ยาแก้ไอมะขามป้อม

รู้จักสรรพคุณของ มะขามป้อม ที่นอกจากจะใช้แก้ไอได้อย่างที่มักจะพบ ยาแก้ไอมะขามป้อม ตามท้องตลาดแล้ว ยังสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นได้อีก
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ยาแก้ไอมะขามป้อม

ประเทศไทยมีการนำมะขามป้อมมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาแผนโบราณต่างๆมากมาย เช่น ยาแก้ไอมะขามป้อม นอกจากนี้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ก็นิยมใช้มะขามป้อมเป็นยาแผนโบราณเช่นกัน เนื่องจากเนื้อผลมีรสเปรี้ยวฝาด อุดมไปด้วยวิตามินซี และมีสรรพคุณทางยามากมาย

สรรพคุณของมะขามป้อม

ผลมะขามป้อมอุดมไปด้วยวิตามินซีสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ ถึง 20 เท่า มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย มีวิตามินเอ วิตามินบี 3 และมีแร่ธาตุจำพวกแคลเซียม ฟอสฟอรัส กรดอะมิโน และสารไกลโคไซน์ (Glycosides) ยิ่งไปกว่านั้นในเนื้อผลมะขามป้อมยังมีกรดไขมันจำพวกกรดลิโนเลนิก (Linolenic) กรอลิโนเลอิก (Linoleic) และกรดสเตียร์ริก (Stearic) อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จากการรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า มะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ (Antimicrobial) มีกรดแอสคอบิกหรือกรดวิตามินซี มีสารเทนนิน และมีสารประกอบฟีนอลในปริมาณสูง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยป้องกันการเกิดออกซิไดซ์ของวิตามินซี จึงทำให้วิตามินซีรักษาสภาพไว้ได้นาน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบภายในร่างกาย และสามารถช่วยยับยั้งสารพิษและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตับ (Hepatoprotective Effect) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ทำลายเซลล์มะเร็ง (Anticancer Effect) และต้านการเกิดก้อนเนื้อที่จะนำมาสู่โรคมะเร็งได้

นอกจากนี้ มะขามป้อมยังมีสรรพคุณต้านโรคเบาหวานและช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานเช่น การเกิดต้อกระกระจกได้ ช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลในเส้นเลือด ลดไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ของผู้ป่วยที่มีคอเรสเตอรอลสูง ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และยังช่วยยับยั้งกลไกที่ทำให้เกิดอาการไอได้อีกด้วย จึงนิยมนำมาทำยาแก้ไอมะขามป้อม

มะขามป้อมกับการแพทย์ในประเทศอินเดีย

ในอายุรเวทหรือตำราแพทย์เก่าแก่ที่ว่าด้วยการใช้สมุนไพรของประเทศอินเดีย บันทึกไว้ว่ามะขามป้อมจะช่วยเพิ่มการดูดซึมอาหารและควบคุมสมดุลของกรดในกระเพาะอาหาร รักษาอาการท้องเสีย โรคบิด (อาการท้องเสียรุนแรงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย) ช่วยลดอาการปวดท้องและลดการบีบตัวของลำไส้ได้ วิธีใช้คือนำผลมะขามป้อมต้มกับนมเปรี้ยว ทั้งยังสามารถใช้ผลสุกของมะขามป้อม 1-2 ผลเป็นยาระบายได้ด้วย

นอกจากนี้มะขามป้อมใช้รักษาโรคดีซ่านได้ เนื่องจากมีธาตุเหล็กปริมาณสูง ช่วยต้านการอักเสบ ช่วยรักษาโรคเบาหวาน แก้อาการไอ หอบหืด โรคโลหิตจาง โรคหลอดลมอักเสบ อาการจุกเสียด เป็นต้น รวมถึงช่วยเพิ่มการทำงานของตับ สมอง และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้หัวใจ ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันในแก่ร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม ป้องกันผมหงอก ช่วยเกี่ยวกับเรื่องการมองเห็น และช่วยเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone)

ยาแก้ไอมะขามป้อมที่มีวางขายในท้องตลาด

ปัจจุบันมียาแก้ไอที่มีส่วนผสมของมะขามป้อม โดยอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะยา ดังนี้

