กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

คู่มือโรคพิษสุนัขบ้าฉบับสมบูรณ์: สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วัคซีน

หยุด! โรคติดเชื้อร้ายแรงที่ยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 2 ธ.ค. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
คู่มือโรคพิษสุนัขบ้าฉบับสมบูรณ์: สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน วัคซีน

โรคพิษสุนัขบ้า หรือบางครั้งเรียก โรคกลัวน้ำ  เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว วัว ควาย หนู กระต่าย ค้างคาว และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้  ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีอาการต่อระบบประสาท เช่น เส้นประสาท สมอง  มีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน  ที่สำคัญปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษามีแต่วัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น

เชื้อพิษสุนัขบ้าติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร?

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจาก เชื้อไวรัสแรบีส์ (Rabies) ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นโรค ส่งผลให้โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกข่วน กัด หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล  ผิวหนังถลอก หรือถูกเลียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น  เยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ การรับประทานของดิบๆ จากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถทำให้ติดโรคได้  

ประเทศไทยพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขมากที่สุด รองลงมาเป็นแมว

ถ้าถูกสุนัขกัดและไม่รู้ว่าสุนัขตัวนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ให้คิดไว้ก่อนว่าสุนัขตัวนั้นเป็นโรค โดยอัตราการเป็นโรคหลังถูกกัดอยู่ที่ 35% และบริเวณที่ถูกกัดก็ส่งผลแตกต่างกัน ถ้าถูกกัดบริเวณขามีโอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดที่บริเวณใบหน้าจะมีโอกาสเป็นโรคถึง 88% ถ้าเป็นแผลตื้น หรือแผลถลอกจะมีโอกาสเป็นโรคน้อยกว่าแผลลึก

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคน

หลังจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปี ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะเริ่มต้น

ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง
เช่น ไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปลบคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน

2. ระยะที่มีอาการทางสมอง

ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว น้ำตาไหล น้ำลายไหล เหงื่ออกมาก มีอาการกลัวลม เพียงแค่ลองเป่าลม หรือโบกลมผ่านเบาๆ ก็จะผวา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต รวมถึงมีอาการกลัวน้ำ เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอ ทำให้กลืนลำบาก ไม่กล้าดื่มน้ำ แต่ยังรู้สึกตัว มีสติ พูดคุยได้ ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน

3. ระยะท้าย

ผู้ป่วยอาจหมดสติและเป็นอัมพาตก่อนจะมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

ระดับการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าขององค์การอนามัยโลก

แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • สัมผัสโรคระดับ 1 สัมผัสสัตว์โดยผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล
  • สัมผัสโรคระดับ 2 สัตว์กัด หรือข่วน เป็นรอยช้ำ เป็นแผลถลอก สัตว์เลียบาดแผล บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ทำให้สุก
  • สัมผัสโรคระดับ 3 สัตว์กัด หรือข่วนทะลุผ่านผิวหนัง มีเลือดออกชัดเจน น้ำลายสัตว์ถูกเยื่อบุ หรือบาดแผลเปิด รวมทั้งค้างคาวกัด หรือข่วน

คำแนะนำเรื่องการดูแลรักษาผู้ถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด

หากสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ คุณควรปฏิบัติดดังต่อไปนี้

1. การล้างแผล

ล้างแผลด้วยน้ำ แล้วฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้งทันที ที่สำคัญต้องล้างทุกแผลและลึกถึงก้นแผลนานอย่างน้อย 15 นาที แต่ระวังอย่าให้แผลช้ำ จากนั้นเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน ไอโอดีน หรือ ฮิบิเทนในน้ำ หากไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70%

2. การให้ยาปฏิชีวินะ

ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาการติดเชื้อหรือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. การรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และเข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปี มาแล้ว ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักกระตุ้น 1 เข็ม 
แต่หากไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน หรือได้รับไม่ครบ 3 เข็ม ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก 3 ครั้งหรือ 1 คอร์ส

4. การรับวัคซีนแบบก่อนการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

สามารถฉีดได้ในกรณีที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการสัมผัสโรคคลอดเวลา หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

5. การตรวจสมองสัตว์

การส่งตรวจสมองในกรณีที่สัตว์ตาย ควรนำซากสัตว์ส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง และแช่แข็งเพื่อไม่ให้สมองเน่า ส่วนกรณีซากสัตว์เน่า หรือสัตว์ที่กัดมีประวัติอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า แม้ว่าผลการตรวจสมองสัตว์ได้ผลลบ อาจได้รับการรักษาแบบภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

ทั้งนี้ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

6. การรักษาภายหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

จะฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในกรณีสัมผัสโรคระดับ 2 และกรณีสัมผัสโรคระดับ 3 และจะให้ Rabies immuneglobulin เพิ่มเติม ในกรณีที่เป็นการสัมผัสโรคระดับ 3 เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง

ทั้งนี้ รายละเอียดวิธีการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับประวัติการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเดิมของผู้ป่วยด้วย

