กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
เขียนโดย
กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด

ไหล่ติด (Frozen shoulder)

เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไหล่ติด หรือภาวะข้อไหล่ติดแข็ง คือ ภาวะที่ข้อไหล่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวได้ลำบาก และมีอาการเจ็บปวดในบางระยะของอาการ โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไหล่ติดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้
  • สาเหตุของไหล่ติด มีทั้งแบบทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่เป็นเวลานานๆ และแบบที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน
  • ปกติแล้ว อาการไหล่ติดมักจะหายได้เองภายในระยะเวลา 2 ปี แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่หาย และลุกลามเป็นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา และทำกายภาพบำบัด
  • ไม่แนะนำให้รับการรักษาทางเลือกอื่นๆ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพราะจะทำให้การประเมินอาการหลังการรักษาทำได้ยากขึ้น และอาจทำให้อาการแย่ลง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีการต่างๆ

ไหล่ติด หรือภาวะข้อไหล่ติดแข็ง (Frozen shoulder, Shoulder stiffness และ Adhesive capsulitis) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยมากทั้งในเพศหญิงและเพศชาย มีทั้งทราบสาเหตุแน่ชัด และเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ

ภาวะข้อไหล่ติดแข็ง นอกจากจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้สุดช่วงการเคลื่อนไหวแล้ว ยังทำให้มีอาการปวดร่วมด้วยในบางระยะของอาการ ทำให้รบกวนการดำเนินกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับอาการข้อไหล่ติดที่ยังมีไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายละเลย หรือเลือกรับการรักษาที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้น หรือทำให้เสียเวลาในการรักษาไป

ไหล่ติดคืออะไร?

ไหล่ติด คือภาวะที่ข้อไหล่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวได้ลำบาก และมีอาการเจ็บปวดในบางระยะของอาการ โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไหล่ติดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้

ไหล่ติดนั้นมักพบมากในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงได้บ่อยกว่าเพศชาย

ไหล่ติด สาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุของไหล่ติด มีทั้งแบบทราบสาเหตุแน่ชัด (Secondary frozen shoulder) เช่น ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่เป็นเวลานานๆ เช่น การใส่เฝือก อุบัติเหตุหลังผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นภายในข้อไหล่ หรือกระดูกบริเวณข้อไหล่หัก

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยจำนวนมากมักไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการไหล่ติดได้ชัดเจน (Idiopathic frozen shoulder) หรือพบว่า อาการไหล่ติดเกิดขึ้นเอง 

แต่พบว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง หรือมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงเป็นภาวะข้อไหล่ติดแข็งมากกว่าคนทั่วไป

อาการไหล่ติดมีอะไรบ้าง?

อาการที่มักนำผู้ป่วยมาพบนักกายภาพบำบัด คือ การสูญเสียองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น

  • ไม่สามารถติดตะขอเสื้อชั้นในได้
  • ไม่สามารถเอื้อมหยิบของเหนือศีรษะได้
  • ไม่สามารถูหลังขณะอาบน้ำ
  • ไม่สามารถสระผมได้อย่างปกติ

นอกจากนี้ผู้ป่วยมักจะรายงานว่า มีอาการปวดตื้อบริเวณด้านหน้าของข้อไหล่ หรือรอบๆ ข้อไหล่ รวมถึงอาจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ อาการบวมแดงของการอักเสบ หรืออาการชาได้ในผู้ป่วยบางราย

ไหล่ติด แบ่งเป็นกี่ระยะ?

ในทางกายภาพบำบัด สามารถแบ่งอาการของผู้ป่วยไหล่ติด ได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ไหล่ติดระยะปวด (Painful/Freezing stage)

ในระยะนี้เป็นระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะลุกลามไปเป็นปวดตลอดเวลา

อาจพบว่าปวดจนรบกวนการนอนหลับ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาไปเป็นการเคลื่อนไหวลำบาก รู้สึกติดขัดเวลาขยับข้อไหล่ ไหล่ติดระยะปวดมักใช้เวลา 2-9 เดือน

2. ไหล่ติดระยะข้อไหล่ติดแข็ง (Frozen stage)

