ผู้ที่รับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หากใช้ได้ถูกต้องและไม่มีการตั้งครรภ์ ก็ควรจะมีประจำเดือนมาตามรอบปกติทุก ๆ เดือน แต่ก็พบได้เช่นกันว่าผู้ใช้บางราย โดยเฉพาะถ้ารับประทานยาคุมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ที่จะมีประจำเดือนมาน้อยลง หรือขาดหายไปในบางเดือน
เข้าใจธรรมชาติของรอบเดือน
ในวงรอบประจำเดือนตามธรรมชาติของผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดจะเป็นตามภาพตัวอย่าง นั่นคือ เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลงสุดขีดในช่วงที่มีประจำเดือน ต่อมใต้สมองส่วนหน้าก็จะหลั่งฮอร์โมน FSH มากระตุ้นให้ไข่โตขึ้น และโพรงไข่ก็จะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาและทำให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น
เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่ ต่อมใต้สมองส่วนหน้าก็จะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก
หลังจากที่มีไข่ตก โพรงไข่ก็จะพัฒนาเป็นคอร์พัสลูเทียม และหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาเปลี่ยนแปลงหลอดเลือดและต่อมต่าง ๆ ในเยื่อบุมดลูก เพื่อให้พร้อมรับการฝังตัวของไข่ที่อาจจะได้ผสมกับอสุจิ
และคอร์พัสลูเทียมยังหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาด้วย แต่ปริมาณไม่มากเท่ากับที่หลั่งจากโพรงไข่ในช่วงก่อนไข่ตก ฮอร์โมนจากคอร์พัสลูเทียมจะไปยับยั้งต่อมใต้สมองส่วนหน้าไม่ให้หลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ออกมา เพื่อจะได้ไม่มีการเลี้ยงไข่ใบใหม่และตกไข่ซ้ำซ้อนกันนั่นเองค่ะ
และหากไม่มีการฝังตัว ไม่ว่าจะเป็นเพราะไข่ไม่ได้ผสมกับอสุจิ หรือผสมกันแล้วแต่ฝังตัวไม่สำเร็จก็ตาม คอร์พัสลูเทียมจะฝ่อและสลายตัวไป ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เคยหลั่งมาจากคอร์พัสลูเทียมก็จะลดลง ซึ่งการที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสตินลดต่ำลงมากจะส่งผลให้เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูกออกมา เมื่อเกิดการฉีกขาดของเยื่อบุและหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุ ก็จะทำให้มีเลือดออกมาเป็นประจำเดือน
ดังนั้น หากมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก โดยเฉพาะในช่วงก่อนไข่ตก เยื่อบุมดลูกก็จะมีการหนาตัวมาก ทำให้เมื่อถึงเวลาที่มีการหลุดลอก ก็จะมีการฉีกขาดของเยื่อบุและหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุมาก ทำให้มีประจำเดือนมามากนั่นเองค่ะ
ทำไมกินยาคุมกำเนิดแล้วถึงมีประจำเดือน
แต่สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิด โดยปกติแล้วจะไม่มีไข่ตกนะคะ การที่มีประจำเดือน เกิดจากการเลียนแบบ “ช่วงปลอดฮอร์โมน” ตามธรรมชาติ นั่นคือ ช่วงที่เว้นว่าง 7 วันสำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด หรือช่วงที่รับประทาน “เม็ดแป้ง” สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ด เมื่อไม่ได้รับฮอร์โมนต่อ ระดับฮอร์โมนที่ลดลงจนถึงระดับต่ำสุดก็จะทำให้เยื่อบุมดลูกเกิดการหลุดลอก
ซึ่งยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่ “เม็ดยาฮอร์โมน” มีปริมาณยาเท่ากันทุกเม็ด (Monophasic combined pills) และมักจะมีปริมาณเอสโตรเจนในระดับต่ำ (Ethinylestradiol < 0.050 มิลลิกรัม/เม็ด)
อีกทั้งการที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมาตั้งแต่แรก การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุมดลูกจึงเป็นในลักษณะเพิ่มความ “หนาแน่น” มากกว่าเพิ่มความ “หนาตัว” เมื่อเยื่อบุไม่ได้หนาตัวขึ้นมาก เวลาหลุดลอกจึงมีการฉีกขาดและมีประจำเดือนน้อยกว่าปกตินั่นเองค่ะ