กล่าวคือ หากไม่เคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนเลยให้เริ่มฉีดวัคซีนใหม่ให้ครบ 1 คอร์ส แต่หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายภายใน 6 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม ส่วนกรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 2 เข็ม

ในกรณีที่ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน หรือฉีดวัคซีนเข้าในหนังบริเวณต้นแขน   อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแม้จะเป็นการสัมผัสโรคระดับ 3 ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฉีด Rabies immuneglobulin เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ กัด ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาและให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วน

โรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว

คงเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า โรคพิษสุนัขบ้านั้นเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ และเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่บางคนอาจจะชะล่าใจคิดว่าโดนสุนัขและแมวจรจัดข่วนนิดหน่อยอาจจะไม่เป็นอะไร

ความจริงแล้วไม่ใช่เลย แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าจะแพร่ผ่านทางน้ำลายโดยการกัดเสียส่วนมาก แต่การถูกสุนัขและแมวที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าข่วน  หรือเลียบริเวณที่มีแผล ก็สามารถทำให้เราติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

ดังนั้นถ้าโดนสุนัขและแมวจรจัดข่วน โดยเฉพาะข่วนจนเลือดออก ห้ามใจเย็นเด็ดขาด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที

อาการของสุนัขและแมวที่ต้องสงสัยว่า เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เริ่มแรกเชื้อจะอาศัยที่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัด เข้าสู่กระแสเลือด และค่อยๆ ลามไปสู่ระบบประสาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นประสาทส่วนปลาย  หรือระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมอง เป็นต้น

ภายหลังจากถูกกัด โรคอาจใช้เวลาเป็น 1-3 เดือนในการพัฒนา แต่เมื่อพ้นภาวะเบื้องต้นไปแล้ว อาจพัฒนาเข้าสู่ระยะแพร่เชื้อที่สัตว์จะแสดงอาการโกรธ (Furious stage) และระยะท้ายที่สัตว์จะเป็นอัมพาต (Paralytic stage) โดยทั้งสองระยะอาจเป็นพร้อมกันได้ 

อาการที่สำคัญของโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ หลบซ่อนตัวตามุมมืด ไม่กินอาหาร จากนั้นราว 48 ชั่วโมง จะมีอาการกระสับกระสาย นิสัยเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มีความดุร้ายกัดคนไปทั่ว

ต่อมาจะเริ่มมีอาการทางประสาท เช่น ชักกระตุก มีภาวะอัมพาตทั้งตัว เดินไม่ได้ อ้าปากค้าง กรามล่างห้อย กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก กล่องเสียงหรือกรามล่างเป็นอัมพาต น้ำลายไหลยืด บางตัวอาจพบว่าน้ำลายฟูมปาก กลัวน้ำ และตายภายใน 2-3 วัน 

การวินิจฉัยและการตรวจพิษสุนัขบ้า

หากสงสัยว่าสุนัขหรือแมวของท่านเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้กักขังสัตว์ไว้ แต่ถ้าหากแสดงอาการดุมาก อาจต้องติดต่อเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เพื่อวางยาสลบ  หรือจับ

เมื่อผ่านไป 10 วัน หากอาการปกติดีแสดงว่าไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากมีอาการแสดงตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น สัตว์มักจะตายในเวลา 1 สัปดาห์ต่อมา

การวินิจฉัยยืนยันที่สามารถทำได้ในปัจจุบันจะใช้วิธีผ่าซากเพื่อหาเชื้อโรคที่ปรากฏอยู่ในสมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) ส่วนการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อยังไม่สามารถทำได้

การรักษาและการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

คนหรือสัตว์เลี้ยงที่ถูกสุนัขที่สงสัยว่าจะเป็นโรคกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและรีบพาไปโรงพยาบาล

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถฉีดวัคซีนภายหลังจากการถูกกัดเพื่อป้องกันโรคได้ เพราะการพัฒนาของภูมิคุ้มกันโรคนั้นเร็วกว่าการแพร่กระจายของเชื้อโรคซึ่งสามารถทำได้ทั้งในสัตว์และในคน แต่จำเป็นต้องไปฉีดยาหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่วมกับการป้องกันบาดทะยัก

แต่หากสุนัขหรือแมวตัวนั้นแสดงอาการทางระบบประสาท หรือแสดงอาการก้าวร้าว แสดงว่าเชื้อได้เข้าไปยังสมองแล้ว ในช่วงนี้ให้กักขังสัตว์เอาไว้ ไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่สัตว์หรือคนอื่นๆ ต่อไป สัตว์จะตายเองภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูกกัด

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่ฉีดได้หลังติดเชื้อ มี 2 สูตร ได้แก่