  1. ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ชนิดน้ำ หรือที่เรามักได้ยินกันว่า ยาแก้ไอมะขามป้อมชนิดน้ำ ตามสูตรบัญชียาหลักแห่งชาติประกอบด้วยสูตรตำรับ 2 สูตร โดยมีส่วนประกอบหลักคือ สารสกัดน้ำมะขามป้อมเข้มข้น ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และช่วยให้ชุ่มคอ เช่น ยาแก้ไขมะขามป้อมผสมสารสกัดจากรากชะเอมเทศ เนื้อลูกสมอไทยและสมอพิเภก มะนาวดองแห้ง สารสกัดจากใบเสนียด เป็นต้น นอกจากความแตกต่างของสมุนไพรในแต่ละสูตรแล้ว ความหวานแต่ละสูตรก็ต่างกันด้วย ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกสูตรของยาแก้ไอมะขามป้อมที่เหมาะสมกับอาการได้
  2. ยาอมแก้ไอมะขามป้อม ชนิดเม็ด สะดวกต่อการพกพาและกินง่ายกว่ายาแก้ไอมะขามป้อมชนิดน้ำ ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีความแตกต่างกันเรื่องสมุนไพร เช่น มีการเพิ่มสมุนไพรจีนคือ หล่อฮั้งก้วย และ เก็กฮวย ที่ช่วยแก้อาการไอ ทำให้ชุ่มคอเข้ามาด้วย และที่แตกต่างจากยาแก้ไอมะขามป้อมชนิดน้ำคือ มียาอมแก้ไอสูตรไม่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแก้ไอมะขามป้อม

เนื้อผลของมะขามป้อมมีรสเปรี้ยวฝาด ตามความเชื่อการรักษาแบบแพทย์แผนไทย รสเปรี้ยวที่อยู่ในยาแก้ไอมะขามป้อมมีสรรพคุณกัดเสมหะ ปัจจุบันมีการศึกษาเภสัชวิทยาถึงฤทธิ์ของมะขามป้อมพบว่า มีฤทธิ์ละลายเสมหะ ขับเสมหะ มีฤทธิ์ลดอาการไอ (Antitussive) ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจและหลอดลม ลดความแรงของการไอ นอกจากนี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดน้ำลายในช่องปาก ช่วยทำให้ชุ่มคอ ช่วยลดอาการระคายเคือง แก้อาการเจ็บคอและช่วยลดการหลั่งของสารเยื่อเมือก (Mucous) หรือเสมหะได้อีกด้วย 

ข้อควรระวังสำหรับการรับประทานยาแก้ไอมะขามป้อม

ตามสูตรบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาแก้ไอมะขามป้อม มีส่วนผสมของรากชะเอมเทศซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และระวังการบริโภครากชะเอมเทศติดต่อกันเวลานาน ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจมีผลทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ นอกจากนี้ควรระวังการใช้ยาแก้ไอมะขามป้อมในผู้ที่ท้องเสียง่าย(ธาตุเบา) เนื่องจากมะขามป้อมมีรสเปรี้ยว มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้ด้วย

คนท้องกินยาแก้ไอมะขามป้อมได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเป็นพิษ หรือการทำให้เกิดการแท้งในสตรีมีครรภ์หรือในสัตว์ทดลองตั้งครรภ์ที่กินยาแก้ไอมะขามป้อม อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาแก้ไอมะขามป้อมติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายหลังจากรับประทานยาต่างๆ ด้วย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้จิบน้ำอุ่นหรือน้ำอุ่นผสมมะนาว ช่วยบรรเทาอาการไอ บรรเทาอาการเจ็บคอ และยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้อีกด้วย 


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, ยาสมุนไพรกับหญิงตั้งครรภ์ (http://medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5638), 3 กันยายน 2553.
บัญชียาหลักแห่งชาติ, บัญชียาจากสมุนไพร (http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/main_page/herbal_book.pdf), 25 พฤษภาคม 2554.
พิชานันท์ ลีแก้ว, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมุนไพรแก้ไอ...มะขามป้อม (http://medherbguru.gpo.or.th/articles/D30_Emblica.pdf), 25 มีนาคม 2561.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ประโยชน์มะขามป้อม ไอเดียการกินการใช้มะขามป้อมเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง
ประโยชน์มะขามป้อม ไอเดียการกินการใช้มะขามป้อมเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

มะขามป้อม สมุนไพรรสเปรี้ยวที่อุดมไปด้วยวิตามินซี สรรพคุณทางยาแน่น ที่ต้องลอง

อ่านเพิ่ม