จะเห็นได้ว่าประจำเดือน ไม่ใช่เลือดเสียที่ค้างอยู่ในมดลูก แต่เป็นเลือดปกติที่มาจากการฉีกขาดของเยื่อบุและหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุนะคะ ซึ่งเยื่อบุก็จะมีการหลุดลอกและหนาตัวขึ้นใหม่ทุก ๆ เดือน ตามลักษณะของการได้รับฮอร์โมน ดังนั้น แม้จะมีประจำเดือนมาน้อยลง หรือขาดหายไปในบางเดือน หากมั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์อย่างแน่นอน ก็ไม่มีปัญหาค่ะ เพราะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ถ้าใช้ถูกต้องและไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่มีประจำเดือนมาน้อยลง หรือขาดหายไปในบางเดือน หากต้องการแก้ไข ก็มีทางเลือกดังต่อไปนี้ค่ะ
- ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยไปตามธรรมชาติของการใช้ยาคุม
- เพิ่มปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนให้มากขึ้น
- เปลี่ยนไปใช้ยาคุมที่มีระดับของฮอร์โมนในเม็ดยาแตกต่างกัน (Multiphasic combined pills)
ไม่ต้องกังวลใจ หรือแก้ไขอะไรให้วุ่นวาย เพราะการที่มีประจำเดือนมาน้อยลงไม่ได้ส่งผลเสียใด ๆ ต่อสุขภาพ ดีซะอีกที่ไม่ต้องเปลืองค่าผ้าอนามัยเยอะนะคะ (ฮ่า)
โดยการรับประทานสมุนไพรที่มีสารไฟโตเอสโตรเจน หรือสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีในธรรมชาติ ที่รู้จักกันดีก็คือพวกยาสตรีนั่นเองค่ะ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดกะปริบกะปรอยได้นะคะ
วิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือเปลี่ยนไปใช้ยาคุมสูตรใหม่ที่มีปริมาณเอสโตรเจนมากขึ้นกว่าเดิมค่ะ แต่การเพิ่มปริมาณฮอร์โมน ก็ทำให้ผลข้างเคียงหรืออันตรายจากฮอร์โมนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ผู้ใช้จึงอาจคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือเป็นฝ้าได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะถ้าเปลี่ยนไปใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมาก
อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ เปลี่ยนไปใช้ยาคุมที่มีระดับฮอร์โมนในเม็ดยาเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนตามธรรมชาติ ซึ่งยาคุมชนิดนี้จะมีระดับโปรเจสเตอโรนต่ำในช่วงแรก ซึ่งจะทำให้เยื่อบุมดลูกมีโอกาสหนาตัวมากขึ้นค่ะ
ยาคุมที่มีระดับฮอร์โมนในเม็ดยาหลายระดับ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบัน (ตุลาคม 2561) มีเพียง 2 ยี่ห้อนะคะ ก็คือ
- ไตรควีลาร์ อีดี (Triquilar ED) ซึ่งมีฮอร์โมนต่างกัน 3 ระดับ (Triphasic combined pills)
- ออยเลซ (Oilezz) ซึ่งมีฮอร์โมนต่างกัน 2 ระดับ (Biphasic combined pills)
เมื่อเทียบกับยาคุมรุ่นเก่า ๆ ที่มีปริมาณฮอร์โมนสูงมาก ยาคุมชนิดที่มีฮอร์โมนหลายระดับ ถือว่ามีปริมาณฮอร์โมนรวมทั้งแผงน้อยกว่าค่ะ จึงมีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ยาคุมส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบัน มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในระดับต่ำและต่ำมาก เมื่อเทียบกันแล้ว หลาย ๆ ยี่ห้อมีปริมาณเอสโตรเจนรวมทั้งแผงน้อยกว่าที่มีใน “ไตรควีลาร์ อีดี” หรือ “ออยเลซ” นะคะ แต่ถ้าเทียบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ก็ยังถือว่ายาคุมแบบฮอร์โมนหลายระดับ มีปริมาณโปรเจสเตอโรนน้อยกว่ายาคุมยี่ห้ออื่นที่มีสูตรใกล้เคียงกัน
แต่ถึงกระนั้น ยาคุมชนิดนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากใช้ยาก ต้องรับประทานให้ถูกต้องตามลำดับอย่างเคร่งครัด และอาจพบปัญหาเลือดกะปริบกะปรอยจากการเปลี่ยนระดับของฮอร์โมนที่ต่างกันได้มากกว่ายาคุมทั่วไปที่มีฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด แต่ถ้ารับได้ และต้องการให้มีประจำเดือนมามากขึ้น วิธีนี้ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ค่ะ