  1. สูตรฉีดเข้ากล้าม ฉีดวัคซีน 0.1 มิลลิลิตร  หรือ 0.5 มิลลิลิตร  ขึ้นกับชนิดของวัคซีนใน 1 หลอดเมื่อละลายแล้ว ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28
  2. สูตรการฉีดเข้าในหนัง ฉีดวัคซีนเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 2 ข้าง ข้างละ 1 จุด รวม 2 จุด ปริมาณจุดละ 0.1 มิลลิลิตร ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนถูกกัด

สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ป้องกันที่ตัวสัตว์ กับป้องกันคนติดเชื้อ ดังนี้

1. นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

คุณสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง

วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นวัคซีนราคาถูก เพราะกรมปศุสัตว์มีแผนจะทำให้โรคพิษสุนัขบ้าปลอดจากประเทศไทยให้ได้ บางครั้งอาจมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าฟรี 

อย่างไรก็ตาม เจ้าของควรพาสุนัขหรือแมวไปฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 3 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งที่ 6 เดือน

ถึงแม้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจะสามารถป้องกันโรคได้นานกว่า 5 ปี แต่เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นถิ่นที่มีการระบาดอยู่จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนทุกปีจึงจะปลอดภัย หลายคนมักเข้าใจว่า โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว แต่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู จึงควรฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงทุกตัว

2. การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในคน

วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) ควรฉีดในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์และเด็ก และควรฉีดก่อนสัมผัสสัตว์ การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสสัตว์ มีวิธีการฉีดแตกต่างกัน

ประชาชนทั่วไป

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 1 เข็ม ในวันที่ 0 และ 7
  • ฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 0.1 มิลลิลิตร/จุด จำนวน 2 จุด ในวันที่ 0 และ 7 หรือ 21

ผู้ที่มีปัจจัยสูงในการสัมผัสโรคตลอดเวลาหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 1 เข็ม ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28
  • ฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขน 0.1 มิลลิลิตร/จุด จำนวน 1 จุด ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28

ผู้ที่สัมผัส หรือถูกสัตว์กัดและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อนให้ฉีดอิมมูโนโกลบูลิน ถ้าเป็นแค่รอยฟกช้ำ แผลไม่มีเลือดออก ก็ไม่จำเป็นต้องให้อิมมูโนโกลบูลิน  ส่วนอาการข้างเคียงของอิมมูโนโกลบูลินอาจเกิดปฏิกิริยารุนแรงหรือ Serum sickness

อาการข้างเคียงของวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่พบคือ บวม เจ็บ คันบริเวณที่ฉีด อาการทั่วไปที่พบคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้และปวดกล้ามเนื้อ

Q & A เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

คำถาม: การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนถูกสุนัขกัดมีประโยชน์อย่างไร

คำตอบ: มีความปลอดภัยสูงและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์  เป็นต้น (ถ้าได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง กรณีถูกสัตว์กัดภายใน 6 เดือนหลังฉีดครบ 3 เข็ม แนะนำให้ฉีดซ้ำอีก 1 เข็ม แต่ถ้าระยะเวลาถูกสัตว์กัดนานเกิน 6 เดือน แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ในวันที่ 0, 3 และไม่จำเป็นต้องให้อิมมูโนโกลบูลินซึ่งมีราคาแพง)

คำถาม: กรณีถูกสุนัขกัด มีแผลเลือดออกและรุนแรง ควรฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าอย่างไร ถ้ายังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

คำตอบ: ให้ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจำนวน 5 เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือ 30 และให้ฉีดอิมมูโนโกลบูลินให้เร็วที่สุด

คำถาม: อิมมูโนโกลบูลินพิษสุนัขบ้ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง และมีฉีดอย่างไร

คำตอบ: อิมมูโนโกลบูลินพิษสุนัขบ้า มี 2 ชนิด คือ HRIG และ ERIG โดยฉีดรอบแผลให้มากที่สุดและให้ครบทุกแผล ที่เหลือฉีดเข้ากล้ามเนื้อคนละด้านกับวัคซีน ถ้าใช้ ERIG ควรทดสอบผิวหนังก่อนเสมอ

คำถาม: ความหมายของผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าคืออะไร

คำตอบ: คือผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามากกว่าหรือเท่ากับ 3 เข็ม จึงจะถือว่า เป็นผู้เคยได้รับวัคซีน

ไม่ว่าคุณจะถูกสุนัข หรือแมว ของตนเอง หรือของผู้อื่น หรือสัตว์จรจัด  กัด ข่วน หรือทำให้เป็นแผลถลอก อย่านิ่งนอนใจ คิดว่า "ไม่เป็นไร" ให้รีบทำความสะอาดบาดแผลและรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเคราะห์ร้ายขึ้นมาจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที 


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร? เกิดจากเชื้ออะไร? รักษาหายไหม? ป้องกันอย่างไร?, (https://hdmall.co.th/c/what-is-rabies-disease).
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว (http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/579), 2562
คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัส โรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พ.ศ. 2561 (http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/Rabies-book-2018-4-09-2018-ok.pdf), 2561

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัด
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัด

เมื่อถูกสุนัขกัด ต้องทำอย่างไร?

อ่านเพิ่ม