หน้า 7 หลัง 7 คืออะไร? ป้องกันการตั้งครรภ์ได้จริงหรือ?

รู้จักการคุมกำเนิดแบบนับวัน หน้า 7 หลัง 7 แบบครบถ้วน ละเอียด ตอบทุกคำถาม เพื่อให้ไม่พลาดตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจ!
เผยแพร่ครั้งแรก 18 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
หน้า 7 หลัง 7 คืออะไร? ป้องกันการตั้งครรภ์ได้จริงหรือ?

การนับวันปลอดภัย หรือ หน้า 7 หลัง 7 เป็นวิธีคุมกำเนิดที่พูดถึงกันบ่อย และใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะง่าย สะดวกสบาย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ รวมถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หาคำตอบได้จากบทความนี้

หน้า 7 หลัง 7 คือ อะไร? นับจากวันไหน นับเพื่ออะไร?

การนับวันปลอดภัย หรือ หน้า 7 หลัง 7 ในทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่เรียกว่า “Fertility Awareness-Based Methods”

หมายถึง การคุมกำเนิดโดยเลือกมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำสุดในแต่ละรอบเดือน เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ลง

โดยทั่วไป ผู้หญิงปกติที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ ประจำเดือนมาทุก 28-30 วัน ไข่จะตกประมาณช่วงกลางรอบเดือน คือประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน นับจากประจำเดือนมาวันแรก (ปกติจะนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน)

โดยช่วงที่ไข่ตกเป็นช่วงที่อัตราการเจริญพันธุ์สูงสุด โอกาสตั้งครรภ์มากที่สุดในแต่ละรอบเดือน

แต่ถ้าไข่ตกแล้วไม่ได้รับการผสม อีก 2 สัปดาห์ถัดมา เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

ในทางตรงข้าม ช่วงที่ห่างจากวันไข่ตกมากที่สุด คือช่วงที่มีประจำเดือนวันแรก ก็เป็นช่วงที่โอกาสตั้งครรภ์ต่ำสุด

การนับวันปลอดภัย หน้า 7 หลัง 7 จึงหมายถึง การคุมกำเนิด โดยเลือกมีเพศสัมพันธ์เฉพาะวันที่โอกาสตั้งครรภ์ต่ำ คือช่วง 7 วันก่อนวันที่คาดว่าเป็นวันที่ประจำเดือนมาวันแรก ถึง 7 วันหลังประจำเดือนมาวันแรก

การนับหน้า 7 หลัง 7 เหมาะกับใคร ไม่เหมาะกับใครบ้าง?

จากที่กล่าวมาแล้ว การคุมกำเนิดโดยนับวันปลอดภัย คือการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันก่อนหน้า ถึง 7 วันหลังวันที่คาดว่าประจำเดือนจะมาวันแรก

ดังนั้น วิธีนี้ จึงจะใช้ได้เฉพาะในคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ สามารถคาดการณ์วันที่ประจำเดือนจะมาได้ชัดเจน เท่านั้น

กรณีที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ไม่รู้แน่ว่าประจำเดือนรอบถัดไปจะมาวันไหน จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

นอกจากนี้ ในผู้หญิงที่รอบเดือนไม่ได้มาทุก 28 วัน ไข่จะไม่ได้ตกช่วงกลางรอบเดือน (14 วัน นับจากประจำเดือนมาวันแรก) ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับวิธีนี้เช่นกัน

โดยสรุป วิธีนี้เหมาะกับคู่ที่ฝ่ายหญิง ประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28-30 วันเท่านั้น

คุมกำเนิดด้วยวิธีหน้า 7 หลัง 7 มีสิทธิ์ท้องไหม?

ความจริงแล้ว ไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดที่คุมกำเนิดได้ 100% ดังนั้นแม้ว่าจะคุมด้วยวิธีไหน ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ทั้งนั้น การนับหน้า 7 หลัง 7 ก็มีสิทธิ์ท้องเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาฝัง ยาฉีดคุมกำเนิด มักป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 98%

วิธีนับหน้า 7 หลัง 7 ป้องกันการตั้งครรภ์ได้กี่เปอร์เซ็นต์?

ในกรณีที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ทุก 28-30 วัน มีการนับวันอย่างถูกต้องทุกครั้ง งานวิจัยพบว่าโอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 5% ในปีแรก

ในขณะที่ถ้าประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ทุก 28-30 วัน หรือมีการนับวันผิดบางครั้ง โอกาสตั้งครรภ์อาจเพิ่มขึ้นสูงได้ถึง 24%

นับหน้า 7 หลัง 7 ร่วมกับใส่ถุงยาง จะท้องหรือไม่?

เนื่องจากการนับวันปลอดภัยไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังใช้ได้เฉพาะในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28-30 วันเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นวิธีที่แนะนำทั่วไป

ส่วนการใช้ถุงยางอนามัย ถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงถ้าใช้อย่างถูกต้อง ได้แก่

  • ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  • ใส่เมื่ออวัยวะเพศชายแข็งตัว
  • มีวิธีใส่-ถอดที่ถูกต้อง

ดังนั้น การใส่ถุงยางจึงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่แนะนำมากกว่าการนับวัน

ถ้าใช้ 2 วิธีร่วมกัน คือ มีเพศสัมพันธ์ในวันปลอดภัยที่โอกาสตั้งครรภ์ต่ำอยู่แล้ว ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง ก็สามารถคุมกำเนิดได้ดี

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดที่ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100%

นับหน้า 7 หลัง 7 แล้วยังต้องกินยาคุมฉุกเฉินอยู่ไหม?

จากที่กล่าวมาแล้ว การนับวันปลอดภัย ไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและมีข้อจำกัด

หากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยมิได้ป้องกัน (ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ได้ใช้ยาคุมรายเดือน) แม้ว่าจะอยู่ในช่วงหน้า 7 หลัง 7 จากวันที่ประจำเดือนมาวันแรก ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

แม้ว่ายาคุมฉุกเฉินจะประสิทธิภาพไม่ได้ดีมาก เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น ยาคุมรายเดือน ถ้ารับประทานถูกวิธี ประสิทธิภาพคุมกำเนิดมากกว่า 95 % แต่ยาคุมฉุกเฉิน อาจจะแค่ประมาณ 80-85% แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

หลังจากนั้น หากยังไม่อยากท้อง ไม่ต้องการตั้งครรภ์ ควรคุมกำเนิดโดยใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาคุมกำเนิดรายเดือน ถุงยางอนามัย ยาฉีด ยาฝังคุมกำเนิด ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ประภาพร สู่ประเสริฐ, ฉลอง ชีวเกรียงไกร, เฟื่องลดา ทองประเสริฐ, ทวิวัน พันธศรี. สูตินรีเวชเชียงใหม่. เชียงใหม่: ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558.
กิตติรัตน์ เตชะไตรศักดิ์, ประสงค์ ตันมหาสมุทร, มงคล เบญจาภิบาล, อรรถพล ใจชื่น, ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560.
The American College of Obstetricians and Gynecologists, Fertility Awareness-Based Methods of Family Planning (acog.org) January 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)