียบางชนิด สิ่งที่ต้องระวังจากการรับเลือดเป็นประจำคือ “ภาวะเหล็กเกิน” ทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องรักษาด้วยวิธีล้างพิษหลอดเลือด (Chelation therapy) เพื่อขับเหล็กออกจากร่างกายด้วย
4. การปลูกถ่ายไขกระดูก
ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง และสาเหตุมาจากความผิดปกติของไขกระดูก แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาคที่มีความเข้ากันได้กับร่างกายผู้ป่วย
5. การตัดม้าม
หากมีภาวะม้ามโต และเกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการตัดม้าม ซึ่งจะช่วยให้อาการซีด และภาวะเลือดจางดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ภูมิคุ้มกันร่างกายอาจอ่อนแอลงหลังตัดม้าม ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
การป้องกันภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถป้องกันปัจจัยอื่นๆ ซึ่งรับมาภายหลังได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เสียเลือดมาก
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และโฟเลตสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นม ไข่ ผักใบเขียว และธัญพืช โดยเฉพาะหากอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์
- หากมีประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานธาตุเหล็กและโฟเลตเสริม
- ไม่รับประทานยาชุด เช่น ยาแก้ปวดเมื่อย เนื่องจากอาจระคายเคืองกระเพาะอาหารทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารและลำไส้ได้
- หากมีภาวะโลหิตจางอยู่แล้ว และวางแผนจะมีลูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้โรคถ่ายทอดไปสู่ลูก
- หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น มีเลือดปนออกมา มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หรือสงสัยว่ามีภาวะโลหิตจาง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัพเดทแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android