ระยะนี้อาการปวดจะลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการปวดเลย

แต่องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะลดลงในทุกทิศทาง ทำให้มีความยากลำบากมากในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ยกแขนไม่ได้ แต่งตัวลำบาก โดยทั่วไปไหล่ติดระยะข้อไหล่ติดแข็งมักกินเวลา 4-12 เดือน

3. ไหล่ติดระยะฟื้นตัว (Thawing stage)

ในระยะนี้ อาการไหล่ติดจะค่อยๆ ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง หากไม่ได้รับการรักษาใดๆ อาจจะใช้เวลา 5 เดือนถึง 2 ปี

ไหล่ติดรักษาด้วยตัวเองได้หรือไม่?

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลย โดยทั่วไปอาการไหล่ติดก็มักจะหายไปได้เองภายในระยะเวลา 2 ปี

แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนเล็กน้อยที่อาการไม่หายไป และลุกลามเป็นทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากต้องใช้งานไหล่ข้างที่ปกติอย่างมากเพื่อทำงานทดแทนข้างที่เคลื่อนไหวลำบาก ทำให้ไหล่ข้างที่ปกติบาดเจ็บ และตามมาด้วยปัญหาข้อไหล่ติดแข็ง

นอกจากนี้การอดทนจนครบเวลา 2 ปี จะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันลำบากมาก 

ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการไหล่ติดก็ควรไปพบแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมทันที

วิธีรักษาไหล่ติดมีอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการรักษาไหล่ติด เริ่มจากการตรวจวินิจฉัย ซึ่งทำได้ง่ายๆ ด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายเท่านั้น

ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการเอกซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆ

การรักษาข้อไหล่ติดที่นิยมได้ปัจจุบัน ได้แก่ การรับประทานยาร่วมกับทำกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยบางราย การฉีดยาเข้าไปบริเวณข้อไหล่อาจจะถูกพิจารณานำมาใช้

สำหรับการรักษาไหล่ติดทางกายภาพบำบัด สามารถแบ่งได้ตามระยะของอาการ ดังนี้

1. การรักษาไหล่ติดระยะปวด

นักกายภาพบำบัดนิยมใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด (Physical modalities) เช่น อัลตราซาวด์ แผ่นประคบร้อน เพื่อลดอาการปวด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อคงช่วงการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ไม่ให้น้อยลงด้วย

2. การรักษาไหล่ติดระยะข้อไหล่ติดแข็ง

การรักษาในระยะนี้จะเน้นไปที่การออกกำลังกาย เพื่อให้องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่กลับมาปกติ รวมถึงเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลง

3. การรักษาไหล่ติดระยะฟื้นฟู

ในระยะนี้ อาการปวดและข้อไหล่ติดแข็งมีไม่มากแล้ว ดังนั้นการรักษาจะเน้นไปที่การทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ประมาณ 85% ของผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นจนเป็นที่น่าพึงพอใจด้วยการรับประทานยา หรือฉีดยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจจะต้องพิจารณาเพื่อรับการผ่าตัดต่อไป

การรักษาทางเลือกสำหรับอาการไหล่ติดทำได้หรือไม่ นวด และฝังเข็มช่วยได้ไหม?

โดยทั่วไปไม่แนะนำให้รับการรักษาทางเลือกอื่นๆ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพราะจะทำให้การประเมินอาการหลังการรักษาทำได้ยาก

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากอาการแย่ลงหลังจากได้รับการักษาทางเลือกอื่นๆ เช่น การนวดไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากการนวดหรือการฝังเข็มนั้นทำอย่างนุ่มนวล หวังผลเพื่อการลดปวด ไม่มีการดัด ดึง ข้อไหล่อย่างรุนแรง ทำเพียงช่วยกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อไหล่คลายความตึงตัวลง ก็สามารถทำได้ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญการรักษาทางเลือกที่มีใบรับรองทางแพทย์แผนปัจจุบัน

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีการต่างๆ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Frozen Shoulder. Johns Hopkins Medicine. (Available via: https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/frozen-shoulder)
Frozen Shoulder Treatment, Diagnosis & Causes. MedicineNet. (Available via: https://www.medicinenet.com/frozen_shoulder/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)