กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

7 อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยรับมือกับโรคกรดไหลย้อน

แนะนำ 7 อาหารที่ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
เผยแพร่ครั้งแรก 20 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
7 อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยรับมือกับโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศ ทุกวัย สาเหตุเกิดจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนกลางอก ท้องอืด แน่นท้อง เจ็บหน้าอก มีน้ำรสเปรี้ยว หรือขมในปาก คลื่นไส้ ฯลฯ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

โดยวิธีการรับมือกับโรคกรดไหลย้อน นอกจากการรับประทานยาที่ช่วยบรรเทาอาการแล้ว การเลือกรับประทานอาหารบางชนิด และหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน แต่จะมีอาหารประเภทใดบ้างนั้น มาดูพร้อมกันเลย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

7 อาหารแนะนำสำหรับคนเป็นโรคกรดไหลย้อน

1. ขิง

การรับประทานขิงช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และโรคกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากขิงช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ลดอาการท้องอืด และช่วยขับลมที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น

โดยสามารถทำชาขิงดื่มเองง่ายๆ ได้ที่บ้าน โดยหั่นขิงสดเป็นชิ้นบางๆ ใส่ในน้ำร้อน ไม่ควรใส่น้ำตาลเพิ่มลงไป และให้พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มจิงเจอร์เอลล์ (Ginger ale) เพราะมีแก๊สและน้ำตาลซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น

2. กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า เป็นหนึ่งในอาหารประเภทอัลคาไลน์ (Alkaline Diets) หรืออาหารที่มีสภาวะเป็นด่าง ช่วยทำให้ค่าความเป็นกรดในกระเพาะอาหารเป็นกลางมากขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ดี นอกจากนี้ เมื่อรับประทานกล้วยน้ำว้าเข้าไปในร่างกาย กล้วยน้ำว้าจะกลายเป็นเมือกเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อีกด้วย

3. นมและโยเกิร์ตไขมันต่ำ

นม หรือโยเกิร์ตเป็นอาหารที่ช่วยรับมือกับกรดในกระเพาะอาหารได้ดี แต่ควรเลือกสูตรที่ไม่หวานและไขมันต่ำ เพราะอาหารที่มีไขมันสูงมีแนวโน้มที่จะไปลดความดันในกล้ามเนื้อหูรูดที่หลอดอาหารส่วนล่าง และใช้เวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

4. เมลอน

เมลอนมีสรรพคุณคล้ายกับกล้วยตรงที่ถูกจัดให้เป็นผลไม้ประเภทอัลคาไลน์ ทำให้ผลไม้ชนิดนี้ช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้ นอกจากจะรับประทานแบบเดี่ยวๆ แล้ว อาจนำเมลอน หรือแตงโมไปปั่นเป็นสมูทตี้แทนการใช้ผลไม้ที่มีกรดสูงอย่างผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่ชอบดื่มสมูทตี้เป็นประจำ

5. ผักสีเขียว

นอกจากผักสีเขียวจะเต็มไปด้วยกากใยที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้แล้ว การรับประทานผักสีเขียวอย่างหน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดาว และผักโขม ที่ล้วนแต่มีค่าความเป็นอัลคาไลน์สูง ก็สามารถช่วยให้กระเพาะอาหารมีความเป็นกลางมากยิ่งขึ้น การรับประทานผักใบเขียวจึงช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้นั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

6. ข้าวโอ๊ต

ธัญพืชเต็มเมล็ดทุกชนิดสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะข้าวโอ๊ต เพราะมีเนื้อหนา และมีความหยุ่น ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วข้าวโอ๊ตจะพองตัวในกระเพาะอาหารช่วยเคลือบเยื่อบุในกระเพาะอาหาร และลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้

แนะนำให้รับประทานข้าวโอ๊ตร่วมกับนมไขมันต่ำ หรือน้ำอัลมอนด์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นอาหารที่มีค่าอัลคาไลน์สูงนั่นเอง

7. หมากฝรั่ง

การเคี้ยวหมากฝรั่งจะช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำลายออกมา ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณของกรดในหลอดอาหาร แต่ควรเลี่ยงหมากฝรั่งรสเปปเปอร์มิ้นต์ และสเปียร์มิ้นต์ เพราะหมากฝรั่งรสดังกล่าวจะทำให้หลอดอาหารคลายตัว ส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้

โรคกรดไหลย้อนนั้นสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหาร นอกจากอาหารที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว คุณควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้ร่างกายกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ของหมักดอง น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ กาแฟ อาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น

อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำคือ ไม่รับประทานอาหารก่อนนอน ควรเว้นระยะเวลาระหว่างมื้ออาหารก่อนนอนกับการนอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง จะช่วยลดการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้มากยิ่งขึ้น และถ้าหากคุณเป็นคนที่ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี แนะนำให้แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ (เมื่อรวมกันแล้วควรมีปริมาณเทียบเท่ากับอาหารจำนวน 3 มื้อ) เพื่อให้กระเพาะอาหารไม่ทำงานหนักเกินไป ที่สำคัญจะต้องรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เพียงเท่านี้โรคกรดไหลย้อนก็จะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป  


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Nighttime Heartburn Relief: 28 Ways to Prevent Reflux at Night. WebMD. (https://www.webmd.com/heartburn-gerd/features/28-tips-for-nighttime-heartburn-relief#1)
9 ways to relieve acid reflux without medication. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/digestive-health/9-ways-to-relieve-acid-reflux-without-medication)
Best drinks for acid reflux: Tips, best practices, and drinks to avoid. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/314886)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป